จากสถานการณ์ผลผลิตปาล์มล้นตลาด เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดตรังได้รับความเดือดร้อน พ.จ.ท.อนันต์ บุญสำราญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรังพร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ พาณิชย์จังหวัดตรัง เกษตรและสหกรณ์จังหวัด เกษตรจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด พัฒนาที่ดินจังหวัด เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม บริษัทพิทักษ์ปาล์มออยส์ จำกัด ต.กะลาเส อ.สิเกา จ.ตรัง เพื่อดูสภาพปัญหาการรับซื้อผลผลิตปาล์มน้ำมันจากเกษตรกร ทั้งการแก้ไขปัญหาการติดคิวและสถานการณ์ของโรงงาน
โดยพบว่ายังมีรถของเกษตรกรรายย่อยและรถบรรทุกขนาดใหญ่จากลานเทต่างๆ และของโรงงานเอง ทยอยนำผลผลิตไปส่งขายจำนวนมาก โดยคิวรอขายยังยาวเหยียด ขณะที่เครื่องจักรของโรงงานได้เร่งเดินเครื่องผลิตตลอดเวลา
ส่วนพื้นที่ลานเทของโรงงานเต็มไปด้วยผลผลิตปาล์มน้ำมันจำนวนมาก ทั้งของเก่าที่รอการเข้าเครื่องจักรผลิต และของใหม่ที่เข้ามาเพิ่มตลอดเวลา โดยทางโรงงานได้แบ่งพื้นที่รองรับผลผลิตออกเป็น 3 กอง คือ กองผลผลิตที่มาจากลานเทโรงงาน กองผลผลิตซื้อจากลานเทคู่ค้า และกองผลผลิตที่ซื้อจากเกษตรกรรายย่อย โดยพบว่ามีผลปาล์มหนาแน่นเต็มทุกกอง


พ.จ.ท.อนันต์ บุญสำราญ รองผู้ว่าฯ ตรัง กล่าวว่า จากกรณีที่สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมัน จ.ตรังและเกษตรกรมายื่นหนังสือกับผู้ว่าฯ ตรัง และมอบหมายให้ตนเองมารับเรื่องดูแล โดยเบื้องต้นได้นัดประชุมไตรภาคี 3 กลุ่ม คือ ผู้ประกอบการ เกษตรกร และภาครัฐ มีการประชุมไปเมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งเกษตรกรมีข้อเรียกร้องสองเรื่อง คือ 1.ขอให้โรงงานเพิ่มกำลังผลิต หรือเพิ่มพื้นที่รับผลผลิตไว้ให้มาก 2.ขอให้รัฐบาลเข้าดูราคาปาล์มที่ตกต่ำ
หลังการประชุมวันนั้น ตนเองพร้อมหัวหน้าส่วนราชการ จึงมาตรวจเยี่ยมดูโรงงานแรก คือโรงงาน บริษัทพิทักษ์ปาล์มออย์ จำกัด ซึ่งพบว่าผลผลิตจำนวนมากจริง และจะมากที่สุดในเดือนพฤษภาคมนี้ จึงต้องวางแผนรับมือผลผลิตที่จะออกมาก แต่วันนี้ปัญหาการติดคิวลดลง โดยเฉพาะของเกษตรกรรายย่อยสามารถขายได้เลย แต่ปัญหาที่พบคือ ยังมีการตัดผลที่ยังไม่สุกเต็มที่ปนมาด้วย กลัวจะฉุดให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันต่ำลงและมีผลด้านราคา จึงขอให้เกษตรกรตัดผลสุกแดงเต็มที่
ส่วนปัญหาที่ทั้งเกษตรกรและลานเทต่างๆ เพ่งเล็งมาที่โรงงาน ตนได้เรียกประชุมร่วมกันทำให้เข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้นในปีต่อไปก่อนถึงฤดูกาลผลผลิตออกมาก อาจมีการประชุมซักซ้อมเตรียมการรับมือในภาวะวิกฤติกันก่อนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา
ขณะเดียวกัน กรมการค้าภายในขอความร่วมมือโรงงานรับซื้อผลผลิตในราคาไม่ต่ำกว่า 5 บาท/กก. พบว่าทุกโรงงานพร้อมให้ความร่วมมือในสถานการณ์ที่ไม่บาดเจ็บจนเกินควร เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกร


“วันนี้อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ร้องขอให้โรงงานรับซื้อ ตั้งแต่ 2 พฤษภาคม เป็นต้นไป ครั้งละ 10 วัน ราคากิโลกรัมละ 5 บาท ช่วงเมษายนผลผลิตยังไม่มาก แต่พฤษภาคม ผลผลิตจะออกมากสุด แล้วจะไปลดลงช่วงมิถุนายน ดังนั้นต้องเตรียมความพร้อมในการระบายผลผลิตให้ได้”
รองผู้ว่าฯ ตรัง ยังกล่าวอีกว่า ส่วนราชการมีแผนจะไปตรวจเยี่ยมโรงงานทั้ง 4 แห่งเพื่อเตรียมความพร้อมให้ทางโรงงานบริหารจัดการ สามารถรองรับผลผลิตที่ออกสู่ตลาดให้ได้มากที่สุด ขอให้โรงงานเดินกำลังสกัดน้ำมันปาล์มเต็มกำลัง ส่วนเรื่องราคารับซื้อเป็นหน้าที่รัฐบาลในการพูดคุยกับผู้ประกอบการ ในเบื้องต้น เริ่ม 2 พฤษภาคม รับซื้อกิโลกรัมละ 5 บาท


ด้าน วีระยุทธ วิโรจน์วรรณากุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัทพิทักษ์ปาล์มออยส์ จำกัด เปิดเผยว่า สถานการณ์ทั่วไปในขณะนี้ปริมาณผลผลิตไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด โดยจะมากที่สุดในเดือนพฤษภาคมนี้ หากเปรียบเทียบทั้งปี 100 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ออกมาเพียง 13-15 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น โดยในเดือนพฤษภาคมจะขยับเป็น 15-17 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นจะลดลง ตอนนี้ทางโรงงานสามารถบริหารจัดการผลผลิตตกค้างได้ดีขึ้น รถของเกษตรกรรายย่อยเข้าคิวขายตามช่องทางด่วน แม้จะใช้เวลานานหน่อยแต่ไม่ต้องติดคิวข้ามคืน แต่ในส่วนของรถบรรทุกลานเทต่างๆ ติดคิวประมาณ 1 คืน
โดยภาพรวมขณะนี้โรงงานรับซื้อได้วันละ 2,000 ตัน แบ่งเป็นจากเกษตรรายย่อยหรือชาวสวนโดยตรงวันละ 400 ตัน รับซื้อจากลานเทบริษัทและลานเทคู่ค้า 800 ตัน และรับซื้อจากลานเทลูกค้าอีก 800 ตัน ขณะนี้ปาล์มน้ำมันที่ค้างรอผลิตในโรงงานมีประมาณ 4,600 ตัน ค้างอยู่ในลานเทประมาณ 1,400 ตัน รวมแล้วประมาณ 6,000 ตัน ซึ่งจะต้องใช้เวลาประมาณกว่า 3 วัน จึงจะผลิตได้ทั้งหมด แต่มีที่เข้ามาใหม่อีกทุกวันๆ ละประมาณ 2,000 ตัน โดยปกติมีกำลังการผลิตประมาณวันละ 2,000 ตัน มีเครื่องจักร 6 ตัว เดินเครื่องตลอดเวลา 24 ชั่วโมง 4 ตัว สำรองอีก 2 ตัว หากตัวใดตัวหนึ่งต้องหยุดซ่อม


วีระยุทธ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันราคารับซื้อโรงงาน 4.80 -4.90 บาท/กก. ถ้าจากเกษตรที่เป็นแปลงมาตรฐาน RSPO รับซื้อที่ 4.90-5.00 บาท/กก.
“ส่วนที่กรมการค้าภายในขอความร่วมมือให้โรงสกัดตรึงราคารับซื้อจากเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 5 บาท/กก. เป็นเวลา 2 เดือนนั้น ทางโรงงานยินดีให้ความร่วมมือ แต่ทางโรงงานก็ห่วงกังวลเรื่องสภาพการณ์ด้านการตลาดโลก เพราะปาล์มน้ำมันไม่ใช่เฉพาะตลาดภายในประเทศ แต่ต้องอิงตลาดต่างประเทศด้วย จึงขอแจ้งพาณิชย์จังหวัดว่าอาจจะต้องมีการประเมินทุก 7-10 วัน เพราะตอนนี้สถานการณ์โลกมีความเสี่ยงมาก ถ้าวันหนึ่งสถานการณ์โลกซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกควบคุมไม่ได้ราคาร่วงลงมาก ก็คงต้องขอให้มีการทบทวนราคา”

ชัยวัฒน์ โภคาวัฒนา นายกสมาคมชาวสวนปาล์มจังหวัดตรัง กล่าวว่า หากรัฐบาลเจรจาให้โรงงานรับซื้อกิโลกรัมละ 5 บาท ทางเกษตรกรก็รับได้ ปีนี้ฤดูกาลเปลี่ยนผลผลิตออกสู่ตลาดมากผลผลิตออกสู่ตลาดเกือบเท่าตัว จากปกติที่ตัดปาล์มครั้งละ 12-13 ตัน ปีนี้ ตัดผลผลิตได้มากถึง 20-21 ตัน กลุ่มเกษตรกรก็ทราบว่าโรงงานเดินกำลังผลิตเต็มที แต่ผลผลิตออกมากในช่วงนี้คาดว่าเดือนพฤษภาคมนี้จะออกสู่ตลาดมากยิ่งขึ้น
“สำหรับพื้นที่ปลูกปาล์มในพื้นที่จังหวัดตรัง 3 ไร่เศษ และชาวสวนยางที่โค่นยางหันมาปลุกปาล์มจากข้อมูล กยท.หรือ การยางแห่งประเทศไทย มีการปลุกปาล์มเพิ่มอีก 2 แสนไร่เศษ ซึ่งในปี 2569 จะเริ่มออกผลผลิต เพราะปาล์มเมื่ออายุเฉลี่ย 3 ปี ก็ให้ผลผลิตแล้ว ผลผลิตปาล์มที่ตรัง 1ไร่จะตัดปาล์มได้ 3.5 ตัน ถึง 4.5ตัน ต่อปี”

พาณิชย์จังหวัดตรัง เปิดข้อมูล “กำลังการผลิตแต่ละโรงงานที่สกัดน้ำมันปาล์มดิบทั้ง 4 โรงงาน”
1.บริษัท ตรังน้ำมันปาล์ม จำกัด 1,000 ตัน/วัน
2.บริษัท พิทักษ์ปาล์มออยล์ จำกัด 2,000 ตัน/วัน
3.บริษัท ล่ำสูง(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 1,000 ตัน/วัน
4.บริษัท เอส.พี.ไอ.อะโกร จำกัด 1,000 ตัน/วัน รวม 5,000 ตัน/วัน
ปริมาณการรับซื้อผลปาล์ม และ ปริมาณการผลิตน้ำมันปาล์ม ของโรงงานในจังหวัดตรัง
ปี 2567 ปริมาณผลปาล์มที่โรงงานรับซื้อ (ตัน) 912,740.53
ปริมาณผลปาล์มที่ใช้ในการผลิต (ตัน) 907,236.26
น้ำมันปาล์มดิบ CPO ที่ผลิได้ (ตัน) 157,018.63
ปี 2568 ( ณ 28 เมษายน 2568) ปริมาณผลปาล์มที่โรงงานรับซื้อ (ตัน) 310,278.83
ปริมาณผลปาล์มที่ใช้ในการผลิต (ตัน) 301,574.38
น้ำมันปาล์มดิบ CPO ที่ผลิตได้ (ตัน) 48,608.84
