อังคารที่ 30 กรกฎาคมนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดตรวจพยานหลักฐาน คดีที่บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ยื่นฟ้อง น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นจำเลย ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นคดีดำที่ 147/2566
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากโจทก์ (ทรู) เป็นผู้ประกอบกิจการ OTT (over the top) ภายใต้ชื่อทางการค้า ‘ทรู ไอดี’ ฟ้องจำเลย (น.ส.พิรงรอง) ฐานทำให้มีการเข้าใจผิดว่า ‘โจทก์เป็นผู้ทำผิดกฎหมาย’ โดยมีการออกหนังสือฯ กำชับให้ทำตามเงื่อนไขใบอนุญาตในการนำสัญญาณของสถานีตน ให้ไปออกผ่านโครงข่ายที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. และระบุว่า ทรูไอดีไม่ใช่ผู้รับใบอนุญาตโครงข่าย ซึ่งจะมีสิทธิตามกฎมัสท์ แคร์รี่ ในการนำพาสัญญาณของทีวีดิจิทัลไปออกอากาศ ได้ โดยไม่มีการแทรกเนื้อหาใดๆ นอกจากนั้น ยังมีหลักฐานบันทึกการประชุมเป็นหลักฐานคำพูดของจำเลย สะท้อนพฤติการณ์ส่อเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ ถือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้น หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
คดีนี้ บริษัททรูดิจิทัล ฟ้องว่า การออกหนังสือฯ ของ กสทช.ทำให้ตนได้รับความเสียหาย และอาจส่งผลให้ผู้รับใบอนุญาตช่องรายการโทรทัศน์ระงับการเผยแพร่รายการต่างๆ ผ่านทางโครงข่ายของตน โดยอ้างว่าทางสำนักงาน กสทช. ยังไม่มีระเบียบเฉพาะในการกำกับดูแลกิจการ OTT
และทางด้านฟากฝั่ง กสทช. พิรงรอง ยืนยัน ทำตามหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการแทรกโฆษณาบนแพลตฟอร์มทรูไอดี และดูแลลิขสิทธิ์เนื้อหาของผู้ให้บริการโทรทัศน์ดิจิทัล เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ซึ่งจุดเริ่มต้นของการตรวจสอบของสำนักงาน กสทช. จนนำไปสู่การออกหนังสือดังกล่าว มาจากการร้องเรียนของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการแทรกโฆษณาบนกล่องทรูไอดี
แหล่งข่าวจากศาลอาญาทุจริตประพฤติมิชอบ เปิดเผยว่า ในการนัดตรวจพยานหลักฐานดังกล่าว ฝ่ายจำเลยคือ กสทช. พิรงรอง รามสูต ได้เสนอชื่อพยานบุคคล ซึ่งเป็นบุคคลผู้เชี่ยวชาญหลายคน อาทิ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ นางสาว สารี อ่องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรผู้บริโภค พันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์ และนายแพทย์ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ซึ่งสองคนหลังเป็นอดีตกรรมการ กสทช.
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานโดยเจ้าพนักงานคดีเมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา ทางฝ่ายโจทก์ได้เสนอขอให้ตัดพยานในส่วนนี้ออกไปทั้งหมด จึงเป็นที่น่าจับตาดูว่า ในวันอังคารที่จะถึงนี้ ศาลจะวินิจฉัยอย่างไร เพราะย่อมส่งผลต่อการสืบพยานและรูปคดีโดยตรง
ทันทีที่ศาลมีคำสั่งประทับฟ้อง ทางทรูดิจิทัลได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้ กสทช.พิรงรอง ยุติการปฏิบัติหน้าที่กรรมการ กสทช. และประธานอนุกรรมการด้านกิจการโทรทัศน์ไว้ชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีนี้ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยไม่มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นปฏิปักษ์ ขัดขวาง หรือกลั่นแกล้งการประกอบธุรกิจของโจทก์ตามที่กล่าวอ้าง จึงยกคำร้องดังกล่าว แต่ศาลยืนยันอำนาจในการวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า หากมีพฤติการณ์เปลี่ยนไป อาจมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้
แหล่งข่าวจากศาลอาญาทุจริตประพฤติมิชอบ เปิดเผยด้วยว่า ผู้พิพากษาในองค์คณะนี้ เป็นคนเดียวกับที่พิจารณาคดีที่รักษาการเลขาธิการกสทช. นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ฟ้องกรรมการ กสทช.สี่คนว่ากลั่นแกล้งตน ซึ่งในนี้มี กสทช. พิรงรอง รวมอยู่ด้วย จากกรณีที่บอร์ดเสียงข้างมากมีมติให้เปลี่ยนตัวรักษาการเลขาฯ สืบเนื่องจากกรณีการอุดหนุนลิขสิทธิ์บอลโลก 600 ล้านที่การกีฬาแห่งประเทศไทยไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงกับสำนักงาน กสทช.
นอกจากนี้ ผู้พิพากษาคนดังกล่าวยังเป็นองค์คณะเดียวกันกับที่พิจารณาคดีการฟ้องกรรมการกสทช.ว่าประพฤติมิชอบ จากการอนุมัติให้ควบรวมกิจการทรู-ดีแทค ซึ่งในคดีดังกล่าว ศาลได้ยกฟ้องตั้งแต่ยังไม่ได้ไต่สวนมูลฟ้อง โดยเห็นว่า กรรมการ กสทช. ทำถูกต้องตามกฎหมายแล้ว