จากความเสียหายของการหลอกลวงจากคอลเซ็นเตอร์ ที่มีความเสียหายจำนวนมาก มาตรการป้องกันด้วยการลงทะเบียน ยืนยันตัวตนในการเปิดใช้ซิมการ์ด เพิ่มเติมด้วยและการเข้มงวดตรวจค้นแก็งค์คอลเซ็นเตอร์ ซึ่งล่าสุดในช่วงก่อนสิ้นปี ตำรวจสามารถยึดของกลางเป็นอุปกรณ์สื่อสาร Simbox 300 เครื่อง ซิมการ์ดโทรศัพท์ 208,000 ซิม กับโทรศัพท์มือถือ 636 เครื่อง ถือเป็นการจับครั้งใหญ่
ซิมโทรศัพท์ และอุปกรณ์เหล่านี้ แก๊งคอลเซ็นเตอร์นำมาใช้สมัครบัญชีโซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้งของไทยและจีน เพื่อนำไปยิงโฆษณาให้คนมากดเพื่อทำเงินตามที่กำหนด เมื่อครบก็จะเปลี่ยนซิมการ์ดใหม่ไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะถูกปิดก็สามารถเปิดบัญชีใหม่ได้ต่อเนื่อง และมีการพัฒนาใช้โปรแกรม AI ในการลงทะเบียนซิม และการสมัครบัญชีใช้งานต่างๆ ด้วย
หมายความว่าซิมการ์ดจะถูกใช้งานจำนวนมาก มีการหมุนเวียนตลอดเวลา ทำให้ต้องมีการระดมกว้านซื้อ ถือครองซิมการ์ดจำนวนมาก
กลุ่มคอลเซ็นเตอร์เข้ามาสร้างความเสียหายในไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้น สถิติจาก Whocalls ปี 2566 คนไทยรับสายโทรเข้าและข้อความ (SMS) หลอกลวงมากที่สุดในเอเชียถึง 78.8 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นกว่า 18% จาก 66.7 ล้านครั้ง ในปี 2565
สายโทรเข้า 20.8 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 22% จาก 17 ล้านครั้ง
หลอกลวง (SMS) 58.3 ล้านข้อความ เพิ่มขึ้น 17% จาก 49.7 ล้านข้อความ
ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ การหลอกให้กู้ยืม และการแอบอ้างเป็นบริษัทขนส่ง และหน่วยงานรัฐ ข้อความหรือเหตุการณ์ยอดนิยมคือ เพัสดุตกหล่น/เสียหาย, ยืนยันสิทธิการกู้เงิน,
เว็บใหม่ฟรี 500 บาท, การค้างชำระค่าไฟ, การได้รับเงินภาษีคืน
พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช. ด้านกฎหมายที่ดูแลการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ในฐานะตำรวจเก่า เรียกดูรายงานการตรวจสอบผลที่ออกมาคือ ซิมการ์ดที่เป็นของกลางมี 208,000 ซิม ทั้งหมดเป็นซิมระบบเติมเงิน ในกระบวนการตรวจสอบ ยืนยันว่าเป็นซิมของค่าย ทรู-ดีแทค
หลังจากนั้นมีแถลงการณ์จากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ชี้แจงว่าซิมที่มีการจับกุมประมาณ 3 แสนซิม เป็นซิมของทรูบางส่วน ไม่ใช่ทั้งหมด และเป็นซิมที่มาจาการกว้านซื้อผ่านร้านรายย่อย หรือลูกตู้ เป็นซิมที่ไม่ใช่ซิมไทยทั้งหมด เป็นซิมจากต่างประเทศ และซิมทั้งหมดยังไม่ได้เปิดใช้งาน
ในแถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ทรูได้มีการยกเลิกคู่ค้าที่เข้าข่ายต้องสงสัยหรือมีส่วนเกี่ยวข้องไปแล้วจำนวนมาก รวมทั้งยกเลิกซิมและเลขหมายที่มี เข้าข่ายจะถูกมิจฉาชีพนำไปใช้งาน ทั้งซิมที่ร้านค้าแจกฟรี และซิมที่รายย่อยนำไปจำหน่ายราคาถูก
ข้อสังเกตที่ตามมาคือ ไม่ว่าซิมจะมาจากไหน และการถือครองซิมมากขนาดนั้น ต้องพากเพียรกว้านซื้อจากลูกตู้ เพื่อให้ได้ซิมมากมายขนาดนั้นได้อย่างไร ถ้ากว้านซื้อในตลาดมากขนาดนี้ น่าจะมีความผิดปกติกับตลาดหรือไม่ นึกภาพการซื้อซิมแค่หลักหมื่นใบ ต้องติดต่อรายใหญ่กี่ราย รายย่อยกี่ราย ผู้ใช้งานปรกติ หรือผู้ขายธรรมดา จะซื้อซิมจำนวนมากไปทำไม
ส่วนซิมการ์ดที่นำเข้าจากต่างประเทศมากกว่าครึ่ง นำเข้าจากต่างประเทศได้อย่างไร ถ้าเป็นอย่างนั้น ต้องมีมาตรการสกัดกันซิมต่างประเทศหรือเปล่า ประเทศไทยเคยมีหรือยัง และถ้าซิมนำเข้าจากต่างประเทศต้องสแกนตรวจสอบที่มาได้ว่ามาจากประเทศใดใครขาย เป็นซิมโรมมิ่งประเภทไหน? และขายผ่านใคร
การปราบแก็งค์คอลเซ็นเตอร์ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ขั้นแรกขอความชัดเจนเรื่องข้อมูลต่างๆ เพื่อจะได้ทำลายแก็งค์หลอกหลวงให้หมดไป หรือน้อยลงกว่านี้