รอรับได้เลย! ข้าวของแพงขึ้น! โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย 36% กระทบเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจไทย ตั้งแต่ ภาคอุตสาหกรรมส่งออก แรงงานในโรงงาน และเกษตรกรที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ขณะที่ผู้บริโภคทั่วไปอาจได้รับผลกระทบทางอ้อม จากผลกระทบนี้ที่อาจทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น และส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในประเทศ เป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมสถานการณ์เงินเฟ้อของไทยในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563-2567) อัตราเงินเฟ้อของไทยมีความผันผวนตามราคาพลังงานและอาหาร โดยในปี พ.ศ. 2565 (ค.ศ. 2022) เงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นถึง 6.08% แต่คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) เงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำ ระหว่าง 0.3% – 1.3% โดยมีค่ากลางที่ 0.8%
แต่แล้วเมื่อทรัมป์ประกาศ Reciprocal Tariffs เรียกเก็บภาษีไทยเพิ่มมากถึง 36% เพราะอยากให้เศรษฐกิจอเมริกากลับมาดี-เพิ่มรายได้ให้ประเทศ-มีอำนาจต่อรองกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ มากขึ้น นั่นจึงเป็นอีกปัจจัยกระทบชีวิตผู้บริโภค-มนุษย์เงินเดือน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้...แล้วจะกระทบจากอะไรบ้าง?
ทรัมป์ขึ้นภาษีไทย 36% ผลกระทบ ‘ผู้บริโภค-มนุษย์เงินเดือน’
1. ค่าครองชีพ เพิ่ม!
แน่นอนว่า เมื่อผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากนโยบาย ‘ขึ้นภาษี’ สินค้าที่ผลิตออกมาขายให้ผู้บริโภคและมนุษย์เงินเดือน ก็จะแพงขึ้น จากต้นทุนของผู้ประกอบการ ที่ขยับสูงขึ้น
2. ธุรกิจอาจลดคน-ลดต้นทุน-ลดสวัสดิการ
การจ่ายภาษีเพิ่มของภาคธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนในการจ่ายออกมากขึ้น และถ้าธุรกิจไม่มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นจากเดิม ก็จะเกิดการรัดเข็มขัดที่แน่นขึ้น ผ่านการคุมงบ ไม่มีโบนัส ไม่เพิ่มเงินเดือน และลดต้นทุนอย่างรวดเร็วด้วยการลดคน
3. การหางานใหม่ยากขึ้น!
อาจเป็นไปได้ว่า นับจากนี้ ‘การลดคน’ ของแต่ละองค์กรจะเริ่มมีมากขึ้น และ ‘การหางานใหม่ก็จะยากขึ้น’ หากมนุษย์ทำงานรับจ้าง ไม่ใช่คนเก่ง หรือเป็น Talent ขององค์กร
4. ไม่ประมาท ‘การงาน-การเงิน’
แน่นอนว่า การที่ทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าไทย 36% เศรษฐกิจไทยกระทบหลายด้านทั้งการส่งออก การลงทุน และการจ้างงาน นี่จึงเป็นผลกระทบ ‘มนุษย์เงินเดือน’ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม การวางแผนด้าน ‘การงานและการเงิน’ จึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น แล้วแผนอย่างไรบ้าง?
การวางแผนด้าน ‘การงาน’ ให้มั่นคง
ประเมินความมั่นคงของอุตสาหกรรมที่ทำงานอยู่
หากทำงานในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภาษี เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ หรืออาหารแปรรูป ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐจำนวนมาก ควรติดตามสถานการณ์ของบริษัทอย่างใกล้ชิด
พัฒนาทักษะใหม่ (Reskill & Upskill)
- หากอยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ควรพัฒนาทักษะที่สามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอื่นได้
- ทักษะดิจิทัล การตลาดออนไลน์ และเทคโนโลยี AI เป็นที่ต้องการในอนาคต
สร้างทางเลือกสำรอง (Side Hustle / Freelance Work)
- หารายได้เสริมจากทักษะที่มี เช่น ขายของออนไลน์ รับงานอิสระ หรือสอนพิเศษ
- ศึกษาการลงทุนหรือธุรกิจที่ไม่ขึ้นกับตลาดส่งออก
รักษาความสามารถในการแข่งขัน
- พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษหรือภาษาที่สาม เพื่อเปิดโอกาสในการทำงานกับบริษัทต่างชาติ
- สร้างเครือข่าย (Networking) เพื่อหาทางเลือกหากต้องเปลี่ยนงาน
การวางแผนด้าน ‘การเงิน’ ให้มั่นคง
สำรองเงินฉุกเฉินอย่างน้อย 6-12 เดือน
- หากเกิดภาวะตกงานหรือรายได้ลดลง จะยังสามารถดำรงชีวิตได้
- แบ่งเงินเดือนบางส่วนมาออมอย่างต่อเนื่อง
ลดหนี้สินที่ไม่จำเป็น
- ลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หยุดก่อหนี้เพิ่ม เช่น การผ่อนของที่ไม่จำเป็น
- โฟกัสไปที่การปลดหนี้สินที่มีดอกเบี้ยสูงก่อน
กระจายการลงทุน
- อย่าใส่เงินทั้งหมดไว้ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง
- พิจารณาลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หรือตราสารหนี้ระยะยาว
- ศึกษาโอกาสในการลงทุนในตลาดที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาษีสหรัฐฯ
ติดตามข่าวสารเศรษฐกิจ
- เศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ควรติดตามนโยบายภาษีของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด
- ปรับแผนการเงินให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่า ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากๆ ต่อการขึ้นภาษีครั้งนี้ อย่าง ชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ – ที่มีสหรัฐฯ เป็นตลาดสำคัญของอุตสาหกรรมนี้, อาหารทะเลแปรรูป – เช่น กุ้งแช่แข็งและปลาทูน่ากระป๋อง, ผลิตภัณฑ์ยาง – เช่น ยางล้อรถยนต์ ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกหลัก และรวมถึง ธุรกิจ เสื้อผ้าและสิ่งทอ – อุตสาหกรรมที่จ้างแรงงานจำนวนมาก จะขยับตัวอย่างไรในธุรกิจของตัวเอง? และรวมถึงรัฐบาลไทย ต่อการแก้ปัญหา เพื่อรับผลกระทบให้น้อยที่สุด!
(ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากเพจออฟฟิศ 0.4)