ทิวา กับจุดเปลี่ยนเล็กๆ ช่วยไทย เคลื่อนเกษตรอินทรีย์

26 เมษายน 2567 - 07:57

tva-mahidol-amnatcharoen-organic-agriculture-graduate-SPACEBAR-Hero.jpg
  • สมาคมสถาบันทิวา ช่วย ม.มหิดล อำนาจเจริญต่อยอด ‘ปั้นบัณฑิตเกษตร’ ผลิตอาหารโลกอย่างรู้เท่าทัน ทั้งวิกฤติสภาพอากาศ และอนาคตอาหารโลก

  • MOU 8 หน่วยเกษตรอินทรีย์ ช่วยเป็นแหล่งฝึกงาน ปฏิบัติสหกิจศึกษา สานความร่วมมือเกิดภาคีเครือข่ายเข้มแข็ง

  • หวังอนาคต ไทยมีอาหารปลอดภัย มีสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อคนไทย และเป็นอาวุธประเทศ ท่ามกลางวิกฤติอาหารโลก

แม้ไทย ยังไม่ถึงเวลาผจญ ‘วิกฤติอาหาร’ แต่ที่ประสบแล้วคือ ‘วิกฤติการผลิต’ จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ นั่นเท่ากับว่า การผลิตอาหารนับจากนี้ ‘ต้องรู้เท่าทัน’ มากขึ้น เรื่องของวิชาการการเกษตร จึงเป็นบทบาทสำคัญ ตรงกับวัตถุประสงค์ของสถาบันการศึกษา อย่าง มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ ซึ่งตั้งมั่น ผลิตบัณฑิตเกษตร ออกมาตอบโจทย์ประเทศ และอาชีพรากเหง้าคนไทย ในท่ามกลางการ ‘รู้ เข้าใจ ใช้เทคโนโลยี คู่การผลิต ให้เกษตรไทยป้อนอาหารโลก’ ก่อกำเนิดการทำเกษตรที่ให้ผลดีทั้งกับ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และประเทศ ในแง่การเป็นผู้ประกอบการที่สามารถส่งออกผลิตเกษตรอินทรีย์ไทย ไปทั่วโลก จึงเป็นที่มาให้เกิดความร่วมมือครั้งสำคัญ กับหน่วยงานเกษตรอินทรีย์ 8 หน่วยงาน เรียบร้อยแล้ว เมื่อ 25 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ณ สมาคมสถาบันทิวา กรุงเทพมหานคร

tva-mahidol-amnatcharoen-organic-agriculture-graduate-SPACEBAR-Photo02.jpg

โดยที่ทั้ง 8 หน่วยงาน ที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) กับ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ ครั้งนี้ ประกอบด้วย สมาคมสถาบันทิวา, ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูตะวัน ออร์แกนิค ฟาร์ม, บริษัท โกร อีโควิลเลจ จำกัด, บริษัท สวนสุข ออร์แกนิก จำกัด, กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรเพื่อสุขภาพบ้านปัถวี, บริษัท ไทยวาแลบบอราทอรี่ส์ จำกัด, บริษัทเอส แอนด์ บี ฟูดส์ซัพพลาย จำกัด และ บริษัท เอสพีเอ็น อะกริเทค จำกัด ท่ามกลางคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ และแขกผู้มีเกียรติร่วมเป็นสักขีพยาน

เกษตรไทย ก้าวใหม่ที่ยังยืน ในรั้ว ‘มหิดล’

นายแพทย์สุรพร ลอยหา รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล เผย MOU ครั้งนี้ เป็นจุดสำคัญช่วยให้มหาวิทยาลัยสร้างความร่วมมือทางวิชาการในการร่วมออกแบบและปรับปรุงหลักสูตร วท.บ. (เกษตรศาสตร์) รวมทั้งสร้างความร่วมมือทางวิชาการในการเป็นแหล่งฝึกงาน ปฏิบัติสหกิจศึกษา ประสานความร่วมมือให้เกิดเป็นภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งในด้านวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัย รวมทั้งความร่วมมือให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

tva-mahidol-amnatcharoen-organic-agriculture-graduate-SPACEBAR-Photo03.jpg

ทั้งนี้ นโยบายมหาวิทยาลัยและทางกระทรวง อว. ระบุว่า การเรียนยุคสมัยใหม่จะต้องสร้างบัณฑิตที่สอดคล้องความต้องการของพื้นที่ ของผู้ประกอบการ หรือแม้กระทั่งตนเองสามารถไปประกอบการได้ ไม่ได้เรียนภาคทฤษฎีอย่างเดียว แต่ให้จบออกไปทำงานได้เลย ไม่ต้องใช้เวลามากนัก ต่างจากปกติการเรียนในมหาวิทยาลัยใช้เวลา 4-6 ปี

“กว่าจะได้ไปประกอบอาชีพ อาจจะช้าไป หรือว่า จบไปแล้ววิชาความรู้อาจไม่ทันต่อเหตุการณ์ ฉะนั้น วิธีการใหม่ก็คือ ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงปรับปรุงหลักสูตรด้วยนะครับ โจทย์คือ ทำอย่างไรให้หลักสูตรเราสอดคล้องกับความต้องการทั้งของผู้เรียน ผู้ที่จะเป็นผู้ประกอบการ และนายจ้าง ฉะนั้น ต้องมาหาเครือข่ายความร่วมมือ ดังเช่น MOU วันนี้”

รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว

สำหรับโมเดลหลักสูตรเกษตรของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ จะเน้นในเรื่องของเกษตรอินทรีย์ และการเป็นผู้ประกอบการทางด้านเกษตร ความพร้อมขณะนี้ มีห้องปฏิบัติการ (ห้องแลป) ที่ทันสมัย กระทั่งสามารถออกไปรับรองคุณภาพมาตรฐานเกษตรอินทรีย์มาตรฐานโลกได้ แต่ยังขาดองค์ความรู้ ด้านความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มาเสริมเติมอาจารย์วิชาการที่มีอยู่ ดังเช่น จาก 8 หน่วยงานที่มาเริ่มต้น จะช่วยตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี โดย สถาบันทิวา ซึ่งมีแนวคิดเดียวกัน ในการร่วมกัน ‘สร้างคนด้านเกษตร’ ให้มีความเข้มแข็ง สามารถประกอบอาชีพที่มีความมั่นคงได้ จะเป็นผู้ช่วยเหลือในการปรับปรุงหลักสูตรของมหาวิทยาลัยได้ เช่นเดียวกับ วิสาหกิจชุมชน ทั้งเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย อีกส่วนสำคัญที่มาร่วมมือ นำประสบการณ์ตรงสอนนักศึกษาที่จะออกไปทำงานด้านนี้ 

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ จะต้องหาผู้เรียนให้มากขึ้น ไม่เฉพาะนักเรียนมัธยมปลายเท่านั้น แต่มองว่า ผู้ประกอบอาชีพเกษตร ยังขาดองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่สอดคล้องความต้องการของตลาด จึงจะสร้างหลักสูตรที่นำผู้ประกอบอาชีพเกษตรมาปรับ-เพิ่มความรู้ (Up Skill-Re Skill) คาดว่า ส่วนนี้จะมีผู้สนใจเข้ามาเรียนค่อนข้างมาก เพราะเกษตรปัจจุบันไม่เหมือนเกษตรสมัยเก่า อีกต่อไป เนื่องจากจะมีความรู้หลากมิติ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการแปรรูป เกษตรเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ การวิจัย-พัฒนา ซึ่งล้วนใช้องค์ความรู้มหาศาล และมหาวิทยาลัยฯ ก็มีความพร้อม จากห้องปฏิบัติการ (ห้องแลป) ที่มีเครื่องมือทันสมัย สามารถออกไปรับรองคุณภาพมาตรฐานเกษตรอินทรีย์โลกได้ เพื่ออนาคตการส่งออกไทย

“มหิดล จะไม่เก่งแต่คณะแพทย์เพียงอย่างเดียว วิทยาเขตอำนาจเจริญ จะเป็นมิติใหม่ ปั้นคนเก่งเกษตรอินทรีย์ ยกระดับคณะเกษตร มีชื่อเสียงโดดเด่นเทียบเท่าคณะแพทย์ในปัจจุบัน โดยความพร้อมขณะนี้ มหิดลฯ อำนาจเจริญ มีห้องปฏิบัติการ มีเครื่องมือทันสมัย ในระดับภูมิภาค ถือว่า เราเป็นหนึ่งในเรื่องห้องปฏิบัติการแต่ว่ายังใช้ประโยชน์เพื่อพี่น้องประชาชนยังไม่มากนัก เพราะว่า ยังไม่มีคนที่จะมีองค์ความรู้เข้าไปใช้ ฉะนั้น ถ้าเราสร้างบัณฑิตแล้ว รีสกิลคนที่จะประกอบอาชีพการเกษตร มาใช้ห้องปฏิบัติการในอนาคตก็สามารถที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรของเราได้”

รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว

tva-mahidol-amnatcharoen-organic-agriculture-graduate-SPACEBAR-Photo04.jpg

ด้าน นายชยดิฐ หุตานุวัชร์ ประธานกรรมการสมาคมสถาบันทิวา ชี้ เกษตรอินทรีย์เป็นวิถีธรรมชาติ สิ่งที่มาร่วมมือกันทำครั้งนี้ เป็นการทำเกษตรให้ทันสมัยขึ้น มีวิทยาศาสตร์ มีเทคโนโลยีมาช่วย ซึ่งจะทำให้วิถีเกษตร ทำได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องเปลืองค่าใช้จ่ายกับปุ๋ยอินทรีย์มากโดยใช่เหตุ ด้านราคาผลผลิต ก็จะได้ราคาดีกว่าเกษตรเคมีทั่วไป ตลาดยอมรับได้มากกว่า โดยเฉพาะในยุคที่คนไทยเป็นห่วงสุขภาพ เพราะฉะนั้น เรื่องเกษตรอินทรีย์ จะเป็นอนาคตประเทศไทย และช่วยให้ไทย มีอาหารเป็นอาวุธของประเทศ

“มิติใหม่ของการเกษตร จะไม่ใช่ภาพ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน แต่จะเป็น Lazy farming เป็นเกษตรนวัตกรรม ทำงานง่ายขึ้น ใช้น้ำน้อย ให้ประโยชน์เยอะ ผลผลิตมาก วันนี้เราทำงานร่วมกับมหิดล ก็จะเป็นการที่ เอาความรู้ภาควิชาการ มาทำให้คนเรียนรู้และปฏิบัติได้จริง”

ชยดิฐ กล่าว

tva-mahidol-amnatcharoen-organic-agriculture-graduate-SPACEBAR-Photo05.jpg
ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์