บางรัก กับ ‘ความรัก’ ยืนหนึ่งพิกัดปักหมุดจดทะเบียนสมรส

14 ก.พ. 2567 - 12:09

  • เขตที่มีการจดทะเบียนสมรสมากที่สุดในประเทศไทย

  • แค่ชื่อ ‘พ้อง’ คำว่ารัก ใครๆ ก็รักข้ามกาลเวลา

  • เปิดถิ่น ‘บางรัก’ สัญลักษณ์ ความรัก แหล่งธุรกิจ และศูนย์รวมธุรกิจอัญมณี

valentine-bangrak-2024-love-infinity-SPACEBAR-Hero.jpg

สมัยก่อนกรุงเทพฯ ไม่ได้มีคาเฟ่สวยๆ ดาษดื่น ไม่มีร้านสำหรับนั่งชิลล์ ไม่มีคอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานที่ท่องเที่ยวสวยๆ มากเท่ายุคนี้  ‘ย่านเก่า’ ที่เป็นสถานที่โรแมนติกของคู่รัก ในกรุงเทพฯ นิยมชวนกันไปเที่ยวเมื่อเรียนรู้ดูใจมักเป็น สถานที่พักผ่อน  ที่รับประทานอาหาร โรงหนัง โรงละคร สถานที่ช้อปปิ้งอย่างเช่น วังบูรพา บางลำพู เป็นต้น ซึ่งเกือบทุกแห่งแทบจะเลือนหายไปจากความทรงจำของคนรุ่นใหม่ในยุคนี้

ยกเว้นย่านเก่า ‘หนึ่งเดียว’ ที่เรียกว่า ‘บางรัก’ ย่านที่มีชื่อดี เพราะบ่งบอกถึง ‘ความรัก’ คู่รัก/คู่แต่งงาน จึงนิยมเดินทางมาจดทะเบียนสมรสที่ ‘เขตบางรัก’ หวังให้ชื่ออันเป็นมงคลของบางรักหนุนเสริมความรักที่มั่นคง ส่งผลให้เป็นสำนักงานเขต ‘ยืนหนึ่ง’ ที่มีคู่รักเดินทางมาจดทะเบียนสมรส มากที่สุดในประเทศไทย โดยสถิติปี 2566 มีคู่รักมาจดทะเบียนสมรสที่เขตบางรัก ทั้งหมด 3,441 คู่ และเฉพาะในวันวาเลนไทน์ (14 ก.พ. 2565) มีจำนวน 640 คู่  เป็นอันดับ 1 ของทั้ง 50 เขตในกรุงเทพฯ

สำหรับปีนี้ สำนักงานเขตบางรัก  จัดกิจกรรมเกาะกระแสวันแห่งความรักในชื่องาน ‘พรหมลิขิตผูกพัน รักนิรันดร์ ณ บางรัก (Love Infinity)’ ที่เปิดจองคิวจดทะเบียนสมรส วันวาเลนไทน์ ผ่านระบบออนไลน์ตั้งแต่วันนี้ - 12 ก.พ.2567 จำนวน 789 คู่ และใช้พื้นที่ในอาคาร จิวเวลรี่ เทรด เซ็นเตอร์ สีลม เป็นสถานที่รับจดทะเบียนสมรสในวันนี้ (14 ก.พ. 2567) โดยไฮไลต์พิเศษคือลุ้นรับทะเบียนสมรสทองคำ 12 ฉบับ อีกทั้งเพิ่มสีสันด้วยการจัดพิธีแห่ขบวนขันหมากจำลอง ตามรูปแบบของวัฒนธรรมไทย

valentine-bangrak-2024-love-infinity-SPACEBAR-Photo02.jpg

ทั้งนี้ หากย้อนไปดูข้อมูลที่เป็นเรื่องเล่า ‘บางรัก’ แทบจะไม่เกี่ยวอะไรกับ ‘ความรัก’ เลย ที่มาของชื่อบางรัก มาจากที่ตั้งของย่านที่ใกล้กับอู่ต่อเรือและอู่ซ่อมเรือ มีที่พักซุง บริเวณตรงนั้น เคยมีคลองเล็กๆ ออกแม่น้ำเจ้าพระยา วันดีคืนดีมีคนพบ ซุงที่เป็นต้นรัก อยู่ในคลอง จึงเป็นที่มาของ บางรัก ด้วยประการฉะนี้ ส่วนคลองที่เคยเจอซุงเวลาผ่านไปคลองถูกถมไปแล้ว คลองกลายเป็น ตรอก ก็คือ ตรอกซุง ที่เราไปทานข้าวขาหมู ข้าวหน้าเป็ด 

ขณะที่ มีบางข้อมูลที่บอกว่า บางรัก ไม่ได้มีแต่เรื่อง ต้นซุง เพราะในโคลงนิราศฉะเชิงเทรา ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีข้อความกล่าวถึง บางรักว่า

เรียมมาบำราศสร้อย ศรีสงวน กูนา
ลุถิ่น บางรัก ครวญ ครุ่นน้อง
รักเรียมรักบุพยวร ยวนยั่ว รักเอย
บางรักฤาร้องห้อง ห่างแก้วกูไกล

ชื่อของบางรัก จึงน่าจะหมายถึงสถานที่ ที่เคยมีการปลูกต้นรัก เพื่อเก็บดอกไปร้อยมาลัยด้วย

ย่านบางรักแต่เก่าก่อน เป็นย่านการค้าของคนไทยและคนต่างประเทศ เป็นที่พักอาศัย ด้วยมีสถานทูตของหลายชาติอยู่ใกล้กัน ทำให้เป็นที่พักอาศัยของชาวต่างประเทศ คนจีน คนไทย มีโรงเรียน โรงพยาบาลรายรอบ บางรักถือเป็นย่านสำคัญ มีพื้นที่บางส่วนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมต่อกับย่านสำคัญที่ขยายตัวออกมาทั้ง ถนนสีลม ถนนสี่พระยาและถนนสุรวงศ์ และถนนเจริญกรุง

valentine-bangrak-2024-love-infinity-SPACEBAR-Photo04.jpg

อย่างไรก็ตาม ด้วยลักษณะโครงสร้างของชุมชนที่มีความสำคัญมาแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 5 จากองค์ประกอบข้างต้น อีกทั้งลักษณะของทำเลที่ตั้งซึ่งเชื่อมต่อกับถนนที่เริ่มสร้างขึ้นรองรับการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่เปลี่ยนเส้นทางหลักจากทางเรือมาเป็นทางบก จึงกลายเป็นฐานสำคัญที่เอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางการค้า ที่ตอบโจทย์กลุ่มบุคคลที่มีสถานภาพทางสังคมในระดับที่มีกำลังซื้อสูง ทำให้ทุกวันนี้พื้นที่ครอบคลุมย่านบางรัก สีลม สุรวงศ์ สี่พระยา เจริญกรุง กลายเป็นแหล่งศูนย์รวมธุรกิจด้านการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ที่มีผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติจากทั่วโลกเข้ามา ‘ปักหมุด’ จัดตั้งบริษัท/โรงงานผลิตและจำหน่ายเครื่องประดับ สร้างรายได้เข้าประเทศปีละจำนวนมหาศาล

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (GIT) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่อาคาร ITF บนถนนสีลม เล่าว่า “ในถนนซอยเล็กๆ ของย่านเหล่านี้ ถ้าผ่านไปเห็นบ้านที่ดูเหมือนปิดอยู่ แต่มีรถเข้ามาจอดอยู่เรื่อยๆ นั่นล่ะคือ โรงงานอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งลูกค้าในวงการจะรู้จักเป็นอย่างดี สาเหตุที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เลือกทำเลนี้ ส่วนหนึ่งเพราะเป็นศูนย์กลางค้าขายอัญมณีและเครื่องประดับในกรุงเทพฯ มาอย่างยาวนาน ลูกค้ารู้จักดีอยู่แล้ว รายใหม่ๆ ที่มาเปิดก็ได้รับการชักชวนจากเพื่อนสัญชาติเดียวกันมาที่นี่”

info-valentine-bangrak-2024-love-infinity.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์