เริ่มต้น ‘วันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก’ (17 มิถุนายนของทุกปี) ก็ปรากฏว่า ประเทศไทยหลายพื้นที่ มีฝนตกหนักหน่วง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณใดๆ หรือไม่ ยังคงต้องจับตากันต่อไป แต่อย่างน้อยก็ช่วยคลายร้อนลงได้บ้าง อีกประการ ยังเชื่อว่า การมีวันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก จะช่วยย้ำเตือนคนทั่วโลก ตระหนักถึงปัญหาสภาพอากาศ และช่วยดูแลให้เกิดผลกระทบกับมนุษย์ และการผลิตภาคเกษตร ‘ให้น้อยถึงน้อยที่สุด’ แต่สำหรับปี 2567 น่าจะคงยังไม่ใช่เวลานั้น!!! เพราะคนไทย เพิ่งเริ่มพบเจอความร้อนที่รุนแรงในปีนี้ การจะดาวน์ลงทันทีทันใด ยังไม่น่าจะเป็นไปได้ แล้วสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะกระทบเศรษฐกิจประเทศ และประชาชนอย่างไรบ้าง พาย้อนดูความเกี่ยวข้องเชื่อมโยง
‘เกษตร’ เคลื่อนเศรษฐกิจ-พัฒนาประเทศ
กล่าวได้ว่า ‘การเกษตร’ สำคัญอย่างมากกับเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากการเกษตรเป็นแหล่งรายได้หลักของประชากรส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงกับภาคส่วนอื่นๆ ประกอบด้วย
1. ภาคการผลิต
• พืชผลการเกษตร : ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด และมะม่วง
• ปศุสัตว์ : การเลี้ยงสัตว์ เช่น สุกร วัว ควาย และไก่
• ประมง : การทำประมงน้ำจืดและน้ำเค็ม รวมถึงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
2. ภาคการแปรรูปและอุตสาหกรรม
• การแปรรูปอาหาร : การผลิตอาหารแปรรูปจากวัตถุดิบทางการเกษตร เช่น น้ำตาล น้ำมันปาล์ม ผลไม้แปรรูป
• อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม : การผลิตเครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์อาหารที่ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ
3. ภาคการตลาดและการส่งออก
• ตลาดในประเทศ : การจำหน่ายสินค้าเกษตรในตลาดท้องถิ่นและห้างสรรพสินค้า
• การส่งออก : ข้าว ยางพารา ผลไม้ ทูน่ากระป๋อง และกุ้งแช่แข็ง เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย
4. ภาคบริการ
• การท่องเที่ยวเชิงเกษตร : การส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ชนบทและฟาร์มเกษตร
• บริการทางการเงิน: การให้สินเชื่อเกษตรกรและการประกันภัยพืชผล
5. การเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก
• ตลาดส่งออก : การเชื่อมโยงกับตลาดโลก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และยุโรป ทำให้สินค้าเกษตรของไทยมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจโลก
• การลงทุนจากต่างประเทศ : การดึงดูดการลงทุนในภาคการเกษตรและการแปรรูปอาหาร
6. นโยบายและการสนับสนุนจากภาครัฐ
• นโยบายการเกษตร : การกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมการผลิต การตลาด และการแปรรูปสินค้าเกษตร
• การสนับสนุนทางการเงิน : การให้สินเชื่อ การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี และการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา
7. การพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร
• เกษตรสมัยใหม่ : การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต เช่น การเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture) การใช้โดรนและ IoT
• การพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ : การพัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมและมีผลผลิตสูง
ความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงทั้งหมดนี้ จึงเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า การเกษตรมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ แต่ผู้ผลิต หรือคือ ‘เกษตรกรไทย’ จะต่อสู้กับกระบวนการผลิตผลผลิตทางการเกษตรได้มากน้อยแค่ไหน โดยนอกจากเรื่องสภาพอากาศแล้ว เกษตรกร ยังต้องผจญ ‘ต้นทุนการผลิต’ ทั้งปุ๋ย-ยา-ค่าแรง พาเหรดแพงหูฉี่ ข้อนี้ก็แก้ปัญหากันไป แม้ทางสว่างจะยังคง ‘ริบหรี่’ เพราะทางแก้ไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะในประเทศ แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์-ความขัดแย้งระดับโลก
วิจัยกรุงศรี ชี้ เอลนีโญ่ กระทบต่อเนื่องเศรษฐกิจปี 67
ว่ากันต่อ ถึงการวิเคราะห์ผลกระทบของภัยแล้งต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงห่วงโซ่อุตสาหกรรม โดย ศูนย์วิจัยกรุงศรี ประเมินว่าภาวะเอลนีโญในปีนี้ จะยังคงสร้างผลกระทบต่อเนื่องต่อระบบเศรษฐกิจในช่วงปี 2567 ดังนี้
1. ผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร
ภาวะภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อพืชสำคัญหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน รวมถึงผลไม้ต่างๆ อาทิ มะม่วง ทุเรียน สับปะรด แต่ระดับความเสียหายจะแตกต่างกันไปตามบริบทที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประเภทของพืช พื้นที่และภูมิภาคที่เพาะปลูก ช่วงเวลาเพาะปลูก และช่วงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต
ตัวอย่าง เช่น ไม้ยืนต้น อาทิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะม่วง ทุเรียน โดยธรรมชาติแล้วจะสามารถทนแล้งได้นานกว่าพืชระยะสั้นหรือพืชล้มลุก แต่ปริมาณผลผลิตอาจลดลงตามพื้นที่ปลูกในแต่ละภูมิภาค แต่ในกรณีพืชล้มลุก อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ผลกระทบจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับช่วงฤดูเพาะปลูก ช่วงระยะเติบโต และช่วงเก็บเกี่ยว
วิจัยกรุงศรีจึงได้ประเมินผลกระทบในแง่ผลผลิตพืชสำคัญที่ลดลง อันได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อภัยแล้งและยังมีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมปลายน้ำต่างๆ ซึ่งผลผลิตที่ลดลงนี้อาจส่งผลให้ระดับราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น จากปัญหาภาวะอุปทานขาดแคลน (Supply shortage) ได้
เมื่อพิจารณาหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการเพาะปลูก อาทิ
1. ความครอบคลุมของพื้นที่ชลประทานและระดับน้ำในเขื่อนที่จำกัด
2. ภาวะฝนทิ้งช่วงทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช
3. สภาพอากาศที่แห้งแล้งและอุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลให้ความชื้นในดินลดต่ำลง ตามการระเหยของน้ำที่มากขึ้นทำให้พืชมีโอกาสเสียหายจากการขาดน้ำ
4. ต้นทุนการเพาะปลูกที่สูง (อาทิ ค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้าในการสูบน้ำ ค่าใช้จ่ายในการปราบศัตรูพืชและวัชพืช) เป็นต้น จึงคาดว่าในปี 2567 ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่อาจเสียหายมาก ได้แก่ ข้าว และอ้อย โดยพื้นที่เกษตรที่ได้รับผลกระทบสูงอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก ซึ่งผลผลิตที่ลดลงนี้จะส่งผลให้รายได้ครัวเรือนภาคเกษตรลดลง ขณะที่ในปี 2568 ความเสียหายจะค่อยๆ ผ่อนคลายลง จากการเข้าสู่ภาวะลานีญา ซึ่งอุณหภูมิที่ลดลงและความชื้นที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจะช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
จึงคาดว่าในปี 2567 ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่อาจเสียหายมาก ได้แก่ ข้าว และอ้อย โดยพื้นที่เกษตรที่ได้รับผลกระทบสูงอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก ซึ่งผลผลิตที่ลดลงนี้จะส่งผลให้รายได้ครัวเรือนภาคเกษตรลดลง
ขณะที่ในปี 2568 ความเสียหายจะค่อยๆ ผ่อนคลายลง จากการเข้าสู่ภาวะลานีญา ซึ่งอุณหภูมิที่ลดลงและความชื้นที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจะช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
2. ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิต
ในการประเมินผลกระทบภัยแล้งต่อระบบเศรษฐกิจนั้น เรายังต้องคำนึงถึงความเชื่อมโยงกับภาคการผลิตอื่นที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร วิจัยกรุงศรีจึงได้วิเคราะห์โครงสร้างของห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเกษตร โดยเลือกเฉพาะพืชหลักที่อาจได้รับความเสียหายจากภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง อันได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน โดยใช้ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-output Table) ปี 2558 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์โครงสร้างการผลิต
ผลการวิเคราะห์พบว่าความสูญเสียที่เกิดจากภัยแล้งไม่ได้จำกัดอยู่ที่ภาคเกษตรเท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายไปถึงอุตสาหกรรมต้นน้ำ (Upstream Industry) จากความต้องการใช้สินค้าที่ลดลงตามการผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลง ตลอดจนอุตสาหกรรมปลายน้ำ (Downstream Industry) ที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบ ต้องเผชิญความเสียหายในรูปแบบของการลดกำลังการผลิตหรือการจัดหาวัตถุดิบทดแทนซึ่งทำให้ภาระด้านต้นทุนสูงขึ้น ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ภัยแล้งไม่ได้สร้างความเสียหายแก่ภาคการเกษตรเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และบริการ ที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมในระบบเศรษฐกิจอีกด้วย
3. มุมมองวิจัยกรุงศรี: ผลกระทบของภัยแล้งต่อ GDP
เมื่อวิเคราะห์ผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในปีนี้ โดยศึกษาจากภาวะเอลนีโญช่วงปี พ.ศ. 2515 พ.ศ. 2525-2526 พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา ที่คาดว่าจะมีระดับความรุนแรงและการปรับสู่ภาวะปกติใกล้เคียงกัน วิจัยกรุงศรีจึงคาดการณ์ว่าในปี 2567 ภัยแล้งจะฉุดให้ GDP โดยรวมลดลง -0.29% ในกรณีฐาน และในกรณีเลวร้ายที่สุดอาจลดลงถึง -0.66%
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่าขนาดของผลกระทบต่อ GDP ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่เกิดภาวะเอลนีโญและปริมาณน้ำที่สามารถใช้ได้ ดังนั้น ภัยแล้งในครั้งนี้จะส่งผลรุนแรงต่อ GDP หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำและแนวโน้มการเกิดฝนในช่วงตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 เป็นต้นไปเป็นสำคัญ โดยในเบื้องต้นวิจัยกรุงศรีได้ประเมินผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกเป็น 3 กรณีตามสมมติฐานการเกิดเอลนีโญ ดังนี้
กรณีฐาน (Base case) : ความเสียหายต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด 51.3 พันล้านบาท ส่งผลให้ GDP ขยายตัวลดลง -0.29% จากกรณีปกติที่ไม่มีภัยแล้ง
กรณีเลวร้าย (Worse case หรือ Stronger El Niño than expected) : มูลค่าความเสียหายต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด 85.1 พันล้านบาท ส่งผลให้ GDP ขยายตัวลดลง -0.47%
กรณีเลวร้ายที่สุด (Worst case หรือ Historical high): ก่อให้เกิดความเสียหายต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด 118.6 พันล้านบาท ส่งผลให้ GDP ขยายตัวลดลง -0.66%
สรุปว่า “วันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก World Day to Combat Desertification and Drought” เป็นอีกวันกระตุ้นเตือนประชากรทั่วโลก ตระหนักถึงภาวะวิกฤตของโลกที่กำลังเผชิญในปัจจุบัน โดยเฉพาะภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หลังปัญหาภัยแล้งหรือฝนแล้งยังคงเป็นปัญหาหลักที่ทั่วโลกและประเทศไทยต้องเผชิญทุกปี รวมถึงประชากรส่วนใหญ่ต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยการอาศัยน้ำเป็นปัจจัยหลักในการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และอุปโภคบริโภค
ท่ามกลางโจทย์สำคัญที่ว่า ภัยแล้งเป็นภัยธรรมชาติที่มนุษย์ยังไม่อาจควบคุมได้ เพราะแต่ละพื้นที่มีปัจจัยที่แตกต่างกัน ถึงแม้ประเทศไทยมีการออกนโยบายและมาตรการต่างๆ จากรัฐบาลเพื่อป้องกันและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่ก็ยังประสบปัญหาภัยแล้งทุกปี
ดังนั้น ภัยแล้งจึงเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนต้องร่วมกันดูแลแก้ปัญหา ช่วยกันรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการพัฒนาประเทศต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก รวมถึงการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำให้มากที่สุด