‘แบตเตอรี่’ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง ทั้งในวงการอุตสาหกรรมและในชีวิตประจำวัน ที่ใกล้ตัวมาก คือ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่รถยนต์ โดยแม้หลายคนจะรับทราบการรณรงค์ แยกทิ้งถ่านไฟฉายให้ถูกที่ แต่ด้วยเพราะถึงเวลาทิ้ง อาจไม่สะดวกพอ จึงจัดการแบบผิดวิธี ทำให้เรายังเห็นการ ‘ทิ้งรวม’ กับขยะอื่น ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ากลัวมาก
เซเว่น อีเลฟเว่น ร้านสะดวกซื้อ สะดวกทิ้งถ่านไฟฉาย
วันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน 2567 เป็นอีกวัน ที่เราจะส่งเสียงดังๆ กับเรื่องนี้ และเชิญชวนทุกคน ‘ทิ้งถ่านไฟฉาย’ ถูกที่ อีกครั้ง โดยล่าสุด บริษัท พานาโซนิค เอเนอร์จี (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะ 1 ในผู้ผลิต-จำหน่ายถ่านไฟฉาย จึงผนึกกำลังกับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกันประชาสัมพันธ์การจัดตั้งจุดรับทิ้งถ่านไฟฉายที่ใช้แล้ว (Battery Collection Box) ที่เซเว่น อีเลฟเว่น ที่ขณะนี้เปิดครบ 1,000 สาขาทั่วประเทศแล้ว
กล่าวได้ว่า เมื่อจุดรับทิ้ง มาอยู่ที่ร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น ก็เชื่อแน่ว่า การทิ้งถ่านไฟฉาย หรือสิ่งที่เรียกว่าเป็นแบตเตอร์รี่ ในรูปแบบถ่านไฟฉาย นับจากนี้ จะมีความสะดวกและติดตัวเอาไปทิ้งได้ง่ายยิ่งขึ้น
งานนี้ ผู้บริหารทั้งสองฝ่าย “มร.ทาคุยะ ทานิโมโตะ กรรมการผู้จัดการ พานาโซนิค เอเนอร์จี และ ยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล CEO ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และ เซเว่นเดลิเวอรี่ มาร่วมกันประกาศข่าวดีนี้ ให้ทราบ และเชิญชวน ‘ไปทิ้งถ่านไฟฉายใช้แล้วได้เลย’ เพื่อร่วมกันลดปริมาณถ่านไฟฉายที่ใช้แล้ว เสี่ยงไปส่งผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม หากทิ้งไม่ถูกที่
มร.ทาคุยะ ทานิโมโตะ กรรมการผู้จัดการ พานาโซนิค เอเนอร์จี คาดว่า การตั้งจุดรับทิ้งถ่านไฟฉายครบ 1,000 จุดที่เซเว่น อีเลฟเว่น นี้ จะสามารถนำถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ไม่ต่ำกว่า 600,000 ก้อนต่อปี ซึ่งพานาโซนิค จะนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี เพื่อนำชิ้นส่วนกลับมาใช้ให้เกิดมูลค่าใหม่ในระบบเศรษฐกิจตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ลดปัญหาของจำนวนถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วจำนวนมากที่มักถูกทิ้งหรือทำลายโดยการฝังกลบ ร่วมสร้างสังคมสิ่งแวดล้อมและโลกให้ยั่งยืนต่อไป

ยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล CEO ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และ เซเว่นเดลิเวอรี่ เผยถึงโครงการนี้ว่า เริ่มมาตั้งแต่ปี 2565 โดยมีจุดรับทิ้งถ่านไฟฉายบริเวณหน้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในบริเวณมหาวิทยาลัยชั้นนำในเขตกรุงเทพฯปริมณฑลและจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีแผนดำเนินงานในการกระจายจุดรับทิ้งถ่านไฟฉายที่ใช้แล้ว (Battery Collection Box) ณ เซเว่น อีเลฟเว่น ครบ 1,000 สาขาทั่วประเทศไทย เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนชาวไทยนำถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วกลับมาเข้าสู่กระบวนการจัดการอย่างถูกต้อง และสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคในการลดปริมาณขยะ เพื่ออนาคตในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับปณิธานองค์กรของ ซีพี ออลล์ ‘Giving & Sharing’ และ ‘Panasonic GREEN IMPACT’ ที่มุ่งหวังยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
และยังสอดคล้องกับแนวทางของ กิจกรรมวันสิ่งแวดล้อมโลกในปี 2024 นี้ ที่สหประชาชาติ (UN) ได้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูผืนดิน และความแห้งแล้ง (land restoration, desertification and drought resilience) ภายใต้แนวคิด “Our Land. Our Future. We are #GenerationRestoration.”
พิษภัยและอันตรายจากแบตเตอรี่
กล่าวได้ว่า พิษภัยและอันตรายจากแบตเตอรี่ นั้น เกิดขึ้นทั้งกับคนและสิ่งแวดล้อม อันมาจากสารที่ใช้ในการทำแบตเตอรี่ที่สำคัญ ที่มีทั้ง สารตะกั่ว สารแมงกานีส สารแคดเมียม สารนิเกิล สารปรอท และสารเคมีที่ใช้ในการทำปฏิกิริยา เช่น กรดซัลฟูริก เป็นต้น สารพิษต่างๆ เหล่านี้หากไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธีโอกาสที่จะเกิดการปนเปื้อนต่อแหล่งน้ำ ผิวดิน พื้นดิน และบรรยากาศแล้วแพร่ไปสู่คน พืช และสัตว์ก็มีสูง ลักษณะของผลกระทบที่เกิดขึ้นมีดังนี้
1\. ทำให้เกิดการเจ็บป่วยอย่างเฉียบพลัน หรืออย่างเรื้อรัง สืบเนื่องมาจากการสัมผัสกับสารพิษหรือกากแบตเตอรี่ใช้แล้วที่มีสารพิษเป็นส่วนประกอบอยู่ ซึ่งมักพบในคนงานที่ประกอบการในโรงงานทำไฟฉายและแบตเตอรี่ หรือคนงานเก็บขยะมูลฝอยและชาวบ้านที่มาขุดคุ้ยขยะ โดยสารพิษเหล่านี้สามารถเข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจเอาฝุ่นและไอระเหยเข้าไป และโดยการกินอาหารที่มีสารดังกล่าวปนเปื้อน นอกจากนี้ยังคงดูดซึมผ่านทางผิวหนังได้อีกด้วย
2\. ทำให้เกิดการปนเปื้อนต่อดิน น้ำใต้ดิน และแหล่งน้ำผิวดินใกล้เคียงที่ใช้เป็นแหล่งน้ำอุปโภคริโภคในครัวเรือน ส่วนใหญ่มาจากการทิ้งแบตเตอรี่ที่เหลือใช้แล้ว ทำให้สารพิษดังกล่าวปนเปื้อนลงในดิน น้ำก็จะชะสารพิษที่ปนเปื้อนแล้วซึมผ่านชั้นดินและแหล่งน้ำส่งผ่านต่อมายังพืช และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ต่อไป
3\. ทำให้เกิดภาวะมลพิษทางอากาศจากการแพร่กระจายของไอสารเคมี หรือฝุ่นละอองจากการเผาขยะมูลฝอยที่มีกากแบตเตอรี่ทิ้งปะปนอยู่ มลพิษทางอากาศอาจถูกสูดหายใจเข้าสู่ร่างกายโดยเฉพาะคนงานที่เก็บขยะมูลฝอย ชาวบ้านที่มาขุดคุ้ยแยกขยะมูลฝอยและประชาชนที่อาศัยอยู่รอบ ๆ สถานที่กำจดขยะ
รู้จัก ถ่านไฟฉาย
ขณะที่รูปแบบถ่านไฟฉายปัจจุบัน ก็จะมีทั้งแบบทั่วไป และถ่านอัลคาไลน์ โดย ถ่านไฟฉายแบบทั่วไป จะเป็นประเภทใช้แล้วทิ้ง ไม่สามารถอัดประจุใหม่ได้ มีส่วนประกอบที่สำคัญคือแมงกานีสออกไซด์รวมทั้งตัวกลางที่ช่วยทำให้เกิดปฏิกิริยาทางไฟฟ้า-เคมีอื่นๆ เช่น เกลือแอมโมเนีย ถ่านไฟฉายประเภทนี้นับเป็นอันตรายอย่างหนึ่งซึ่งไม่สามารถทิ้งรวมกับขยะทั่วไปอื่นๆ ได้
เช่นเดียวกับ ถ่านอัลคาไลน์ ที่ก็ไม่สามารถนำกลับมาอัดไฟใช้ได้อีก แต่จำเป็นต้องทิ้งไปเมื่อเสื่อมหรือหมดอายุ ขนาดที่ใช้โดยทั่วไปมีตั้งแต่ขนาด AAA, AA, A, C, D และ 9 โวลต์ ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่นำไปใช้ เช่น ของเด็กเล่น ไฟฉายหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ตามบ้านเรือนโดยทั่วไป ปัจจุบันจึงนิยมนำมาใช้แทนถ่านไฟฉายแบบเก่ามากขึ้น
ดังนั้น เพื่อไม่ให้ถ่านไฟฉายใช้แล้ว มากลายเป็นพิษภัยกับสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต อย่างพวกเรา ขอจงนำไปทิ้งให้ถูกที่ถูกทาง และไม่จำกัดเฉพาะวันสิ่งแวดล้อม 5 มิถุนายน เท่านั้น แต่วันไหนๆ ที่บ้านคุณมีถ่านไฟฉายใช้แล้ว ก็ทยอยนำไปทิ้งได้เลย เพื่อช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่อาศัย ไม่ให้ย้อนกลับมา ‘เป็นพิษ’ กับพวกเราเอง
