จับตา ซินเคอหยวน แก้ปมปัญหามาตรฐานเหล็กเส้น

21 เม.ย. 2568 - 02:11

  • เปิดบาดแผล ซิน เคอ หยวน สตีล กับการแถลงชี้แจง ‘มาตรฐานเหล็กเส้น’ วันนี้

  • เร่งกู้วิกฤตศรัทธาเหล็กเส้นในไทย ได้หรือไม่? หลังแผ่นดินไหว เขย่าตึก สตง.พังพาบ พาให้เร่งถูกตรวจอบ ลามสู่อีกหลายปัญหา

  • กับความหวังเป็น “ฐานผลิต-แบรนด์เหล็กระดับอาเซียน” ไปต่อ หรือ พอแค่นี้!

xinkeyuan-steel-statementstandards-steel-rebar-building-collapse-SPACEBAR-Hero.jpg

บริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด นัดอีกครั้งแถลงปมเหล็กเส้นสร้างตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) วันนี้ (21 เมษายน 68) หลังเลื่อนมาจาก พุธที่ 9 เมษายน 2568 ให้เหตุผลในครั้งนั้นว่า ต้องการฟังข้อมูลรายละเอียดที่กระทรวงอุตสาหกรรมที่เตรียมแถลงหลังกำหนดการซินเคอหยวนเพียงแค่วันเดียว ดังนั้น เมื่อซินเคอหยวนพร้อม ชี้แจงในวันนี้ จึงต้องจับตาว่าจะใช้ข้อมูลใดมาโต้ผลตรวจสอบของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ขณะนี้ ซินเคอหยวนเอง ก็เจอหลายข้อหา แต่ซินเคอหยวน ก็ไม่เคยยอมรับผลการตรวจสอบ

เปิดแผล ‘ซินเคอหยวน’

กล่าวได้ว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว เขย่าตึก สตง. พังราบ ซินเคอหยวน สตีล ก็เผชิญกับการตรวจสอบและดำเนินคดีจากกระทรวงอุตสาหกรรม มาโดยตลอด โดยเฉพาะข้อหา ผลิตเหล็กข้ออ้อยที่ไม่ได้มาตรฐาน อันเป็นผลกระทบต่อความปลอดภัยของโครงสร้างอาคารและประชาชน นี่อาจจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ที่นำสู่หลากหลายปัญหาที่ซินเคอหยวนต้องชี้แจง แล้วปัญหาซินเคอหยวน ขณะนี้มีอะไรบ้าง

1. ปัญหาคุณภาพผลิตภัณฑ์

บริษัท ซินเคอหยวน สตีล ถูกตรวจพบว่าผลิตเหล็กข้ออ้อยที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มอก. โดยเฉพาะขนาด 20 มม. และ 32 มม. ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม เป็นเหตุให้มีผลตามมาหลายด้าน โดยเฉพาะ การเพิกถอนสิทธิประโยชน์จาก BOI เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ยื่นหนังสือขอถอนสิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุน หลังซินเคอหยวน ไม่สามารถปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานภายในระยะเวลาที่กำหนด และยังมีปัญหาเกี่ยวกับระบบควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ ด้วย

2. การปฏิเสธผลการตรวจสอบ

บริษัทไม่ยอมรับผลการตรวจสอบคุณภาพเหล็กจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย โดยอ้างว่าเป็น “ผลการวิเคราะห์ที่มีอคติ” พร้อมกับพยายามขอให้มีการตรวจสอบซ้ำโดยสถาบันอื่น ซึ่งถูกวิจารณ์ว่า เป็นการไม่เคารพกฎหมายและมาตรฐานที่กำหนดไว้​ 

3. การใช้พลังงานผิดปกติ ต้องสงสัยลักลอบเดินเครื่องผลิตขณะถูกสั่งปิด

ซินเคอหยวน แม้จะมีคำสั่งจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ‘หยุดประกอบการชั่วคราว’ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 แต่พบว่ามีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในช่วงที่โรงงานถูกสั่งปิด ซึ่งสร้างความสงสัยว่าอาจมีการลักลอบประกอบการ (เดินเครื่องผลิตเหล็ก)

4. การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม

ซินเคอหยวน ก่อปัญหามลพิษ โดยมีการตรวจพบว่าในโรงงานมี ‘ฝุ่นแดง’ หรือคือ ของเสียจากการผลิตเหล็ก มากกว่า 43,000 ตัน ซึ่งเกินจากที่แจ้งไว้ในรายงาน และไม่มีการจัดเก็บหรือกำจัดตามที่กฎหมายกำหนด สร้างความวิตกเรื่อง ผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ

ซินเคอหยวน ความหวัง Hub เหล็กอาเซียน ไปต่อหรือพอแค่นี้ 

บริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด ก่อตั้งขึ้นในไทย เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 ด้วยทุนจดทะเบียน 1,530 ล้านบาท เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีประเภทธุรกิจเป็นโรงงานผลิตเหล็ก ที่ผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐานขั้นต้นและขั้นกลาง (ตามข้อมูลการจดทะเบียน) โดยมีที่ตั้งของโรงงานและบริษัทอยู่ที่อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ด้วยความหวัง ไม่ใช่แค่ ‘ขายเหล็กในประเทศ’ แต่คือ แผนใหญ่ ในการปั้นตัวเองเป็น ‘แบรนด์เหล็กระดับอาเซียน’ โดยใช้ไทยเป็น ฐานผลิตกลาง (Hub) รองรับทั้งตลาดภายในและส่งออกสู่ภูมิภาค

โดยมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดคือ นายเจี้ยนฉี เฉิน (สัญชาติจีน) ถือหุ้น 64.91% (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2567) ผู้ถือหุ้นรายอื่น ได้แก่ นายจิโรจน์ โรจน์รัตนวลี (สัญชาติไทย), นายวิรุฬห์ สุวรรณนทีกุล (สัญชาติไทย) และนายซู่หยวน หวัง (สัญชาติจีน) และมีกรรมการบริษัท ได้แก่ นายเจี้ยนฉี เฉิน, นายสู้ หลงเฉิน และนายสมพัน ปันแก้ว

นอกจากนี้ ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2562 ยังได้มีการก่อตั้งบริษัทอีกแห่งในชื่อที่คล้ายคลึงกัน คือ “บริษัท ซินเคอหยวน จำกัด” ด้วยทุนจดทะเบียน 6,000 ล้านบาท เป็นธุรกิจขนาดกลาง ทำหน้าที่ผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐานอื่นๆ โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง

สำหรับบริษัท ซินเคอหยวน จำกัด มีรายชื่อผู้ถือหุ้นคล้ายคลึงกับ บริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด โดยมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดเป็นรายเดียวกัน คือ นายเจี้ยนฉี เฉิน (สัญชาติจีน) ถือหุ้น 73.63% (ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2568) ผู้ถือหุ้นรายอื่น ได้แก่ นายชวู้หยวน หวง (สัญชาติจีน), นายจิโรจน์ โรจน์รัตนวลี (สัญชาติไทย), นายวิรุฬห์ สุวรรณนทีกุล (สัญชาติไทย), นายจื่อเจีย เฉิน (สัญชาติจีน), นายสันติ เกษมอมรกิจ (สัญชาติไทย), นายหลี่ เล่อเซิง (สัญชาติจีน) และนายเส้า กั๋วฮุย (สัญชาติจีน) และมีกรรมการบริษัทเป็นคนกลุ่มเดียวกัน ได้แก่ นายสู้ หลงเฉิน, นายเหลินจง เฉิน และนายสมพัน ปันแก้ว

นอกจากนี้ นายเจี้ยนฉี เฉิน ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลุ่มบริษัท ซิน เคอ หยวน ยังเป็นกรรมการในบริษัทอื่นๆ อีกหลายแห่ง ได้แก่

  • บริษัท ซิน เส้า หยวน จำกัด: ผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน
  • บริษัท เจิ้นหวา อินเตอร์เนชั่นแนล ทัวริซึ่ม และเทรดดิ้ง จำกัด: จำหน่ายซิการ์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • บริษัท ไทยอินเตอร์สตีล จำกัด: เลิกกิจการแล้ว
  • บริษัท เอเชีย สเต็ป (ประเทศไทย) จำกัด: ผู้รับเหมาผลิตชุดชั้นใน

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า บางชื่อคนไทยในกรรมการ อาจเป็น ‘นอมินี’ หรือ ‘ผู้ถือหุ้นแทน’ จากจีน ซึ่งประเด็นนี้ ยังอยู่ในระหว่างการจับตาจากหน่วยงานภาครัฐต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม 14.00 น. นี้ ซินเคอหยวน จะชี้แจงประเด็น ‘มาตรฐานเหล็ก’ ตึก สตง.  ‘ความเสียหาย’ จะมีความรับผิดชอบ และป้องกันปัญหาในอนาคตหรือไม่? และรวมถึงการใช้ไทย เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก ตรงตามมาตรฐานโลก ไม่สร้างความเสียหายกับประเทศไทยอย่างไร? ยังคงเป็นเรื่องที่คนไทยทุกคน อยากรู้!

xinkeyuan-steel-statementstandards-steel-rebar-building-collapse-SPACEBAR-Photo01.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์