ครบรอบ 20 ปี แฟนฉัน บทสัมภาษณ์จากผู้กำกับทั้ง 5 ที่จะร่างความทรงจำสีจางให้ชัดเจนขึ้นอีกครั้ง

6 ต.ค. 2566 - 08:06

  • เนื่องในโอกาสที่ภาพยนตร์ไทยยอดฮิตอย่าง ‘แฟนฉัน’ ครบรอบ 20 ปี และกำลังจะมีภาพยนตร์สารคดีพิเศษ “REMEMBERING แฟนฉัน แด่ความทรงจำสีจาง*” พร้อมด้วยตัวภาพยนตร์ ‘แฟนฉัน’ รีมาสเตอร์เวอร์ชั่นใหม่ กระจ่างชัดสดใสแบบ 4K เข้าฉายในวันที่ 9 ตุลาคมนี้

  • เราจึงขอรื้อฟื้นความทรงจำสีจางของแฟนหนังทุกท่าน เพื่อเรียกน้ำย่อยก่อนที่จะกลับไปดื่มดำเติมสีสันให้ความทรงจำอันแสนหวานแบบเต็มระบบในโรงภาพยนตร์ด้วยบทสัมภาษณ์สุดพิเศษจากผู้กำกับร่วมทั้ง 5 ท่านที่จะผลัดกันมาเปิดลิ้นชักควักชิ้นส่วนความทรงจำที่มีต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาประกอบขึ้นอีกครั้ง

20-years-Fan-chan-SPACEBAR-Hero.jpg

“แฟนฉัน” ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ครองใจคอหนังชาวไทยมานานนับทศวรรษ เรียกได้ว่าเป็นหมุดหมายสำคัญจุดหนึ่งที่ส่งผลต่อวงการภาพยนตร์ไทยมาจนยุคปัจจุบัน ซึ่งถ้าหากใครเป็นคอหนังก็คงจะรู้กันดีว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีผู้กำกับร่วมมากถึง 6 คนได้แก่ “ต้น” นิธิวัฒน์ ธราธร, “เอส” คมกฤษ ตรีวิมล, “บอล” วิทยา ทองอยู่ยง, “เดียว” วิชชพัชร์ โกจิ๋ว และ “ปิ๊ง” อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม ซึ่งทั้ง 5 ท่านก็ได้ให้เกียรติมาพูดคุยกันในบทความนี้ ขาดเพียง “ย้ง” ทรงยศ สุขมากอนันต์ ที่ติดภารกิจ

ซึ่งจากวันที่แฟนฉันออกฉาย 20 ปีผ่านไปผู้กำกับทั้ง 6 ท่านก็ได้กลายมาเป็นบุคคลากรคุณภาพในวงการภาพยนตร์ไทย ระดับผู้กำกับหรือผู้บริหารที่มีส่วนร่วมกับภาพยนตร์ไทยอีกมากมายหลายต่อหลายเรื่อง

20-years-Fan-chan-SPACEBAR-Photo01.jpg

รู้สึกอย่างไรเมื่อมองย้อนกลับไปแล้วพบว่า “แฟนฉัน” มีอายุครบ 20 ปีเข้าไปแล้ว ?

ปิ๊ง: ช่วงที่เรามาโปรโมทนี่ ความรู้สึกมันก็เหมือนนอสตัลเจียในนอสตัลเจียนะ เพราะตัวหนังมันก็มีความย้อนอดีตอยู่ แล้วตอนนี้เรามาอยู่ในฐานะที่เราย้อนกลับไปมองหนังเรื่องอีกทีหนึ่ง นอสตัลเจียอีกชั้นนึงมันซ้อนกันเป็นอินเซ็ปเลยอะ แปลกดี

บอล: จริงๆ แฟนฉันมันแอนนิเวอซารี่บ่อยมาก ครบเดือนตุลาเราจะต้องมาพูดถึง ตั้งแต่แบบ 2-3 ปีแรก จนทุกๆ ปีจะต้องแบบจะต้องมีสื่อสลับกันมาถามถึง ก็เลยจะรู้สึกว่ามันไม่ได้ไปจากเรามากนัก แต่ว่าพอปีนี้มัน 20 ปี มันต้องทำใหญ่ ทำครบ ก็เลยได้กลับมาเจอกันมากขึ้น ต้องไปทำโพส ไปห้องไปกันตนาเหมือน 20 ปีที่แล้ว มันเลยรู้สึกว่าเหมือนผ่านอะไรมาเยอะ ทั้งสภาพทั้งสังขาร และการเติบโตทางการงานของแต่ละคน

เดียว: เริ่มรู้สึกมากตอนเอาหนังกลับมารีมาสเตอร์ใหม่ การเอากลับเข้าโรงใหม่ หรือการทำสารคดีอะไรต่างๆ พวกเนี้ย ส่วนตัวเราตื่นเต้นกับมัน เพราะว่าที่ผ่านมาก็ไม่ได้เคยคิดจริงจังว่าจะเอามันกลับมาทำอะไรบ้าง จนปีนี้ พอตัดสินใจลุกขึ้นมาทำจริงๆเริ่มปล่อยชิ้นงานโปรโมทออกไปแล้วมันมีคนพูดถึงหนัง มีคนกลับมาคุยกับเรา แสดงความยินดี หรือแค่กลับมาบอกว่าอยากกลับไปดูเรื่องนี้อีกครั้งในโรง แค่นี้ก็รู้สึกดีใจหรือว่าตื่นเต้นแล้ว

ต้น: ผมรู้สึกเหมือนได้เจอเพื่อนเก่าครับ เอาจริงๆ 20 ปีที่ผ่านมาผมไม่ได้กลับมาดูมันแบบเต็มๆ เลยนะ กลับมาได้ทำอย่างที่เดียวบอกอะฮะ ต้องมารีมาสเตอร์ใหม่ ได้กลับมานั่งดูมันจริงๆ กับจอใหญ่ๆ รู้สึกว่า มันเหมือนได้เจอเพื่อนอีกครั้งผมว่ามันเป็นความรู้สึกที่ดีมาก เมื่อกี้พึ่งดูสารคดี หลายๆ เรื่องผมลืมไปหมดละ แต่พอได้กลับมาถวิลหาความรู้สึกนั้น ก็เลยรู้สึกว่าดีใจที่ได้เจอกัน

เอส: ไม่เคยรู้สึกว่าแก่เลยจนกระทั่งได้เห็นไอ้น้องๆ 3 คนนั้น มันโตขึ้นมาจนอายุสามสิบแล้ว (หัวเราะ)

20-years-Fan-chan-SPACEBAR-Photo02.jpg

คิดว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้ “แฟนฉัน” ประสบความสำเร็จ ?

เดียว: จริงๆ ผ่านเวลามา 20 ปีผมว่าทุกคนก็พอจะรับรู้แหละว่าตัวหนังมันพิเศษอย่างไร อาจารย์ ประวิทย์ แต่งอักษร ที่เป็นอาจารย์ของพวกเรา เคยพูดไว้ว่ามันเป็นงานที่ไร้กาลเวลา ไม่เก่าไม่เชย แปลว่าคุณค่าของมันอาจจะอยู่ที่ตรงนี้ คนในยุคนั้นก็รับรู้ได้ จนมาถึงยุคนี้ กาลเวลาก็พิสูจน์แล้วว่า ตัวงานมันมีความสากล ในแง่ที่มันสามารถดึงความรู้สึกร่วมของความทรงจำวัยเด็ก ผมว่าหัวใจจริงๆ ของตัวหนังก็คงจะเป็นเรื่องนี้แหละ ไม่นับเรื่องกลยุทธ์การโปรโมทจากพี่จินา (จินา โอสถศิลป์) หรือจากคุณวิสูตร (วิสูตร พูลวรลักษณ์) ที่นำหนังไปฉายตามแคมปัสทัวร์ต่างๆ คือต้องบอกว่า พ.ศ. นั้นมันไม่มีโซเชียลมีเดีย เพราะงั้นพอหนังมันเริ่มต้นจากการที่ทำจากแพสชั่นเนี่ย แปลว่ามาร์เกตติ้งมันถูกคิดทีหลังหมดเลย พี่ๆ ในยุคนั้นเขาก็เลยคิดมาร์เกตติ้งที่ อาจจะเรียกว่าออกนอกกรอบ ซึ่งมันก็ถือเป็นกรณีศึกษาที่ส่งผลต่องานการตลาดของ GDH เรื่อยมาเลย

ความยากของการกำกับ “แฟนฉัน”

ปิ๊ง: คือพอเราไม่เคยทำ เราก็ไม่รู้ว่าที่เราทำอยู่มันผิดหรือถูก ไม่รู้ว่ามันเรียกว่ายากไหมนะ เช่นฉากแรกที่เราถ่ายเลย มันเป็นฉากรถนักเรียนสีส้มวิ่งไป เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าการที่เราถ่ายหนังด้วยฟิล์มและบันทึกเสียงสดเนี่ย มันจะสร้างปัญหาเดือดร้อนคนทั้งชุมชนนั้นขนาดนั้น มันต้องมีรถลากอีกคันนึง เพราะการติดเครื่องรถมันจะทำให้เราอัดเสียงไม่ได้ หรือแม้แต่ว่าไกลออกไปประมาณครึ่งกิโลเนี่ยต้องไม่มีมอเตอไซต์สักคันผ่านเลย ไม่งั้นเราก็จะอัดเสียงไม่ได้ คือด้วยความใหม่ของเราแล้วเราเป็นผู้กำกับที่อยู่บนรถคันนั้นด้วย มันเลยเป็นมวลแห่งความไม่รู้และความกดดัน คือผมอาจจะเป็นคนแคร์ชาวบ้งชาวบ้านอะไรนิดหน่อย ก็เลยรู้สึกว่าแบบเมื่อไหร่มันจะผ่านไป แล้วมันเป็นคิวแรกจังหวะแรกที่เราเริ่มต้นถ่ายหนังเรื่องนี้ด้วยก็เลยรู้สึกว่าอันนี้แหละยาก

เอส: สำหรับผมสิ่งที่ยากที่สุดคือการมีผู้กำกับหกคน เพราะว่า มันต่างคนต่างความคิดเห็น ต้องมาประนีประนอม มาทะเลาะอะไรกัน มันเป็นความยากที่มีแค่เราที่รู้ สมมุติว่าในตอนนั้นวันนึงมันมีคนนึงลาออกไปอย่างเงี้ย ที่เหลืออาจเฟลมากจนไม่ทำต่อเลยก็ได้

ฉากที่ประทับใจที่สุดของ “แฟนฉัน”

เอส: ผมชอบตอนที่เจี๊ยบวิ่งตามรถน้อยหน่า จริงๆ แล้วมันมีเกร็ดนิดหนึ่งคือในเรื่องไอมาโนชมันเป็นคนไม่พูด แล้วคราวนี้เราเลยคุยกันว่าแบบหรือให้มันพูดตอนนี้ดี ไอ้คำพูดที่ว่า "เจี๊ยบไปให้ทันนะ" จริงๆ ในบทไม่มีนะไปคิดเอาตอนหน้ากอง คิดว่ามันคงตลกดี แต่พอทำจริงๆ มันซึ้งเฉยเลย มันกลายเป็นว่า ไอแรงผลักดันภายในของเขาที่อยากให้เพื่อนไปให้ทันอะ มันทะลุบุคคลิกภาพเขาออกมา จนเขาพูดออกมาเลยอะ ว่ารู้สึกแบบเนี้ย ซึ่งที่ประทับใจมากเพราะว่ามันนอกเหนือสคริปต์ มันเป็นการที่เราไปด้นกันหน้ากอง

20-years-Fan-chan-SPACEBAR-Photo03.jpg

ปิ๊ง: งั้นเป็นฉากผู้ชายเตะฟุตบอลแล้วกันครับ สำหรับคนทำหนังเรียกว่าเป็นศูนย์รวมแห่งความโชคดีของการถ่ายหนังเลยฮะ อย่างถ้าจำได้จะเห็นว่าไอ้แจ็ควอลเลย์ตูมเดียวแล้วก็ชนคานเข้า จริงแล้วๆ มันคือฟลุกตั้งแต่เทคแรกๆ หรือแม้แต่จังหวะที่มันยิงได้แล้ววิ่งมาดีใจกอดๆ กับเจี๊ยบแล้วค่อยนึกขึ้นได้ว่าไอ้เจี๊ยบไม่ใช่เพื่อน แล้วปัดมันออกไป มันก็ไม่มีในสคริปต์นะ คือเราไปเดเวลอปมันหลังจากที่เราถ่ายเขามาสักระยะนึงแล้ว แล้วเรารู้สึกว่าความสัมพันธ์มันต้องเป็นประมาณนี้แล้วเราก็บรีฟมัน ความยากคือมันลองเทคใช่มั้ยคือมันยิงเข้าเสร็จแล้วมันต้องวิ่งมาเลย แต่ผลออกมาคือไอ้แจ็คมันทำได้ คือมันทำได้ในแบบที่ไม่มีสคริปต์ เรียกว่าศูนย์รวมความโชคดีในการถ่ายหนังมันอยู่ในซีนนั้นหมดเลย จริงๆ ปกติคือแค่อากาศดีก็โคตรโบนัสแล้ว

เดียว: จริงๆ ตำแหน่งผมอะในกองถ่ายมันคือแคสติ้ง เพราะงั้นผมจะเป็นคนที่อยู่กับเด็ก ซึ่งถ้าจะเอาซีนที่ยากและประทับใจ มันจะเป็นพวกซีนกลางคืนของไอ้แน็คอะ มันจะมีบางคืนที่แบบดึกมาก แล้วเราจะต้องบริการจัดการว่าแน็คไปนอนก่อนแล้วตื่นมา คือในหนังมันเหมือนหัวค่ำ แต่บางที่เราต้องถ่ายถึงตีสองบางล่ะ จะมีอยู่คิวนึงที่ต้องรอแสงเช้า แน็คต้องนอนอยู่ริมหน้าต่างแล้วเราต้องถ่าย ช่วงเวลาเช้าจริงๆ ต้องมีผู้กำกับอุ้มน้องไปนอนอยู่ตรงนั้นแล้วปลุกให้มันตื่นจริง สำหรับผมนะไอพวกนี้มันเป็นซีนยากที่เราจะต้องทำยังไงให้สำเร็จ คือเราต้องดีลกับพ่อแม่เด็กแล้วเราก็จะรู้สึกเกรงใจ คือเราต้องมีความพยายามให้งานมันเสร็จจริงๆ มันไม่ใช่แค่เรื่องตื่นนอน มันยังมีเรื่องต้องทำให้น้องร้องไห้อีก ผมว่าอะไรพวกนี้สำหรับผมจะรู้สึกประทับใจที่สุดท้ายแล้วน้องมันยอมทำยอมเล่นให้เรา

บอล: ของผมเป็นชอทที่ผมเครียดที่สุด คือชอทที่แจ็คขี่ซาเล้งลงเนินอะครับ คือถ้าติดเครื่องขี่ลงมันจะไม่ลุ้นเท่านี้ คือมันจะควบคุมความเร็วควบคุมเบรกได้ แต่อันนี้มันคือไม่ติดเครื่องแล้วปล่อยมันไหลลงมาแบบธรรมชาติเพื่อให้มันได้ความรู้สึกว่ามันไม่ได้ติดเครื่องๆ จริงๆ แล้วก็เร็วแบบในเรื่อง ทำให้อนาคตชีวิตเด็กอีก 5 คนอยู่ในมือแจ็ค ซึ่งจริงๆ มันก็โตกว่าไอ้พวกนี้ิหน่อยเดียวเอง แล้วก็เด็กทุกคนตรงนั้นพ่อแม่เขามากันหมดเลยมีแจ็คคนเดียวที่พ่อแม่ไม่มา มันเหมือนแบบว่าถ้าพังนี่คือแบบ จะไปบอกเขายังไง คือแค่แหกโค้งแล้วหน้าแข้งแตกไม่ต้องมากกว่านั้นหรอก

เอส: รับรองปิดกล้องเลยทันที (หัวเราะ)

บอล: คือถ้ากว้างออกมาจะเห็นเลยว่าพอพ้นกล้อง มีคนไปรอดักแบบเซฟตกเขาหรือคว่ำหรือข้างทางเพียบเลย แบบว่าคือมอร์นิเตอร์ไม่สนใจแล้วอะ มาลุ้นแบบว่าขอให้มึงลงมาถึงพื้นแล้วปลอดภัยก็พอแล้ว

ต้น: จริงๆ ผมนึกถึงซีนวันเด็ก มันจะมีโมเมนต์นึงที่ผมชอบมาก มันเป็นเทคที่เราไม่บอกน้อยหน่าฮะว่าแบบจะได้ดอกไม้จากแน็คจริงๆ เราใช้วิธีกระซิบแน็คบอกว่าเดี๋ยวเดินเอาไปให้เลยโดยที่โฟกัสไม่รู้ แล้วโมเมนต์นั้นที่ถ่ายคือโฟกัสได้ดอกไม้ แล้วน้องรู้สึกจริงๆ กับการได้ดอกไม้ เป็นรีแอคจริงๆ ความเซอร์ไพรส์จริงๆ เขินจริงๆ ผมรู้สึกว่านี่คือเมจิคอย่างหนึ่งของการถ่ายหนัง ที่บางครั้งเราก็จะใช้วิธี บอกบ้างไม่บอกบ้าง จนผลลัพธ์ที่มันได้มากลายเป็นภาพที่เราได้เห็นกันในจอหนังครับ

20-years-Fan-chan-SPACEBAR-Photo04.jpg

การรีมาสเตอร์กลับมาฉายอีกครั้ง นอกจากคุณภาพในด้านความสวยงามของภาพยนตร์แล้วนั้น ผู้ชมจะได้อะไรเพิ่มเติมจากการดูหนังเรื่องเดิมเมื่อเวลาผ่านไป ?

ต้น: ผมว่าถ้าพูดรวมๆ ของการดูหนังเรื่องหนึ่ง ผ่านเวลาผ่านชีวิตอะ ประสบการณ์ชีวิตมันจะมีผลต่อการดูหนังบางเรื่อง เหมือนตอนเราเด็กมากๆ เรารู้สึกแบบหนึ่งกับตัวละครบางแบบ กับเรื่องราวบางเรื่อง แต่พอโตขึ้นเราเข้าใจชีวิตมากขึ้นบางทีเราอาจจะมองเจี๊ยบมองน้อยหน่าในอีกความรู้สึกหนึ่ง คือคนบางคนพอมันไม่เคยได้ผ่านเรื่องราวชีวิต มันอาจจะไม่เข้าใจ แต่พอได้ผ่านเรื่องราวเหล่านั้นแล้วกลับมามองอีกครั้งมันก็จะเข้าใจมากขึ้น ผมว่าเราจะเห็นตัวละครคนละแบบเลยนะ บางครั้งหนังบางเรื่องเราดูตอนนั้นไม่เห็นรู้สึกแบบนี้เลยวะ พอกลับไปดูใหม่แล้วเรารู้สึกพิเศษขึ้นเฉยเลย

เดียว: ตัวผมเองนะ 20 ปีที่แล้วตอนผมดูผมจะเฉยๆ กับซีนพ่อแม่ ดูผ่านๆ มาก แต่พอผมมาเป็นพ่อแม่คนแล้วเนี่ย พอกลับมาดูเที่ยวหลัง ผมแม่งโครตตั้งใจดูตัวละครพ่อแม่ว่า เขาเล่นตรงนี้เป็นอย่างไง แบบว่าเข้าใจความเป็นพ่อแม่ขนาดไหน นี่มุมผู้กำกับอะเนาะ เราดันไปดูตรงนั้นเองโดยอัตโนมัติ พอเราเป็นพ่อแม่ปุ๊ปเราจะไปสนใจซีนที่พ่อแม่มันคุยกับเด็ก คุยกับลูก แล้วก็ไปเซนซีทีฟกับซีนที่แบบว่าพี่กบตีลูก ซีนที่ลูกเถียงแม่อะไรเงี้ย คือดูตอนนู้นก็จี๊ดนะ แต่พอมาดูตอนนี้ สำหรับผมพอได้มาเป็นพ่อแม่คน ไอซีนพวกเนี้ยจี๊ดกว่าเดิม ซึ่งผมเชื่อว่าสิ่งนี้มันก็คงเกิดกับคนอื่นเหมือนกันอย่างที่ต้นบอก เหมือนกับว่าบางทีน้องๆ ดูตอนเก้าขวบสิบขวบอะ บางทีอาจจะยังไม่เข้าใจความรู้สึกพ่อแม่หรอก แต่พออายุเพิ่มมาอีกยี่สิบปีมันก็จะโฟกัสคนละแบบ

20-years-Fan-chan-SPACEBAR-Photo05.jpg

ในยุคที่สตรีมมิ่งมาแรงแบบนี้ ทำไมผู้คนยังต้องเลือกไปดูหนังในโรงภาพยนตร์อยู่ ?

ต้น: ผมว่าจริงๆ แล้วมันตอบภาพรวมของการดูหนังเลยนะ คือหมายถึงว่าถ้าวันนี้เราพูดว่าการดูหนัง คือแค่เปิดมันแล้วก็ทิ้งๆ ไว้ดูบ้างไม่ดูบ้างเนี่ย เราจะรู้สึกกับตัวละครกับเรื่องราวได้ไม่เท่าเรานั่งดูมันด้วยความตั้งใจมีสมาธิกับมันตลอดเวลา ผมรู้สึกว่าดีเทลบางอย่าง หรือสถานการณ์บางอย่างในหนังเนี่ยถ้าเราพลาดหันไปนู่นนี่นั่นแว้บเดียวหันกลับมามองอีกทีมันไม่รู้สึกแล้วนะ การดูในโรงมันเหมือนเราถูกบังคับให้ดูมันตลอด มันทำให้ซาบซึ้งประทับใจกับเรื่องราวไปได้ตลอด เพราะฉะนั้นเนี่ย หนังบางเรื่องดูในโรง กับหนังบางเรื่องดูในโทรศัพท์เราก็ไม่รู้ว่าไอ้จังหวะที่คุณดูโทรศัพท์อะดูตลอดปะวะ กรอหรือเปล่า เพิ่มความเร็วหรือเปล่า คือไม่มีทางรู้เลยว่าคุณอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหนในการดู ได้ยินเพลงชัดมั้ย ทุกอย่างมันส่งผลต่อความรู้สึกในการดูทั้งหมด ผมว่าการดูในโรงภาพยนตร์ครบถ้วนกว่าแน่นอน

เอส: ผมว่าจริงๆ แล้วคำว่าภาพยนตร์เนี่ย มันไม่ได้ประกอบไปด้วยแค่คนกับตัวหนังอะ มันมีคนดู หนัง โรงภาพยนตร์ การมีคนข้างๆ แอร์เย็นๆ ป๊อปคอร์น องค์ประกอบมันถึงจะสมบูรณ์แบบที่คนดูจะได้รับ ซึ่งปัจจุบันเนี้ยมันอาจจะต้องยอมรับว่ามันห่างหายไปเยอะมาก แต่ผมยังยืนยันว่าเราไปดูหนังในโรงภาพยนตร์เราจะได้รับประสบการณ์ของสิ่งที่เรียกว่าภาพยนตร์จริงๆ ยกเว้นคนข้างๆ จะยกโทรศัพท์ขึ้นมาดู หรือคุยกันก็อีกเรื่อง

สุดท้ายอยากฝากอะไรกับกลุ่มแฟนคลับหนัง “แฟนฉัน” หรือ คอหนังไทยที่รอรื้อฟื้นความทรงจำกันอันแสนหวานกันอีกครั้งในวันที่ 9 ตุลาคมนี้ ?

เดียว: จริงๆ ตอนที่หนังมันฉายเมื่อ 20 ปีที่แล้วอะ สิ่งที่เซอไพรส์เราก็คือ จากดาราเด็กที่ก็ไม่ได้มีใครรู้จักจู่ๆ ก็มีการตั้งกลุ่มแฟนคลับ ว่าเป็นเอฟซีแฟนฉัน เอฟซีโฟกัส เป็นเหมือนมีแฟนคลับของกลุ่มเด็กๆ ขึ้นมา แล้วคนกลุ่มนี้ผมเชื่อว่าเขารักในหนังเรื่องนี้จริงๆ ผ่านมา 20 ปี ผมทำสารคดี ก็มีการไปตามหาคนกลุ่มนี้กลับมาทุกคนเขาก็เอาข้าวเอาของหนังแฟนฉันออกมากาง คือทุกคนยังรู้สึกภูมิอกภูมิใจกับการเก็บข้าวของเหล่านี้ แล้วก็มารวมตัวกันเพื่อพูดถึงหนัง ผมก็เชื่อว่าวันที่หนังเรื่องนี้กลับมาฉาย เขาก็คงรวมตัวกันเพื่อกลับมาดูหนังเรื่องนี้อีก ก็รู้สึกว่าดีใจนะว่าเราทำงานขึ้นมาชิ้นนึง แล้วมันไม่ได้มีแค่พวกเราที่อินไปกับมันหรือรักหนังเรื่องนี้ มันยังมีคนอื่นๆ ที่เห็นคุณค่าแล้วก็อยากที่จะฉลองการครบของหนังเรื่องนี้ไปทุกๆ ปี ซึ่งผมเชื่อว่าพวกเราก็รู้สึกแบบนั้น ว่าเราคงไม่ได้แบบครบ 20 ปีนี้แล้วก็เลิกอะไรเงี้ย จริงๆ ทุกๆ ปีก่อน 3 ตุลาผมอาจจะไม่ได้คุยกับต้นเลยปีนึงก็ได้แต่ผมก็จะรู้ว่าเดี๋ยวพอแถวๆ 3 ตุลา จะมาละ เดี๋ยวมันจะมีไลน์เด้ง เช็คคิวนัดเจอ ซึ่งผมคิดว่ามันมีหนังไม่กี่เรื่องจริงๆ นะ ที่มันสามารถทำอะไรแบบนี้ได้ เพราะพี่ๆ เหล่านี้เขาก็ทำหนังกันมาหลายเรื่องนะ แต่มันก็ไม่มีเรื่องไหนที่เป็นแบบนี้

เพราะฉะนั้นถ้าโดยส่วนตัว พวกผมเอง ก็รู้สึกว่า รู้สึกดีใจ รู้สึกภูมิใจ อยากให้คนดูเข้ามาสัมผัสประสบการณ์นี้จริงๆ คือกลับไปดูคลิปเก่าๆ ที่เราแอบถ่ายในโรงแล้วเห็นคนนั่งมองจอแล้วหัวเราะพร้อมๆ กัน แล้วก็ปาดน้ำตา ผมว่าความรู้สึกนั้นเป็นสิ่งที่ดีมากเลย แล้วมันก็ไม่ใช่แค่เราที่รู็สึกดีที่จะได้เห็นบรรยากาศเหล่านั้น ผมเชื่อว่าทุกคนที่จะเข้าไปในโรงรอบนี้ก็จะได้ความรู้สึกนั้นกลับมาด้วย ผมว่ามันคุ้มค่าที่จะกลับมาดูมันอีกครั้งหนึ่ง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์