‘เสาร์ 5’ ไม่ใช่แค่บทประพันธ์ แต่เป็นคติความเชื่อที่ว่ากันว่า ‘แรงที่สุด’

19 ธันวาคม 2566 - 10:00

5-saturday-thai-belief-SPACEBAR-Hero.jpg
  • เสาร์ 5 เป็นคติความเชื่อไทยมาตั้งแต่โบราณ ตามคำบอกกล่าวของโหราจารย์เชื่อว่าวันเสาร์ ขึ้นหรือแรม 5 เดือน 5 จะเป็นวันที่ฤกษ์งามยามดีที่สุด

ชาวไทยจำนวนไม่น้อยอาจเคยได้ยินคำว่า ‘วันเสาร์ 5’ ซึ่งว่ากันว่าเป็นวันที่แรงที่สุด มีฤกษ์ประกอบงามที่สุด เมื่อใดก็ตามที่ถึงวันนี้ มักจะมีการประกอบพิธีทางศาสนา รวมถึงทำพิธีปลุกเสกพระเครื่อง หรือวัตถุมงคลวัตถุธาตุกายสิทธิ์  การประกอบพิธีพุทธา ภิเษกวัตถุมงคล เพื่อบังเกิดอิทธิคุณด้านมหาอำนาจ มหาอุจจ์ เหนือกว่าฤกษ์ปรกติ โดยคติความเชื่อนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่เป็นสิ่งที่บอกกล่าวกันจากอาจารย์โหราศาสตร์ รวมถึงมีบันทึกในตำราจากโบราณจารย์

บางคนอาจสงสัยว่า เสาร์ 5 คืออะไร จริงๆ แล้ว คำว่า เสาร์ 5 ย่อมาจาก วันเสาร์ในวันขึ้นหรือแรม 5 ค่ำ เดือน 5 ไม่ใช่วันเสาร์ที่ 5 ของทุกเดือน หรือ วันเสาร์ประจำเดือนที่ 5 ของปี แต่อย่างใด  

อาจารย์ลักษณ์ เรขานิเทศ เลขาธิการสถาบันพยากรณ์ศาสตร์ หรือเจ้าของฉายา โหรฟันธง กล่าวว่า ตามคติความเชื่อของโบราณาจารย์เชื่อว่า ดาวเสาร์เป็นดาวแห่งความเข้มแข็ง และมีพลังมาก หากมีการประกอบพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลในวันเสาร์ห้า จะมีพุทธคุณด้านคงกระพัน และแคล้วคลาด

5-saturday-thai-belief-SPACEBAR-Photo01.jpg

จากตำนานเรื่องเล่า และความเชื่อนี้ ทำให้มีบทประพันธ์เรื่อง ‘เสาร์ 5’ ของ ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร เป็นที่รู้จักกันในนามปากกา ‘ดาเรศร์' ในบทประพันธ์นั้นเป็นเรื่องราวของ ขบวนการเสาร์ 5 ที่ต้องออกมาขจัดองค์กรข้ามชาติ โดยแฝงเรื่องคติความเชื่อเกี่ยวกับ เสาร์ 5 เอาไว้ด้วย บทประพันธ์เรื่องนี้เคยนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ไทยชื่อเดียวกันในปี พ.ศ. 2519 กำกับโดย วินิจ ภักดีวิจิตร 

ภายในบทประพันธ์ เสาร์ 5 หลวงพ่อในเรื่องได้อธิบายเกี่ยวกับ เสาร์ 5 เอาไว้ว่า  

"วันเสาร์ห้า หมายถึง วันเสาร์ที่ตรงกับขึ้นหรือแรมห้าค่ำ เดือนห้า" หลวงพ่อเริ่มเล่า "เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนนั้น มีวันเสาร์ห้า แรมห้าค่ำ เดือนห้าที่มีฤกษ์ประกอบงามที่สุด พระห้าองค์ที่เป็นเพื่อนรักใคร่กันสนิทสนมมาก และต่างมีวิชาความรู้ติดตัวกันพอสมควร ประชุมคิดกันว่า วันเสาร์ห้าที่จะถึงนั้น จะนั่งปรกปลุกเสกของตลอดคืน ภิกษุทั้งห้าองค์นั้นมีพระเครื่องที่เก่าแก่ที่งามที่สุดและรักที่สุดองค์ละองค์ มีพระกริ่ง คลองตะเคียน พระยอดธง พระท่ากระดาน พระสมเด็จ และพระนางพญา"

5-saturday-thai-belief-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: Wikimedia

"เสาร์ห้าคืนนั้น ที่นี่แหละ พระห้าองค์นั่นก็นั่งปรกตลอดคืน เพ่งจิตเฉพาะพระเครื่องของใครก็ของใคร ประมาณสักตีห้า พระเครื่องแต่ละองค์ที่วางราบไว้แต่หัวค่ำ ก็ผงกองค์ขึ้นตั้งอยู่สักอึดใจ แล้วก็เอนราบลงไปใหม่ฟ้าสางพอดี เช้าขึ้นเราก็แยกย้ายกันไป ก่อนจากกันเราคิดกันว่าจะมอบพระเครื่องที่ขลังได้ที่ให้กับทายาทหรือลูกศิษย์ที่พอที่จะเป็นหัวแก้วหัวแหวนก้นกุฎีได้ หลวงพ่อเมี้ยนก็เสนอว่า เราจะออกหาเด็กที่เกิดในคืนวันนั้นคือวันเสาร์ห้า ต้องเป็นผู้ชายแล้วขอรับไว้เป็นลูก ก็ได้เด็กเกิดตามที่ต้องการทุกองค์ พ่อได้ไอ้ดอนที่กาญจนบุรีนี่เอง เลี้ยงมันมาจนโตพอ มันจะไปเป็นทหาร พ่อก็มอบพระท่ากระดานให้ มติที่ประชุมอีกเหมือนกันที่ตกลงว่า ไม่ว่าเด็กนั้นสกุลเดิมจะอย่างไร เราจะเปลี่ยนเป็นสกุลพระเครื่องให้ทั้งหมด จึงได้มี เทิด ยอดธง มีกริ่ง คลองตะเคียน มีดอน ท่ากระดาน ยอด นางพญา และ เดี่ยว สมเด็จ"

มาถึงตรงนี้ใครที่เกิดในวันเสาร์ขึ้นหรือแรม 5 ค่ำ เดือน 5 แม้จะเกิดขึ้นได้ยาก แต่ต้องมีสักคนกันบ้าง ต้องเป็นคนที่เปี่ยมไปด้วยบารมี มีพลังเต็มเปี่ยม อย่างแน่นอน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์