5 หนังสือประดับเชลฟ์ทีแรกอยากอ่าน แต่สุดท้ายยังอ่านไม่จบ

12 ตุลาคม 2566 - 14:57

5-show-off-books-you-dont-actaully-read-SPACEBAR-Hero.jpg
5-show-off-books-you-dont-actaully-read-SPACEBAR-Hero.jpg

หนังสือบางเล่มล้วนมีตำนานของมัน บางเล่มอาจได้รางวัลพูลิตเซอร์ บางเล่มเป็นสาเหตุที่ทำให้นักเขียนได้รางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม บางเล่มเป็นหนังสือที่คนโด่งดังมากมายอ่านมาแล้ว พอได้ยินมาแบบนี้มีหรือคุณจะไม่อยากลองอ่านดูบ้าง? 

แต่แล้วเมื่อคุณได้อ่านไปสักพัก คุณกลับรู้สึกว่า ‘ไม่เป็นอย่างที่คิดไว้’ จนต้องพับเก็บเข้าชั้นหนังสือ ดีไม่ดีคุณอาจไม่หวนกลับไปอ่านมันอีกเลย เราจะมาดูกันว่าหนังสือ 5 เล่ม นี้มีอะไรบ้าง

5-show-off-books-you-dont-actaully-read-SPACEBAR-Photo01.jpg

เซเปียนส์ (Sapiens) 

หนังสือประวัติศาสตร์มนุษยชาติเล่มฮิตของ ยูวาล ฮารารี (Yuval Harari) ที่ทำยอดขายถล่มทลายแบบต่อเนื่อง เซเปียนส์เป็นหนังสือบอกเล่าประวัติศาสตร์มนุษย์ตั้งแต่มนุษย์ยังเป็นลิงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย อธิบายจนอ่านได้เพลินๆ แถมยังสามารถทำความเข้าใจความเป็นมนุษย์ได้ด้วย ทำให้หนังสือเล่มนี้ขึ้นหิ้งขายดี ถึงกระนั้นด้วยความยาวร่วม 500 กว่านี้ ก็ทำคนถดถอยท้อแท้ใจ อย่างมากก็อ่านได้เกินครึ่ง แล้วก็โยนคืนสู่ชั้นหนังสือ ยังไม่ทันได้เข้าสู่เรื่องในปัจจุบันเสียด้วยซ้ำ กลับไปอ่านตอนนี้คือต่อไปไม่ติดแล้ว

5-show-off-books-you-dont-actaully-read-SPACEBAR-Photo02.jpg

ปรัชญาชีวิต (The Prophet) 

บทกวีสอนชีวิตของ คาลิล ยิบราน (Kahlil Gibran) ศิลปินวาดภาพชาวเลบานอนที่ผันตัวเป็นนักเขียนผู้โด่งดังในสหรัฐอเมริกา หนังสือปรัชญาชีวิตมีพล็อตเรื่องสั้นๆ คือ ผู้เผยวจนะนามว่า อัล มุสตาฟา (Al Mustafa) ที่อาศัยอยู่ในเมืองออร์ฟาลีสนานมานาน 12 ปี ออกเดินเรือเพื่อกลับบ้าน ระหว่างทางเขาได้เจอผู้คนมากมายและถูกไถ่ถามเกี่ยวกับชีวิตและภาวะความเป็นมนุษย์ บทกวีแบ่งออกเป็นหัวข้อหลายเรื่องที่จับใจผู้คนเป็นอย่างดี ทำให้กลายเป็นหนึ่งในหนังสือที่ควรอ่านก่อนตาย ถูกแปลกว่า 100 ภาษา รวมถึงฉบับภาษาไทยที่ยังฮิตอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่แน่ใจว่าอ่านจบเล่มกันหรือไม่ ปรัชญาชีวิตอาจเป็นข้อยกเว้น เพราะบางคนอาจเลือกอ่านเฉพาะบางหัวข้อ แล้วเก็บเข้าชั้นหนังสือจนฝุ่นเกาะ

5-show-off-books-you-dont-actaully-read-SPACEBAR-Photo03.jpg

สงครามและสันติภาพ (War and Peace) 

งานวรรณกรรมคลาสสิคปราบเซียนของ ลีโอ ตอลสตอย (Leo Tolstoy) มีความยาวร่วม 1,200 หน้า ตัวละครอีกหลายร้อยตัวให้จดจำ (แล้วก็ลืมจนต้องพลิกกลับไปอ่านใหม่ แต่ก็หาไม่เจอ) สงครามและสันติภาพเป็นงานวรรณกรรมที่ตอลสตอยต้องการเล่าเรื่องเดียว แต่กลับรู้สึกว่าต้องมีการเล่าเกริ่นก่อน เกริ่นไปเกริ่นมาจู่ความยาวก็เพิ่มพูนจนกลายเป็นพันกว่าหน้า ต้องพูดว่าวรรณกรรมเรื่องนี้เป็นงานคลาสสิคที่คลาสสิคจริงๆ เพราะไม่มีลูกเล่นให้กับพล็อตเรื่อง เล่าเรื่องไปเรื่อยๆ จนทำคนอ่านเผลอหลับหลายรอบ ถ้าให้รวมแรงออกไปวิ่งมาราธอนกับอ่านสงครามและสันติภาพให้จบ เชื่อว่าคนคงเลือกไปวิ่งมาราธอนมากกว่าแน่นอน

5-show-off-books-you-dont-actaully-read-SPACEBAR-Photo04.jpg

สิทธารถะ (Siddhartha) 

วรรณกรรมปรัชญาชีวิตของ เฮอร์มาน เฮสเซอ (Hermann Hesse) นักเขียนชาวเยอรมันผู้หลงใหลความเชื่อตะวันออก บอกเล่าเรื่องใหม่ของพราหมณ์หนุ่มที่แสวงหาทางด้วยตัวเอง โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับพระพุทธเจ้า สิทธารถะเป็นหนังสือเหมาะกับติดชั้นหนังสือ เพราะคนนิยมบอกว่าทุกครั้งที่กลับมาอ่านทุกครั้งในช่วงอายุที่แตกต่างกันจะได้อะไรบางอย่างที่ไม่เหมือนเดิม แต่บางคนอ่านไม่จบเพราะรู้สึกว่าไม่ค่อยเข้าใจว่าเฮสเซอจะสื่ออะไร หรือบางคนไม่ได้อินกับเรื่องจิตวิญญาณศาสนาอะไรขนาดนั้น

5-show-off-books-you-dont-actaully-read-SPACEBAR-Photo05.jpg

ทุกเล่มของมูราคามิ (Murakami) 

นักเขียนชาวญี่ปุ่นที่หลงวัฒนธรรมตะวันตกจนเอามาปล่อยผีทุกอย่างในผลงานของเขา ฮารุกิ มูราคามิ เป็นนักเขียนที่มีผลงานหลายเล่ม ทำเป็นหนังหลายเรื่อง และถูกพูดถึงบ่อยๆ สำหรับนักเขียนเอเชียที่โด่งดังในโลกตะวันตก แนวของเขาคือสัจนิยมมหัศจรรย์ คนมักจะงงว่าเหตุการณ์แปลกๆ ที่เกิดขึ้่นในเรื่องคืออะไร แต่เล่มบางเล่มก็มีการเล่าที่หนืดและอืดจนไม่สามารถอ่านจนจบได้เช่นกัน สุดท้ายก็ปล่อยไว้บนชั้นหนังสือ เก็บเอาไว้ถ่ายลงสตอรี่ไอจีว่า “ฉันอ่านมูราคามินะ”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์