บางลำพู ในอดีตคือตลาดยอดฮิตของกรุงเทพฯ มีความหลากหลายของวิถีชีวิตผู้คน วัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา จนถึงทุกวันนี้ บางลำพู ยังคงมีบรรยากาศ ของย่านเก่าที่อบอุ่น บางลำพูเมื่อ 80-90 ปี ที่แล้วเป็นย่านการค้าสำคัญของเกาะเมืองรัตนโกสินทร์ คลองบางลำพู ที่ทุกวันนี้เป็นคลองแคบๆ เคยเป็นเส้นทางการค้าสำคัญ ต้อนรับเรือสินค้า ผลไม้ ข้าวสาร ผักและพืชผลทางการเกษตร ข้าวของเครื่องใช้ เข้าสู่พื้นที่ภายในเกาะเมือง พ่อค้าแม่ค้าจากฝั่งธนบุรี จากในคลองบางกอกน้อย บางพรหม ตลิ่งชัน รวมไปถึงเรือจาก ปทุมธานี นนทบุรี ทำให้บางลำพูมี 3 ตลาด ที่มีสรรพสินค้า ของกินของใช้ให้เลือกมากมาย

รับเวลาเช้ากันที่ตลาดเช้า หรือตลาดยอด อยู่ใกล้สะพานนรรัตน์ ปัจจุบันคือซากห้างนิวเวิร์ล ในเวลานั้นตลาดยอดคือตลาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ มีมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พอถึงรัชกาลที่ 5 ตลาดยอด ขยายเป็นโรงสูง ทำด้วยไม้มุงกระเบื้อง มีทางเข้าสี่ทาง สิ่งที่ขายในตลาดยอดคือ อาหาร ของกิน ของใช้ในครัวเรือน นึกภาพให้เชื่อมโยงกัน จะเห็นภาพเรือ ขนสินค้า ผลไม้ อาหาร พายจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าคลองบางลำพูข้างวัดสังเวชวิศยาราม ตรงหลังป้อมพระสุเมรุทุกวันนี้ มาหยุดเอาของขึ้นตรงสะพานนรรัตน์ ลำเลียงเข้าตลาดยอด ของสดของแห้งจากสวนฝั่งธนบุรี นนทบุรีมีให้เลือกมากมาย เป็นที่รู้กันว่า ตอนเช้าตลาดยอดขายของสด ตกบ่ายจะเปลี่ยนเป็นของกิน อาหารการกินสารพัดชนิด ตกเย็นยังมีข้าวต้มกุ้ย มีอาหารจีนที่ราคาไม่แพงแต่อร่อยเท่าภัตตาคารในเยาวราช

ตลาดที่สองคือตลาดของกิน หรือตลาดเย็น เราข้ามถนนจากตลาดยอด ข้ามสะพานนรรัตน์ ย้อนกลับไปทางสามเสนจะพบกับ ตลาดนานา ที่มีของกิน ขนมสารพัด ยามเย็นหนุ่มสาว พ่อแม่จะพาลูกมานั่งกิน ข้าวแกง โจ๊ก ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ เย็นตาโฟ ฯลฯ ยังมีของกินที่หาทานยากในยุคปัจจุบัน ข้าวต้มเนื้อ ตอนกลางวันจะเงียบๆ เพราะเป็นตลาดยามเย็น พ่อถึงค่ำคืนผู้คนเข้ามาหาขอกินที่ตลาดนานามากขึ้น เพราะใกล้กับตลาดมีโรงหนังมีวิกลิเก ร้านอาหารจะเปิดขายถึงเที่ยงคืน พอหนังและลิเกเลิก ร้านค้าเหล่านี้จะรองรับคนมาหาอะไรกินก่อนกลับบ้าน ตลาดนานามีชื่อเรื่องอาหารและนักเลง มีบ้างบางวันที่ทานอาหารไปจะได้ชมการประลองกำลังของเจ้าถิ่นเป็นประจำ ตลาดนานาเป็นของนายเล็ก นานา มุสลิมย่านคลองสาน แต่เป็นเจ้าของที่ดินบริเวณบางลำพูหลายผืน ทุกวันที่ที่ดินของคุณเล็ก แปรเปลี่ยนเป็นโรงแรมที่พักรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ของกินตลาดนานาเหลือแต่ขนมโบเกี๊ยข้างศาลเจ้าพ่อหนู ร้านเก่าๆ หายไปจนหมด

อีกตลาดคือ ตลาดผลไม้ ผลไม้รสดีจากสวนฝั่งธนบุรี และนนทบุรี จะเป็นอะไรไม่ได้ถ้าไม่ใช่ ทุเรียน ชมพู่ ลิ้นจี่ เงาะ ตลาดผลไม้อยู่ตรงข้ามตลาดยอด ด้านถนนพระสุเมรุ ตลาดผลไม้โดยเฉพาะทุเรียนบางลำพูนั้นมีชื่อ เพราะไม่ใช่ตั้งแผงขายธรรมดาแต่เป็นตลาดค้าส่งทุเรียน มีการทำคอกขนาด 2-3 เมตร เอาทุเรียนมากองเป็นกองๆ ส่วนใหญ่เป็นทุเรียนนนท์ กับบางยี่ขัน ราคาถูกจนอยากเหมา ต่างจากทุเรียนทุกวันนี้คนละเรื่อง อย่างทุเรียนก้านยาวลูกละ 1-10 บาท ทุเรียนที่แพงที่สุดคือทุเรียนกบ สมัยนั้นจะไม่ฮิตทุเรียนหมอนทอง หมอนทองนั้นมาฮิตทานกันในยุคนี้ ยุคที่คนนนท์ ไปซื้อที่ระยอง จันทบุรี ปลูกทุเรียน ผู้ใหญ่เล่าว่าทุเรียนบางลำพูแต่ก่อนไม่แพงมาแพงหลังน้ำท่วมใหญ่ ปี 2485 สวนทุเรียนแถวเมืองนนท์ล่มซะมากทุเรียนเลยแพงขึ้นแต่ก็ยังถูกกว่าทุกวันนี้


บางลำพูยังมีร้านขายข้าวสาร ที่เรียงรายอยู่บนถนนข้าวสาร เรือจากทุกสารทิศจะขนข้าวสารเข้ามาที่นี่ เป็นที่่มาของชื่อถนน ข้าวสารที่ตอนนี้ไม่เหลือข้าวสารมีแต่ฝรั่ง ถ้าหาจะสัมผัสความเป็นบางลำพูแบบเดิมวันนี้คงยากบางลำพูเปลี่ยนไปเป็นแหล่งพำนักของนักท่องเที่ยว ตลาดเปลี่ยนไป หากเพียงคิดถึงตลาดเก่าๆ ของบางลำพูคงทำได้แต่เพียงหาร้านอาหารที่มีชื่อช่วง 20-30 ปีนี้ รับประทาน แถวตลาดยอดเดิมข้างร้านไกรสีห์ยังมีข้าวแช่ ซอยวัดสังเวชฯ มีร้านเข้าแกงสมทรง ตลาดผลไม้นั้นไม่มีแล้ว ตลาดของกินตอนเย็นก็หายไปหมด บ้านทำขนมหวานแถวตลาดนานาก็เลิกหมด เดินไปหาแม่อุดมข้างสตรีวิทยาเอาก็แล้วกัน ถ้าจะทานข้าวแกงยังพอมีแถวสะพานวันชาติ ร้านขนมบรรยากาศตลาดเก่าของบางลำพูเหลือจางๆ แต่ยังคงมีความทรงจำและเรื่องเล่าให้คิดถึงและเสียดาย ความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา ถ้ารักและถวิลหา ลองไปเดินช้า ๆ แล้วหาอย่างอื่นแทน