ไขข้อสงสัยวันไหว้พระจันทร์ ? ทำไมเราต้องไหว้บริวารโลก หรือจริงๆ แล้วมีใครอยู่บนพระจันทร์ ?

29 ก.ย. 2566 - 03:25

  • หากคุณเกิดมาเป็นคนไทยเชื้อสายจีน คงเคยชินกันดีกับการที่ช่วงหนึ่งในรอบปี อาม๊า อาป๊า อาม่า อากง จะนัดรวมตัวครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตากันมาไหว้พระจันทร์ ที่มีพระเอกของการไหว้เป็นขนมหลากสีหลายไส้รสชาติหวานจับใจ ได้ชิมครั้งแรกก็ประทับจิตไม่รู้ลืม

  • แต่เคยสงสัยกันไหมว่า วันไหว้พระจันทร์ที่จัดกันทุกปี ซัดขนมกันจนน้ำหนักขึ้นเอาๆ มันมีต้นกำเนิดและที่มาจากอะไร ทำไมเราต้องเอาขนมชนิดนี้กราบไหว้สิ่งที่อยู่ห่างออกไปหลายแสนกิโลเมตรกันนะ

Mid-Autumn-Festival-SPACEBAR-Hero.jpg

วันไหว้พระจันทร์ หรือที่เรียกกันว่า “Mid-Autumn Festival” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งก็มาจากความหมายเดิมจากคำว่า “จงซิว” ในภาษาจีนซึ่งหมายความว่า “เทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วง” เป็นเทศกาลตามวัฒนธรรมจีนที่ถูกจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยจะถูกจัดขึ้นในช่วงที่พระจันทร์สวยงามที่สุด คือวันเพ็ญเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ หรือเดือน 9 ตามปฏิทินสากล 

ตั้งแต่โบราณในวันดังกล่าวชาวบ้านจะมารวมตัวกันในวันเก็บเกี่ยวทั้งช่วยกันเก็บผลผลิต พบปะสังสรรค์เฉลิมฉลองพร้อมกับจิบชาชมดวงจันทร์เต็มใบที่ลอยสวยงามตระหง่านอยู่บนท้องฟ้า อีกทั้งยังข้องเกี่ยวกับความเชื่อในการบูชาแสงอาทิตย์ พระจันทร์ ดวงดาว ของชาวจีน โดยดวงจันทร์นั้นเป็นตัวแทนของความสมบูรณ์มั่งคั่ง

ซึ่งนอกเหนือจากเหตุผลทางสังคมที่ว่าด้วยการเก็บเกี่ยวผลผลิต วันไหว้พระจันทร์ก็ยังมีตำนานมากมายหลายแบบเล่าไว้ถึงที่มา อาทิตำนานของเทพีจันทรานามว่า ฉางเอ๋อ ซึ่งเป็นตำนานปกรณัมจีน ที่เล่าเรื่องราวของ โฮวอี้ มือยิงธนูของสรวงสวรรค์ที่สอยดวงอาทิตย์ตก 9 จาก 10 ดวง เพื่อช่วยโลกมนุษย์ไว้จากการมอดไหม้ แต่ตามกฏถือว่าเป็นการฝ่าฝืนบัญชาสวรรค์ จึงโดนเนรเทศลงมายังโลกมนุษย์กลายเป็นคนธรรมดากับคนรักอย่าง ฉางเอ๋อ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเจ้าตัวที่กลายเป็นคนธรรมดาก็ต้องมาตายจากการที่มีเหตุต้องไปพัวพันกับการแย่งชิงน้ำอมฤต จนทำให้ ฉางเอ๋อ เสียอกเสียใจตัดสินใจดื่มน้ำอมฤตนั้นเสียเองแล้วเหาะกลับไปยังดวงจันทร์

Mid-Autumn-Festival-SPACEBAR-Photo V01.jpg
Photo: ภาพจิตรกรรมเทพีจันทรา ฉางเอ๋อ วาดในสมัยราชวงศ์หมิง Credit : Wikimedia

ต่อมาในยุคจักรพรรดิเหวินแห่งราชวงศ์ฮั่น ได้ทรงหลับฝันว่าได้ลอยขึ้นไปชมพระราชวังบนดวงจันทร์ และได้พบเจอ ฉางเอ๋อ กำลังร่ายรำอย่างงดงามจนเกิดความประทับใจจับจิต เมื่อตื่นฟื้นขึ้นมา ก็เชื่อเอาว่าตำนานเทพธิดาฉางเอ๋อเป็นเรื่องจริง จึงให้นางสนมแต่งตัวร่ายรำเลียนแบบเทพธิดาฉางเอ๋อ จนเรื่องราวแพร่หลายไปยังประชาชนทั่วไปกลายเป็นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาในที่สุด

แต่บางตำนานก็ว่า แท้ที่จริงแล้วการยิงดวงอาทิตย์ครั้งนั้นทำให้ชาวบ้านเทิดทูน โฮวอี้ จนเจ้าตัวได้รับแต่งตั้งเป็นกษัตริย์ แต่เมื่อมีอำนาจก็เกิดหลงระเริงกลายเป็นทรราชกดขี่ประชาชน สร้างความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า ต่อมา โฮวอี้ เกิดได้มีโอกาสจะได้ดื่มน้ำอมฤตที่จะทำให้เขากลายอมตะไปตลอดกาลซึ่งก็จะส่งผลเสียต่อประชาชนคนทั่วไป คนรักของเขาอย่าง เทพีฉางเอ๋อ ที่เปี่ยมไปด้วยคุณธรรม จึงตัดสินใจแย่งน้ำอมฤตมาดื่มเองและเหาะหนีขึ้นดวงจันทร์ทันที โฮวอี้ พยายามยิงสอยด้วยธนูแต่ก็ไม่เป็นผล ชาวบ้านจึงต่างพากันสรรเสริญเทิดทูนยกย่องในตัวของเทพีฉางเอ๋อและมีการบูชากราบไหว้พระจันทร์นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ส่วนที่มาของขนมไหว้พระจันทร์ นั้นว่ากันว่ามีที่มาจากการที่ สมัยปลายราชวงศ์หยวน เจงกิสข่านได้ออกรุกรานยึดครองแผ่นดินจีน ชาวจีนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการปลดแอกจึงได้มีการคิดค้นขนมเพื่อไหว้ในเทศกาลดังกล่าว โดยเว้นที่ให้ใส่ไส้ได้เยอะๆ เพื่อแอบสอดข้อความนัดเวลาสังหารพวกมองโกลก่อนนำไปแจกจ่ายให้กับคนจีนทุกคน และเมื่อถึงเวลาความพร้อมเพรียงก็ทำให้ชาวจีนลุกฮือขึ้นมาพร้อมกันขับไล่พวกมองโกล จนกู้เอกราชกลับมาได้สำเร็จในที่สุด

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์