MONDO รัก โพสต์ ลบ ลืม เมื่อความ “ผิดพลาด” ทำให้ชีวิตมนุษย์ “สวยงาม”

11 ส.ค. 2566 - 09:18

  • “MONDO รัก โพสต์ ลบ ลืม” ภาพยนตร์แนว โรแมนติก-ไซไฟ-คอเมดี้ เรื่องล่าสุดของผู้กำกับไทยมากฝีมืออย่าง “มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล” ที่จะพาคุณไปสัมผัสความละเอียดอ่อนของมนุษย์ ในโลกสมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี

  • *บทความนี้อาจเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์

Mondo-Review-SPACEBAR-Thumbnail
“มอนโด” รัก โพสต์ ลบ ลืม เล่าเรื่องของชีวิตผู้คนในยุคปัจจุบัน ที่รายล้อมไปด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด จนอาจทำให้เราละเลยบางสิ่ง ผ่านตัวละคร ยี่หวา (พลอยไพลิน ตั้งประภาพร) ยูทูปเบอร์เจ้าของรายการ “โสดไปไหน” ที่ต้องเผชิญหน้ากับทางเลือกในชีวิตสมัยใหม่ที่ความสำเร็จกำหนดได้ด้วยตัวเลข และสถิติ เธอจะตัดสินใจอย่างไร เมื่อความสำเร็จข้างหน้าอาจจะต้องแลกมาด้วยความสัมพันธ์ข้างกาย 

โดยภาพรวม ภาพยนตร์เรื่องนี้ดำเนินเรื่องตามสูตรสำเร็จ ครบรส สุข เศร้า เคล้าขบขัน แม้จะมีแผลตะกุกตะกักอยู่บ้าง แต่สิ่งที่โดดเด่นแบบไม่คาดคิดคือพาร์ทความตลก ที่ต้องยอมรับว่าไม่คาดฝัน เรียกเสียงหัวเราะของผู้เขียนในระดับขำตัวโยนกับการดูภาพยนตร์ในโรงในรอบหลายปี และความตลกอันไม่คาดคิดนี้ ก็ส่งผลให้ผู้เขียนได้เมสเสจสำคัญบางอย่างที่มีต่อเทคโนโลยี ติดสมองออกมาจากโรงด้วย 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/65UT356mnEGG3sAVMaYQ9n/e8bbddf2478052334f5499bdc11253cc/Mondo-Review-SPACEBAR-Photo01
ซึ่งต้องท้าวความก่อนว่า ตัวภาพยนตร์อาจไม่ได้เหมาะกับผู้ชมที่คาดหวังความ ไซ-ไฟ ในระดับลึกลับซับซ้อน ตรรกะแน่นๆ รีเสิชจ๋าๆ เพราะพาร์ท ไซ-ไฟ นั้นคงอยู่ตามเงื่อนไขทางบท เพื่อทำหน้าที่ให้ตัวหนังวิพากษ์ความเป็นเอไอ โซเชียมีเดีย แบบกว้างๆ ผ่านมุมมองพาร์ทความเป็นมนุษย์ ผ่านไดอาล็อกของเหล่าตัวละครในเรื่อง เพื่อขับเน้นความสำคัญของบางสิ่งที่เทคโนโลยีสมัยใหม่อาจจะทำให้เราละเลยมันไป แม้จะเข้าใจเงื่อนไขของภาพยนตร์ที่ไม่ได้ต้องการความเนิร์ดของเทคโนโลยี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยความที่ไม่ได้ลงลึกในพาร์ทนี้ขนาดนั้น มันส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ชมที่อาจจะตั้งใจเข้ามาดูภาพยนตร์ ที่จั่วหัวว่าไซ-ไฟ อย่างเลี่ยงไม่ได้ ตรรกะที่เบาบางในบางช่วง บางครั้งมันอาจจะทำให้เมสเสจบางอย่างเบาบางลง เราไม่ได้เห็นความน่ากลัว หรือมุมมืดของเทคโนโลยีที่ทำให้เราฉุกคิดได้มากขนาดนั้น  

แต่ในอีกทางหนึ่ง ความเบาบางหรืออาจจะเรียกว่า “แห้งแล้ง” ของพาร์ทไซ-ไฟ มันกลับขับให้พาร์ทความเป็นมนุษย์ในเรื่องที่อาจจะเข้ามือผู้สร้างอยู่แล้ว โดดเด่นขึ้นมาอย่างเหลือเชื่อ แม้ประเด็นมนุษย์ที่เล่าอาจจะไม่ได้สดใหม่ แต่มันกลับทำงานได้ดีเยี่ยม ทั้งพาร์ทครอบครัว ความหลากหลายละเอียดอ่อนของมนุษย์ เรียกได้ว่าแม้ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจจะไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อทำให้เราเข้าใจเทคโนโลยีมากขึ้นขนาดนั้น แต่สิ่งที่ภาพยนตร์ทำงานคือการทำให้เราได้กลับมาตระหนักถึงความสวยงามบางมุมของความเป็นมนุษย์ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยตรรกะและข้อมูล ฉายภาพความละเอียดอ่อน ความผิดพลาด ที่เป็นของคู่กันของมนุษย์ ราวกับคำคมเฟสบุ๊ค ที่ว่ากันว่าการดำเนินชีวิตของมนุษย์มันก็เหมือนกับการท่องเที่ยวขับรถแบบไร้ GPS ที่บางครั้งอาจเลี้ยวผิด เลี้ยวพลาด จนหลงทางไปไกล แต่มันก็อาจทำให้เราได้เห็นวิวสวยๆ ที่ไม่คาดคิด ซึ่งจะเสียเวลาแต่มันก็ทำให้การเที่ยวครั้งนั้นจับใจแบบไม่มีวันลืม 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/uvzGmHof6u2yj98Fvdui8/2e980736402c779ab4776750d6503da4/Mondo-Review-SPACEBAR-Photo02
มีซีนหนึ่งในตัวภาพยนตร์ที่ตัวละครผู้ช่วยคนเก่าของนางเอกที่เป็นตัวแทนของมนุษย์ที่มีความผิดพลาด ต้องรับอาสามาจัดงานศพของเพื่อนนางเอกในเรื่อง ซึ่งเป็นงานศพจีนที่ต้องมีการบรรเลงดนตรีเศร้า แต่ด้วยความไม่เข้าใจและคลาดเคลื่อนในข้อมูลทำให้ตัวละครนั้นทำพลาดจ้างวงดนตรีที่เป็น “รถแห่” มาเล่นยังงานศพ มันอาจดูเป็นความผิดพลาดที่ยากจะเชื่อ แต่เชื่อเถอะว่ามนุษย์สามารถผิดพลาดร้ายแรงมากกว่านี้ได้หลายเท่าตัวนัก เป็นความผิดพลาดที่หากให้เทคโนโลยีสมัยใหม่จัดการคงไม่มีทางเกิดขึ้น แต่ในขณะเดียวกันความบันเทิงที่คนดูได้รับจากซีนดังกล่าว ที่มันเกิดขึ้นจากความ “ผิดพลาด” ของมนุษย์นั้น ก็แสดงให้เห็นว่าความผิดพลาดของมนุษย์บางครั้งมันก็สร้างบางสิ่งบางอย่างที่งดงามขึ้นมาได้ ซึ่งในทีนี้คือความบันเทิงจากความตลกแบบที่ยากหาเทคโนโลยีใดจะทำได้  

โดยเฉพาะการแสดงอันยอดเยี่ยมของ แอนนา ชวนชื่น ที่รับบทเป็น “อากง” ในเรื่อง ก็ยิ่งตอกย้ำทำให้เราได้ตระหนักว่าในโลกที่เทคโนโลยีกำลังเข้ามาแทนที่มนุษย์ ยังมีศิลปะความบันเทิงที่เป็นศาสตร์และศิลป์เฉพาะตัวมนุษย์แต่ละคน ที่ไม่ว่าเอไอจะพัฒนาไปไกลขนาดไหนก็ยังสร้างประสบการณ์แบบนี้ให้กับเราไม่ได้  

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์