โลกมีแต่ความวุ่นวาย ยากเหลือเกินที่จะอยู่อย่างมีความสุข หลังจากอ่าน แพนด้า โดย ปราบดา หยุ่น ฉันก็ได้ค้นพบสาเหตุว่าที่โลกไร้สมดุลเช่นนี้ก็ “เพราะพวกเราล้วนเกิดผิดดาวด้วยกันทั้งนั้น” (หน้า 33)
ฉันเป็นพวกที่อ่านเจอวรรคถูกใจแล้วก็ตื่นเต้นแบบนี้แหละ กว้านซื้อหนังสือของนักเขียนชื่อเดียวกันเพิ่มอีกสองสามเล่ม แพนด้าเข้ามาอยู่บนชั้นหนังสือฉันเช่นนั้น เป็นผลพวงมาจาก ความน่าจะเป็น หนังสือเล่มแรกของปราบดาที่ฉันได้เป็นเจ้าของ ด้วยถ้อยคำแปลกตาปนเสียดสี ฉันสุ่มพลิกหน้าอ่านในร้านหนังสือ หัวเราะคนเดียว แล้วเดินไปจ่ายเงิน
แพนด้า เป็นเรื่องแต่งที่อิงโลกจริง ปกติฉันไม่ค่อยชอบหนังสือจำพวกนี้ แต่แล้วฉันก็หลุดหัวเราะให้กับหลายๆ วรรค และพยักหน้าหงึกหงักให้กับหลายๆ ตอน โดยเฉพาะตอนที่บอกว่าจริงๆ แล้วโลกนี้เป็นของสัตว์ทุกชนิดยกเว้นมนุษย์ แล้วมนุษย์ผู้ไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังอยู่ผิดดาวก็เบียดเบียนสิ่งมีชีวิตอื่นไปเรื่อยๆ จนโลกเสียสมดุล ดูจากสภาพดาวโลกก็ค่อนข้างชัดเจนว่ามนุษย์มีความทะยานอยากล้ำหน้าสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น แล้วในหมู่มนุษย์ด้วยกันเองก็ยังมีความแตกต่างขัดแย้ง ก่อให้เกิดปัญหาไม่จบสิ้น

จะเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดำเนินมา และดำเนินต่อไป แม้อีกเกือบ 20 ปีให้หลัง ทุกแนวคิดและตัวละครในนั้นก็ยังทำงานอยู่อย่างขยันขันแข็ง
มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ / ต่วย’ตูน พิเศษ / การคัมเอาท์ของเพื่อนเกย์ / เคอร์ฟิวเด็ก / พระเยซู / ซีดีหนังโป๊ / การฆาตกรรม ฯลฯ ทุกอย่างอาศัยอยู่ในบันทึกเล่มนี้ร่วมกันอย่างกลมกลืน แม้บางเรื่องจะแตะตื้นเพียงสองสามหน้า แต่ก็เป็นการหลอมรวมกันภายในสองร้อยกว่าหน้าที่น่าสนใจ จะมีกระอักกระอ่วนบ้างก็ตรงการงานของแพนด้าที่มักบรรยายผู้หญิงราวกับสิ่งสนองตัณหา ซึ่งก็สะท้อนความเป็นจริงได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน
ด้วยความที่เป็นบันทึก นึกคิดของแพนด้าจึงถูกจดลงอย่างลื่นไหล โดยมีการเล่าย้อน บทสนทนาระหว่างเพื่อน เจ้านาย พ่อผู้เป็นตำรวจ “ที่อยู่ระหว่างคนชั่วกับคนดี” (หน้า 33) แม่ที่ “เกิดมาเพื่อไถ่บาป” (หน้า 42) น้องสาว และอีกหลายตัวละครผลัดกันแวะเวียน ความคิดในหัวที่คู่สนทนาของแพนด้าไม่ได้ยิน การเสียดสีจิกกัด การคิดไปโน่นไปนี่ จะว่าไปบันทึกชิ้นนี้มีความเวิ่นเว้อแบบที่จินตนาการของมนุษย์ถูกออกแบบมา เรียกว่าเป็นความเหนือจริงที่สมจริงก็คงได้

“ถึงแม้แต่ละคนในครอบครัวผมจะมาจากดาวคนละดวง แต่บนโลกใบนี้ เราก็เรียนรู้ที่จะโคจรรอบกันได้อย่างลงตัว พร้อมๆ กับที่เราโคจรรอบตัวเอง” (หน้า 44)
สำหรับฉันนี่เป็นเหมือนความหวังในโลกจริง เป็นการค้นพบวิถีของตัวเองโดยที่ไม่ต้องละทิ้งใคร
อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่อาจมองข้าม (เพราะมีแทบทุกหน้า) คงเป็นการใส่วงเล็บของปราบดา หากคุณชอบอ่านความในใจของในใจแบบประโยคด้านหน้านี้ ที่เขียนต่อกันไปก็ได้แต่พอใส่วงเล็บแล้วก็ตลกขึ้นอีกนิด คุณน่าจะอ่านบันทึกนี้ได้อย่างเพลิดเพลิน แต่หากไม่ก็ขอแสดงความเสียใจล่วงหน้า เพราะมันมีแทบทุกหน้าจริงๆ
ท้ายที่สุดบันทึกเล่มนี้ไม่ใช่สูตรสำเร็จที่จะบอกว่าทางกลับดาวของคุณคือทางไหน แต่มันเป็นบันทึกที่ทำให้ฉุกคิดมากกว่าว่าการที่เราไม่เข้าใจกัน รู้สึกแปลกแยก โลกทั้งใบปั่นป่วน เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ ทุกอย่างอธิบายได้และมีทางออก เราแค่ต้องหาทางกลับดาวของตัวเอง ดาวอันเป็นเอกลักษณ์ ที่ที่เราจะรู้สึกปลอดภัย ไม่แปลกแยก และพูดได้อย่างเต็มปากว่า “ในที่สุด อิสรภาพก็เป็นของเรา” (หน้า 60)

เราต่างดิ้นรนหาที่ทางที่เข้าท่า เราล้วนทรมานไม่มากก็น้อย และบางทีสิ่งที่เราทำได้/ควรทำในตอนนี้ก็แค่การเห็นหัวใจของกันและกัน
เกี่ยวกับหนังสือ แพนด้า
ปราบดา หยุ่น เขียน
สำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น
พิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ. 2547
(ยังสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายหนังสือออนไลน์)