“ทุกวันนี้ผมก็ยังหัวรุนแรงไม่เคยเปลี่ยน” ชีวิตอหังการ์ของ ‘เพชฌฆาตหมื่นปก’

11 เมษายน 2566 - 08:25

TAGCLOUD-INTERVIEW-ten-thousand-covers-hangman-SPACEBAR-Thumbnail
  • ทองธัช เทพารักษ์ ศิลปินและนักออกแบบปกหนังสือ เจ้าของฉายา ‘เพชฌฆาตหมื่นปก’ ในวัยเจ็ดสิบ ยังคงรักษา ‘มาด’ ของเขาเอาไว้ได้ดี

  • เขาเป็นคนแรกที่เรียกร้องให้สำนักพิมพ์ลงเครดิตชื่อคนทำภาพปกไว้บนปกหลังของหนังสือ

  • ต้องเป็นนักทดลอง ต้องซุกซนทางความคิด มีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์ และต้องมือบอน คือคำแนะนำของทองธัชในฐานะคนทำปก

  • “จะว่าหัวรุนแรงก็หัวรุนแรง ผมเป็นอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไรไม่เคยเปลี่ยน ผมไม่เก็บมิตรภาพเก่าๆ ไว้หรอก เสียเวลาชีวิต...” คือคำพูดที่สะท้อนบุคลิกของทองธัช

แม้จะล่วงเข้าวัยเจ็ดสิบ แต่ ทองธัช เทพารักษ์ ก็ยังคงรักษา ‘มาด’ ของเขาเอาไว้ได้ดี 

ประกายตาดุดันใต้แว่นกันแดดทรงกลม หนวดดกดำ รอยยิ้มเหี้ยมเกรียม นุ่งยีนส์ลีวาย และเก็บทรงขรึมเหมือนวายร้ายรุ่นใหญ่ในภาพยนตร์ 

ยามคุยเรื่องสัพเพเหระทั่วไป สุ้มเสียงของเขาห้าวฮึกเหิม หัวเราะดัง ปากจัด และขี้อำเหมือนวันเก่าๆ เช่นเดียวกับเวลาถกเรื่องศิลปะ ปรัชญา วรรณกรรม เขายังคงตื่นเต้น กระตือรือร้นมีชีวิตชีวา เร่าร้อนดั่งไฟลุกโชน 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7DFWIcXhOE4JGX5O5UNq7o/7d864d9d44db24fb590920a830630056/TAGCLOUD-INTERVIEW-ten-thousand-covers-hangman-SPACEBAR-Photo01
Photo: (ภาพ: จารุเดช ไชยเลิศ)
แต่ถ้าเปิดประเด็นเรื่องการบ้านการเมือง ระบอบปรสิตจารีตนิยม รัฐบาลเผด็จการที่เหยียบย่ำข่มเหงประชาชน รวมถึงใครบางคนที่ ‘เคยเป็นเพื่อน’ เมื่อไรล่ะก็ เตรียมตัวไว้เลยว่าเครื่องจักรแห่งการด่าถูกกดปุ่มเดินเครื่องแล้ว และมันจะทำงานต่อเนื่องนานนับชั่วโมงโดยไม่มีหยุดพัก 

"สังคมไทยเป็นสังคมกราบก้มพนมกร ชีวิตผมไม่เคยเรียกใครว่านาย เรียกอย่างมากก็พี่หรือน้า"

จากเด็กลำพูนผู้รักการอ่านและใฝ่ศิลปะ สู่นักเรียนอาชีวะหัวรุนแรงในยุค 14 ตุลาฯ 2516 และ 6 ตุลาฯ 2519 ก่อนเข้าวงการหนังสือในฐานะศิลปินนักออกแบบปกที่ฝากสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวไว้บนปกหนังสือมากมายนับพันเล่ม จนได้สมญานามว่า ‘เพชฌฆาตหมื่นปก’ 

ทองธัชเป็นคนแรกที่เรียกร้องให้สำนักพิมพ์ลงเครดิตชื่อคนทำภาพปกไว้บนปกหลังของหนังสือ ประหนึ่งคำประกาศเกียรติยศศักดิ์ศรีอาชีพนักทำภาพปกเมืองไทย 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7hQ0TD68c5NAls3c3pJn4E/a18f613dcc55d75e6e079769ab1d2224/TAGCLOUD-INTERVIEW-ten-thousand-covers-hangman-SPACEBAR-Photo02
Photo: (ภาพ: จารุเดช ไชยเลิศ)
วันนี้เขารามือจากการทำภาพปก หันมาเขียนวาดการ์ตูนการเมืองลงคอลัมน์ ‘ทองเสียดสด’ หนังสือพิมพ์ข่าวสด ติดตามความเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาว และยืนหยัดมั่นคงอยู่ข้างประชาธิปไตย 

ความหัวรุนแรง สุดโต่ง และมั่นคงในอุดมการณ์อย่างไม่ประนีประนอมนี่เองทำให้ทองธัชปฏิเสธการเข้าสังคม หลีกเลี่ยงการพบเจอมิตรสหายหลายคน แม้กระทั่งตัดขาดบางคนออกจากชีวิตอย่างถาวร 

“จะว่าหัวรุนแรงก็หัวรุนแรง ผมเป็นอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไรไม่เคยเปลี่ยน ผมไม่เก็บมิตรภาพเก่าๆ ไว้หรอก เสียเวลาชีวิต มึงไปทางไหนก็เรื่องของมึง กูไปทางไหนก็เรื่องของกู” 

ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวและละอองฝุ่น PM2.5 ทองธัชเปิดบ้านที่เขาตั้งชื่อว่า ‘ทองสันโดษ’ เป็นบ้านสองชั้นสีแดงดำที่ปลูกอยู่เหนือสระน้ำรายล้อมด้วยต้นไม้ร่มรื่น ฝูงปลา กองขวดเบียร์เปล่า และผลงานภาพเขียนที่วาดเสร็จแล้วและยังวาดไม่เสร็จวางเกะกะสมเป็นบ้านอาร์ตติส พร้อมบทสนทนาว่าด้วยเรื่องชีวิต ศิลปะ หนังสือ การเมือง ผ่านประสบการณ์โชกโชนของชายวัยเจ็ดสิบ
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1HB3Z0PI2sGJYfgIL7kDjb/fd1b4965bbcd50b65dbd2b1aef18038a/TAGCLOUD-INTERVIEW-ten-thousand-covers-hangman-SPACEBAR-Photo03
Photo: (ภาพ: จารุเดช ไชยเลิศ)

"ผมมีปรัชญาว่าหนังสือพูดไม่ได้ แต่เราจะทำให้ปกหนังสือมันพูดได้"

ชีวิตวัยเด็กของคุณเป็นอย่างไร

บ้านผมเป็นครอบครัวตำรวจ พ่อเป็นตำรวจสืบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองลำพูน ก็วิ่งเล่นบนโรงพักตั้งแต่เด็ก

ครอบครัวผมดีตรงที่พ่อแม่เป็นนักอ่าน พ่อชอบเขียนหนังสือ ชอบอ่านตำรา ส่วนแม่จบแค่ป.4 แต่อ่าน เพลินจิต นะ คิดดูแล้วกัน ผู้หญิงบ้านนอกอ่านนิตยสารที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น ผมก็อ่านสารพัด เพชรพระอุมา ของพนมเทียน สามเกลอ ของพล นิกร กิมหงวน นิยายประโลมโลกของทมยันตี กฤษณา อโศกสิน รพีพร พวกนิยายจีนกำลังภายในอย่าง มังกรหยก ของกิมย้งนี่อ่านจนตีสี่ตีห้าก็ยังไม่หลับไม่นอน ถึงขนาดที่ว่าตอน ป.2 ครูให้เป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์ เพราะเห็นเราเป็นหนอนหนังสือ  

แล้วความสนใจในศิลปะมันเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ 

ก็ตั้งแต่เด็กนั่นแหละ สมุดหน้าว่างๆ ก็ฉีกหน้ากลางเอาไปวาดรูป บางทีอยู่ในห้องเรียนก็วาดการ์ตูนให้พวกเพื่อนมันหัวเราะ เพื่อนรู้หมดว่าผมชอบวาดการ์ตูน ครูกำลังสอนเราก็เขียนยุกยิกๆ อยู่นั่น มันเป็นสันดานมาแต่เด็กแล้ว พอจบ มศ.3 ก็เลยสอบเข้าโรงเรียนเพาะช่าง  

ตอนเข้ากรุงเทพฯ พี่ชายพาขึ้นรถไฟมาส่ง เราเป็นเด็กบ้านนอก เด๋อๆ ด๋าๆ ผ่านดอนเมืองเห็นรถวิ่งเต็มถนนก็บอกพี่ชายว่า ไม่ไปแล้วได้ไหม กลับดีกว่า จะข้ามถนนยังไง ตายก่อนแน่ๆ ปอดแหกเสียอย่างงั้น (หัวเราะ) สมัยก่อนมันไม่มีสะพานลอยนี่ แล้วที่ลำพูนก็ไม่ได้มีรถยนต์เยอะแบบนี้  นานๆ จะมีวิ่งผ่านมาสักคัน 

แต่ในที่สุดก็สอบเข้าเพาะช่างจนได้ มารู้ทีหลังว่าเพื่อนเกือบทั้งห้องมันลงเรียนกวดวิชา ส่วนเราไม่ได้ไปกวดวิชาอะไรเลย อาศัยไปซื้อชีทหน้าโรงเรียนมาอ่านก่อนสอบ แต่ปูมหลังคือเราอ่านนิตยสาร ชัยพฤกษ์ มันมีคอลัมน์ที่อาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ เขียนถึงมิเคลันเจโล ลีโอนาโด ดาวินชี ปิกาสโซ เราก็ได้รู้เรื่องศิลปะจากการอ่านตรงนั้น อาศัยสะสมความรู้มันก็พอไปได้
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6WB3Caj4PMjqZsh2684Xhw/03a83ef44011b55a4d9fb2a512b034a2/TAGCLOUD-INTERVIEW-ten-thousand-covers-hangman-SPACEBAR-Photo04
Photo: (ภาพ: จารุเดช ไชยเลิศ)

ชีวิตนักเรียนศิลปะช่วงนั้นเป็นยังไง  

ก็ยังเป็นนักอ่าน ช่วงนั้นก็เริ่มสนใจหนังสือแนวปรัชญา อ่านงานของคาร์ล มาร์กซ์ อ่าน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ช่วงสองสามปีก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 โอ้โห บรรยากาศเปิดกว้างมาก  ตอนนั้นพวกนักศึกษาธรรมศาสตร์มันจัดเสวนาเรื่องดาวแดง จีนแดง โอ้โห เรื่องต้องห้ามเลยนะ เราก็ตื่นตัว ต่อมารู้จักพวกเพื่อนฝ่ายซ้ายที่ทำสำนักพิมพ์อิสระ เราก็ขลุกอยู่กับมัน ความคิดก็ก้าวหน้าขึ้น จำได้ว่าคาบวิชาปรัชญา เพื่อนแม่งนั่งหลับบ้างโดดเรียนบ้าง มีแต่ผมกับอาจารย์ที่คุยกันรู้เรื่อง เพราะมีไม่กี่คนที่อ่านหนังสือพวกนี้ คนอื่นมัวแต่ไปอ่านหนังสือดารากัน 

"ไม่มีใครอยู่เบื้องหลังอะไรทั้งนั้น ไอ้พวกที่ใส่ร้ายเราก็เหมือนที่มันใส่ร้ายเด็กทุกวันนี้แหละ พล็อตโคตรเก่า"

สมัยนั้นกระหายใคร่รู้มาก อ่านฉิบหายเลย มีตังค์ก็ซื้อแต่หนังสือ นอนอยู่หอนี่สมบัติอย่างอื่นไม่มี มีแต่หนังสือกองเต็มหัวเตียง มันทำให้เราสะสมความคิด พอคิดก็สงสัย สงสัยก็ไปหาหนังสืออ่าน พออ่านมาก รู้มาก มันก็ร้อนตูด (หัวเราะ) พูดง่ายๆ ว่าแรง เพื่อนเรียกไอ้คอมมิวนิสต์ เรายังไม่รู้เลยคอมมิวนิสต์เป็นยังไง แต่เราอ่านทฤษฎีมาร์กซิส อ่านปรัชญาการเมือง อ่านงานอุดมคติเยอะ เป็นคนหมกมุ่นว่างั้นเถอะ  

ไม่มีใครอยู่เบื้องหลังอะไรทั้งสิ้น ไอ้พวกที่ใส่ร้ายเราก็เหมือนที่มันใส่ร้ายเด็กทุกวันนี้แหละ พล็อตโคตรเก่า สมัยก่อนเคยถูกกล่าวหาว่าเป็นเคจีบีด้วยซ้ำ ไอ้ห่า กินข้าวยังไม่ครบ 3 มื้อเลย เสื้อผ้าก็มีอยู่ชุดสองชุด แค่ไว้ผมยาวเท่านั้นเอง 

ในที่สุดผมก็ตั้งกลุ่มทำกิจกรรม โดนอาจารย์เรียกไปด่า เขาอยากไล่เราออก แต่ไล่ไม่ได้เพราะเราเรียนเก่ง วิชาห่าอะไรก็ได้ท็อป ยิ่งวิชาวาดรูปนี่ไปใหญ่ เขาก็เลยไม่กล้าทำอะไร
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1ccDLYkfzC67uIARfGxsoc/752239796c9438979b10633d7ef836ce/TAGCLOUD-INTERVIEW-ten-thousand-covers-hangman-SPACEBAR-Photo05
Photo: (ภาพ: จารุเดช ไชยเลิศ)

อาจารย์จะไล่ออกด้วยข้อหาอะไร 

ก็หัวรุนแรงไง เสรีนิยม ไฮด์ปาร์ค ปลุกระดม สมัยนั้นอาจารย์ในเพาะช่างแบ่งเป็นฝ่ายขวาเสียเยอะ ส่วนใหญ่เป็นพวกจารีต ข้าราชการน่ะมันไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำอะไร หัวอ่อนถึงได้เป็นอาจารย์ไง หัวแข็งมันก็ออกไปเป็นอาร์ตติสกันหมด นี่คือ Norm แบบไทยเลยนะ ยังให้นักเรียนมาไหว้ครู มากราบตีน เฆี่ยน กล้อนผม สมัยเรียนโดนมาหมด 

ยุคก่อน 14 ตุลาฯ ณรงค์ กิตติขจรมันบ้าอำนาจมาก คุมหมดทั้งตำรวจทหาร นายพลยังยกมือไหว้พันเอกเลยคิดดูสิ กร่างเต็มที่ เมื่อก่อนมีอยู่ 2 โรงเรียนที่ไว้ผมยาวคือเพาะช่างกับศิลปากร แล้วณรงค์มันรังเกียจพวกฮิปปี้ไว้ผมยาว ก็เลยสั่งให้ฉลามบกไล่ตรวจ มันพกกรรไกรไว้กล้อนผมเลย คนที่ต่อต้านคือคึกฤทธิ์ ปราโมช ตอนนั้นไว้ผมยาวรากไทร แกบอกว่าให้สนใจสิ่งที่อยู่ในหัวกะโหลกมากกว่าสิ่งที่อยู่บนหัวกะโหลก เด็กๆ ก็ชอบใจกันใหญ่ 

เข้าไปมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 อย่างไร  

ช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ผมยังเรียนอยู่แค่ปีสาม ไม่ได้เข้ากลุ่มอะไร ไปเดินขบวนร่วมกับประชาชนเฉยๆ พอหลังเหตุการณ์ผมถึงได้มาเป็นแกนนำนักเรียนอาชีวะกลุ่มแนวร่วมเพาะช่าง ก็เข้าไปรวมกับแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย เขียนใบปลิว เขียนโปสเตอร์ประท้วง สมัยนั้นพวกฝ่ายซ้ายเป็นพวกบ้าทำหนังสือ สำนักพิมพ์มันไม่ต้องจดทะเบียน ใครอยากพิมพ์อะไรก็พิมพ์ เราก็ช่วย เฮ้ย มีใครวาดรูปให้ยังวะ งั้นกูออกแบบให้มึงเอง ได้ตังค์บ้างไม่ได้ตังค์บ้าง ทำเพื่ออุดมการณ์น่ะ
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1C3Uf1cms6PLakY8uUny6p/d5ebf0e0be96dce09cc5db03f1914bf9/TAGCLOUD-INTERVIEW-ten-thousand-covers-hangman-SPACEBAR-Photo06
Photo: (ภาพ: จารุเดช ไชยเลิศ)

เข้าสู่วงการหนังสือได้ยังไง 

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ผมรอดตายจากธรรมศาสตร์ แต่ก็ถูกจับขังอยู่ 3 เดือน พอออกมาแม่ก็ขอร้องไม่ให้เข้าป่า เพราะเพื่อนทยอยหนีเข้าป่ากันหมด เราไม่รู้จะกลับบ้านไปทำอะไร ก็เลยทำงานเคลื่อนไหวฝ่ายเอกสาร เป็นจัดตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์อยู่กรุงเทพฯ นี่แหละ

"ส่วนใหญ่พวกที่มาขอให้ทำปก คุยถูกคอกัน มีสันดานทัศนะตรงกัน ไม่ใช่อุดมคตินะ คำนั้นมันสูงส่งไป"

สมัยนั้นพวกหัวก้าวหน้าที่พิมพ์หนังสือฝ่ายซ้ายขายยากนะ เพราะมันไม่ได้ทำหนังสือเพื่อหากิน แต่ทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ ไอ้พวกที่บ้าหน่อยก็พิมพ์งานนักเขียนดังๆ ของรัสเซีย ลีโอ ตอลสตอย แม็กซิม กอร์กี้ อเล็กซานเดอร์ พุชกิน เราทำงานเป็นฝ่ายศิลป์ของสำนักพิมพ์เม็ดทราย แล้วมาทำงานเขียนภาพประกอบที่นิตยสาร ถนนหนังสือ กับพี่สุชาติ สวัสดิ์ศรี งานก็เข้ามาโดยอัตโนมัติ คนเริ่มมาขอให้ทำปก บางคนเป็นนักเขียนใหม่ เราก็ออกแบบให้ฟรี ถ้าเป็นบริษัทเป็นสำนักพิมพ์ก็คิดตังค์ บางทีเห็นของพรรคพวกว่า มึงเขียนสู้กูไม่ได้ กูเขียนให้ดีกว่าว่ะ บ้าถึงขนาดนั้น จากทำไม่ได้ตังค์จนได้ตังค์น่ะ (หัวเราะ)
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5kDSF5fu8TnCMpXhxpYEDI/7263bf59dc1e74ffa34a34c513cff29a/TAGCLOUD-INTERVIEW-ten-thousand-covers-hangman-SPACEBAR-Photo07
Photo: (ภาพ: จารุเดช ไชยเลิศ)
นักเขียนบางคนเอาหนังสือไปเสนอแล้วไม่ผ่าน ผู้จัดการสายส่งบอกว่า ไปหาพี่ทองธัชให้เขาแก้ปกมาก่อน พี่เขานั่งกินเหล้าอยู่เสาชิงช้า ตอนนั้นเรามีกระเป๋าประจำตัวใส่เครื่องมืออาร์ตเวิร์ค ปากกา หมึก คัตเตอร์ มีด กาวยาง ไปไหนก็หิ้วไปด้วย พอน้องมันมาไหว้บอกว่า พี่ ช่วยทำปกให้หน่อย สายส่งเขาบอกปกของผมไม่ผ่าน เรายังไม่เมาก็ทำให้มัน แม่งบอก โห พี่ ทำเร็วอย่างกับลวกก๋วยเตี๋ยว ผมบอก ไอ้ห่า ก็กูทำมาตั้งเยอะ อ่านของมึงกูรู้แล้ว พอกลับไปเสนออีกรอบก็ผ่าน สักพักมันกลับมาพร้อมเช็ค พี่ มื้อนี้ผมเลี้ยงเอง  

วงการหนังสือยุคนั้นมันเป็นอย่างนี้ เหมือนที่พี่ปุ๊ 'รงค์ วงษ์สวรรค์เรียกว่าญาติน้ำหมึก นับพี่นับน้องกัน มีช่วยอะไรก็ช่วยเหลือกัน เราต้อนรับหมด ส่วนใหญ่พวกที่มาขอให้ทำปก คุยถูกคอกัน มีสันดานทัศนะตรงกัน ไม่ใช่อุดมคตินะ คำนั้นมันสูงส่งไป สันดานทัศนะคือทัศนะตามสันดาน คำนี้ผมบัญญัติศัพท์เอง (หัวเราะ) 

เล่าถึงวิธีการทำปกสไตล์ทองธัช เทพารักษ์ ให้ฟังหน่อย

ต้องอ่านเรื่อง สมมติว่าเรื่องสั้นมี 10 เรื่อง ก็ต้องอ่านหมดทุกเรื่อง อ่านแล้วมันก็ได้แรงบันดาลใจวาดรูป แต่การวาดรูปมีหลายสไตล์ ผมเป็นพวกขี้เบื่อ ชอบทดลอง เดี๋ยวลองนู่นเดี๋ยวลองนี่ เพราะทำเหมือนเดิมมันซ้ำซากน่าเบื่อ

ตอนแรกเราชอบสไตล์ภาพพิมพ์แกะไม้ หรือ Woodcut แต่วันหนึ่งอยู่โรงพิมพ์แล้วมันมีฟิล์มที่อัดเพลตส่วนมันเสียเป็นสีดำ ก็ลองเอาคัตเตอร์ขูด เอ้า มันขูดได้นี่หว่า เรียกเทคนิคการขูดฟิล์ม ผมเป็นคนทำคนแรกเลย เราซุกซนไงแล้วเสือกขี้เกียจด้วย ตอนหลังขี้เกียจหนักเข้าก็เอากระดาษดำแล้วใช้ลิควิดเปเปอร์วาดจนกลายเป็นเทคนิคระบายขาวบนพื้นดำ หลังๆ นี่หนักกว่าเอากระดาษสีดำมาตัดเลย (หัวเราะ) สุดท้ายก็กลายเป็นสไตล์ Papercut
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5jEAu4K01giAhQUR3xq9JD/3e94b7bf71f5c492d7b4d872de7dd751/TAGCLOUD-INTERVIEW-ten-thousand-covers-hangman-SPACEBAR-Photo08
Photo: (ภาพ: จารุเดช ไชยเลิศ)

ทำปกมาเยอะ ความยากง่ายของหนังสือแต่ละแนวแตกต่างกันยังไง 

วรรณกรรมนี่มันต้องตีความ ผมไม่ตีความตามนักเขียนนะ แต่ผมตีความอย่างอิสระตามความคิดของผมเอง นักเขียนบางคนก็บอกว่า เฮ้ย พี่ ทำไมตีความอย่างงี้ เอ้า ก็กูคิดว่าอย่างงี้อ่ะ

อย่างไอ้ชาติ กอบจิตติ นี่จบเพาะช่างมาด้วยกัน ผมก็ทำปกให้จนกลายเป็นคนเขียนปกให้หนังสือชาติเยอะที่สุด บางทีเราแนะนำมันด้วยซ้ำ อย่างช่วงหนึ่งเขาบ้าทำปก 4 สีกัน ผมก็บอกว่ามึงอย่าไปพิมพ์ 4 สีเลย พอเอาขึ้นเชลฟ์แล้วมันดูเกร่อไปหมด มึงเซฟตังค์เอามาเลี้ยงเหล้ากูดีกว่า (หัวเราะ) เดี๋ยวกูออกแบบให้มึง 2 สี เงินลดลงตั้งเยอะ จาก 4 เพลทเหลือ 2 เพลท พอปกเสร็จเอาไปวางขาย ปกหนังสือไอ้ชาติ 2 สีเรียงรายเป็นตับ ยึดแผงเลย

"กูจะทำให้เผด็จการเป็นตัวตลก ประชาชนจะได้ตาสว่าง ลุกขึ้นมาต่อสู้ ไม่ใช่ยอมจำนน"

เป็นมู้ดแอนด์โทนเดียวกัน

ใช่ มันอยู่ที่เราคิดไง ผมมีปรัชญาว่าหนังสือพูดไม่ได้ แต่เราจะทำให้ปกหนังสือมันพูดได้ ผมถือว่างานออกแบบปกคือการแสดงงานศิลปะบนชั้นหนังสือ เราทำให้ปกหนังสือมันพูดว่า ช่วยมาหยิบฉันดูหน่อยนะ แต่ถึงที่สุดแล้วปกมันก็แค่หีบห่อ เนื้อหาข้างในต่างหากจะเป็นตัวชี้ขาดว่าหนังสือเล่มนั้นดีหรือไม่ดี  

ธุรกิจหนังสือเป็นพาณิชย์ศิลป์ เราเพียงแค่เอาศิลปะเข้ามารับใช้ บางคนแม่งหลงตัวเอง วาดรูปเสียใหญ่โต ทั้งที่พื้นที่ปกมีอยู่นิดเดียว อันนี้ผิด ฝรั่งมันเขียนหนังสือรวมเป็นซีรีส์ก็จ้างคนทำปกเป็นคนเดียวกัน เวลาเอามาตั้งบนเชลฟ์ โอ้โห สวยงามเลย ฝรั่งมันทำแบบนี้ ไม่ใช่มั่วสะเปะสะปะ ผมศึกษาเรื่องนี้มาหมด 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6DHFGWUpgiqiNz1wNliabp/8d5338ae9e31a0af3d90c03633778f8e/TAGCLOUD-INTERVIEW-ten-thousand-covers-hangman-SPACEBAR-Photo09
Photo: (ภาพ: จารุเดช ไชยเลิศ)
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1dWoGSlt0p6MQYXPDZhJid/8ae40c063c325904bf62113ba4119a3d/TAGCLOUD-INTERVIEW-ten-thousand-covers-hangman-SPACEBAR-Photo10
Photo: (ภาพ: จารุเดช ไชยเลิศ)

ในยุคที่ไม่มีกูเกิล คุณหาไอเดีย หาแรงบันดาลใจมาจากไหน 

สมัยก่อนผมไปซื้อตัวอย่างปกหนังสือต่างประเทศที่บุ๊กสโตร์ในห้างเซ็นทรัลสีลม เป็นตัวอย่างปกหนังสือที่สำนักพิมพ์เมืองนอกเขาส่งให้เลือกว่าจะสั่งเล่มไหน ส่งมาเป็นปึ๊งๆ เลย แต่ส่งแค่ปกนะไม่ได้ส่งทั้งเล่ม ผมก็ไปตีซี้กับคนที่ดูแลบุ๊กสโตร์จนบางครั้งเขาให้ฟรี หรือบางทีไปร้านเอเชียบุ๊กส์ ยืนดูหนังสืออาร์ต ไม่มีตังค์ซื้อหรอกมันแพง ก็เปิดดูแม่งทั้งวันอ่ะ ห้องสมุด AUA ร้านขายหนังสือมือสองที่สนามหลวง เราก็ไปหมด  

‘เวลาหนังสือขายได้ คนชมนักเขียน เวลาขายหนังสือไม่ได้ กลับโทษคนทำปก’ ประโยคนี้มีที่มาที่ไปยังไง 

นักเขียนใหม่บางคนที่เราเคยทำปกให้ สายส่งมาฟ้องว่ามันไปบ่นในร้านเหล้าว่าขายไม่ดีเพราะปก ผมฟังก็โกรธ อย่าให้กูเจอนะไอ้เหี้ย ตอนมาขอนี่แทบจะกราบตีน พี่ครับ ทำให้ผมหน่อย แม่งไม่มีมารยาทไงมาพูดลับหลัง มึงเป็นนักเขียนใหม่ พิมพ์ตั้ง 3,000 เล่ม แล้วจะขายให้หมด 3,000 เล่มรึไง คนอ่านเขายังไม่รู้จักชื่อมึงเลย ขายได้ 700 เล่มก็บุญแล้ว นี่คือสันดานทัศนะของนักเขียนบางคน  

ช่วงพีคสุดนี่งานเยอะแค่ไหน 

บางเดือนทำ 30 ปก เอาเป็นว่าประกาศผลรอบสุดท้ายซีไรต์ 10 เล่ม มีปกผมอยู่ 9 เล่ม 
บางคนมาหา บางคนโทรศัพท์มา บางคนไม่กล้าเข้ามาหาก็วานให้คนอื่นมาแทน เพราะเขาฟังมาผิดๆ ว่าเราเป็นคนดุ บุคลิกเราโผงผางไง มันไปเล่ากันข้างนอกว่าเฮ้ย พูดกับมันดีๆ นะ ไอ้นี่มันโคนันทวิศาล พูดไม่ดีเดี๋ยวแม่งมันขวิดเอา แต่จริงๆ ผมเป็นคนใจดีนะ คุยถูกคอทำให้ฟรีด้วยซ้ำ จะเรียกว่าอารมณ์ศิลปินหรือเปล่าก็ไม่รู้
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/78FsPv4sKisTLiPHSQL4GT/9745539b5989e61acf47854700976a61/TAGCLOUD-INTERVIEW-ten-thousand-covers-hangman-SPACEBAR-Photo11
Photo: (ภาพ: จารุเดช ไชยเลิศ)

แล้วอีโก้เยอะไหม  

มีสิ มีแน่นอน คนทำงานระดับนี้มันต้องมีความมั่นใจอยู่แล้ว แต่ไม่ถึงขนาดไปเบ่งใครเขานะ จะกร่างทำห่าอะไรล่ะ กูยังขึ้นรถเมล์อยู่เลย ส่วนใหญ่เขาไม่ค่อยกล้าสั่งเราหรอก พูดคุยปรึกษากันปกติ แต่ถ้ามึงทำผิด วันหลังอย่าโผล่มานะ มาเปลี่ยนปก เปลี่ยนสีกู โดยไม่บอกกู ทั้งที่ชื่อกูติดด้านหลัง จะออกมาดีหรือเลวยังไงชื่อกูมันค้ำอยู่ จริงไหมล่ะ  

ผมเป็นคนแรกที่เรียกร้องให้ใส่ชื่อคนออกแบบปกอยู่บนปกหลังของหนังสือ เมื่อก่อนไม่มีใครทำเลยนะ 

ฉายา ‘เพชฌฆาตหมื่นปก’ ใครตั้งให้ 

ป่านนี้ก็ยังไม่รู้เลยว่าใครตั้ง น่าจะพวกหนังสือพิมพ์มติชนมั้ง ก็เฉยๆ นะ ไม่ถึงกับขำ แต่เพื่อนเรามันชอบเอาไปอำเล่น ตัด ม.ม้า ออก เป็นเพชฌฆาตหื่นปก (หัวเราะ) ก็ไม่ได้ถือสาอะไร เพราะผมเป็นคนขี้อำอยู่แล้ว
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3DBmRG01ZfnBnUAiUrYhMj/5b5daf997514ce867dd673aefaa0e2c0/TAGCLOUD-INTERVIEW-ten-thousand-covers-hangman-SPACEBAR-Photo12
Photo: (ภาพ: จารุเดช ไชยเลิศ)
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6us5gJrYlIHsHX9V6xI7I2/8dd3718cdd37969c0053ce526dc8e39b/TAGCLOUD-INTERVIEW-ten-thousand-covers-hangman-SPACEBAR-Photo13
Photo: (ภาพ: จารุเดช ไชยเลิศ)

ทำไมระยะหลังถึงห่างหายไปจากวงการหนังสือ 

ก็ตั้งแต่มีกีฬาสีแหละ น่าจะเริ่มช่วงม็อบพันธมิตร เราเบื่อพอดีด้วยเพราะช่วงหลังๆ ก็ไม่ได้ทำให้ใครเท่าไหร่ ไม่ได้เลิกนะ แต่มันเอาท์ไปเอง ไม่มีใครจ้าง เขาคงคิดว่าแพงมั้ง แล้วเราก็ไม่ได้โฆษณาอะไรให้ตัวเองด้วย 

วันที่เรารู้ตัวว่าหมดยุคเราแล้ว รู้สึกยังไง 

ไม่รู้สึกอะไร (ตอบเร็ว) มันมีอย่างอื่นให้ทำอีกตั้งเยอะ หลังจากนั้นผมก็ไปลงหลักปักฐานทำบริษัทโฆษณาเล็กๆ จนพอตั้งเนื้อตั้งตัวได้ เมื่อก่อนไม่ได้ทำแค่ปกหนังสือ ก็รับงานโฆษณาของกระทรวงบ้าง ไปประกวดงานแข่งกับเขาบ้าง เป็นบริษัทโฆษณาเล็กๆ ที่เอารอดตัวได้ เคยมียอดบิลลิ่งถึง 20 ล้าน แต่ต่อให้มี 20 ล้าน ผมก็ขับรถไม่เป็นอยู่ดี คุณดูรถผมสิ (ชี้ให้ดูรถยนต์นิสสันเซฟิโร่เก่าๆ ที่จอดอยู่ลานข้างบ้าน ) เพื่อนมันขายให้ถูกๆ เพราะเห็นว่าเวลาไปโรงพยาบาลทีไรก็ต้องเรียกใช้เพื่อน ก็เกรงใจมัน เดี๋ยวนี้มีเลขาฯ แล้ว เป็นคู่หู เป็นเพื่อนกินเหล้าด้วย ขับรถให้ด้วย   

ผมเป็นคนสันดานแบบนี้ ไม่ชอบเครื่องยนต์ ไม่สนใจเทคโนโลยี พูดง่ายๆ คือ ไม่เอาอ่าว เป็นพวกโลว์เทค เรียกว่าโบราณเลยแหละ เคยฝึกวาดด้วยคอมพิวเตอร์อยู่พักหนึ่งจนรู้สึกว่าพอเหอะว่ะ มันซับซ้อน บังคับยาก บางทีสมองเราอาจจะไม่ถึงก็ได้

"เดี๋ยวนี้บางทีดูการเมืองก็น่าเบื่อ น้ำเน่าเหมือนเดิม ไอ้ห่าพวกนี้แม่งคนแก่รุ่นเราทั้งนั้น ไม่อายเด็กมันบ้าง ไม่มี self-respect เลย"

ถ้าพูดถึงคนรุ่นใหม่ที่ทำภาพปกหนังสือยุคนี้ มีอะไรอยากจะแนะนำพวกเขา     

หนึ่ง ต้องเป็นนักทดลอง สอง ต้องซุกซนทางความคิด สาม มีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์ และสี่ ต้องมือบอนด้วย  

การไม่ทำอะไรซ้ำซากจำเจอยู่กับที่ทำให้เกิดการทดลอง เกิดความคิดใหม่ๆ เราต้องมีความรู้ใหม่ๆ มีทัศนะใหม่ๆ เพื่อจะได้เกิดสไตล์ใหม่ๆ อย่าไปจมปลักอยู่กับเทคนิคเก่าๆ เดิมๆ 

พูดถึงการเป็นการ์ตูนนิสต์การเมือง คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าไม่มียุคไหนที่เขียนการ์ตูนการเมืองได้สนุกเท่ายุคนี้ ทำไมถึงคิดแบบนั้น 

ยุคนี้เป็นยุคดิจิตอล ทุกคนแม่งปิดตัวเองไม่ได้เลย มันล่อนจ้อนที่สุดแล้ว อำสนุก แต่ระวังอย่างเดียวคือ ม.112 เดี๋ยวไอ้บ้ามันทำจริงจะยุ่งอีก ซวย ติดคุกตอนแก่ บก.เขาขอร้องว่า พี่ อย่าให้พวกผมตกงานนะ เราก็ไม่เขียน แต่ในเพจเราก็ยังเขียนอยู่ 

 ทุกวันนี้การ์ตูนนิสต์การเมืองในไทยมีไม่เยอะ ใครเขียนการ์ตูนการเมืองมันต้องหมกมุ่นไง ต้องบ้าการเมือง เราก็เสพข่าวทางไลน์ เฟซบุ๊ก ทีวี มันมีทั้งข่าวเร็ว เรื่องน้ำเน่าก็มี เราก็ต้องเลือกเอา วันเสาร์อาทิตย์นี่บางทีไม่มีข่าวการเมืองจะเล่น เราก็ต้องคิดแก๊กเอง ตอนนี้ยังเขียนอยู่ทุกวัน เขียนวันต่อวันจนกลายเป็นรูทีน จะออกจากบ้านไปไหนก็ไม่ได้ ต้องติดกระดาษกับปากกาไปด้วย ยกเว้นเวลามีธุระจริงๆ ก็เขียนจะส่งล่วงหน้า 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2BeUj2Qv5z1UDVm97pyhTg/58ab54011c686e82ee5748a0a10aff15/TAGCLOUD-INTERVIEW-ten-thousand-covers-hangman-SPACEBAR-Photo14
Photo: (ภาพ: จารุเดช ไชยเลิศ)
การ์ตูนการเมืองที่ผมเขียนทุกวันนี้มันคือการให้ปัญญานะ ผมอำแม่งเลย กูจะทำให้เผด็จการเป็นตัวตลก ประชาชนจะได้ตาสว่าง ลุกขึ้นมาต่อสู้  ไม่ใช่ยอมจำนน ผมชอบเขียนการ์ตูนเพราะมันง่ายที่สุด เขียนคำก็ง่าย ที่สำคัญได้ดูข่าวทุกวัน ได้ใช้สมองทุกวัน 

เดี๋ยวนี้บางทีดูการเมืองก็น่าเบื่อ น้ำเน่าเหมือนเดิม ไอ้ห่าพวกนี้แม่งคนแก่รุ่นเราทั้งนั้น ไม่อายเด็กมันบ้าง ไม่มี self-respect เลย ถ้าเป็นหนุ่มๆ คงหนีไปอยู่ต่างประเทศแล้ว เดี๋ยวนี้ไม่อยากจะไปไหน แก่แล้ว ก็คงตายที่นี่แหละ   

ย้ายกลับมาอยู่ลำพูนนานหรือยัง 

ก็น่าจะ 4-5 ปีแล้ว ตั้งแต่มาอยู่นี่ผมไม่ได้เข้าเมืองเท่าไหร่ ออกไปกินเหล้ากับเพื่อนบ้าง แต่ส่วนใหญ่เพื่อนมาหามากกว่า คุณดูสิ ตกแต่งบ้านต้อนรับเพื่อนจนมันนึกว่าเป็นร้านอาหาร เป็นคาเฟ่ (หัวเราะ) 

ผมอาจจะเป็นคนจิตใจแข็งกระด้างก็ได้นะ ทุกวันนี้เวลาไปกรุงเทพฯ เพื่อนก็รอตั้งวงเลี้ยง เราไม่ต้องออกตังค์อะไรเลย แต่ขี้เกียจเดินทางไง เขาชวนไปต่างประเทศก็ไม่ไป ไม่อยากรู้อยากเห็นอะไรแล้ว เบื่อ
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6F3VcZ6zpelJCSBzFVbiTm/caa30218e71f2559244c56f924631d0c/TAGCLOUD-INTERVIEW-ten-thousand-covers-hangman-SPACEBAR-Photo15
Photo: (ภาพ: จารุเดช ไชยเลิศ)
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2r4fKky8rAe0Gh5lKkcEWi/b97fd7876b3909c1898e89629ec95dce/TAGCLOUD-INTERVIEW-ten-thousand-covers-hangman-SPACEBAR-Photo16
Photo: (ภาพ: จารุเดช ไชยเลิศ)
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2JkIqIVmMfk4fA0vD5UuZR/e46deabbec60a1e19ca53496ba60d973/TAGCLOUD-INTERVIEW-ten-thousand-covers-hangman-SPACEBAR-Photo15_copy
Photo: (ภาพ: จารุเดช ไชยเลิศ)

เคยรู้สึกซึมๆเศร้าๆ บ้างไหม 

ก็มีบ้าง เซ็งๆ บางทีคิดอะไรไม่ออก ได้แต่วาดการ์ตูนส่งตามหน้าที่ บางวันมีไฟก็วาดแม่งทั้งวัน ยังเคยถามตัวเองว่าหรือเราเป็นลองโควิดวะ เพราะเคยป่วยเป็นโควิดอยู่ 10 วัน เพื่อนจากกรุงเทพฯ แม่งเอามาปล่อย ไอ้เหี้ย อยู่ตั้งนานไม่เห็นเป็นอะไร มึงมาหาไม่กี่วัน ติดเลย (หัวเราะ) 

แล้วเรื่องเงินๆ ทองๆ ล่ะ 

ก็เดือนชนเดือน รายได้มันน้อยไม่เหมือนเมื่อก่อน ถ้าจนตรอกมากก็โทรไปหยิบยืมเพื่อนฝูง บางทีขายงานได้บ้างก็ค่อยยังชั่ว บางทีขายงานไม่ได้ สองสามเดือนไม่มีใครสั่งซื้อเลย เศรษฐกิจมันแย่ 

เครียดไหม 

ก็มีบ้างเป็นธรรมดา เราก็ปุถุชนอ่ะนะ อย่าไปคิดอะไรมาก มันไม่อยู่กับเราตลอดไปหรอก ใช่ไหม เครียดมากก็เวียนหัวอีก กินเหล้าดีกว่า เราเป็นคนตลก ขี้อำ อำแม้กระทั่งตัวเอง ก็เลยดูไม่ทุกข์เหมือนคนอื่น
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3r8uMMSb6DgbtU49v0ySOg/2b2050a7119e99c2b6a7dca1fef8a208/TAGCLOUD-INTERVIEW-ten-thousand-covers-hangman-SPACEBAR-Photo17
Photo: (ภาพ: จารุเดช ไชยเลิศ)

มองย้อนกลับไป คุณภูมิใจกับอาชีพนักทำภาพปกแค่ไหน 

แน่นอนสิ มันสร้างชื่อให้ผมนี่ ทำให้ผมมีสัมมาอาชีพในวงการนี้ ผมผจญมาเยอะ ทำฟรีจนกระทั่งได้ตังค์ แน่วแน่กับมัน รักมัน บ้ากับมัน เขียนการ์ตูนให้ข่าวสดวันละชิ้น วันไหนของขึ้นเขียนลงในเพจเป็น 10 ชิ้นก็มี มันเป็นอย่างงี้ สปริตเดิมๆ เรายังรักษามันได้อยู่ แต่หลังๆ ชักเหนื่อย ตอนนี้อายุ 70 แล้ว แก่กว่าไอ้ตู่อีก (หัวเราะ) 

ตั้งแต่หนุ่มจนเดี๋ยวนี้ ผมไม่เคยมีอาชีพอื่นเลย ขลุกอยู่แต่กับหนังสือนี่แหละ ต้องเข้าใจก่อนว่าวาดรูปการเมืองมันไม่ได้รวยอะไร ไม่เหมือนวาดรูปวิวทิวทัศน์ รูปเจ้า รูปศาสนา ทุกวันนี้เป็น Atheist ด้วยซ้ำ ไม่มีศาสนา เพราะเราอ่านมาเยอะจนสรุปกับตัวเองได้แล้ว 

สรุปได้ว่า… 

เห็นป้ายหน้าบ้านไหม ‘มีมนุษย์ มีทุกสิ่ง’ หมายความว่าถ้าไม่มีมนุษย์ พระเจ้าก็ไม่มี ศาสนาก็ไม่มี นรก สวรรค์ ความดี ความชั่ว คัมภีร์ทุกบท ศาสดาทุกองค์มันเป็นสิ่งที่มนุษย์เป็นคนสร้างขึ้นมาทั้งนั้น ผมถึงบอกว่ามีมนุษย์ มีทุกสิ่ง ไม่มีมนุษย์ก็ไม่มีอะไร เราต้องมองตามความเป็นจริง อย่ามองอะไรให้มันเลิศลอยมาก 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6cDXX9pBodbDew53E9qV5Q/7f22c82bc1566f5a9d1c6b5f9c532078/TAGCLOUD-INTERVIEW-ten-thousand-covers-hangman-SPACEBAR-Photo18
Photo: (ภาพ: จารุเดช ไชยเลิศ)
ผมเชื่อว่าทุกวันนี้โลกเจริญด้วยความคิดวิทยาศาสตร์ ฝรั่งเขาไปถึงดวงจันทร์ ดาวอังคารกันแล้ว คนไทยยังตามหาพญานาคกันอยู่เลย ผมเป็นคนแบบนี้มาตั้งแต่เด็กไง เหมือนกับที่เขาเรียกกันว่าหัวรุนแรงสุดโต่ง หรือพวก radical โลกนี้มันเจริญได้ด้วยพวกขบถ — ขบถทางความคิด ไอ้วานรคนแรกที่ตัดสินใจว่าจะลงจากต้นไม้มาเข้าถ้ำ เห็นไหมแม่งนำเพื่อนไปเลย แล้วไอ้คนแรกที่ออกจากถ้ำมาปลูกกระต๊อบ พวกนี้พวกขบถทั้งนั้น โลกมันเจริญด้วยความคิดเห็นขัดแย้งและความคิดขบถ 

งานหนังสือปีนี้คนยังไปกันเยอะ แต่ขณะเดียวกันก็พูดกันว่าหนังสือกำลังจะตาย คุณคิดเห็นอย่างไร 

ขนาดหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส เดอะสเตรทไทม์สยังอยู่ได้ แถมยังล้ำหน้ากว่าเราอีก อย่าคิดว่าคนจะอ่านอยู่แต่ในอินเตอร์เน็ตอย่างเดียว วันข้างหน้าสิ่งพิมพ์หรือหนังสือจะกลายเป็นของคลาสสิกด้วยซ้ำ  

ไปดูวัฒนธรรมการอ่านตอนนี้สิ ใครยังเขียนยาวเป็นหน้ากระดาษฟูสแก๊ปกันอีก คนไม่มีเวลาอ่านแบบนั้นแล้ว เขาเขียนอะไรสั้นๆ แต่มึงมาเขียนบรรยายเสียยืดยาว เชย ผมเขียนสั้นๆ ง่ายๆ เพื่อให้เข้าใจง่าย ไม่ต้องไปรบกวนเวลาคนอ่านเยอะ คนสมัยนี้มีอะไรอย่างอื่นให้ทำตั้งมากมาย 

เด็กสมัยนี้เขาก็มีวัฒนธรรมการอ่านอีกแบบหนึ่ง อ่านภาษาอังกฤษแตกฉาน แทบไม่ต้องแปลแล้ว นิยายไทยมันก็ไม่ได้ไปไหน เรื่องสั้นไทยก็น้อยลง ไม่มีห่าอะไรเลย ซีไรต์ตอนหลังไร้คุณค่าจะตาย เด็กมันฉลาด มันขวนขวายหาอ่านเพื่อตักเติมความรู้ มันฉลาดกว่าคนรุ่นเราอีก
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/58LxZLrQHpqZ2Em9Jb8wRw/a940028560baa996d3248db60a7673dd/TAGCLOUD-INTERVIEW-ten-thousand-covers-hangman-SPACEBAR-Photo19_2
Photo: (ภาพ: จารุเดช ไชยเลิศ)

เดี๋ยวนี้อ่านหนังสืออะไรบ้าง 

เดี๋ยวนี้อ่านน้อย วรรณกรรมก็อ่านน้อย เบื่อแล้ว ผมอ่านมาตลอดชีวิต ก็รู้สึกคงที่แล้วนะ ไม่ต้องไปเสาะแสวงหาใหม่ แต่บางทีเห็นพวกเด็กมันใช้ศัพท์แปลกๆ ใหม่ๆ เช่น สู่ขิตแปลว่าตาย กวนตีนดี (หัวเราะ) มีคำผวนบ้าง คำวิบัติบ้าง เราก็ต้องมาไล่อ่านดูว่ามันทำอะไรกันวะ 

"ม็อบที่ลำพูนเขาเรียกว่าลำพูนปลดแอก ส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิง มันร้ายจริงๆ กล้าหาญฉิบหาย ยอมรับเลย ตายตาหลับแล้ว" (หัวเราะ)

เด็กรุ่นใหม่ยังรู้จักคุณอยู่ไหม  

ก็น่าจะมีนะ บางคนแชทมาบอกว่าหนูเป็นแฟนคลับมาตั้งแต่สมัยเรียน ผมไม่ใช่เป็นคนที่ชอบโชว์ตัวเอง ถ่ายรูปตัวเอง กินข้าวเหี้ยอะไรก็ต้องมาโพสต์บอกเขา รูปโปรไฟล์ยังไม่เปลี่ยนเป็นปีๆ  

ผมสนใจแต่ว่าจะอำใคร เสียดสีใคร จะวาดรูปด่าใครดี (หัวเราะ) นี่ต่างหากที่ทำให้เรายังมีชีวิตชีวาอยู่  

คิดว่าชื่อทองธัช เทพารักษ์ ยังขายได้อยู่ไหม 

ผมไม่รู้สึกรู้สาอะไรเลย ไม่งั้นจะตั้งชื่อบ้านว่า ‘ทองสันโดษ’ เหรอ สันโดษไม่ได้หมายความว่าอยู่คนเดียว มันเหมือนกับคำว่าพอเพียง แต่เราไม่ใช้คำนั้นเพราะแม่งไปซ้ำกับเจ้า สันโดษคืออยู่แบบไม่ทะเยอทะยาน หมดความทะยานอยาก เหมือน 5 ข้อของอัลแบร์ กามูส์  อยู่ในที่ที่อากาศปลอดโปร่ง หมดความทะยานอยาก ทำงานสร้างสรรค์ แล้วรักใครสักคน สมัยหนุ่มๆ ผมเขียนติดฝาบ้านเลย ชอบมาก 

เคยเห็นคุณโผล่ไปม็อบบ่อยๆ ไปสังเกตการณ์หรือไปให้กำลังใจ 

อยากไปดู อยากไปให้กำลังใจ โดยเฉพาะพวกเด็กรุ่นใหม่ ม็อบที่ลำพูนเขาเรียกว่าลำพูนปลดแอก ส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิง มันร้ายจริงๆ กล้าหาญฉิบหาย ยอมรับเลย ตายตาหลับแล้ว (หัวเราะ) 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/50JiFsVG8J5GZ2roztFBaI/a0e491f99d49daed7baa0fc46af2646d/TAGCLOUD-INTERVIEW-ten-thousand-covers-hangman-SPACEBAR-Photo19_1
Photo: (ภาพ: จารุเดช ไชยเลิศ)
บางทีเด็กๆ เขามาขอให้ผมออกแบบเสื้อเพื่อไปขาย เราก็ทำให้ กลายเป็นคนอยู่เบื้องหลัง ไม่ใช่เบื้องหลังเรื่องเงินทองนะ ผมสนับสนุนด้านศิลปะ ความคิดความเห็นก็แลกเปลี่ยนกันได้ แต่มันไม่เชื่อเราทั้งหมดหรอก เด็กสมัยนี้มันเป็นตัวของตัวเองจะตาย เผลอๆ เถียงกับมัน เราสู้ไม่ได้ โง่กว่ามันอีก แต่ยังดีที่เขานับถือเราอยู่ เรายังพอใช้ได้อยู่ บางทีพวกนักกิจกรรมเสื้อแดงมาเชียงใหม่ก็แวะมาหาที่บ้าน 

คนยุคเดียวกันที่เคยต่อสู้กันมา พอวันหนึ่งจุดยืนเปลี่ยนไปอย่างไม่น่าเชื่อ คุณรู้สึกยังไงบ้าง 

ก็ให้ประวัติศาสตร์ตัดสินเองว่าใครเป็นเปลือกปลอม ใครเป็นของแท้ ทำไมบางคนกลายพันธุ์ สันดานทัศนะแม่งเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังตีน หลายคนที่ต่อสู้ด้วยกันตอนนั้นแม่งมาเสียคนตอนแก่กันหมด เมื่อก่อนเขายิงมา ประชาชนแทบจะเอาร่างรับกระสุนแทน แล้วมึงกลายเป็นอย่างนี้ได้ไงวะ กลืนน้ำลายตัวเอง  ทรยศประชาชน …แหม ทำเป็นไปวางพวงหรีดรำลึกคนตุลาฯ เดี๋ยวนี้เสือกมาแห่หามเผด็จการที่เคยไล่ฆ่ามึง 

บางคนได้เป็นศิลปินแห่งชาติแม่งยิ่งเป็นใบ้เลย ไอ้ห่า พี่สุชาติโดนริบตำแหน่ง แทนที่จะออกมาช่วยกันพูด นี่ไม่มีสักแอะ ทั้งที่เมื่อก่อนพวกมึงก็ได้ความรู้ ได้รับการส่งเสริมจากพี่สุชาติทั้งนั้น สมาคมนักเขียนเป็นสมาคมวิชาชีพทางปัญญาชนมากที่สุดนะ เมืองนอกเขายกย่องจะตาย บ้านเรานี่เงียบกริบ แถมยังส่งตัวแทนสมาคมไปเป็นสว. อีก แม่งน่าละอายไหมล่ะ  

ผมไม่เก็บมิตรภาพเก่าๆ ไว้หรอก ไม่จำเป็นต้องมี เสียเวลาชีวิต มึงไปทางไหนก็เรื่องของมึง กูไปทางไหนก็เรื่องของกู ก็มีความคิดแบบนี้แหละถึงไม่อยากเข้าสังคม กลัวไปทะเลาะกับพวกมัน ปากเราก็ใช่ว่าจะกลัวใครที่ไหน 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6Fu9qgNjq1HBmN5Vc0VPOT/fdf6de03d11fdbe2b0abf1d005c1c7bc/TAGCLOUD-INTERVIEW-ten-thousand-covers-hangman-SPACEBAR-Photo20
Photo: (ภาพ: จารุเดช ไชยเลิศ)
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2Eo3sQzz3OYwLqCJ6W2iQK/388ec0e98c49b848e05079b4c73670eb/TAGCLOUD-INTERVIEW-ten-thousand-covers-hangman-SPACEBAR-Photo21
Photo: (ภาพ: จารุเดช ไชยเลิศ)

มีอะไรอยากบอกคนรุ่นใหม่ไหมเรื่องการใช้ชีวิต  

เราเป็นเจ้าของชีวิตเราเอง เราเป็นปัจเจก ก็แล้วแต่เลือกเลย ชีวิตใครชีวิตมัน ส่วนจะได้ดีหรือไม่ได้ดี ก็ไปเสี่ยงเอา บางคนแม่งกราบก้มพนมกรแล้วได้ดี แต่บางคนเขาอยู่ด้วยลำแข้งตัวเอง อยู่ด้วยฝ่ามือฝ่าตีนตัวเองโดยไม่ต้องก้มกราบใคร แบบนี้น่าภูมิใจกว่า  

สังคมไทยเป็นสังคมกราบก้มพนมกร ชีวิตผมไม่เคยเรียกใครว่านาย เรียกอย่างมากก็พี่หรือน้า กับพี่สุชาติผมก็เรียกพี่ พี่สุชาตินี่เป็นฝรั่งมากนะ ไม่เคยเรียกผมว่าน้องหรือแทนตัวเองว่าพี่เลย เขาใช้คำว่าผมกับคุณแบบฝรั่ง สังคมเรายังเป็นสังคมอุปถัมภ์ สังคมโซตัส เป็นวัฒนธรรมกากๆ ที่ยังฝังรากลึกอยู่ 

มีเรื่องเสียดายในชีวิตบ้างไหม 

ผมถือว่าเราเกิดมามีโอกาสเขียนการ์ตูนการเมือง ผมก็เขียนเต็มที่เพื่อให้ประชาชนกล้าหาญ ตาสว่าง ไม่ได้เขียนเรื่องอภินิหารงมงายล้าหลัง เขียนแม่งอยู่นั่นแหละจะเขียนให้ได้อะไรขึ้นมาวะ  

จะว่าหัวรุนแรงก็หัวรุนแรง ผมเป็นอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไรไม่เคยเปลี่ยน ตอนแก่นี่แค่รีไทร์ตัวเอง ไม่อยากออกไปไหน แต่ในเฟซบุ๊กก็ยังรุนแรงเหมือนเดิม ไม่รุนแรงถึงขั้นชกต่อยนะ ผมเป็นพวกสันติวิธี วิ่งหนีไว้ก่อน (หัวเราะ) 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/22Gle8udSESsBdsS9iXxGX/dd29163a3d08115cf1acd18b50e7eb1a/TAGCLOUD-INTERVIEW-ten-thousand-covers-hangman-SPACEBAR-Photo22
Photo: (ภาพ: จารุเดช ไชยเลิศ)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์