จุดเริ่มต้น “ดนตรี” แบบฉบับ “ขาวสามด้าน”
แม้ชื่อจะดูเหมือนวงดนตรีที่มีสมาชิกหลายคนแต่จริงๆ แล้วบทเพลงของ THE WHITE HAIR CUT นั้นมาจากฝีมือเรียบเรียงของ “ฮิว” พัชรพล วงศาโรจน์ แทบจะทั้งหมด เรียกได้ว่าต้องเล่นดนตรีเองทุกชิ้น ซึ่งความรอบด้านขนาดนี้ก็เกิดจากเส้นทางดนตรีที่ถูกปูไว้ตั้งแต่วัยเด็ก
“จุดเริ่มต้นก็น่าจะมาจากสมัยอนุบาลเลยครับ ด้วยความที่คุณพ่อชอบร้องคาราโอเกะ ทำให้ที่บ้านจะเปิดเพลงตลอดครับ เป็นเพลงไทยแนวป็อปร็อก โปเตโต ซิลลี่ฟูลส์ ทำให้เท่าที่จำความได้ คือผมจะร้องเพลงตั้งแต่ยังอ่านหนังสือไม่ออกเลยครับ อาศัยร้องออกมาจากความจำตามที่เขาร้อง ตามที่เราได้ยิน แล้วก็ที่บ้านจะมีซีดี ดีวีดี ที่มันเป็นคาราโอเกะเยอะ ก็อย่างที่บอกว่าคุณพ่อจะชอบเปิดให้ฟัง บางทีเราก็เลยเปิดมาร้องเอง ก็เลยทำให้เหมือนดนตรีมันอยู่ในชีวิตตั้งแต่จำความได้เลยครับ”“ซึ่งช่วงตอน ป.5 ก็เริ่มเล่นกีตาร์โปร่งครับ แต่จริงๆ ตอนแรกพ่อก็ยังไม่ซื้อกีตาร์ให้ ทำให้ผมต้องเล่นกีตาร์ของเล่นที่เหมือนมีมานานมากๆ แล้ว ก็ดีดกีตาร์ของเล่นกับเปิดเพลงฟังอยู่อย่างนั้นแหละครับ จนสุดท้ายเขามั่นใจว่าเราจะเอาจริงเอาจัง เขาก็เลยลงทุนซื้อกีตาร์ตัวแรกให้”

การตัดสินใจครั้ง “สำคัญ” ที่เดิมพันด้วยการ “แทงสวน”
หลังจากจับกีตาร์โปร่งตัวแรก เส้นทางหลังจากนั้นของ THE WHITE HAIR CUT ก็ค่อยๆ ไต่ระดับอย่างที่แฟนเพลงรู้กันดี สร้างชื่อในตลาดเพลงอินดี้เป็นเวลาหลายปี จนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาฮิวก็ตัดสินใจก้าวมาสู่ค่ายเพลงใหญ่อย่าง จีนี่ เรคคอร์ด ซึ่งดูเผินๆ ภายนอก ตัวค่ายอาจจะขัดกับภาพลักษณ์ทางดนตรีของเขาอยู่ประมาณหนึ่ง โดยฮิวให้เหตุผลว่าเจ้าตัวตัดสินใจครั้งสำคัญจากการที่เป็นคนไม่อยากเหมือนใคร ชอบแทงสวน ซึ่งจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ผลงานที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่าการแทงสวนของเขาได้ผล
“ที่ตัดสินใจเดินเข้ามาจีนี่เพราะผมคิดว่าที่นี่ ตัวผมเองน่าจะเป็นสีที่แตกต่างจากคนอื่น เพราะธรรมชาติของผมคือเป็นคนชอบแทงสวน อย่างเช่นสมมุติว่า เห็นเพื่อนใส่รองเท้าแบบนี้มากันเยอะมาก ผมก็จะไม่ใส่แล้ว มันเป็นฟีลแบบนี้ ดังนั้นสำหรับค่ายเพลง ผมก็เหมือนกัน ถ้าสมมุติเข้าไปแล้วผมเจอสีน้ำเงินเนี่ยผมจะไม่อยากเป็นสีน้ำเงินแล้ว ผมก็จะฉีกตัวเองเป็นสีแดง แต่อีกทางหนึ่งถ้าตัวเรารู้อยู่แล้ว ว่าตัวเราเป็นสีแดง แล้วต้องเข้าไปเจอสีแดงเหมือนกัน ผมอาจจะต้องฉีกไปเป็นสีน้ำเงินที่มันไม่ใช่ตัวผม มันก็คงจะไม่เวิร์ค ดังนั้นผมอาจจะต้องไปเจออะไรที่มันแตกต่างจากผมโดยสิ้นเชิง เผื่อให้มันกระตุ้นความธรรมชาติของเราที่มันฉีกจากคนอื่นอยู่แล้วออกมาอีก ผมคิดว่าถ้าทำงานบนพื้นฐานแบบนี้มันน่าจะสามารถดึงให้เราเป็นตัวเองให้ได้มากที่สุด”บทเรียนที่ทำให้รู้ว่า “เป็นตัวเอง” ดีที่สุด
จากคำตอบข้อก่อนหน้า จะเห็นว่าความเป็นตัวของตัวเองคือสิ่งที่ ฮิว ให้ความสำคัญมากๆ ในการสร้างสรรค์ผลงานของเขาออกมา ซึ่งมันคือบทเรียนครั้งสำคัญที่เจ้าตัวได้เรียนรู้จากเส้นทางดนตรีที่ผ่านมาเลยก็ว่าได้“บทเรียนที่สำคัญที่ผมได้เรียนรู้ คือจริงๆ แล้วเราเอาใจทุกคนไม่ได้ ยิ่งดนตรีมันเป็นเรื่องของรสนิยม เราเดาใจใครไม่ถูกจริงๆ การที่เราตั้งใจทำในสิ่งที่เราอยากทำ ตั้งใจในสิ่งที่เราอยากเป็นมันก็คงเป็นเรื่องที่ดีที่สุด ซักวันหนึ่งคนที่สนใจเราจริงๆ ชอบดนตรีเราจริงๆ เขาก็คงเดินเข้ามาหาเราเอง”
“ซึ่งช่วงปีที่ผ่านมา ก็เป็นช่วงที่ค้นพบจริงๆ ว่าเราชอบอะไร แล้วเราก็จริงใจในการที่จะเล่าออกมาเลย ทำมันออกมาเลย ก็ค้นพบช่วงนั้นว่ามันสบายใจที่สุด”
“เคยมีช่วงที่พยายามจะคิดแทนคนอื่นมากเกินไปว่าเขาจะชอบอะไร ซึ่งสุดท้ายมันก็ไม่โอเคเท่าการทำสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ มันทำให้เราย้อนกลับไปฟังเพลงของเราบางเพลง แล้วเรารู้สึกชอบเพลงพวกนั้นน้อยกว่าเพลงที่ทำตามใจตัวเอง”
หลงไหลในความ “วินเทจ” ของดนตรี
ซึ่งความเป็นตัวของตัวเองที่ฮิวได้ค้นพบอีกหนึ่งอย่าง คือเขารักและหลงไหลในดนตรียุคเก่าช่วง 60’ และ 70’ เป็นอย่างมาก จนเราได้เห็นกลิ่นอายความเป็นวินเทจเหล่านั้นอบอวลอยู่ในดนตรีของเขา ทำให้ความวินเทจแบบสุดทางก็อาจจะเป็นทิศทางในอนาคตของ THE WHITE HAIR CUT เลยทีเดียว
“พอเรารู้ตัวเองแล้วว่าเราชอบดนตรี 60’, 70’ อีกสิ่งหนึ่งที่มันโดดเด่นในยุคนั้นก็คือพาร์ทของสตริง ก็คือมีความคิดว่าอยากลองอัดแบบพาร์ทสตริงเล็กๆ หรือว่าสตริงสดๆ หรือว่าเป็นพาร์ทของเครื่องดนตรีที่มันมีความเป็นบาโรกป็อป มีเปียโนของจริงในเพลง ให้มันสุดทางในความเป็นวินเทจไปเลย นี่คืออีกสิ่งที่ผมอยากทำให้สุดไปเลย”
นอยด์ เศร้า เหงา ซึ้ง
นอกจากซาวด์ดนตรีอันมีสเน่ห์แล้วนั้น อีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่ทำให้แฟนเพลงหลงไหล THE WHITE HAIR CUT ก็คือเนื้อหาของเพลง ที่มักจะเป็นผู้พ่ายแพ้ในความรัก ราวกับเป็นเพื่อนที่คอยแชร์เรื่องราวเศร้าๆ เหงาๆ ให้กันฟัง ทำให้ยามที่เราพ่ายแพ้ให้กับรักจนใจเจ็บ บทเพลงของ THE WHITE HAIR CUT มักจะเพราะเป็นพิเศษ ซึ่งที่มาของเนื้อเพลงเหล่านี้ ก็มาจากความพารานอยด์ภายในจิตใจของตัวฮิวเอง
“มันอาจจะมาจากจิตใต้สำนึกของเราแบบลึกๆ ว่าเราอาจจะมีความเป็นคนคิดมาก ขี้น้อยใจ เวลาเกิดอะไรขึ้นมาเราจะเป็นคนที่จะไม่ค่อยระบายอะไรออกมาแต่จะใช้การถกเถียงกับตัวเองในใจ ทำให้คุยกับตัวเองมากกว่าคุยกับคนอื่น มันก็เลยเหมือนหมกหมุ่นอยู่กับความคิดของตัวเอง ก็เกิดเป็นเพลงที่พูดคุยกับตัวเอง พูดคุยกับความเหงาขึ้นมา”“อย่างในเพลง “เผื่อว่าจะพบเธอสักวัน” มันก็เป็นเรื่องของการคิดเหตุการณ์ข้างหน้า พารานอยด์ไปเองก่อน คือมันเป็นเรื่องของตอนที่เราอยู่กับคนๆ หนึ่ง แล้วมันมีที่ๆ หนึ่งที่เราชอบไปด้วยกัน ซึ่งเราไปด้วยกันบ่อยมากจนเป็นที่ประจำของเราไปแล้ว แล้ว ณ วันที่ผมได้ไอเดียของเพลงนี้ คือจู่ๆ ผมก็คิดไปข้างหน้าถึงวันที่เราไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้วมันจะเป็นยังไง ผมอาจจะมานั่งที่เดิมตรงนี้ แล้วคิดถึงเรื่องที่ผ่านมา ที่เราเคยมาด้วยกันเป็นประจำ แล้วก็คิดเผื่อไปว่าเขาอาจจะคิดแบบเดียวกับเรา มันก็เลยได้ไอเดียเพลงนี้ ซึ่ง ณ วันที่เขียน มันยังไม่เกิดเหตุการณ์อะไรเลย เรายังอยู่ด้วยกันอยู่ แต่หลังจากปล่อยเพลงออกไปมันเลยเกิด ซึ่งจริงๆ ก่อนปล่อยด้วยซ้ำ ทั้งหมดมันก็เกิดจากการที่เราคิดไปข้างหน้า หรือชอบมองอะไรที่มันลบที่สุด จนสุดท้ายบางครั้งมันก็กลายเป็นงานออกมา”
ซึ่งก็แน่นอนว่าความพารานอยด์ที่กล่าวมานอกจากจะเป็นที่มาของบทเพลงต่างๆ แล้ว มันก็มีมุมที่ได้ส่งผลต่อชีวิตหลายๆ ด้านของ “ฮิว” เช่นกัน ถึงขนาดที่ในบางมุมมันก็ก่อกวนจนทำให้เขาสัมผัสความสุขบางอย่างได้ยากกว่าผู้อื่น ซึ่งหลายๆ ครั้งเมื่อเขามองย้อนกลับไปก็ได้รับรู้ว่าบางทีอาจจะเป็นตัวเขาที่คิดมากเกินไปเอง อาทิ เรื่องที่เคยกลัวว่าครอบครัวจะคิดอย่างไรเรื่องที่ตัวเองเล่นดนตรี
“จริงๆ ตั้งแต่เด็กๆ ที่บ้านไม่เคยห้ามเล่นดนตรีเลยครับ มีแต่เราคิดไปเองคนเดียว ก็อาจจะเหมือนในเพลงที่เป็นคนพารานอยด์ ชอบคิดแทนไปก่อนแล้วว่าคนอื่นจะคิดอย่างนี้ อย่างนั้น จะมองเราไม่ดีหรือเปล่า แอบด่าเราในใจหรือเปล่า จริงๆ มันอาจจะไม่มีอะไรก็ได้ แต่จะชอบคิดในใจไปหลายสเต็ปก่อนมาก มันก็เลยจะทำให้มีเคยคิดไปบ้างว่า ที่บ้านเขาจะเชื่อเราไหม? แต่ถ้าทบทวนดีดีจริงๆ เขาซัพพอร์ททุกอย่างเราเต็มที่มาตลอด ทั้งการเดินทาง ด้วยการพาไปเล่นที่ต่างๆ หรือการซัพพอร์ทเครื่องดนตรีชิ้นแรกสมัยที่เรายังซื้อเองไม่ได้ เขาก็สนับสนุนเราเต็มที่เท่าที่เขาจะทำได้แล้ว ซึ่งนั้นมันก็น่าจะเป็นคำตอบว่าเขาโอเค และเชื่อเรามาตลอดตั้งแต่แรก มีแต่เรานี่แหละที่คิดไปเอง”“คิดต่าง” จน “สร้างสรรค์”
นอกจากในบทเพลงที่เราได้เห็นความครีเอทีฟของเขาไปแล้ว ในสื่อโซเชียลเราก็ได้เห็นกระแสความกำกวมของชื่อ THE WHITE HAIR CUT ที่ทำให้หลายๆ คนเข้าใจผิดว่าเป็นวงดนตรีที่มีหลายคน นำมาสู่คอนเท้นต์ต่างๆ ที่ฮิวจับกระแสและนำมันมาต่อยอดด้วยความกวนๆ ที่เขายอมรับว่าเป็นหนึ่งในนิสัยของตัวเอง ซึ่งทำให้เราได้รู้ว่าบางทีครีเอทีฟก็เกิดได้จากการคิดสวนกับชาวบ้านจนเกิดทางใหม่ๆ อย่างเช่นการที่ยอมรับกับแฟนคลับไปเลยว่าจริงๆ แล้ว THE WHITE HAIR CUT มีสมาชิก 4 คน ที่ชื่อ ฮิว ฮิว ฮิว และ ก็ฮิว“ไม่เคยวางแผนมาก่อนเลยครับ (กระแส 4 ฮิว) เกิดขึ้นโดยเอาอารมณ์ตั้งเลย เหมือนปล่อยเพลงไปสักพักแล้ว เข้าทวิตเตอร์แล้วหาคำว่า THE WHITE HAIR CUT คนจะชอบเรียกว่าเพลงของพี่ๆ เพลงของน้องๆ มันดูคนเยอะ มีความเป็นวง คนอาจจะเรียกติดปากว่าวง หรือพี่ๆ WHITE HAIR CUT นู่นนี่นั่น เราก็เลยรู้สึกว่าเราอยากกวนเขาอะ ก็เลยลองคิดว่า ในเมื่อพูดแบบนี้กันเยอะแล้ว ก็เลยทำแบบนี้จริงๆไปเลย ก็มีสมาชิก 4 จริงๆ ก็คือมีฮิวกลอง มีฮิวกีตาร์ มีฮิวร้องนำ ฮิวคีย์บอร์ด ก็คือกวนกลับไปเลย”
“ซึ่งจริงๆ ก็มีคนมากวนกลับเหมือนกัน อย่างที่งาน CAT Expo ล่าสุด ก็มีคนมาทักเหมือนกันว่า เอ้าแล้วพี่ฮิวมือคีย์บอร์ดไม่มาหรอครับ ก็มีแบบนี้ ก็เลยขยี้กันไปยันจนทำเสื้อออกมาเลย”

“นักรอ” ซิงเกิลที่ผสมผสานทั้งความ พารานอยด์ ความกวน และ ซาวด์ดนตรีที่หลงรัก
สุดท้ายนี้ความเป็นตัวเองทั้งหมดก็ได้อัดแน่นมารวมอยู่ในซิงเกิ้ลล่าสุดของ THE WHITE HAIR CUT อย่าง “นักรอ” ที่ทั้งเนื้อหาจิกกัดกวนความเป็นตัวเองที่เนื้อหาเพลงที่ผ่านๆ มา ดูเป็นลูซเซอร์ที่มีความคิดมาก เป็นผู้รออยู่ตลอด ผสมผสานเข้ากับซาวด์ดนตรีเก่าๆ ที่เจ้าตัวหลงรัก แถมยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับคนคุยที่มีความสมัยใหม่คอนทราสต์กับซาวด์ดนตรีแบบวินเทจ
“จุดเริ่มต้นมี 2 พาร์ทเลยครับ เหมือนผมไปทบทวนว่าเพลงก่อนๆ ของเรามันจะวนเวียนอยู่กับการรอ มันก็เลยเหมือนแบบประชดตัวเองกวนๆ กับตัวเองว่า THE WHITE HAIR CUT ก็เป็นเหมือนนักรอคนหนึ่ง อันนี้ก็คือพาร์ทแรกที่ได้ชื่อเพลงมา”
“ส่วนเรื่องของเนื้อหา ก็เป็นเนื้อหาที่ผมอยากเขียนลงในเพลงซักเพลงนึงมานานแล้ว แต่ยังหาที่ลงไม่ได้ มันจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเพื่อนผมคนนึงที่ชอบโทรมาปรึกษาผมบ่อยมาก ว่าคุยกับคนๆ นึงมานานแล้วแต่ก็ไม่ได้พัฒนาความสัมพันธ์ซักที เหมือนแบบติดใจกับเรื่องนี้มานานแล้ว แล้วพอมันมีชื่อเพลงนักรอ ซึ่งมันซิงค์กันพอดี ก็เลยเหมือนกับเอาเนื้อหาตรงนี้มารวมกับชื่อเพลง”
“ส่วนเรื่องซาวด์ดนตรี เพลงนี้ตั้งใจดึงเอกลักษณ์ความเป็นยุค 70’ ให้มันชัดไม่ว่าจะเป็นการหยิบเสียง เมลโลตรอน ซึ่งจะเป็นเครื่องดนตรีที่นิยมใช้ในช่วงยุค 60’, 70’ โดยที่ถ้าในเพลงก่อนๆ ก็จะใช้ซินธิไซเซอร์มาบ้างใช่ไหมครับ แต่เพลงนี้จะตัดซินธิไซเซอร์ที่เป็นยุคใหม่ทิ้งออกไปเลย ใช้เป็นเมลโลตรอนหมดเลย แล้วไม่ว่าจะเป็นส่วนต่างๆ ของเพลงก็จะใช้ความเป็น 70 หมดเลย หรือกีตาร์ที่มีการใช้เทคนิคต่างๆ ที่ทำให้ฟังแล้วก็รู้เลยว่าเก่าครับ คือการเลือกซาวด์ของเพลงนี้ คือจะเลือกเอาซาวด์เก่าไว้ก่อน แต่เล่าบนเนื้อหาของความใหม่ซึ่งก็ทำให้มันคอนทราสต์กัน เล่าเรื่องของการเป็นคนคุยแต่เล่าผ่านดนตรีที่ค่อนข้างโบราณ”
ท้ายที่สุดนี้ถึงแม้การเดินทางในสายดนตรีของ The White Hair Cut ที่เล่ามาทั้งหมดนี้อาจจะเป็นเพียงแค่บทหนึ่งในชีวิตของเด็กชายหัวเกรียนที่เริ่มต้นทำดนตรีด้วยใจรักเพียงเท่านั้น ก็ได้แต่หวังว่า ผู้อ่านทุกท่านจะได้รู้จักชายคนนี้เพิ่มขึ้นจากเดิมไม่มากก็น้อย และถ้าไม่เป็นการเสียเวลาผมในฐานะผู้เขียนก็อยากให้ทุกคนเปิดใจลองรับฟังเพลงของเขาดูสักครั้ง ไม่แน่คุณอาจจะติดใจเพลงของเด็กหนุ่มคนนี้เหมือนที่ผมกำลังติดใจอยู่ก็เป็นได้
ยินดีที่ได้รู้จักนะครับ The White Hair Cut !!
