ท่าเตียนในสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง

21 ก.ค. 2566 - 06:34

  • เรื่องราวย่านหนึ่งในกรุงเทพที่เก่าแก่อย่าง ‘ท่าเตียน’ กับตำนานชุมชนที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์มานับไม่ถ้วน สู่การคงไว้ซึ่งตำนานสถานที่ที่จะยืนหยัดอยู่ในใจของคนไทยต่อไป

Ta-tien-wind-of-hope-SPACEBAR-Thumbnail
ย่านเก่าแก่ที่เก่ามากๆ ของกรุงเทพฯ ต้องมีชื่อ ท่าเตียน รวมอยู่ด้วย ท่าเตียน ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาตลอดนับร้อยปีหรือนานกว่านั้น การเป็นที่พักอาศัยที่มีคนอยู่หนาแน่น ก่อนจะโดนไฟไหม้ แล้วจึงมาเป็นตลาด เป็นที่รวมและกระจายสินค้า ผลิตผลทางการเกษตร เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางออกไปต่างจังหวัด แต่ละวันผู้คนเดินทางมาท่่ท่าเตียน ตลาดท่าเตียนเคยคึกคักมากและไม่เคยหลับ 
 
ท่าเตียนเป็นชุมชนเคยมีคนอยู่หลายเชื้อชาติ มีศาลเจ้า มีวัง มีวัด ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ท้ายวังหลวง ใกล้กับพระอารามหลวงชั้นเอกที่เป็นแหล่งรวมสรรพวิชา พื้นที่ท่าเตียนมี 3 เจ้าของ คนที่ครองสัดส่วนความเป็นเจ้าของมากที่สุดคือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือครองพื้นที่ 80% ที่เหลือเป็นของวัดโพธิ์ และเอกชน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3HraR51c4qwSPNnSveRV85/8b74cff2029297ce85d77eef2870bd95/Ta-tien-wind-of-hope-SPACEBAR-Photo01
เวลาเปลี่ยนแปลงท่าเตียน เมื่อมีการขยายตัวของเมือง การย้ายไปของตลาดของสดและดอกไม้ไปอยู่ที่ปากคลองตลาด เมื่อการเดินทางทางเรือถูกแทนด้วยรถยนต์ แต่ท่าเตียนก็ยังคงบทบาทการเป็นตลาดสรรพสินค้า เป็นที่ขายวัตถุดิบทำกับข้าว ของแห้ง มีร้านรวงขายอาหารและสินค้ามากมายมี  
 
คนที่เคยใช้ชีวิตในเกาะเมืองรัตนโกสินทร์ จะคนฝั่งธนบุรี หรือกรุงเทพฯ ต้องมีความทรงจำสักเรื่องเกี่ยวกับท่าเตียน บางคนมีร้านขายของใช้ร้านประจำของแม่และยาย บ้างมีร้านอาหารรสเด็ดที่มากับพ่อแม่และเพื่อนเป็นประจำ บางคนมาท่าเตียนเพื่อซื้อยาจากร้านที่เคยมาตั้งแต่เด็ก บ้างมีร้านที่ซื้อของฝากคนไกลที่มีครบที่ต้องการ ไม่เคยทำให้ผิดหวัง ได้ของใหม่คุณภาพดี ราคาเหมาะสม
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5xU2hD2oG9Jc24p9ISuoU6/0f2712858cc873f111d2d10f2775097c/Ta-tien-wind-of-hope-SPACEBAR-Photo02
ท่าเตียนค่อยๆ ลดความจอแจลง แทนที่เสียงผู้คนต่อราคาสินค้าที่อื้ออึงด้วยความเงียบ ร้านขายของย้ายออกไปจนเหลือไม่กี่ร้าน บ้างปรับตัวเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟทันสมัยรองรับนักท่องเที่ยว บทบาทของท่าเตียนเปลี่ยนไปอีกครั้ง และน่าจะเปลี่ยนตลอดไป เมื่อผู้คนที่เคยอยู่จะจากไปหมด ตึกบางส่วนจะถูกทุบแทนที่ด้วยตึกใหม่ที่เล็กลง ทางเดินกว้างริงรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ท่าเรือแดงไม่มีเรือโดยสารแล้วแต่จะแทนที่ด้วยจุดถ่ายรูปใหม่ ผู้คนมาที่ซอยประตูนกยูงเพื่อถ่ายภาพพระปรางค์วัดอรุณ ในมุมที่เชื่อกันว่า สวยที่สุด แต่จะมีสักกี่คนที่สนใจว่าคนรุ่นก่อนสร้างพระปรางค์ไว้ให้ตรงพอดีกับมุมหน้าโบสถ์เก่าที่วันนี้เป็นแค่พระวิหารวัดโพธิ์ โชคดีที่ซอยนี้ตรงกันพอดี  
 
ท่าเตียน ย่านที่มีชีวิต ที่ยังรับใช้ชุมชนต่อไปในบทบาทใหม่ เป็นที่พักผ่อน ที่พักท้อง ที่พักสายตา รองรับคนมายืนมองพระปรางค์สวยโดเด่นอยู่ริมแม่น้ำ ประตูร้านสุดท้ายของร้านขายของดั้งเดิมประจำท่าเตียนปิดลง พร้อมกับการเปิดตัวของ ท่าเนียนในบทบาทใหม่ หวังว่าเรื่องราวของท่าเตียนจะไม่ถูกจดจำแค่ย่านตลาด เพราะความทรงจำที่อยู่ในความรู้ของคนยังคงมีความรู้สึกดีๆทุกครั้งเมื่อนึกถึง ท่าเตียน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์