ภาวะกึ่งผูกขาดกำลังกัดกินวงการภาพยนตร์ไทยอย่างไร?

9 มีนาคม 2566 - 04:21

Thai-film-industry-Monopoly-SPACEBAR-Thumbnail
  • จากกระแสดราม่าที่ภาพยนตร์ ขุนพันธ์ 3 ถูกผู้จัดฉายเครือหนึ่งลดรอบฉายทั้งๆ ที่เปิดตัวได้ดี และไปเพิ่มรอบให้กับภาพยนตร์อีกเรื่องที่เครือผู้จัดฉายมีส่วนร่วมแทน นำมาสู่การถกเถียงในวงกว้างอยู่ในสังคมตอนนี้

  • ซึ่งรู้หรือไม่ว่า นี่เป็นเพียงหนึ่งในปัญหาหนึ่งที่เหมือนยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาเท่านั้น เพราะยังมีภาพยนตร์มากมายอีกหลายเรื่อง ที่ต้องพบเจออุปสรรค จากความไม่เป็นธรรมในการจัดรอบฉายของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยที่เรื้อรังมาตลอด

ดูเผินๆ จากภายนอกเหมือนว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย จะมีความหลากหลายจากถ้านับจากบรรดาผู้ผลิตภาพยนตร์ หรือผู้นำเข้าภาพยนตร์ ที่มีกันหลากค่ายหลายเจ้า แต่สุดท้ายเมื่อผลผลิตไหลมาสู่ผู้จัดฉาย ในไทยกลับมีปลาใหญ่รอกินเหยื่ออยู่ที่ปลายน้ำเพียงแค่สองตัวเท่านั้น ซึ่งทั้งคู่ครองสัดส่วนตลาดรวมกันถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มีอำนาจกึ่งผูกขาดในการกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เพื่อสร้างกลไกที่เอื้อผลกำไรให้กับพวกเขาได้มากที่สุด
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/14IUXysyRmYj3KJxkNbO5O/f436e2e53b0a03c02b64a90eb3405e94/Thai-film-industry-Monopoly-SPACEBAR-Photo01
พูดง่ายๆ คือ การที่ปล่อยโรงหนังแค่ไม่กี่เจ้าครอบคลุมไปทั่วประเทศ ทำให้พวกเขาสามารถเลือกภาพยนตร์ จัดรอบ จัดโรงฉาย สร้างกลไกในการถอดหนังออกจากโรง รวมไปถึงการกำหนดสัดส่วนค่าธรรมเนียมรายได้จากการฉาย หรือแม้กระทั่งเรียกเก็บค่าฉายจากผู้ผลิต เพราะบรรดาต้นน้ำกลางน้ำเองก็ไร้ทางเลือกต้องยอมเงื่อนไขเหล่านั้นเพื่อให้ภาพยนตร์ของตัวเองได้ฉาย ซึ่ง หากคุณเป็นชาวเน็ตที่มักจะพร่ำบอกว่า ที่หนังไทยโดนตัดรอบฉายเพราะคุณภาพหนังไม่ดี สู้ต่างชาติไม่ได้ ส่วนหนึ่งมันอาจจะจริง แต่ก็ไม่เสมอไปแน่นอน ยกตัวอย่างจากเคสล่าสุด ที่เพราะสาเหตุใดก็ไม่ทราบ ภาพยนตร์ ขุนพันธ์ 3 นั้นไม่มีรอบฉายในบางภาคของประเทศไทยในโรงหนังเครือเมเจอร์ แต่กลับมีรอบฉายเฉพาะโรงหนังเครือเอสเอฟ และเมเจอร์ก็ทำการหั่นรอบฉายภาพยนตร์ขุนพันธ์ 3 ทั่วประเทศตั้งแต่อาทิตย์แรกทั้งๆ ที่กระแสตอบรับอยู่ในระดับดี แถมจู่ๆ ภาพยนตร์เรื่อง ทิดน้อย ที่เมเจอร์มีส่วนร่วมก็ถูกเพิ่มรอบฉายและลดราคาค่าตั๋วลงอย่างฮวบฮาบ
นี่คือการต่อสู้กันของสองค่ายใหญ่ด้วยเกมการตลาดหรือเปล่า? เราไม่อาจรู้คำตอบแน่ชัด แต่สิ่งที่เราได้เห็นคืออำนาจผูกขาดที่พวกเขาสามารถกำหนดตลาดได้อย่างชัดเจน ยิ่งหากเป็นเครือใหญ่ที่สามารถผูกขาดธุรกิจนี้ไปยังกลางน้ำและต้นน้ำ  พวกเขาก็สามารถทำให้ภาพยนตร์ในเครือตัวเองสามารถยืนโรงในนานกว่าภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ หรือทำได้แม้กระทั่งปลุกภาพยนตร์ที่กระแสซาลงไปแล้วให้กลับมามีรอบฉายได้  ซึ่งกรณีการลดรอบฉายของขุนพันธ์ที่เกิดขึ้นนี้ ก็ชัดเจนแล้วว่าไม่เกี่ยวกับคุณภาพของภาพยนตร์ หรือ เสียงตอบรับจากผู้ชมแม้แต่น้อย ดังนั้นจึงมีภาพยนตร์อีกไม่น้อยที่ต้องรับกรรมจากการแข่งขันทางการตลาดที่อ้างว่าเพื่อตอบสนองผู้ชมในประเทศ  
 
ซึ่งผู้ชมที่พวกเขาอ้างว่ากำลังตอบสนองอยู่นั้น ก็เป็นผู้ชมที่ถูกพวกเขาสร้างขึ้นมาแบบกลายๆ เพราะการที่นำภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เทโรงเข้ามาเบียดบังภาพยนตร์ไทย หรือภาพยนตร์นอกกระแสของต่างเทศ ตัดรอบตัดโรงภาพยนต์ที่ดูจะไม่ทำเงิน แม้บางเรื่องจะคว้ารางวัลในระดับนานาชาติ ก็ส่งผลทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคน้อยลง ไม่เปิดโอกาสให้คนดูได้สัมผัสกับภาพยนตร์แนวอื่นๆ บรรดาผู้ผลิตก็มองไม่เห็นช่องทางของการทำกำไรจากภาพยนตร์ในแบบที่แปลกแตกต่างออกไป จากศิลปะที่ควรจะมีอิสระทางการนำเสนอ ภาพยนตร์ก็กลายเป็นเพียงมหรสพที่คิดแค่ว่าอย่างไรจะทำเงินได้มากที่สุด ใช้ทุนน้อยที่สุด ซึ่งก็ส่งผลไปยังทีมงานในทุกภาคส่วน จนมีเวลา และงบจำกัดจำเขี่ยในการจะทำหนังเรื่องหนึ่งออกมา  
 
และตราบใดที่ไม่มีมาตรการลงมาอย่างชัดเจนให้ความผูกขาดนี้เกิดการเปลี่ยนแปลง วงการภาพยนตร์ไทยก็จะวนเวียนอยู่ในวัฐจักรแบบนี้แบบไม่รู้จบ และอาจจะกำลังย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งหากจะอ้างว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้นคือเรื่องธรรมดาของการทำธุรกิจในโลกทุนนิยม และปล่อยให้อำนาจของเงินกัดกินวงการภาพยนตร์ไทยอยู่แบบนี้ ก็น่าเสียดายแทนฝีมือบุคลากรสายภาพยนตร์เก่งๆ ในไทยมากมาย ที่น่าจะสามารถผลักดันให้ “ภาพยนตร์ไทย” ก้าวไปได้ไกลกว่านี้มาก แต่สุดท้ายกลับต้องมาเวียนว่ายในวงจรแย่ๆ ของอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นธรรม ที่กัดกินทั้งร่างกายทั้งจิตใจจนท้อแท้จนล้มหายตายจากกันไปทำอย่างอื่น   

และที่สำคัญที่สุด เสียดายแทนผู้ชมชาวไทยเอง ที่จะไม่มีโอกาสได้รับชมภาพยนตร์หลากหลายแบบที่อาจจะมีโอกาสได้ผลิดดอกออกผล เพราะถูกริดรอนสิทธ์ในการเลือกชมภาพยนตร์โดยไม่รู้ตัว ซึ่งสุดท้ายแล้วผู้ชมคือตัวแปรที่สำคัญที่สุด หากผู้ชมในประเทศนั้นๆ ไม่ถูกปิดกั้น และมีรสนิยมการชมภาพยนตร์ที่หลากหลายและเปิดกว้าง มันคือสิ่งสำคัญที่จะช่วยพัฒนาวัฒนธรรมของการชมภาพยนตร์ในประเทศนั้นๆ ได้อย่างยั่งยืนนั่นเอง 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์