รู้จัก ‘tsundoku’ นิยามที่ทำให้รู้ว่าคนญี่ปุ่นก็ชอบ ‘กองดอง’ เหมือนกัน!

16 พฤศจิกายน 2565 - 05:04

Tsundoku-buying-books-and-piling-up-SPACEBAR-Main
  • รู้จัก ‘tsundoku’ คำญี่ปุ่นที่ใช้เรียกการกระทำ ‘กองดอง’ นิยามที่มีมาตั้งแต่โบราณและกลายเป็นคำโปรดของนักซื้อหนังสือ (แต่ไม่อ่าน) ทั่วโลก

งานหนังสือครั้งใหญ่ใกล้เข้ามาทุกที และมีท่าว่าจะจัดขึ้นอีกเรื่อยๆ จนหนอนหนังสือหลายคนหนีไม่พ้น ‘กองดอง’ หรือการซื้อหนังสือมากองไว้ก่อนโดยที่ยังไม่รู้ว่าจะอ่านเมื่อไร คำว่า กองดอง เริ่มกลายเป็นคำสามัญที่คนใช้กัน กระทั่งสำนักพิมพ์ก็เอาไว้ขายของแกมแซว แต่รู้ไหมว่าไม่ใช่แค่ไทยที่มีคำนี้ ญี่ปุ่นก็มีเหมือนกัน! 
 
คำที่ว่าคือ ‘tsundoku’ หมายถึง คนที่มีหนังสือเยอะแต่ไม่ได้อ่าน ซึ่งก็เป็นความหมายเดียวกับ กองดอง เลยทีเดียว แต่คำว่า tsundoku มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าคือตั้งแต่สมัย 1879 โดยมีการพบคำนี้ในข้อความว่า ‘tsundoku sensei’ หมายถึง อาจารย์ที่มีหนังสือเยอะแต่ไม่ได้อ่านนั่นเอง 
 
รากศัพท์ของคำว่า tsundoku แยกได้เป็น doku ที่แปลว่า การอ่าน ส่วนคำว่า tsun ในที่นี้มาจากคำว่า tsumu ที่แปลว่า การกอง เมื่อมารวมกันเป็น tsundoku ความหมายจึงเป็น การซื้อหนังสือและกองขึ้นไป 
 
อย่างไรก็ตามคำว่า tsundoku ไม่ได้เป็นการดูถูกแต่อย่างใด เพียงแต่เสียดสีเปรียบเปรยเท่านั้น และสามารถใช้ได้ในบริบททั่วไปไม่ต่างจาก ‘กองดอง’ 
 
สิ่งที่น่าแปลกใจคือเราไม่พบคำที่แทน ‘tsundoku’ หรือ ‘กองดอง’ ได้ในภาษาอังกฤษ คล้ายคลึงสุดน่าจะเป็นคำว่า ‘bibliomania’ ที่แปลว่า คนที่รักหนังสือมาก หรือเรียกแบบบ้านๆ ว่า ‘คนบ้าหนังสือ’ โดยในสมัยศตวรรษที่ 19 คำว่า bibliomania หมายถึงคนที่คลั่งไคล้หนังสือแปลกๆ หรือคอลเลกชันพิเศษ และหยุดตามซื้อไม่ได้ ภายหลังความหมายได้ขยายรวมถึงหนังสือทั่วไปเช่นกัน 
 
ความแตกต่างคือหัวใจหลักของคำว่า ‘bibliomania’ อยู่ที่การเก็บหนังสือ ขณะที่ ‘tsundoku’ และ ‘กองดอง’ เป็นการตั้งใจซื้อหนังสือมาอ่านจริงๆ แต่พอซื้อเยอะจนอ่านไม่ทันเลยกลายเป็นกองโดยไม่ได้ตั้งใจ การกระทำแบบนี้ไม่ได้แย่เสมอไป มาเรีย โปโปวา (Maria Popova) นักเขียนชาวบัลแกเรีย รวมถึงนักคิดนักเขียนคนอื่นๆ เคยบอกว่าการสะสมหนังสือที่ไม่ได้อ่านเป็นการย้ำเตือนว่าเรายังรู้ไม่มากพอ และเป็นแรงผลักดันให้เราอยากเรียนรู้ต่อไป 
 
ว่าแต่กองดองของคุณเยอะขนาดไหนแล้วนะ? 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์