เสียงดีแต่พอขึ้นเวทีแล้วลิปซิงก์ เราควรโอเคกับศิลปินแบบนี้หรือเปล่า?

16 พ.ย. 2565 - 05:44

  • ปัจจัยที่ทำให้ศิลปินต้องลิปซิงก์บนเวทีมีมากกว่าแค่ ‘ร้องไม่เพราะจริง’ มาดูกันว่าทำไมนักร้องเสียงดียังต้องมุบมิบปากตามเสียงที่อัดไว้แล้ว

Why-artists-lip-sync-SPACEBAR-Main
การลิปซิงก์เป็นเรื่องปกติมากในมิวสิกวิดีโอหรือโฆษณา แต่พอมาเป็นการแสดงสดในคอนเสิร์ตแล้ว หลายคนก็รู้สึกผิดหวังเพราะเสียเงินค่าตั๋วทั้งทีก็อยากเห็นศิลปินคนโปรดร้องเพลงให้ฟังสดๆ 
 
วันนี้เราจะมาชวนทำความเข้าใจกันหน่อยว่าทำไมศิลปินต้องลิปซิงก์กันด้วย แล้วมันเป็นเรื่องที่ควรรับได้ในอุตสาหกรรมดนตรีหรือเปล่า ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า ‘การลิปซิงก์’ คือการทำปากตามเสียงที่อัดไว้แล้ว ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการแสดง  
 
แต่ก่อนจะบอกว่าศิลปินคนนู้นคนนี้ลิปซิงก์ (ซึ่งอาจจะจริง) ลองมองดีๆ อีกครั้งว่าใช่หรือเปล่า เพราะหลายครั้งเวลามองเวทีจากที่ไกลๆ ภาพที่เห็นจะเร็วกว่าเสียงที่ได้ยินจนคนฟังทึกทักเอาว่าศิลปินกำลังลิปซิงก์ ทั้งๆ ที่ความจริงเป็นการเล่นสด แต่หากเป็นการลิปซิงก์จริงละก็ เราจะขอชวนอ่านต่อว่าทำไม...
 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5U00KKbrNymsRwpPmPjYN9/19ded7030b2676b6e68c621fadc0dfb4/Why-artists-lip-sync-SPACEBAR-Photo01
การลิปซิงก์บางครั้งก็จำเป็นด้วยปัญหาสุขภาพของศิลปินหรือปัญหาทางเทคนิค บางคนถึงกับบอกว่าการร้องและเล่นดนตรีสด 100% ในรายการถ่ายทอดสดแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยด้วยเวลาและอุปกรณ์ที่จำกัด ในบางกรณีถึงศิลปินจะป่วยแค่ไหนรายการก็ยังต้องออกอากาศ และต้องออกมาดีเสียด้วย 
 
แม้แต่นักร้องเสียงสวรรค์อย่าง บียอนเซ่ (Beyoncé) ก็เคยออกมายอมรับว่าเธอลิปซิงก์ตอนร้องเพลงชาติสหรัฐอเมริกาในพิธีเข้ารับตำแหน่ง บารัก โอบามา (Barack Obama) ซึ่งเป็นสิ่งที่ปกติแล้วเธอจะไม่ทำ แต่ด้วยความที่มีเวลาเตรียมตัวน้อย บวกกับความเป็นเพอร์เฟกชันนิสต์ เธอจึงตัดสินใจลิปซิงก์เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด
 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1lJzBjbkDMJ8CfGrOnCqmF/98c71ccb0b82478bc11147aba0ee4dfd/Why-artists-lip-sync-SPACEBAR-Photo02
หรือในแวดวงป็อปๆ ก็มีศิลปินที่ขึ้นชื่อเรื่องลิปซิงก์ เช่น บริตนีย์ สเปียส์ (Britney Spears) หรือ เคที เพอร์รี (Katy Perry) ซึ่งหลายคนก็เข้าใจได้เพราะการเอนเตอร์เทนคนดูบนเวทีร่วมชั่วโมงต้องใช้พลังงานเยอะมาก จะให้ร้องเพลงตั้งแต่ต้นจนจบก็คงไม่ได้คุณภาพเสียงที่ดีนัก ฉะนั้นการลิปซิงก์ไม่ได้หมายความว่าศิลปินร้องเพลงไม่ได้เสมอไป แต่เป็นเพราะอยากให้คนฟังได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดมากกว่า 
 
ทั้งนี้การลิปซิงก์เป็นถึงปัญหาระดับชาติในบางประเทศ อย่างรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ก็เคยหารือกันเรื่องข้อกฎหมายที่บังคับให้ศิลปินประกาศอย่างชัดเจนบนตั๋วคอนเสิร์ตหากการแสดงจะเป็นการลิปซิงก์ ยิ่งไปกว่านั้นการลิปซิงก์ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายในประเทศเติร์กเมนิสถานเพราะถูกมองว่าเป็นภัยต่อวัฒนธรรมทางศิลปะ 
 
สิ่งที่เป็นมิตรขึ้นมาอีกหน่อยคือการใช้ ‘Backing Track’ หรือเสียงที่อัดไว้ล่วงหน้าเพื่อให้ศิลปินร้องคลอ ซึ่งเป็นเหมือนตัวช่วยให้การแสดงออกมาสมบูรณ์แบบ ประหยัดพลังงานศิลปิน แล้วก็ถือว่าได้โชว์เสียงร้องจริงเหมือนกัน ยิ่งในเพลงที่มีองค์ประกอบเยอะๆ การแสดงสดไม่สามารถทำออกมาได้โดยใช้นักดนตรีเพียงไม่กี่คน ฉะนั้นศิลปินและวงดนตรีมากมายจึงใช้ Backing Track กันเป็นเรื่องปกติ
 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7ePt9bMMr3IPPwpdndVdFv/cde975879814bfa255f835f95d62b103/Why-artists-lip-sync-SPACEBAR-Photo03
สุดท้ายแล้วการทำให้โชว์ออกมาดีหลายครั้งก็ต้องใช้ตัวช่วย ซึ่งขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยอีกว่าจะต้องช่วยมากขนาดลิปซิงก์ทั้งหมด หรือช่วยเป็นบางช่วงด้วย Backing Track ทั้งนี้เชื่อว่าเจตนาหลักก็คืออยากให้คนฟังได้รับประสบการณ์ที่เต็มอิ่มที่สุดนั่นแหละ 
 
แน่นอนว่าทุกคนมีสิทธิออกความเห็นว่าชอบหรือไม่ชอบ แต่สิ่งหนึ่งที่ควรค่าแก่การระลึกไว้คือเหตุผลที่ศิลปินต้องลิปซิงก์มีมากกว่าแค่ ‘ร้องไม่เพราะจริง’ 
 
แล้วคุณล่ะ...โอเคหรือเปล่าถ้าไปดูคอนเสิร์ตแล้วศิลปินคนโปรดลิปซิงก์อยู่บนเวที?

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์