ท่านั่งยองแบบ ‘Asian squat’ ทำได้แค่คนเอเชียจริงหรือ?

5 ต.ค. 2566 - 02:22

  • ‘Asian squat’ หรือท่านั่งยองที่ในความเป็นจริงแล้วอาจจะไม่ได้มีแค่ชาวเอเชียที่สามารถทำได้

  • ท่านั่งยองขึ้นอยู่กับสรีระของร่างกายบุคคลนั้นๆ จะเป็นคนชาติอะไร

Why-does-asian-squat-can-do-only-asia-SPACEBAR-Hero.jpg

ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำท่า ‘เอเชียนสควอต - Asian squat’ หรือที่คนไทยนิยมเรียกกันว่า ‘ท่านั่งยอง’ ได้อย่างสมบูรณ์แบบและมีประสิทธิภาพ ว่ากันว่าท่านี้ทำได้แค่ชาวเอเชียเท่านั้น และจะเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับชาวตะวันตก เนื่องจากสรีระและความยืดหยุ่นของข้อเท้าต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล
ทำไมต้องเป็น ‘เอเชีย’
ไม่มีใครทราบว่าเมื่อใด และเพราะอะไร ทำไมผู้คนถึงเริ่มเรียกท่านั่งยองนี้ว่าเอเชียนสควอต อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าพบเห็นท่านั่งยองเช่นนี้ได้ทั่วไปในเอเชีย และแทบจะไม่มีให้เห็นเลยฝั่งตะวันตก เรามักจะเห็นคนเฒ่าคนแก่แถวบ้านใช้ท่านั่งยองนี้สำหรับการนั่งผ่อนคลายกลางแจ้ง ไปจนถึงการนั่งท่านี้ในการทำงานบ้านในแต่ละวัน รวมถึงการเข้าห้องน้ำ ที่เราจะพบว่าโถนั่งยองจะนิยมนำมาใช้ในบางประเทศในเอเชีย
ไม่ใช่ว่าใครก็ทำได้
แม้ว่าการนั่งยองแบบลึกๆ จะเป็นท่าที่พบได้ทั่วไปในเอเชีย แต่ชาวตะวันตกก็ไม่ยอมแพ้ และถือกำเนิด ‘Slav squat’ ขึ้นมาสู้ เพื่อบอกให้ชาวเอเชียรู้ว่า ‘ทำได้เหมือนกันโว้ย’ ทว่า slav squat กลับโด่งดังขึ้นเพียงไม่กี่ปีและเหลือไว้เพียงแต่มีมเท่านั้น 

เหตุผลที่ชาวตะวันตกหรือทวีปอื่นๆ ทำท่านั่งยองไม่ได้อาจหมายถึงโครงสร้างทางร่างกายและอายุด้วย 

บารัมห์ แจม (Bahram Jam) นักกายภาพบำบัดในโตรอนโตบอกกับ HuffPost ว่า เด็กและวัยรุ่นอเมริกันสามารถนั่งยองๆ ได้สบายๆ แต่ทักษะพวกนี้จะสูญเสียไปเมื่อพวกเขาโตขึ้นในโลกตะวันตก 

ผู้ใหญ่ชาวตะวันตกอาจมีปัญหาในการทำท่านั่งยองเนื่องจากรูปร่างของตัวเอง นอกจากนี้จากการศึกษาอื่นๆ พบว่า การงอข้อเท้าของทารกช่วงแรกเกิดจะอยู่ที่ประมาณ 60 องศา และจะลดลงเหลือประมาณ 20 องศาในวัยผู้ใหญ่ สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าหากไม่มีการฝึกฝน เราจะสูญเสียความสามารถในการทำท่านี้ตามอายุ 

ขณะที่ ไบรอัน ออซินไฮเลอร์ (Bryan Ausinheiler) นักกายภาพบำบัดในแคลิฟอร์เนียบอกกับ The Atlantic ในปี 2018 ว่า แขนขาที่ ‘สั้น’ จะช่วยให้ทรงตัวได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นข้อสรุปที่เขาได้รับหลังจากการทดสอบที่เขาทำกับพี่น้องของเขาเอง ขณะที่คำอธิบายที่เป็นไปได้อีกประการหนึ่งตามการศึกษาของนักวิจัยชาวญี่ปุ่นคือการขาดความสามารถในการงอข้อเท้าหรือขยับเท้าเข้าใกล้เข่ามากขึ้น 
ประโยชน์ของท่านั่งยอง
ท่านั่งยองหรือเอเชียนสควอต นอกจากจะช่วยในเรื่องการเคลื่อนไหวของลำไส้แล้ว ยังมีประโยชน์อื่นๆ เช่นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อแกนกลางและร่างกายส่วนล่าง การพัฒนาการเคลื่อนไหวของร่างกายส่วนล่าง การช่วยเหลือสตรีมีครรภ์ระหว่างคลอด การบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่างและข้อเข่า เป็นต้น 

สรุปได้ว่า ‘เอเชียนสควอต’ ที่มีชื่ออิงมาจากพฤติกรรมของชาว ‘เอเชีย’ นั้นไม่ได้แปลว่าท่าทางนี้จะทำได้แค่คนเอเชียเพียงอย่างเดียว แต่หากเป็นคนที่ฝึกฝนมาตั้งแต่เด็ก วิถีชีวิตที่แตกต่างกัน หรือมีสรีระที่ตอบโจทย์กับท่าทางดังกล่าวก็สามารถทำได้ทั้งนั้น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์