เอไอสามารถเฟ้นหาเจ้าของงานเขียนที่ยิ่งใหญ่แห่งสเปนผ่านภาษาเขียน

2 กุมภาพันธ์ 2566 - 07:03

ai-discovers-unknown-greatest-spain-greatest-writer-SPACEBAR-Hero
  • หอสมุดแห่งชาติสเปนพบผลงานบทละครของ เฟลิกซ์ โลเป เด เวกา นักเขียนที่ยิ่งใหญ่แห่งสเปน ผ่านเทคโนโลยีการตรวจสอบคำของปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)

ใครว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถทำได้แค่พูดคุยคลายเหงาแค่ใน ChatGPT หรือผลิตผลงานสร้างสรรค์อย่างใน Midjourney เพราะล่าสุดเทคโนโลยีเอไอสามารถเจาะเฟ้นหาเจ้าของงานเขียนได้ผ่านภาษา วลี คำ และการใช้คำผ่านงานเขียนไร้นามได้โดยที่มนุษย์อย่างเราๆ ไม่จำเป็นต้องเหนื่อยกันพลิกหนังสือทั้งเล่มเพื่อหากันอีกแล้ว 
 
ในหอสมุดแห่งชาติสเปน (Spain National Library) เป็นสถานที่ที่มีหนังสือ ตำรา และเอกสารไว้มากมายตั้งแต่ยุคกลางจนถึงยุคปัจจุบัน บางเล่มมีการเขียนชื่อกำกับไว้เรียบร้อย คงไม่ต้องลำบากผู้เชี่ยวชาญในการหาที่มามากนัก แต่กับหนังสือไร้นามที่ไม่ปรากฎผู้เขียนนี่สิ อาจเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขาในหาเจ้าของงานเขียน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2RXcwYD830ujYNretq0pHG/7702a5a3c8dc626e8fd65b62e54ed71a/ai-discovers-unknown-greatest-spain-greatest-writer-SPACEBAR-Photo01
Photo: Biblioteca Nacional de España
อันที่จริงผู้เชี่ยวชาญมีวิธีการหาเจ้าของงานเขียน โดยอาศัยความรู้เรื่องวรรณกรรมเพื่อทำการคาดเดาว่ามีสำนวนการใช้ภาษาใกล้เคียงใครมากที่สุด จากนั้นค่อยพิสูจน์อีกทีด้วยการตรวจสอบคำ วลี หรือการใช้ภาษา หากตรงกันจริง เราก็อาจได้คำตอบว่านักเขียนคนนั้นคือใคร แต่ความยากเย็นคือไม่ใช่ทุกเล่มที่สามารถคาดเดาหรือเห็นทันทีว่าเป็นงานเขียนของใคร โดยเฉพาะงานสมัยยุคกลางที่มีการใช้ภาษาค่อนข้างโบราณคร่ำครึที่ยากต่อการอ่าน 
 
เพื่ออำนวยความสะดวก ทางหอสมุดจึงใช้เครื่องมืออย่างเทคโนโลยีเอไอในการช่วยตรวจจับว่าหนังสือใครเป็นของใครได้อย่างง่ายเดียว และช่วยผ่อนแรงมนุษย์ไปได้มาก โดยล่าสุดมานี้ทางหอสมุดสามารถหาเจ้าของหนังสือเล่มหนึ่งได้
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/QdlfDLAYMHFhJHIpSbMoa/40fe6bd4a65f98d79e120e2787d8a2b7/ai-discovers-unknown-greatest-spain-greatest-writer-SPACEBAR-Photo02
Photo: Wikipedia
หนังสือเล่มนี้เป็นผลงานของ เฟลิกซ์ โลเป เด เวกา (Feflix Lope de Vega) นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ช่วงยุคทองสเปน (คริสต์ศตวรรษที่ 17) ที่ได้รับขนานนามว่าเป็นสองแค่ มิเกล เด เซร์บันเตส (Michel de Cervantes) เจ้าของวรรณกรรมชิ้นเอกเรื่อง “ดอน กิโฆเต้” (Don Quixote) วรรณกรรมที่ถูกยกย่องให้เป็นการเปลี่ยนผ่าเข้าสู่ความเป็นนวนิยายสมัยใหม่เล่มแรก 
 
ตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญยืนยันแล้วว่างานชิ้นนี้มีชื่อว่า “La francesa Laura” (The Frenchwoman Laura) บทละครยุคบาโรกที่ เด เวกา เขียนไม่กี่ปีก่อนเขาเสียชีวิตในปี 1635
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1wc7MX6Fa6vjrYXAzIqk9t/cf9a45532730e7365ba2e9ea9e4fc754/ai-discovers-unknown-greatest-spain-greatest-writer-SPACEBAR-Photo03
Photo: Biblioteca Nacional de España
การใช้เทคโนโลยีเอไอนี้เป็นความคิดสุดบรรเจิดของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในเวียนนา และวัลลาโดลิด โดยมีจุดประสงค์ในการถอดความเอกสาร และหนังสือที่ไม่ระบุชื่อนักเขียนรวม 1,300 ชิ้น ด้วยการตรวจสอบคำพูดที่ใช้ ซึ่งในการตรวจสอบงานเขียนของ เด เวกา ต้องเทียบเคียงกับบทละครอีก 350 ชิ้น เพื่อหาว่าผลงานไหนคือผลงานของ เด เวกา  
 
Frenchwoman Laura (หญิงสาวนามว่าลอรา) เป็นผลงานที่ยอดเยี่ยม เราจะได้เห็นการใช้ภาษาของ เด เวกา ในช่วงที่เขาผ่านประสบการณ์ด้านการเขียนที่สุกงอม บทละครเป็นการเล่าถึง ลอรา บุตรีของดยุคแห่งบริตทานี และภรรยาของเคาต์อาร์นัลโด อย่างไรก็ตาม ความงามของเธอไปต้องกับทายาทราชวงศ์ฝรั่งเศส แม้ว่าเธอจะปฏิเสธเขาเพียงใด สามี (เคาต์อาร์นัลโด) ขี้หึงยังคงพยายามวางพิษเธอ และในท้ายที่สุดความดีของลอราก็ถูกพิสูจน์ ความสุขได้หวนคืนสู่เธออีกครั้ง 
 
ทันทีที่รู้ว่าเป็นหนังสือของ เด เวกา สำนักพิมพ์ Gredos กำลังทำการตีพิมพ์บทละครเรื่องนี้แล้วในภาษาสเปนภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า และคาดว่าอีกไม่กี่ปีอาจมีฉบับภาษาอังกฤษ และภาษาอื่นๆ รวมถึงภาษาไทยหากผู้อ่านในไทยมีความสนใจมากพอ  
 
นี่เป็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเอไอ ตอนนี้หอสมุดแห่งชาติสเปนยังคงมีหนังสือนับพันเล่มรอการตรวจสอบเฟ้นหาเจ้าของผลงาน ในอนาคตเราอาจเห็นบทบาทของเอไอในวงการโบราณคดีมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของภาษาศาสตร์ที่ปัจจุบันยังคงเป็นวงการที่ไม่หยุดนิ่งในการสืบสาวหาเรื่องราวประวัติศาสตร์ของมนุษย์

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์