พุทธเอไอ หรือการท่องจำไม่จำเป็นแล้ว ในเมื่อเรามีหุ่นยนต์พระเทศนาได้

8 มกราคม 2567 - 10:00

ai-robot-japan-SPACEBAR-Hero.jpg
  • วัดโบราณอายุ 400 ปี ‘โคไดจิ’ ในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เปิดตัวหุ่นยนต์พระแอนดรอยด์ที่สามารถถ่ายทอดคำสอนแก่พุทธศาสนิกชน รวมถึงพระสูตรต่างๆ ได้ โดยมีต้นแบบมาจาก ‘คันนง’ (Kannon) อวตารหนึ่งของเจ้าแม่กวนอิม

โซเชียลฮือฮากันยกใหญ่ โดยเฉพาะในหมู่พุทธศาสนิกชน หลังจากมีผู้ใช้เฟซบุ๊กแชร์ภาพกลุ่มพระสงฆ์ชาวญี่ปุ่นกำลังกราบไหว้หุ่นยนต์ที่กำลังพนมมืออยู่ พร้อมพาดหัวถึงการมาของหุ่นยนต์ในแวดวงพระพุทธศาสนา

ภาพดังกล่าวเป็นภาพจากวัดโบราณอายุ 400 ปี ‘โคไดจิ’ ในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เปิดตัวหุ่นยนต์พระแอนดรอยด์ที่สามารถถ่ายทอดคำสอนแก่พุทธศาสนิกชน รวมถึงพระสูตรต่างๆ ได้ โดยมีต้นแบบมาจาก ‘คันนง’ (Kannon) อวตารหนึ่งของเจ้าแม่กวนอิม โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่าง เท็นโช โกโตะ (Tensho Goto) ผู้บริหารประจำวัดโคไดจิ และอาจารย์ฮิโรชิ อิชิกุโระ (Hiroshi Ishiguro) จากมหาวิทยาลัยโอซาก้า

โปรเจกต์นี้ใช้เงินทุนไปราว 100 ล้านเยน (ราว 9 แสนดอลลาร์สหรัฐ) ในการสร้างหุ่น ‘มินดาร์’ (Mindar) หรือหุ่นยนต์พระคันนง โดยวัสดุที่ใช้ทำจากซิลิโคนและอลูมิเนียม ดวงตาและร่างกายท่อนบนสามารถเคลื่อนไหวได้ โปรเจกต์นี้จัดสร้างขึ้นเพื่อต้องการเผยแพร่ศาสนาพุทธให้แก่คนรุ่นใหม่

หุ่นยนต์มินดาร์สามารถเทศนา ‘ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร’ ฉบับย่อในความยาว 25 นาทีเพื่อให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงเข้าใจได้มากขึ้น โคเฮอิ โองาวะ (Kohei Ogawa) อาจารย์ผู้ช่วยในส่วนหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์จากมหาวิทยาลัยโอซาก้าที่ทำงานร่วมในโปรเจกต์นี้กล่าวว่า ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร สามารถกระตุ้นคนให้สามาถ “แก้ไขปัญหาด้วยตัวเขาเองได้ และมอบโอกาสให้คนตระหนักถึงปัญหาที่กำลังประสบอยู่”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าตั้งแต่เอไอเข้ามามีส่วนในชีวิตไม่ว่าจะเป็น ChatGPT หรือฟังก์ชันอื่นๆ เช่น การทำวิดีโอ หรือภาพสร้างสรรค์ก็ตาม ผู้คนเริ่มเข้าหาและสนใจเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีมากขึ้นทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ในเชิงบวกเราสามารถเห็นได้ว่าเทคโนโลยีเอไอสามารถช่วยผ่อนแรงมนุษย์ทั้งแรงงานและทางความคิด ในเชิงลบ มีคนตั้งคำถามในประเด็นหลักถึงการเข้ามาทำลาย (disrupt) ของเอไอในแต่ละสายงาน บางกลุ่มถึงขั้นเชิดชูการทำงานของเอไอ โดยให้เหตุผลว่ายุคสมัยเปลี่ยนผ่านต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับการทำงานที่สะดวกสบายขึ้น

เช่นเดียวกันในแวดวงพระพุทธศาสนากับการโอบรับเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ ซึ่งถ้าเรามองในเชิงบวก ในประวัติศาสตร์นั้นคำสอนพุทธมีการสังคายนาอยู่หลายครั้ง มีการเขียนปรับแก้พระไตรปิฎกมาตลอดสองพันปี ซึ่งแน่นอนว่าอาจคลาดเคลื่อนไปตามความคิด ค่านิยม และการเมืองในยุคนั้นๆ พอมาถึงยุคนี้พุทธศาสนิกชนอาจมั่นใจมากขึ้นจากความจำของหุ่นยนต์ที่สามารถจำและสืบทอดคำสอนได้ยั่งยืนยาวนานมากกว่าเดิม พระไตรปิฎกรวมถึงพระสูตรต่างๆ จะเสี่ยงต่อการคลาดเคลื่อนน้อยลง ข้อมูลจะถูกบันทึกได้ยาวนานกว่ากระดาษ การตีความคำสอนทางศาสนาพุทธอาจมีรูปแบบที่เข้าใจได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ดังที่เห็นได้จากกรณีหุ่นยนต์มินดาร์ที่สามารถตีความพระสูตรปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตรได้

สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิดเกี่ยวกับศาสนา ผู้ใช้หลายคนให้ความเห็นทำนองเดียวกันว่า “ในอนาคตผู้คนอาจกราบไหว้หุ่นยนต์แทน” หรือ “ในอนาคตอาจมีลัทธิหุ่นยนต์” ตราบใดที่ทั่วโลกยังประสบกับเรื่องจำนวนลัทธิประหลาดที่เกิดขึ้นมากมาย การจะมีลัทธิหุ่นยนต์คงไม่ใช่เรื่องแปลก และมีแนวโน้มสูงมากที่จะเป็นเช่นนั้น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์