จุดจบของงานศิลปะ? ศิลปะจะเป็นอย่างไรต่อไป ในเมื่อเอไอสามารถสร้างขึ้นเองได้

12 กรกฎาคม 2566 - 03:24

ai-turn-into-arts-by-keywords-SPACEBAR-Thumbnail
  • ในวันที่เอไอเริ่มพัฒนาสามารถทำงานศิลปะออกมาได้อย่างสมจริงจนน่าเหลือเชื่อ ทำเอาศิลปินหลายคนหวั่นว่าวงการศิลปะจะมลายหายไปในอนาคต ซึ่งอันที่จริงแล้วมนุษย์อาจต้องมองงานศิลปะเอไอเสียใหม่

การสร้างงานศิลปะเป็นเรื่องที่ใครก็สามารถทำได้ ในปัจจุบันค่านิยมด้านงานศิลปะเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้นจากยุคก่อน โดยเฉพาะนิยามความหมายของคำว่า ‘ศิลปะ’ เริ่มกลายเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของปัจเจกบุคคล หรือสร้างผลกระทบให้กับสังคมอย่างไรได้บ้าง แต่ใครจะนึกว่าวันหนึ่ง ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือเอไอ (AI) จะสามารถสร้างงานศิลปะขึ้นมาได้ จนมนุษย์อย่างเราต้องกลับมาคิดใหม่ถึงแง่มุมเกี่ยวกับศิลปะในอนาคตข้างหน้า 
 
ถ้าใครคอยติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเอไอ ทั้งระบบแชท GPT-4 ของ OpenAI หรือจะเป็นข่าวเรื่องระบบแชท LaMDA ที่่พนักงานวิศวกรของ Google ถูกสั่งพักงานเพราะเผยแพร่ข่าวว่าระบบแชทมีความรู้สึกนึกคิด (sentient) จะคุ้นตากับคำว่า ‘การทดสอบทัวริง’ (Turing Test) ซึ่งเป็นการทดสอบสติปัญญาของเอไอว่ามีความเทียบเท่ากับมนุษย์หรือไม่ หากเอไอสามารถทำให้มนุษย์เชื่อได้ว่าสิ่งที่รับรู้อยู่เป็นฝีมือมนุษย์ การทดสอบถือว่าผ่าน 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6JWFIsLhRU43FRCOh9TVyD/173d4f5951802ee0ab322e2313cc1683/ai-turn-into-arts-by-keywords-Photo01
Photo: งานศิลปะที่สร้างโดยเอไอ. Photo: artuk
ฟังดูเหมือนเป็นโจทย์ที่ยากพอควรสำหรับเอไอในโลกปัจจุบัน เพราะระบบแชทเอไอยังมีจุดด่างพร้อยพอให้รู้ว่าสิ่งที่สื่อมานั้นเป็นสิ่งที่มาจากระบบปัญญาประดิษฐ์  เพราะภาษานั้นมีความหลากหลาย สลับซับซ้อน และลื่นไหลไปตามสถานการณ์หรืออารมณ์ แต่สำหรับงานศิลปะแล้วถือว่าเป็นเรื่องถนัดสำหรับปัญญาประดิษฐ์ เพราะมีหลายคนเชื่อจริงๆ ว่างานศิลปะที่สร้างขึ้นด้วยเอไอเป็นฝีมือมนุษย์จริงๆ 
 
มีงานศิลปะจากเอไอที่เคยประมูลขายได้ในราคา 432,000 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 15 ล้านบาท) ที่บ้านประมูลคริสตี (Christie’s) โดยภาพมีชื่อว่า ‘Portrait of Edmond de Belamy’ นับว่าเป็นงานศิลปะโดยเอไอชิ้นแรกที่มีการประมูลขาย เรื่องราวเหล่านี้ทำให้หลายคนหวั่นเกรงว่าในอนาคตบทบาทของเอไอจะมีมากน้อยแค่ไหน ไม่นับระบบอัลกอริทึ่มจากหลายๆ เว็บไซต์ที่เริ่มมีการพัฒนาทำให้งานศิลปะสมจริงมากขึ้นเรื่อยๆ :ซึ่งผู้ใช้สามารถกำหนดองค์ประกอบภาพด้วยตนเองได้
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1FsMfmTS8BDKPex6udiwUM/05256e2fc7a8ddd8ddc6cfeb57beb288/ai-turn-into-arts-by-keywords-Photo02
Photo: Portrait of Edmond de Belamy. Photo: Wikipedia
แน่นอนว่าสำหรับมนุษย์อย่างเราก็เปิดประเด็นข้อถกเถียงกันมากมาย บางกลุ่มเชื่อว่าในอนาคตมนุษย์กับเอไอสามารถทำงานร่วมกันได้ บางกลุ่มมีความเห็นตรงกันข้ามเพราะเชื่อว่าเอไอจะมาครอบครองมนุษย์ ขณะที่บางกลุ่มมองเรื่องนี้อย่างเป็นกลางเพราะเชื่อว่าความสามารถทางด้านความคิดสร้างสรรค์ของเอไอและมนุษย์ไม่สามารถเทียบกันได้ 
 
ยูวาล ฮารารี มีการกล่าวถึงเอไอไว้ในหนังสือ Homo Deus ว่า “สิ่งที่ปัญญาประดิษฐ์มีไม่ได้คือจิตสำนึก (conciousness) สิ่งที่เอไอจะมาแทนที่มนุษย์ได้คืองานประจำ เป็นรูทีน และมีแพทเทิร์น แต่สำหรับงานที่ต้องใช้ความคิด โดยเฉพาะความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่เอไอไม่สามารถมาทำแทนได้” 
 
การมาเอไอในงานศิลปะยังไม่ได้ไปถึงขั้นที่ว่าเอไอจะมาทำงานศิลปะแทนมนุษย์ แต่กลับไปที่การตั้งคำถามคือ ‘ศิลปะคืออะไร?’ บรรดาศิลปินมีความเห็นว่าเอไอคือระบบที่รวบรวมงานศิลปะคนอื่นๆ (ปราศจากการยินยอม) เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างศิลปะชิ้นใหม่ขึ้นมา ดูจากมุมนี้เหมือนกับว่าเอไอจะเป็นนักลอกเลียนแบบมากศิลปิน 
 
“good artists borrow, great artists steal.” (ศิลปินที่ดีหยิบยืม ศิลปินที่ยิ่งใหญ่ขโมย” คือวลีโด่งดังของ พาโบล ปิกัสโซ่ (Pablo Picasso) ซึ่ง สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ผู้ก่อตั้งบริษัท Apple ถือเป็นคติประจำใจ สำหรับคนทั่วไปอาจไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร อันที่จริงแล้วงานศิลปะคือศาสตร์ว่าด้วยการลอกเลียนแบบมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6DpijWzc4PnM9U7Jmy56wg/6480d45db6ab6aaba8c4b9b2eabf443a/ai-turn-into-arts-by-keywords-SPACEBAR-Photo_V02
การลอกเลียนแบบงานศิลปะไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ศิลปินรุ่นใหญ่แห่งเรเนอซองส์อย่างมีเกลันเจโล (Michelangelo) พยายามลอกเลียนแบบงานปั้นของปราซิเตเลส (Praxiteles) ช่างปั้นยุคทองกรีกโบราณ, จิตรกรตอนเหนือยุโรปพยายามเดินตามรอย ยัน ฟัน ไอก์ (Jan van Eyck) ผู้บุกเบิกการวาดภาพแนวเหมือนจริง รวมถึงจิตรกรบางคนยังอาศัยการจัดองค์ประกอบภาพเดียวกับผลงานของจิตรกรรุ่นก่อน แม้แต่กรีกโบราณที่หลายคนคิดว่าเป็นผู้บุกเบิกงานศิลปะที่มีสัดส่วนสวยงามก็ยังต่อยอดผลงานตัวเองจากรูปปั้นอียิปต์โบราณ เพราะฉะนั้น เราจะเห็นพัฒนาการของศิลปะตลอดเวลาตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงยุคปัจจุบัน ศิลปะมันคือว่าด้วยการต่อยอดจากงานของศิลปินก่อนหน้าให้มีความแหลมคมขึ้น
ทุกวันนี้ศิลปินสามารถมีแนวทางของตัวเองได้จากอิทธิพลงานศิลปะของศิลปินก่อนหน้าหลายท่าน จะว่าไปแล้วเอไอก็ไม่ต่างจากศิลปินที่พยายามสานองค์ประกอบใหม่ๆ เข้าด้วยกันโดยอิงจากงานศิลปะที่มีอยู่แล้ว ดังนั้น สิ่งที่เราควรตระหนักคือจุดประสงค์ของงานศิลปะมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น หากมีศิลปินสักคนลอกงานของอีกคน ผู้ชมจะมองว่าการลอกเลียนนี้มีจุดประสงค์อะไร ต้องการเพื่อถ่ายทอดอะไรบางอย่าง? หรือมีนัยยะสำคัญปกปิดไว้? งานศิลปะคือการตีความใหม่อยู่เสมอ ต่อให้เป็นการลอกเลียนมาทั้งหมด ทั้งตัวศิลปินและผู้ชมจะรู้อยู่แก่ใจดีว่าเป็นการลอกเลียนไปในทางที่ดีหรือไม่ดี ถ้าเป็นในทางที่ไม่ดี ผู้ชมมักจะไม่ให้ค่าแก่ผู้ลอกเลียน และนับถือต้นฉบับอยู่เสมอ เช่นเดียวกันกับเอไอ หากเราทราบว่าเอไอเป็นผู้เลียนแบบ นั่นแปลว่าผู้ชมอาจให้ค่าแก่ความเป็นต้นฉบับมากกว่าหรือไม่?
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1l8O8exFxmJh6Nex8NSyu2/445e46132b367531eec8728ad46cbf3f/ai-turn-into-arts-by-keywords-SPACEBAR-Photo02
จริงที่ศิลปะเอไอมีความน่าทึ่ง แต่ในความน่าทึ่งก็มีความน่ากลัวแฝงอยู่เหมือนดาบสองคม เชื่อว่าใครที่อยากสร้างงานศิลปะให้ออกมาโดดเด่นไม่ซ้ำใคร เว็บไซต์หรือระบบเอไอนี้จะเป็นตัวเลือกที่ดีในการ ‘ปูทาง’ ความคิดสร้างสรรค์ออกมา หรือเป็นแบบภาพที่นำมาวาดตามได้ ส่วนความน่ากลัวนั้นคืองานศิลปะอาจไม่มีความโดดเด่นมากพอ และไม่อาจถ่ายทอดความคิด หรือสารที่จะสื่อจากตัวศิลปินเองได้ หากเป็นเช่นนั้นจริง ศิลปะจะค่อยๆ หายและตายจากไป เพราะศิลปะคือการสื่อสารระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองที่มีมานานกว่าหลายพันปี ถ้ามนุษย์ไม่สามารถคิดสารที่จะสื่อได้ ศิลปะก็คงไม่มีความหมายอะไร 
 
เพราะฉะนั้นแล้วไม่ว่าในอนาคตปัญญาประดิษญ์จะก้าวหน้าไปเพียงใด สิ่งที่เราควรคำนึงถึงอยู่ตลอดเวลาคือความสวยงามของการเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความนึกคิด จิตใต้สำนึก ความซับซ้อนของภาษา วัฒนธรรมที่์ถูกสร้างขึ้น รวมถึงภาวะอารมณ์ของมนุษย์ที่ยากจะเข้าใจ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถหล่อหลอมให้มนุษย์แต่ละคนมีความพิเศษเฉพาะตัว และความพิเศษนี้เองที่สามารถสรรค์สร้างความหลากหลายให้กลายเป็นงานศิลปะที่แท้จริงออกมาได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์