แอปเปิ้ลคือผลไม้สุดสามัญที่หากินได้ทั่วไปเกือบทั่วโลก แถมมีคุณประโยชน์ชนิดที่ก่อให้เกิดประโยค “ถ้ากินแอปเปิ้ลทุกวัน คุณไม่จำเป็นต้องหาหมออีกเลย” แอปเปิ้ลยังมีบทบาทในเรื่องเล่ามากมาย เป็นตัวที่สร้างความงงงวยให้กับภาษา รวมถึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความรู้จนปรากฎอยู่บนโต๊ะของคุณครูในการ์ตูน เราจะมาส่องดูผลไม้แดงฉ่ำที่ภายนอกอาจดูธรรมดา แต่มีเรื่องราวสุดลึกล้ำ
ยกตัวอย่างชื่อผลไม้ในยุคกลางที่เรียกกัน คำว่ากล้วยแต่ก่อนนั้นไม่ใช่ banana แต่เป็น ‘appel of paradise’ (ผลไม้แห่งสรวงสวรรค์), อินทผลัม คือ fingeræpple, แตงกวา คือ earth apple (eorþæppla) เป็นต้น คำว่า æppel นั้นเป็นคำในภาษาตระกูลเจอมานิก มีรากศัพท์มาจากคำในภาษาโปรโตอินโดยูโรเปียนว่า ‘abel’ ส่วนในภาษาตระกูลลาตินใช้คำว่า ‘pomum’ ซึ่งบางคนอาจคุ้นเคยกับคำนี้ในภาษาฝรั่งเศสคำว่า ‘pomme’ มีความหมายว่า ‘ผลจากต้นไม้’ ยกตัวอย่างผลส้มในภาษาฝรั่งเศสคือ pomme de l’orenge ที่แปลว่า ผลจากต้นส้ม
แอปเปิ้ลไม่ใช่แอปเปิ้ล
จะรู้สึกกันยังไงถ้ามีคนมาบอกว่า “จริงๆ แล้วแอปเปิ้ลไม่ใช่แอปเปิ้ล แอปเปิ้ลคือผลไม้ทุกอย่าง” บางคนอาจตั้งคำถามว่า จะเป็นไปได้ยังไง? แอปเปิ้ลก็คือแอปเปิ้ลสิ! คำตอบนี้อาจใช้ได้ในปัจจุบัน แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปยุคกลางยุโรป ชาวยุคกลางอาจสงสัยว่าเราพูดถึงผลไม้อะไร นั่นเป็นเพราะว่าคำว่า apple หรือ æppel ในภาษาอังกฤษโบราณ (old english) แปลว่า ผลไม้โดยทั่วๆ ไป หรือที่เรามักเรียกกันว่า ‘fruit’ยกตัวอย่างชื่อผลไม้ในยุคกลางที่เรียกกัน คำว่ากล้วยแต่ก่อนนั้นไม่ใช่ banana แต่เป็น ‘appel of paradise’ (ผลไม้แห่งสรวงสวรรค์), อินทผลัม คือ fingeræpple, แตงกวา คือ earth apple (eorþæppla) เป็นต้น คำว่า æppel นั้นเป็นคำในภาษาตระกูลเจอมานิก มีรากศัพท์มาจากคำในภาษาโปรโตอินโดยูโรเปียนว่า ‘abel’ ส่วนในภาษาตระกูลลาตินใช้คำว่า ‘pomum’ ซึ่งบางคนอาจคุ้นเคยกับคำนี้ในภาษาฝรั่งเศสคำว่า ‘pomme’ มีความหมายว่า ‘ผลจากต้นไม้’ ยกตัวอย่างผลส้มในภาษาฝรั่งเศสคือ pomme de l’orenge ที่แปลว่า ผลจากต้นส้ม

เมื่อพูดถึงผลส้มก็อดไม่ได้ที่จะพูดถึงความซับซ้อนและงงงวยเกี่ยวกับที่มาของคำ ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าส้มไม่ใช่ผลไม้ที่มีที่มามาจากยุโรป แต่มาจากตะวันออกทั้งในอินเดียและจีน คำว่า ‘apelsin’ ในภาษาสวีเดนมีรากศัพท์ที่แปลว่า apple from china ที่สำคัญคือชาวยุโรปไม่ได้ใช้คำว่า ‘orange’ อธิบายสีส้ม แต่ใช้คำว่า ‘yellow-red’ (geoluread) นักวิชาการมีการอธิบายว่าในยุโรปสิ่งธรรมชาติที่มีสีส้มนั้นหายากมากๆ จึงไม่มีความจำเป็นในประดิษฐ์คำขึ้นมาใช้ คำว่า orange ที่เราใช้กันอย่างแพร่หลาย มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตคำว่า ‘naranga’ แปลว่า ต้นส้ม ซึ่งเพิ่งถูกใช้แทนคำว่า yellow-red เมื่อปี ค.ศ. 1512
ผลไม้แห่งความเยาว์วัย
แอปเปิ้ลไม่ได้เป็นผลไม้ธรรมดาๆ ที่ไร้เรื่องราว ในเทพปกรณัมนอร์ส เทพีอีธูน (Iðunn) มอบผลแอปเปิ้ลแก่บรรดาเทพองค์อื่นๆ โดยเปรียบให้แอปเปิ้ลแสดงถึงความอ่อนเยาวน์ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ถูกบอกเล่าใน Prose Edda บทกลอนในภาษานอร์สโบราณที่เขียนขึ้นโดย สนอร์รี สตูร์ลูสัน (Snorri Sturluson) นักเขียนและนักประวัติศาสตร์ชาวไอซ์แลนด์เมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 13 แอปเปิ้ลมักแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ในบรรดาชนเผ่าเจอร์มานิก เช่นเดียวกันกับชาวกรีกโบราณ แอปเปิ้ลปรากฎอยู่ในเรื่อง The Iliad เป็นผลแอปเปิ้ลทองที่ว่ากันว่าใครครอบครองจะถูกเรียกว่าเป็นเทพีที่งดงามที่สุด ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเทพีอะโฟรไดต์ เทพีอาธีนา และเทพีเฮรา ต่างอ้างว่าตนเป็นผู้พบเห็นก่อน ด้วยความยุติธรรมเทพีทั้งสามจึงให้เจ้าชายปารีสเลือก ซึ่งท้ายที่สุดปารีสได้เลือกเทพีอะโฟรไดต์ แลกกับรางวัลตอบแทนเป็นหญิงสาวที่สวยที่สุด เหตุการณ์นี้เป็นชนวนสำคัญที่ก่อให้เกิดสงครามโทรจัน หรือสงครามทรอย
ผลไม้แห่งความรู้
ถ้าใครชอบดูรายการการ์ตูนของอเมริกา ในเกือบทุกๆ ฉากที่เกี่ยวกับโรงเรียน บนโต๊ะของคุณครูมักมีผลแอปเปิ้ลสีแดงอยู่เสมอ เหตุผลที่แท้จริงนั้นไม่ใช่เพราะว่าคุณครูชอบกินแอปเปิ้ลเหมือนที่ตำรวจอเมริกันชอบกินโดนัทกับกาแฟ แต่เป็นเพราะแอปเปิ้ลเป็นผลไม้แห่งความรู้อันมีที่มามาจากเรื่องเล่าของอดัมและอีฟในพระคัมภีร์ไบเบิล
เรื่องนี้ปรากฎอยู่ในหนังสือเจเนอซิส (Book of Genesis) ว่าด้วยอดัมกับอีฟและผลไม้ต้องห้าม ตามจริงแล้วในหนังสือไม่ได้มีการระบุว่าผลไม้ต้องห้ามจริงๆ คืออะไร แต่ความเชื่อของคริสเตียนนั้น ว่ากันว่าผลไม้ที่อีฟแอบกินนั้นคือแอปเปิ้ล คาดว่าเป็นความเชื่อเกี่ยวกับผลแอปเปิ้ลที่รับอิทธิพลมาจากเทพปกรณัมกรีกเรื่อง ‘สวนของเฮสเปริเดส’ (The Garden of the Hesperides) สวนของเทพีเฮราที่อุดมไปด้วยผลไม้และพืชนานาพันธุ์ รวมถึงแอปเปิ้ลทองคำ ชาวคริสต์เชื่อว่าแอปเปิ้ลเป็นสัญลักษณ์แห่งความรู้ ความเป็นอมตะ ความล่อตาล่อใจ และบาปแห่งมนุษย์ รวมถึงที่มาของลูกกระเดือกของผู้ชายนั้นก็มาจากความเชื่อว่าอดัมกินผลแอปเปิ้ลแล้วติดเข้าไปตรงคออีกด้วย

นอกจากเรื่องเล่าและความเชื่อที่เล่าไป แอปเปิ้ลยังเป็นผลไม้ที่นำไปทำเป็นน้ำผลไม้ที่มีรสชาติดี แถมอร่อยอย่าบอกใครเมื่อนำไปทำเป็นพาย และมีอายุยืนหากเก็บไว้ในตู้เย็น มีสายพันธุ์กว่า 100 สายพันธุ์ ที่คุ้นหูกันคือ กาล่า, เรด เดลิเชียส, ฟูจิ, แกรนนี สมิธ (แอปเปิ้ลเขียว), แมคอินทอช เป็นต้น ว่าแล้วก็อยากกินแอปเปิ้ลขึ้นมาทันทีทันใด