ASIA7 กับวัฒนธรรมที่ถูกมองข้ามและการถดถอยของดนตรีพื้นบ้านไทยที่ควรเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์

22 มีนาคม 2567 - 08:06

asia7-why-folk-music-never-count-as-softpower-SPACEBAR-Hero.jpg
  • พูดคุยกับวง ASIA7 วงดนตรีหน้าเก่าหนึ่งในผู้บุกเบิก และถ่ายทอดดนตรีไทยให้มีความเป็นสากล กับคำถามที่ว่า “ทำไมดนตรีไทยไปไม่ได้ไกลกว่านี้?”

หากกล่าวถึงคำว่า ‘ดนตรีไทย’ ภาพแรกที่ปรากฏขึ้นมาในความคิดของคุณคืออะไร? บ้างอาจนึกถึงความเก่า เชย โบราณ คร่ำครึ หรือบ้างอาจคิดไปถึงความน่ากลัวชวนสยองของเสียงดนตรีไทยที่ถูกยึดโยงไว้กับความเชื่อเรื่องผี หรือเรื่องลี้ลับ แต่สำหรับตัวผู้เขียนเองกลับนึกถึงความสง่างาม ท่วงทีลีลาในการดีดสีตีเป่า สัมผัสเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ และมนต์เสน่ห์แบบไทยๆ ที่คนทั่วโลกต่างพากันหลงใหล แต่เหตุใดคนไทยกันเองถึงมองข้ามและลดทอนคุณค่าลงไป? 

ตลอดระยะเวลากว่า 25 ปีของการมีชีวิต ผู้เขียนคิดว่าดนตรีไทยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตในแบบที่ตนเองก็ไม่ได้ตระหนักรู้สักเท่าไร และเชื่อว่าหลายๆ คนก็อาจจะหลงลืมไปเช่นกัน หากย้อนกลับไปเมื่อสมัยยังเป็นเด็ก เรามักจะถูกผู้ใหญ่บอกว่าควรเรียนรำไทยหรือดนตรีไทยไว้เสียหน่อย ตอนนั้นเราเองก็ไม่รู้และไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงต้องทำแบบนั้น พอโตจนถึงได้เข้าสู่รั้วโรงเรียน ดนตรีไทยก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในฐานะวิชาเรียน และการดำรงอยู่เป็นสถานะทางสังคมของเหล่านักดนตรีที่สามารถเป็นตัวแทนของโรงเรียนไปประกวดชนะ หรือได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมในงานใดงานหนึ่ง แต่แล้วพอเริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ เรากลับสงสัยว่าเหตุใดดนตรีไทยถึงกลายเป็นเพียงการแสดงคลายเบื่อหรือเป็นแค่เสียงบรรเลงขณะกินข้าวในโรงแรมไปได้ และที่แย่ที่สุด เราพบว่าดนตรีไทยมีพื้นที่การแสดงเพียงที่เดียวที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ นั่นคือการแสดง ‘ริมถนน’ 

ทุกๆ วันในการเดินทางกลับบ้าน เรามักจะพบเห็นผู้คนมากมายออกมาร้องเล่นเต้นรำพร้อมเสียงของเครื่องดนตรีพื้นบ้านไทยตามถนนสายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ขลุ่ยที่ถูกบรรจงเป่าให้เป็นเพลงร่วมสมัยมากขึ้น พิณที่ถูกบรรเลงอย่างสนุกสนาน ระนาดที่ผ่านการตีในทำนองดุเดือด และขิมที่บรรเลงอย่างอ่อนช้อย ทุกอย่างถูกเล่นออกมาด้วยความไพเราะ แต่เหตุใดพื้นที่ของคนเหล่านี้ถึงอยู่ได้แค่ริมทาง ทั้งๆ ที่รัฐบาลพูดนักพูดหนาว่าเราจะสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์?

ซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่การนำสิ่งที่ได้รับความสนใจอยู่แล้วมาทำให้ได้รับความสนใจมากขึ้นกว่าเดิม แต่ซอฟต์พาวเวอร์ควรเป็นการจัดสรรเงินทุนลงไปสนับสนุนสิ่งที่มีคุณภาพแต่ไม่มีโอกาส

ต้น-ต้นตระกูล แก้วหย่อง หนึ่งในสมาชิกวง ASIA7 กล่าวขณะให้สัมภาษณ์ไว้อย่างน่าสนใจ

asia7-why-folk-music-never-count-as-softpower-SPACEBAR-Photo02.jpg

1

ASIA7 วงดนตรีร่วมสมัยที่หลอมรวมกับดนตรีพื้นบ้านไทยจนอบอวลไปด้วยกลิ่นอายเฉพาะตัว วงประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งหมด 8 คนได้แก่ ออย-อมรภัทร เสริมทรัพย์ (ร้องนำ), โยเย-นริศรา ศักดิ์ปัญจโชติ (ซอ), ต้น-ต้นตระกูล แก้วหย่อง (เครื่องดนตรีอีสาน), โอม-กฤตเมธ กิตติบุญญาทิวากร (แซ็กโซโฟน), สุนทร-สุนทร ด้วงแดง (กีตาร์), บูม-ปรีดา เกศดี (คีย์บอร์ด), ดิว-ภูวิช ทวาสินชนเดช (เบส) และ โน้ต-ฐิติรัฐ ดิลกหัตถการ (กลอง)  

แม้หลายคนอาจไม่คุ้นหน้าคุ้นตาพวกเขาเท่าไรนัก แต่พวกเขาก็ไม่ใช่น้องใหม่ในวงการเพลงแต่อย่างใด หากแต่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำการแสดงในประเทศไทยก็เท่านั้น ฝีมือทางด้านดนตรีของพวกเขาทุกคนได้รับการยอมรับและเป็นที่สนใจจากผู้คนหลากหลายประเทศ อีกทั้งสมาชิกหลายคนในวงก็ยังเป็นอาจารย์สอนทางด้านดนตรีอีกด้วย  

ASIA7 ทั้ง 8 คน ล้วนมีความสนใจในดนตรีไทยตั้งแต่ยังเด็ก แม้จะมีความสนใจในเครื่องดนตรีที่แตกต่างกันแต่ทุกคนได้เริ่มต้นเล่นดนตรีในวัยไล่เลี่ยกัน นั่นคือขณะยังเป็นนักเรียน 

ออย นักร้องนำของวง เริ่มรู้จักและตกหลุมรักเครื่องดนตรีไทยครั้งแรกในช่วงประถมศึกษาปีที่ 3 เมื่อโรงเรียนมีการสอนตีขิมในวิชาดนตรี ออยเริ่มรู้สึกสนใจและคิดว่าน่าสนุกดีจึงขอแม่ไปเรียนเพิ่มเติม เธอเริ่มเล่นขิมมาเรื่อยๆ ก่อนจะขยับไปเล่นระนาดเอก และเครื่องดนตรีอื่นๆ ในวงดนตรีไทยจนถึงขั้นได้ไปออกงานระดับจังหวัด  

โน้ต มือกลองของวงเริ่มเล่นดนตรีจากการอยู่วงโยธวาทิตของโรงเรียนในตำแหน่งกลอง แต่ด้วยความที่เขาสนิทกับคุณครูที่มีความสามารถทั้งดนตรีสากลและดนตรีไทย จึงได้มีโอกาสไปลองเล่นกลองแขก โดยในตอนนั้นเขาได้ตีกลองตัวเมีย และพบว่ามันสนุกดีจนเริ่มนำทำนอง จังหวะ และเสียงของกลองแขกมาสร้างสรรค์เป็นเพลง 

แม้ ดิว มือเบสของวงจะมีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างจากเพื่อนๆ ไปสักหน่อย เพราะเขาไม่ค่อยมีประสบการณ์กับดนตรีไทยสักเท่าไร เขาจะคุ้นเคยกับดนตรีพื้นบ้านจีนเสียมากกว่า ความที่เติบโตมาในจังหวัดปัตตานีที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์์ที่ทุกคนเคารพนับถืออย่าง ‘เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว’ เขาจึงได้เริ่มเล่นดนตรีเหล่านี้ขณะเป็นนักเรียนเช่นกัน 

จากด้านบนจะเห็นได้ว่าเราทุกคนต่างรู้จักและผูกพันกับดนตรีไทยเมื่อตอนอยู่ในรั้วโรงเรียน ไม่ว่านักดนตรี ผู้อ่าน หรือผู้เขียนเองก็ตาม แต่คำถามที่เกิดขึ้นตามมาที่ไม่เคยมีใครตอบเราได้คือ เมื่อก้าวขาออกมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงแล้ว ดนตรีไทยอยู่ตรงไหนในสังคม?

asia7-why-folk-music-never-count-as-softpower-SPACEBAR-Photo03.jpg

“พื้นที่สำหรับดนตรีไทยจริงๆ มีน้อยมากค่ะ ไม่แสดงตามร้านอาหาร ตามโรงแรม ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง งานพิธีกรรม ก็ต้องรองานคอนเสิร์ตเฉพาะทางเท่านั้น” 

โยเย บอกกับเราด้วยสีหน้าเคร่งเครียด ก่อนจะเล่าให้เราฟังว่าในช่วงหนึ่งขณะกำลังจะเรียนจบมหาวิทยาลัย เธอเองก็มีความรู้สึกโหวงในใจถึงสิ่งที่จะทำต่อไปในอนาคตเช่นกัน แต่ตัวเธอยังโชคดีที่ช่วงเวลานั้นประจวบเหมาะกับที่กำลังเริ่มทำวงดนตรีร่วมสมัยพอดี เมื่อมีโอกาสได้นำเสนอดนตรีไทยนอกขนบที่เล่นแบบสากล เธอก็เลยตั้งใจว่าจะยึดสิ่งนี้เป็นอาชีพ 

กลับกันทางฝั่งของ ต้น เขากลับสายหน้าปฏิเสธพร้อมบอกกับเราว่าเขาไม่เคยคิดว่าจะทำเป็นอาชีพเลย 

“สำหรับผม ผมไม่ได้คิดว่าผมจะทำอาชีพอะไร ผมแค่สนุกกับการได้เล่นดนตรี แต่ผมก็ไม่รู้หรอกว่าเราจะทำสิ่งนี้เป็นอาชีพได้ไหม เราแค่หมกมุ่นกับมัน และหวังว่าสิ่งที่เราหมกมุ่นจะสามารถกลายเป็นอาชีพได้ จนหาช่องเจอว่านี่แหละจะเป็นอาชีพเรา แต่จนถึงวันที่เราตัดสินใจจะทำเป็นอาชีพก็ยังมีแต่คนถามว่า ทำไมไม่ไปหางานดีๆ ทำ ทำแบบนี้มันจะหาเลี้ยงตัวเองได้เหรอ เพราะด้วยพื้นที่และบริบทสังคมไทยเราด้วย พื้นที่มันน้อยจริงๆ ครับ” 

"เอาง่ายๆ นะคะ อย่างเพื่อนร่วมรุ่นเราที่เรียนดนตรีไทยด้วยกันมา ก็มีแค่ไม่กี่คนที่ยังเล่นดนตรีไทยเป็นอาชีพกันอยู่” โยเยเสริม 

เป็นเรื่องยากเหลือเกินสำหรับวงการเพลงไทยในการที่วงดนตรีสักวงจะได้รับโอกาสและเฉิดฉายเป็นที่รู้จัก การแข่งขันในตลาดเพลงที่ได้รับความนิยมที่ว่าดุเดือดแล้ว หากลองมองในฐานะผู้ผลิตเพลงที่ไม่ไหลไปตามกระแสคงหนักหนากว่าหลายเท่า ไหนจะต้องแข่งขันกันเอง ไหนจะต้องแข่งขันชิงพื้นที่จากตลาดเพลงที่ได้รับความสนใจ ยิ่งในฐานะวงดนตรีไทยร่วมสมัยที่คนมีภาพจำ ความเชื่อ และกรอบความคิดที่ยึดติดไว้แล้วอีก คงเป็นเรื่องที่ยิ่งยากเย็นไปกันใหญ่ 

“พอเป็นวงดนตรีไทยร่วมสมัย หลายคนอาจจะคิดว่าต้องแต่งชุดไทยด้วยหรือเปล่า ต้องนำเสนอความเป็นไทยจ๋าๆ เลยไหม เดี๋ยวไทยมากไป เดี๋ยวไทยน้อยไป พื้นที่มันเลยจำกัดอยู่ เพราะมันเป็นเรื่องของภาพจำความเชื่อด้วยครับ วงร็อกต้องเป็นแบบนี้ วงป็อปต้องเป็นแบบนี้ วงดนตรีที่มีดนตรีแปลกๆ ต้องเป็นอย่างนั้น” 

โอม บอกกับเราด้วยน้ำเสียงที่ราบเรียบราวกับว่าปลงเสียแล้ว

asia7-why-folk-music-never-count-as-softpower-SPACEBAR-Photo04.jpg

2

‘ภาพจำ’ เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่หลีกหนีไม่ได้ไปจากสังคมไทย และถูกทิ้งไว้เป็นปัญหาที่น่าขบคิดเป็นอย่างมาก สังคมไทยเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยบริบทของความเชื่อและการปฏิบัติตัวต่างๆ หลายครั้งเมื่อเราพยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ไหลไปตามยุคสมัย บางครั้งอาจทำให้เกิดความรู้สึกขัดใจต่อความเคยชินของคนยุคเก่าได้เช่นกัน นี่ก็อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่พื้นที่ของดนตรีไทยยิ่งถูกปิดกั้นและตีกรอบให้แคบลงเรื่อยๆ เนื่องจากผู้คนบางส่วนยังไม่เห็นด้วยที่จะปรับตัวไปตามยุคสมัย 

“การสร้างสิ่งใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องผิดครับ ผมมองว่าที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตก็มีคนที่พยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ ตามยุคสมัย เช่น วงฟองน้ำ วงบอยไทย วงกอไผ่ ขณะที่หลายคนก็ยังไม่กล้าทำอะไรใหม่เพราะยังมีความกังวลเรื่องขนบประเพณีแบบ 'ดนตรีไทยในราชสำนัก' อาจโดนตำหนิ โดนวิพากย์วิจารย์เรื่องความเคารพ ความเหมาะสม เพราะความเชื่อเช่นนี้มันเลยทำให้คนที่จะเล่นดนตรีไทยเกิดความกลัว ทำออกมาแล้วไม่ดี คนว่า ทัวร์ลง คนทำก็เลยเป็นคนกลุ่มน้อย ความหลากหลายมันเลยน้อยด้วย” 

ต้น บอกกับเราพร้อมอธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้นด้วยการกล่าวถึงดนตรีพื้นบ้านอีสานที่เริ่มแพร่หลายมากขึ้น และดนตรีพื้นบ้านอินเดียที่กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ทุกคนในชาติสามารถทำเพลง สร้างดนตรีที่มีความแปลกใหม่โดยไม่ต้องยึดติดกับกรอบใดๆ เช่นเดียวกับเพลงใหม่ของ ASIA7 อย่างเพลง ‘เผา’ (Even If I Die) ที่นำดนตรีแนว EDM มาผสมผสานกับเครื่องดนตรีไทยที่ครั้งนี้เพิ่ม ‘จะเข้’ เข้าไปด้วย ทำให้เพลงนี้มีกลิ่นอายและสัมผัสใหม่ๆ ในทุกด้าน ทั้งเนื้อร้อง ทำนอง และมิวสิกวิดีโอ

asia7-why-folk-music-never-count-as-softpower-SPACEBAR-Photo01.jpg

ไม่ใช่แค่เพียงเพลง เผา ที่ได้สร้างสรรค์แนวดนตรีร่วมสมัยแบบใหม่เท่านั้น แต่ยังมีหลายๆ เพลงที่เริ่มมีการปรับเปลี่ยนและหยิบยกดนตรีไทยเข้ามาเป็นส่วนร่วม เช่นเพลงของนักร้องหนุ่มเสียงดีอย่าง เจฟ ซาเตอร์ เป็นต้น ซึ่งนอกจากต้นแล้ว โน้ต ก็ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้เช่นกัน  

“จริงๆ พอมีเรื่องอย่างที่ต้นว่า มันยิ่งจำกัดกรอบของคนที่เล่น จำกัดพื้นที่ในการแสดงอีกด้วย คนมองว่าดนตรีไทยเป็นของสูง แต่จริงๆ แล้วดนตรีไทยมันก็เป็นดนตรีเหมือนกัน เหมือนดนตรีสากล ถ้าเราเพิ่มพื้นที่อิสระในการให้คนเล่นดนตรีไทยได่คิดอะไรนอกกรอบมากขึ้น ดนตรีไทยก็จะได้รับความนิยมมากขึ้นไปตามกัน”  

“คิดว่าถ้าผู้คนยังไม่ลดการจำกัดกรอบที่มีต่อดนตรีไทย วันหนึ่งมันจะล้มหายตายจากไปไหม?” เราถามต่อ 

คราวนี้เป็นดิวที่ตอบเราขึ้นมาแทบจะทันที “เคยมีคนทักว่าเรามีเครื่องดนตรีโบราณด้วยเหรอ แล้วรู้หรือเปล่าว่ากีตาร์มีประวัติยาวนานกว่าเครื่องดนตรีพวกนี้อีกนะ” เขาเสริมเพิ่มเติม “ถ้าถามว่ากีต้าร์ที่อยู่มานานกว่าทำไมถึงยังไม่ตาย เราก็คงต้องกลับมาสู่เรื่องขนบ เมื่อไหร่ที่เรายอมรับการปรับตัว พร้อมๆ ไปกับการศึกษารากเหง้าของมันด้วย สิ่งนั้นมันจะไม่ตาย ผมว่า จอห์น เมเยอร์ คงไม่เล่นกีตาร์ในแบบที่ BB King เล่น สมมตินะครับ มันก็ไม่มีใครว่า แล้วคนก็ยกย่อง BB King ขณะเดียวกันถ้าเราเล่นเครื่องดนตรีไทยบางชนิด เล่นไม่เหมือนตามขนบที่เคยกำหนดกันมา สร้างเอกลักษณ์ของตัวเอง แล้วเราวิจารณ์เขาอย่างสร้างสรรค์ ไม่ชี้ผิดชี้ถูก ไม่ตัดสิน สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดนักดนตรีใหม่ๆ ที่มีฝีมือมากขึ้น” 

“การวิจารณ์อะไรก็แล้วแต่ เราควรยอมรับสิ่งที่มันใหม่ แต่ไม่ใช่ว่าไม่ศึกษาเพลงเก่าเลย เช่น วันนึงจะมาจับซอลองเล่นมั่วดู ให้เล่นเพลงไทยเดิมอาจเล่นไม่ได้สักเพลง ก็ต้องไปศึกษาเพื่อเรียนรู้ทำนองบ้าง เพื่อจะได้สืบสานรากเหง้า พื้นฐาน เพราะมันคือกลิ่นอายของเครื่องดนตรีนั้นๆ เหมือนภาษาและคำสแลงที่มีคนตำหนิว่านี่คำอะไร ในขณะที่คำที่ผู้ใหญ่พูดกันมามันก็แปลงมาจากคำอะไรสักอย่างก่อนหน้านั้น ผมว่าภาษากับดนตรีคือเรื่องเดียวกัน ถ้าไม่อยากให้มันตาย ก็ควรยอมรับสิ่งที่มันเปลี่ยนแปลงไป”

asia7-why-folk-music-never-count-as-softpower-SPACEBAR-Photo05.jpg

3 

นอกจากเรื่องของภาพจำและกรอบความเชื่อทางสังคมแล้ว ดังที่ได้กล่าวข้างต้นว่าอีกส่วนสำคัญที่อาจพาให้ดนตรีไทยและวัฒนธรรมต่างๆ ของเราโดดเด่นขึ้นมาและกลายเป็นที่รู้จัก คือการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในฐานะหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งเราก็มีตัวอย่างให้ได้เห็นมาแล้วอย่างประเทศเกาหลีใต้ที่ได้วางรากฐานและสนับสนุนวงการบันเทิงมาอย่างยาวนานนับหลายสิบปี ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่สนับสนนุนด้านเงินทุนเท่านั้น แต่ยังมีการจัดสรรพื้นที่ และการวางระบบเป็นแบบแผนอย่างชัดเจน มั่นคง และต่อเนื่อง 

“ผมมองว่าการส่งเสริมต้องไม่ทำอย่างฉาบฉวย ถ้าเราหวังว่าจะทำอะไรแค่ให้โดดเด่นอย่างเดียว แป๊บเดียว เป็นไวรัล แบบนี้มันฉาบฉวยเกินไป มันต้องดีจากตัวตนคนในชาติจริงๆ” ดิวบอกกับเราอย่างจริงจัง พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า “หากเราจะพัฒนาอุตสาหกรรมดนตรีเราต้องพัฒนาตั้งแต่วัยที่เขาเริ่มเล่น วัยที่เขาเริ่มสร้างวง ซึ่งของประเทศเกาหลีใต้ที่เรามองเห็น ผมรู้สึกว่าเราเห็นแค่ยอดพีระมิดที่มันสำเร็จแล้ว แต่เราไม่ได้มองฐานของเขาที่สร้างมาอย่างยาวนาน” 

เราเห็นด้วยกับคำพูดของดิวที่ว่า หลายๆ ครั้งเรามักเสพติดความรวดเร็วจนเกินไป จนพยายามมองหาแต่ทางลัดที่จะประสบความสำเร็จเช่นประเทศอื่นๆ แต่เรากลับลืมมองที่กระบวนการในการสร้างของเขาขึ้นมากว่าจะเป็นเช่นทุกวันนี้ หากเราคิดจะพัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างแท้จริง เราควรสนับสนุนตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ดังที่ในประเทศเกาหลีใต้มีโรงเรียนศิลปะเฉพาะด้านให้นักเรียนเลือกเรียนกันตั้งแต่มัธยม 

“ผมว่ารูปธรรมที่สุดที่รัฐบาลทำได้คือการทำให้งานอิสระเหล่านี้เป็นไปอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ควรจะมีการจัดระบบระเบียบเหมือนคนที่ทำงานประจำเพื่อให้เขารู้สึกว่าสามารถทำงานตรงนี้ไปได้ตลอด เพราะคนเหล่านี้ไม่สามารถทำธุรกรรมหรือยืนยันความมั่นคงของตัวเองได้เลย ถ้าแก้ตรงนี้ได้ ฐานพีระมิดเราจะแข็งแรง เพราะคนจะหันมาเอาจริงเอาจังกับสิ่งที่เขารักได้ เราจะมีคนที่เก่งมากขึ้น มีปริมาณศิลปินมากขึ้น”

asia7-why-folk-music-never-count-as-softpower-SPACEBAR-Photo06.jpg

ออย นักร้องนำของวงเองก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้ อีกทั้งยังได้พูดถึงการลงทุนกับระบบการศึกษาที่ควรเพิ่มมากขึ้น เพราะตัวเธอเองเห็นว่า ‘โอกาส’ ทางการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด 

“การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญมากค่ะ ดนตรีควรถูกปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งการเรียนดนตรีของเด็กๆ ก็ต้องใช้เงินเหมือนกัน ถ้าสมมติว่าการศึกษาทางดนตรีเข้าถึงได้ง่ายขึ้นและมากขึ้นเหมือนฟิลิปปินส์ที่เด็กร้องประสานเสียงกันตั้งแต่เด็ก อุตสาหกรรมเราก็จะแข็งแรงขึ้น เพราะบ้านเรามีเวลาเรียนดนตรีแค่อาทิตย์ละ 1 ชั่วโมง ได้เยอะขึ้นมาหน่อยสำหรับคนอยู่ชมรมดนตรีอีก 1 ชั่วโมง มันอาจไม่เพียงพอที่จะสร้างบุคลากรทางด้านนี้เท่าไหร่”  

เธอกล่าวด้วยสายตาที่มุ่งมั่นและน้ำเสียงที่จริงจังราวกับว่าหากเธอเป็นผู้ที่มีอำนาจมากกว่านี้ เธอคงจะลงมาแก้ปัญหานี้ด้วยตัวเอง ซึ่งทั้งนี้ไม่ใช่แค่ออย แต่ต้น บูม และทุกๆ คนในวงเองก็เห็นด้วยกับข้อนี้เช่นกัน ก่อนที่เราจะจบบทสนทนาครั้งนี้ ต้นก็มีอีกหนึ่งความคิดเห็นที่น่าสนใจ และเป็นเสียงที่น่าจะกระเทาะเปลือกครอบสายตาที่มีให้กว้างยิ่งขึ้นได้อย่างดี 

"บางครั้งการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้อาจไม่ต้องใช้เงินหรือเวลา เพียงแค่เปลี่ยนความคิดก็พอ ทุกครั้งเวลาจัดงานอะไรก็ตาม เรามักจะหวังให้มันแมส เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ถ้ามันเป็นอย่างนั้นตลอดไปวงที่มีฝีมือ วงที่เกิดขึ้นมาใหม่ก็จะไม่มีโอกาสออกมาสู่สายตาประชาชนคนหมู่มาก ถ้าภาครัฐคิดว่าจะออกมาแข่งชันเพื่อหวังผลด้านกำไรกับเอกชนอันนี้ผมว่าไม่ใช่ซอฟต์พาวเวอร์ เพราะซอฟต์พาวเวอร์ที่แท้จริงควรเป็นการจัดสรรเงินทุนลงไปสนับสนุนสิ่งที่มีคุณภาพแต่ไม่มีโอกาส นั่นคือสิ่งที่รัฐควรให้ความสำคัญต่างหาก” 

เป็นการจบบทสนทนาลงอย่างน่าประทับใจ ตลอดการพูดคุยเกือบสองชั่วโมงนี้ทำให้เราได้เปิดมุมมองและเห็นภาพที่กว้างขึ้น ได้ยินเสียงของคนที่อยู่ในวงการนี้อย่างแท้จริงชัดเจนมากขึ้น นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวของเสียงจากคนในแวดวงศิลปะที่ถูกมองข้ามเท่านั้น แล้วพวกคุณละคิดว่าจริงๆ แล้ว เราควรจัดการกับปัญหานี้อย่างไร ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องมีใครสักคนลงมาฟังเสียงของพวกเขาอย่างจริงจัง?

asia7-why-folk-music-never-count-as-softpower-SPACEBAR-Photo07.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์