เริ่มต้นกันด้วยงานจากสองศิลปินเจ้าของผลงาน ‘การสั่นสะเทือนของผัสสะแห่งเมืองกรุง' (Fabric of Time: Bangkok City’s Vibration) ภาพถ่ายที่เกิดจากการมองย้อนเข้าไปในความวุ่นวายของเมืองผ่านภูมิทัศน์ทางกายภาพและภูมิทัศน์ทางเสียงของกรุงเทพฯ โดยใช้เงื่อนไขของเวลาเป็นแนวคิดในการเล่าเรื่อง ภายใต้กระบวนการสมาธิภาวนาที่นำมาซึ่งการพิจารณาภาพและเสียงภายนอก/ภายในเพื่อค้นหาความสงบ โดยไม่ตัดสินว่าชอบหรือไม่ชอบ
การสั่นสะเทือนของผัสสะแห่งเมืองกรุง ใช้การเล่าเรื่องจากภาพถ่ายจากพื้นที่ทั่วกรุงเทพ บันทึกลงบนแผ่นฟิล์มโดยใช้เงื่อนไขของเวลา 8 วินาที ผ่านการกำหนดลมหายใจ รับรู้รับทราบถึงสิ่งกระทบจากภายนอกสู่ภายในผ่านผัสสะทั้ง 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) โดยเลข 8 มาจากคำสอนในพุทธศาสนาเรื่อง อริยมรรคมีองค์แปด อันเป็นข้อปฏิบัติทางสายกลางที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ สัมมาสมาธิ (ความตั้งใจชอบ) เป็นการปฏิบัติด้วยการกำหนดลมหายใจ ซึ่งผลกระทบต่อผัสสะทั้ง 6 รวมถึงการเคลื่อนไหวของผู้คนและสิ่งแวดล้อมในเมืองถูกแปรออกมาเป็นภาพถ่ายเหล่านี้ อีกทั้งยังมีเสียงจากสถานที่ต่างๆ ในเมือง (Cityscape Sound Composition) ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ที่อยู่ในภาพถ่ายด้วย
ภาพถ่ายโดย: ภากร มุสิกบุญเลิศ
บทประพันธ์ดนตรีโดย: Viveka and Vehement (ภากร มุสิกบุญเลิศ, พชร จิราธิวัฒน์)
ถัดมากับผลงานจากเจ้าของเพจมนุษย์กรุงเทพฯ กับผลงาน ‘มนุษย์ (นัย) กรุงเทพฯ’ ที่รวบรวมบทสัมภาษณ์ 10 ชิ้นภายใต้โจทย์ Bangkok Survivals ซึ่งเป็นแนวคิดเริ่มแรกของนิทรรศการ ‘กรุงเทพฯ ๒๔๒’ ที่มุ่งสำรวจชีวิตและการอยู่รอดของคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ก่อนที่นิทรรศการจะเริ่มขยายเนื้อหาไปสู่ประเด็นอื่นๆ ของการใช้ชีวิตในเมืองหลวงแห่งนี้
ขวัญชาย ศิลปินเจ้าของเพจมนุษย์กรุงเทพฯ มองว่าทุกคนต่างต้องเอาตัวรอดในมหานครแห่งนี้ ทั้งคนที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคม คนที่ต้องเดินทางด้วยรถสาธารณะ คนที่อยากมีบ้าน คนที่ต้องไร้บ้าน คนที่ฝ่าฟันจนมีธุรกิจของตัวเอง เจ้าของร้านหนังสือ คนต่างจังหวัดที่เข้ามาใช้ชีวิตในเมืองหลวง ไปจนถึงความหมายและความตายของแม่ ทั้งหมดนั้นคือการเอาตัวรอดในแบบของตัวเอง
ในอีกแง่หนึ่ง...ทุกคนมีเรื่องราวของตัวเองที่ไม่จำเป็นต้องเดินตามและทำตามใคร แต่อีกแง่หนึ่ง...บางส่วนของเรื่องราวก็อาจทาบทับกับชีวิตคนอื่นโดยไม่ได้ตั้งใจ กลายเป็นภาพจุดร่วมของผู้คนในกรุงเทพฯ ที่ต่างกำลังเอาตัวรอดอยู่เช่นเดียวกัน
ต่อกันที่ผลงาน ‘It's me (BKK)’ ผลงานศิลปะจากวัสดุเหลือใช้จากคลองในกรุงเทพฯ โดยผลงานครั้งนี้นำเสนอเรื่องราวของกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย ด้วยความเชื่อที่ว่าเมืองที่ดีเปรียบเสมือนร่างกายที่มีสุขภาพแข็งแรง โครงสร้างเมืองเปรียบได้กับร่างกายของมนุษย์ ถูกแยกเป็นระบบโครงสร้าง ซึ่งเมืองคือโครงกระดูก ระบบป้องกันอันตรายของเมืองคือผิวหนัง ระบบอากาศเปรียบได้กับปอด กระแสไฟฟ้าเปรียบได้กับหัวใจ การคมนาคมเปรียบเหมือนสมอง ความปลอดภัยของเมืองคือระบบภูมิคุ้มกัน และสุขาภิบาลของเมืองเปรียบได้กับของเหลวที่หมุนเวียนในร่างกาย
ดังนั้นการทำงานครั้งนี้คือการใช้เศษวัสดุเหลือใช้ที่พบเห็นได้จากในพื้นที่กรุงเทพมหานครมาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของต้นเหตุแห่งปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือต้นเหตุแห่งโรคภัยไข้เจ็บของร่างกาย แม้ภายนอกกรุงเทพมหานครจะดูสุขภาพดี มีชีวิตชีวา คล้ายกับร่างกายที่ดูแข็งแรงไร้โรคภัยไข้เจ็บ แต่เมื่อสังเกตแล้วร่างกายกำลังเริ่มเสื่อมโทรมลงไปอย่างไม่รู้ตัว
หลังจากฟังเสียงจากศิลปินกันไปแล้ว มาฟังความคิดของผู้คนธรรมดากันบ้าง ‘น้ำใส- ณัฐนันท์ เจริญสุข’ เด็กสาววัย 11 ปี จากจังหวัดยะลา ที่เดินทางมากรุงเทพมหานครเพื่อทำธุระกับแม่ของเธอ น้ำใสบอกกับเราว่าความรู้สึกแรกที่มีต่อกรุงเทพฯ คือ ‘ความเป็นเมืองใหญ่’ เพราะสำหรับเธอที่นี่แตกต่างจากสถานที่ที่เธอจากมาอย่างมาก เต็มไปด้วยตึกสูงระฟ้า และห้างสรรพสิ้นค้ามากมายที่ให้ความรู้สึกไม่คุ้นชินจนทำให้เด็กหญิงวัย 11 ปีคนนี้ยิ่งรู้สึกตัวเล็กลง
ถัดมาเป็นเสียงจากนักท่องเที่ยวหญิงชาวฟินแลนด์ ‘มิโมซ่า สุคะเนน’ (Mimosa Sukanen) เธอเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยกับสามี มิโมซ่าบอกกับเราว่าเธอได้มีโอกาสเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ เช่น เชียงใหม่ เป็นต้น เธอรู้สึกว่าพื้นที่ต่างๆ มีความสงบและเรียบง่ายคล้ายคลึงกับประเทศของเธอ แต่กรุงเทพมหานครเป็นเพียงพื้นที่เดียวที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย แออัด ทั้งผู้คนและรถราบนถนน ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่น่าแปลกใจสำหรับเธอมาก
แคปชัน: ฟังเสียงจากทุกคนกันไปแล้ว ทั้งศิลปิน คนธรรมดา และชาวต่างชาติ มาฟังเสียงความคิดเห็นจาก ‘ศานนท์ หวังสร้างบุญ’ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกันบ้าง โดยศานนท์บอกกับเราว่า เขาเติบโตขึ้นมาในกรุงเทพมหานคร ที่นี่เต็มไปด้วยความแตกต่างของผู้คนมากมาย ทั้งในเรื่องที่ดีและไม่ดี แต่นอกเหนือจากสิ่งเหล่านั้น อีกหนึ่งเรื่องที่เห็นได้ชัดคือ ‘ความเหลื่อมล้ำทางสังคม’ ที่พวกเขาต่างพยายามช่วยกันแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อยู่
นี่คือชิ้นงานบ้างส่วน และเสียงความคิดเห็นจำนวนหนึ่งจากผู้คนในกรุงเทพมหานครแห่งนี้ แล้วความคิดเห็นของคุณต่อกรุงเทพมหานครเป็นอย่างไร ตรงกันหรือแตกต่างจากพวกเขาบ้างไหม มาร่วมแบ่งปันกัน