หลัง กทม. เปลี่ยนสติ๊กเกอร์บนคานรางรถไฟฟ้าเหนือสกายวอล์คแยกปทุมวัน ประเด็น CI - Corporate Identity (ระบบอัตลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นตัวตนขององค์กรหรือแบรนด์) กรุงเทพมหานคร ก็กลายเป็นเรื่องที่คนต่างพูดถึงและถกเถียงในวงกว้าง ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง สวยบ้าง ไม่สวยบ้าง นานาจิตตัง
การสร้าง CI ให้กรุงเทพฯ เป็นเรื่องใหญ่ เพราะนี่คือการสร้าง CI เต็มรูปแบบครั้งแรกใน พ.ศ.2566 ภายใต้การนำของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หลังมหานครแห่งนี้สถาปนามา 242 ปี

แต่รู้หรือไม่ นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ในการพยายามสร้าง CI ให้กับกรุงเทพฯ
ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นราว 50 ปี กรุงเทพฯ ในเวลานั้นที่มีพื้นที่ครอบคลุมทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยายังถูกแบ่งเป็น 2 จังหวัด คือ จังหวัดธนบุรี (ฝั่งตะวันตก) และจังหวัดพระนคร (ฝั่งตะวันออก)
ต่อมาในพ.ศ.2514 คณะปฏิวัติที่มีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้า และขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ออกประกาศคณะปฏิวัติ รวมจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนครเป็น นครหลวงกรุงเทพธนบุรี ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัด กรุงเทพมหานคร ในปีต่อมา (พ.ศ.2515)
ให้เรียกนครหลวงของประเทศไทยว่า “กรุงเทพมหานคร”
ประกาศของคณะปฏิวัติ พ.ศ.2515 ฉบับที่ 335, ข้อ 1
เมื่อมหานครแห่งนี้มีชื่อใหม่ ทางเทศบาลจึงพิจารณาหาเครื่องหมายหรือตราสัญลักษณ์ที่จะสื่อถึงความเป็นเมืองของกรุงเทพฯ จนสุดท้ายทางคณะกรรมการได้พิจารณาว่า จะใช้เครื่องหมายเดิมที่ใช้เมื่อครั้งจัดตั้ง นครหลวงกรุงเทพธนบุรี นั่นก็คือ รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ที่มาจากภาพวาดโดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์


แล้ว โลโก้กรุงเทพมหานคร มีที่มาจากอะไร?
ถ้าถอยกลับไปถึงจุดที่สถาปนาราชอาณาจักรไทยขึ้นมาใหม่ในสถานะของกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ กรุงศรีอยุธยาจบสิ้นลงแล้ว กรุงรัตนโกสินทร์ที่สร้างขึ้นมาใหม่ใน พ.ศ.2325 ควรสร้างขึ้นด้วย อุดมคติใหม่
ในเวลานั้น เทวนิยมวิทยา หรือการนำเทพเจ้า ที่มากับเทวะคติ มีความเชื่อมโยงกับพระพุทธศาสนาอย่างแนบแน่น อินทราธิราช จึงน่าจะลงตัวที่สุด
กรุงเทพมหานคร จึงสร้างขึ้นด้วยอิทธิพลของคติจักรวาลวิทยา และพระพุทธศาสนา โดยนำ พระอินทร์ มาปรุงสร้างอุดมคติใหม่ของเมืองพระอินทร์ คือ มฆมาณพ (พระอินทร์ในชาติที่เคยเป็นมนุษย์) ชายหนุ่มที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา เป็นผู้ตั้งอยู่ในศีลธรรม ได้นำเพื่อน 32 คน สร้างศาลาบนทาง 4 แพร่ง สำหรับคนเดินทางไกลมาพัก ผลของการทำดีนั้น พอมฆมาณพตายจึงไปเกิดเป็นพระอินทร์ปกครองสวรรค์ดาวดึงส์ โดยมีเพื่อน 32 คน และภรรยาไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ด้วย

พระอินทร์ จึงให้คติคนธรรมดาที่สามารถสร้างความชอบธรรมขึ้นครองราชย์ แถมเป็นตัวแทนของคนทำกรรมดีตามคติพุทธศาสนา พระอินทร์จึงเป็นสัญญะของอุดมการณ์ใหม่ของ รัตนโกสินทร์ (รัตนะ แปลว่า “แก้ว” / โกสิ (แปลว่า พระอินทร์) สมาสกับคำว่า พระอินทร์ เป็น “โกสินทร์” รวมกันแปลว่า “แก้วของพระอินทร์”)
ส่วนช้างเอราวัณนั้นเป็นเทพบุตรองค์หนึ่งในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระอินทร์จะเสด็จไปที่ใด เทพบุตรองค์นั้นจะจำแลงกายเป็นช้างเผือกตามเสด็จไปทุกที่ พระอินทร์จะทรงช้างเอราวัณไปทั่วทั้งสวรรค์และโลกมนุษย์เพื่อดูแลทุกข์สุขของชาวโลก
แม้ในยามสงคราม พระอินทร์ก็ทรงช้างเอราวัณออกทำศึก ช้างเอราวัณรวมกับพระอินทร์ จึงเป็นอุดมคติของความมั่นคง และความมุ่งมั่นให้อาณาจักรรัตนโกสินทร์มีความสงบสุขร่มเย็น
อีกนัยยะของการเอามาเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร คือ การสื่อถึงความสนใจที่จะสอดส่องดูและความสุขทุกข์ของราชอาณาจักรนั่นเอง
หลัง กทม. เริ่มใช้ตราสัญลักษณ์ดังกล่าว นับจากวันนั้นผ่านมานาน 57 ปี จนเมื่อปีก่อน ทาง กทม. ได้จัดจ้างและทำ CI ให้เมืองอย่างเต็มรูปแบบครั้งแรก
การทำ CI เมืองไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเมืองใหญ่ทั่วโลกต่างทำกันมานานแล้ว (ตัวอย่างสุดคลาสสิกคือ I ❤️ NY ของนิวยอร์ก) เพื่อสื่อสารความเป็นเมืองให้คนรู้จัก และเพิ่มมูลค่าเมืองให้มากขึ้นผ่านการสร้างแบรนด์
เรื่องสวยหรือไม่สวย เป็นเรื่องมุมมอง แต่ก็ต้องยอมรับว่า CI กทม. นี้ ช่วยรีเฟรซภาพแบรนด์เก่าที่ดูล้าสมัย สะเปะสะปะ ให้ดูสดใหม่ มีระบบ และร่วมสมัยมากขึ้น
ลองดูภาพตัวอย่าง CI กทม. ของบริษัท Farmgroup จำกัด ที่เป็นคนดีไซน์ดูสิ...



