หลายคนอาจเข้าใจว่าวันสถาปนาคงเป็นวันที่ทำพิธีเปิดเมือง ทำฤกษ์พิธี นำพระมาสวด ตามประเพณีที่สืบกันมาช้านาน แต่จริงๆ แล้ว เครื่องหมายหลักจริงๆ ที่แสดงถึงการสถาปนาขึ้นเมืองอย่างสมบูรณ์คือการตั้งเสาหลักเมือง เพราะฉะนั้นแล้ววันที่ 21 เมษายน นอกจากจะเป็นวันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ยังเป็นวันที่เสาหลักเมืองกรุงเทพถูกปักในเขตพระบรมราชวังเป็นครั้งแรกอีกด้วย

สาเหตุที่พระองค์ทำการย้ายเมืองหลวงไม่มีอยู่แค่นั้น เพราะนอกจากจะสร้างพระราชวังให้มีขนาดใหญ่โตขึ้นได้แล้ว พื้นที่ตะวันออกยังเหมาะแก่การปกป้องเมืองอีกด้วย ฝั่งตะวันตกมีแม่น้ำล้อมรอบ ส่วนฝั่งตะวันออกไกลออกไปสามารถขยายเมืองได้เรื่อยๆ ความคิดเรื่องรวมทั้งฝั่งแม่น้ำเป็นเมืองหลวงอาจไม่ดีสักเท่าไรนัก เพราะอาจเป็นอันตรายต่อเมือง
ซึ่งพระองค์ทรงให้เหตุผลว่าข้าศึกสามารถบุกตรงกลางเมืองผ่านแม่น้ำได้ หากจะสร้างป้อมปราการก็คงเสียงบเป็นจำนวนมาก

คนที่ไปวัดที่ดินพระนครใหม่คือ พระยาธรรมาธิกรณ์ และพระยาวิจิตรนาวี รวมถึงตั้งพิธียกเสาหลักเมืองขึ้น ในวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ซึ่งตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325
ในพิธีตั้งเสาหลักเมือง ตำนานเล่าว่าา ท่ามกลางฤกษ์พิธีที่เตรียมพร้อมรอเสาหลักปักเข้าไปในหลุม ได้พบงู 4 ตัว นอนอยู่ในหลุมนั้น แล้วถูกฝังกลบพร้อมไปกับเสาหลักเมือง ด้วยความกังวล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ทรงเรียกโหรเข้ามาประชุมเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้จนได้ความว่า เหตุการณ์นี้อาจนำความอัปมงคลมาสู่เมือง พระองค์จึงตัดสินพระทัยทำพิธีสะเดาะห์เคราะห์ ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับกรุงรัตนโกสินทร์ที่ได้เข้าสู่สงคราม 9 ทัพ กับพม่า ยาวไปอีก 7 ปี พระองค์จึงมีพระราชดำรัสว่า สิ้นพระเคราะห์เมืองแล้ว และจะถาวรลำดับกษัตริย์ถึง 150 ปี (เคราะห์นี้จะติดอยู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์อีก 150 ปี)
หากนับจากปีที่ตั้งเสาหลักเมืองในปี พ.ศ. 2325 ต่อมาอีก 150 ปี จะพบว่าตรงกับปี พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติสยาม ยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย เหล่าโหราจารย์ไทยเชื่อว่าคำพยากรณ์จากรัชกาลที่ 1 นั้นนับว่าแม่นมาก
ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครตั้งอยู่ที่ถนนหลักเมือง เขตพระนคร นอกจากหลักเมืองแล้ว ยังมีการสร้างศาลเจ้าเทพารักษ์อีก 5 องค์ ปกป้อง และรักษาเมืองด้วยหน้าที่แตกต่างกันไป ได้แก่
พระเสื้อเมือง ปกป้องทั้งทางบก และทางน้ำ ไม่ให้ศัตรูเข้ามารุกราน
พระทรงเมือง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องการปกครอง
พระกาฬไชยศรี ปกป้องไม่ให้ทำในสิ่งที่เลวร้าย และเพิ่มพูนเรื่องปัญญา
เจ้าเจตคุปต์ เป็นเทพารักษ์อ่านประวัติผู้ตายให้กับพระยม
และเจ้าหอกลอง เป็นผู้รับผิดชอบเหตุการณ์ต่างๆ ในเมือง เช่น คอยรักษาเวลา กำหนดย่ำรุ่ง ย่ำค่ำ เป็นต้น

สำหรับใครที่อยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศาลหลักเมืองกรุงเทพ ทางสำนักกิจการเสาหลักเมืองได้ทำเว็บไซต์ Bangkokcitypillarshrine เอาไว้ด้วย เป็นเว็บไซต์ที่บอกเล่าประวัติศาลหลักเมือง บอกขั้นตอนการสักการะ พร้อมกับบอกแผนผังบริเวณศาลหลักเมืองอย่างละเอียด
สุขสันต์วันครบรอบกรุงรัตนโกสินทร์ 240 ปี