ตามรอยสถานบันเทิง ‘โรงโสเภณี-นางโชว์-สวรรค์ชั้น 7’ ย่านสำเพ็ง-เยาวราชในอดีต

13 พ.ค. 2567 - 06:33

  • ตามรอยสถานบันเทิงและโรงโสเภณีย่านสำเพ็ง-เยาวราช ในซีรีส์ บางกอกคณิกา อดีตแหล่งบันเทิงที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ไทย

bangkok-kanika-sampeng-yaoqwarat-SPACEBAR-Hero.jpg

ณ เวลานี้คงปฏิเสธไม่ได้กับการถูกพูดถึงเป็นอย่างมากของซีรีส์ ‘บางกอกคณิกา’ ใครได้ชมมาแล้วน่าจะทราบดีว่า บางกอกคณิกา เนื้อเรื่องบอกเล่าเรื่องราวย้อนยุค บันทึกช่วงชีวิตหญิงบริการในแหล่งสถานบันเทิงย่านสำเพ็ง-เยาวราช ทั้งสำนักสตรีและสถานที่เต้นรำบันเทิง ชวนให้ตั้งคำถามว่า สถานที่เหล่านี้มีอยู่จริงหรือเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาใหม่?

ตอบสั้นๆ กันตรงนี้คือ ‘มีอยู่จริง’ และใกล้เคียงกับเนื้อเรื่องเป็นอย่างมาก

สำเพ็ง-เยาวราช ในอดีตเป็นย่านการค้า ที่อยู่อาศัย ขายสินค้าสารพัด เหมือนเช่นทุกวันนี้ เมื่อมีที่ทำงานก็ต้องมีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ แหล่งบันเทิงเป็นของคู่กับย่านธุรกิจ เป็นแบบนี้มาตั้งแต่อดีต สำเพ็ง เยาวราช รวมถึงทรงวาด ยันเจริญกรุง มีทั้งคนจีน ฝรั่ง แขก ไทย เป็นจุดขนส่งสินค้าขนส่งผู้คน และความเจริญมาจากต่างประเทศ ของใหม่จึงมากับวิถีชีวิตที่ทันสมัย

ความบันเทิงของสำเพ็งจึงมีตั้งแต่โรงงิ้ว ร้านเหล้า ผ่านกาลเวลามาเป็นโรงภาพยนตร์ และไนท์คลับ นอกจากนี้ สำเพ็งยังเป็นแหล่ง่ขึ้นชื่อเรื่อง “โสเภณี” ถึงกับมีคำเรียกหญิงบริการย่านนี้ว่า ‘นางสำเพ็ง’ ขนาดสุนทรภู่ยังกล่าวไว้ในนิราศเมืองแกลงว่า 

“...ถึงสำเพ็งเก๋งตั้งริมฝั่งน้ำ แพประจำจอดเรียงเคียงขนาน มีซุ้มซอกตรอกนางเจ้าประจาน ยังสำราญร้องขับไม่หลับลง...”

สันนิษฐานว่ากิจการขายบริการในสำเพ็งน่าจะมีมาตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์  

อบายมุขสองอย่าง โรงฝิ่น กับ โรงน้ำชา ถูกเก็บภาษีค่าธรรมเนียม มีบันทึกว่าในรัชกาลที่ 4 มีการจดทะเบียนหญิงโสเภณีเป็นเงิน 50,000 บาท มากกว่าภาษีอื่นอีกหลายชนิด การเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนหญิงโสเภณีเรียกว่า ‘ภาษีบำรุงถนน’ 

สถานบริการจะมีโคมแขวนไว้หน้าโรงเป็นเครื่องหมายโดยใช้โคมไฟกระจกสีเขียว คนจึงเรียก ‘โรงโคมเขียว’ ในสำเพ็งมี ‘ตรอกน่ำแช’ แปลว่า ตรอกโคมเขียว และ ‘ตรอกโรงโคม’ (ใกล้โรงเรียนเผยอิง) เป็นที่ตั้งของโรงแม่อิ่มขาว สถานบริการชื่อดัง

bangkok-kanika-sampeng-yaoqwarat-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: ตรอกโรงโคม

มี ‘ตรอกอำแดงแฟง’ และ ‘ตรอกเต๊า’ หรือเยาวราชซอย 8 เป็นที่ตั้งสำนักดังแห่งยุค คือโรงหญิงหากินของยายแฟง ที่ต่อมานำเงินที่ได้จากการประกอบกิจการไปสร้างวัดใหม่ยายแฟง หรือวัดคณิกาผล ยายแฟงทำธุรกิจมายาวนาน ส่งต่อไปยังลูกสาวชื่อ ‘กลีบ’ จึงมีสำนักโรงแม่กลีบ

bangkok-kanika-sampeng-yaoqwarat-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: ตรอกเต๊า (เยาวราช 8)

กิจการนี้ส่วนใหญ่เป็นของคนจีน ผสมผสานกันทั้งบ่อน โรงฝิ่น โรงหวย และสถานบริการ พอฝิ่นลดบทบาทลงจึงแปลงเป็นกิจการโรงน้ำชาโดยมีบริการนวด และบริการอื่นๆ นอกเหนือจากนวดธรรมดา ว่าไปแล้วโมเดลธุรกิจอาบอบนวดน่าจะเป็นพัฒนาการภาคต่อของโรงนวดนั่นเอง

โรงโสเภณีนอกจากมีผู้หญิงบริการยังมีการแสดงคือ ‘ระบำ’ สถานที่แนวนี้พัฒนาไปเป็น ‘คลับ’ ในเวลาต่อมา ดังนั้น เนื้อหาของซีรีส์ บางกอกคณิกา ที่มีอาชีพเสริมคือเต้นระบำจึงมีอยู่จริง

การเกิดขึ้นของอาคารสมัยใหม่ในย่านสำเพ็งและเยาวราช นอกจากเป็นจุดเริ่มต้นของโรงภาพยนตร์ ยังมีตึกหกชั้นเป็นที่ตั้งของภัตตาคาร ‘ง้วนหลี’ ชั้นบนสุดมีที่เล่นไพ่นกกระจอก บริการอาหารและน้ำชา ชั้นล่างมีร้านข้าวต้มกุ๊ยชื่อ ‘ย่งหัวไถ่’ และห้างสรรพสินค้าใหญ่ ‘เซาท์แปซิฟิก’ และมีตึกเจ็ดชั้นที่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นโรงแรมไชน่าทาวน์

bangkok-kanika-sampeng-yaoqwarat-SPACEBAR-Photo V01.jpg
Photo: โรงแรมไชน่าทาวน์
bangkok-kanika-sampeng-yaoqwarat-SPACEBAR-Photo V02.jpg

จุดขายของตึกสูงคือระบำเปลื้องผ้า มีคณะของนายหรั่ง เรืองนาม หรือนายหรั่งหัวแดง ระบำมหาเสน่ห์ ระบำโป๊ ความบันเทิงที่เกิดขึ้นบนชั้นสูงสุดจึงถูกนำมาเปรียบเป็นคำกล่าวว่า ‘สวรรค์ชั้นเจ็ด’

สำเพ็ง-เยาวราช จึงเคยเป็นบันเทิงสถานสำราญโลกีย์ที่ปัจจุบันไม่มีกิจการแบบนี้เหลืออยู่แล้ว คงไว้แค่ร่องรอย ชื่อตรอกซอกซอยให้ไปเยือน เดินชมแล้วชวนให้หวนนึกถึงวันวานอันรุ่งเรือง แม้วันนี้จะเหลือเพียงชื่อให้นึกถึง

วันนี้เราไปตรอกโรงโคมเพื่อซื้อของ ไปตรอกเต๊าเพื่อหาของอร่อยทาน หรือไปตึกเจ็ดชั้นเพื่อถ่ายรูป แหล่งบันเทิงเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของเมือง สำเพ็งถูกแทนที่ด้วยสีลม รัชดา และอีกหลากหลายสถานที่

ดูเหมือนว่าเวลากับสถานที่แม้จะเปลี่ยนไป แต่ความ 'ต้องการ' ของคนไม่เคยเปลี่ยนไปเลย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์