จุดเริ่มต้นของ ‘โบนัสประจำปี’ สิ่งที่วัยทำงานทุกคนคาดหวัง

2 มกราคม 2567 - 01:00

Beginning-of-bonus-SPACEBAR-Hero.jpg
  • วัฒนธรรมการแจกโบนัส อาจจะเป็นผลพวงมาจากเทศกาล Boxing Day ของชาวอังกฤษ ที่นายจ้างจะเอาเงินใส่ในกล่องของขวัญที่คนรับใช้นำมามอบให้ หลังจากกลับมาจากการฉลองวันคริสต์มาส เพื่อแสดงความขอบคุณที่ทำงานหนักมาตลอดทั้งปี

  • การแจกโบนัสเริ่มมาแพร่หลายมากขึ้นในโลกธุรกิจ ในช่วงศตวรรษที่ 20 เพื่อเป็นแนวทางสำหรับบริษัทต่างๆ ในการจูงใจและรักษาพนักงานไว้

  • การแจกโบนัสตามกฎหมายประเทศไทยนั้น ไม่ได้มีการบังคับให้บริษัททุกบริษัทต้องจ่ายโบนัส เพราะโบนัสไม่ใช่ค่าจ้าง จึงไม่ผิดอะไร ถ้าหากบางบริษัทจะพิจารณาไม่ออกโบนัสประจำปีให้

ไหนปี 2023 ที่ผ่านมาใครได้โบนัสบ้าง!!? เนื่องด้วยเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซา เพราะการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แล้วไหนจะมีเชื้อไข้หวัดใหญ่ และการแพร่ระบาดของโรคใหม่ ที่เป็นลูกผสมระหว่างโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ ยังคงเป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไข และทำให้หลายๆ ธุรกิจยังคงฟื้นตัวได้ยาก 

แน่นอนว่า บางธุรกิจมีการเติบโตอย่างมากจนพนักงานในบริษัทได้รับโบนัสเป็นขวัญกำลังใจช่วงปลายปี และต้นปีกันแบบถ้วนหน้า แต่ว่าหลายๆ บริษัทกลับต้องของดการแจกโบนัส เพราะบริษัทขาดทุน หรือยอดรายได้ของบริษัทไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 

ว่าด้วยเรื่อง โบนัส ที่หลายๆ คนนั่งท่อง นั่งคำนวณกันว่าปีนี้จะได้เท่าไหร่ เราก็จะพามารู้จักวัฒนธรรมการแจกโบนัสกัน  

จริงๆ คำว่า Bonus มาจากภาษาละตินที่ออกเสียงเหมือนกัน มีในภาษาอังกฤษตั้งแต่ในช่วงศตวรรษที่ 18 แล้ว ซึ่งมีความหมายว่า การจ่ายเงินหรือรางวัลที่มอบให้นอกเหนือจากค่าตอบแทนหรือเงินเดือนปกติ ซึ่งมักจะเป็นสิ่งจูงใจหรือการยอมรับในผลงานที่ดี 

แต่การแจกโบนัสเริ่มมาแพร่หลายมากขึ้นในโลกธุรกิจ ในช่วงศตวรรษที่ 20 เพื่อเป็นแนวทางสำหรับบริษัทต่างๆ ในการจูงใจและรักษาพนักงานไว้ และสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน 

เงินโบนัส แบ่งออกเป็น 2 แบบคือ แบบจ่ายคงที่ หรือ Fixed Bonus และแบบจ่ายผันแปร หรือ Variable Bonus  

แบบจ่ายคงที่ คือการนำผลกำไรที่ตัดส่วนออกมาจากการทำยอดได้ตลอดทั้งปี มาหารเฉลี่ยให้กับพนักงานทุกคนเท่าๆ กัน ซึ่งมีข้อเสียคือ การจ่ายเท่ากัน จะมีพนักงานบางส่วนที่ขยันกว่า หรือทำยอดได้มากกว่ารู้สึกถึงความเสียเปรียบจากตรงนี้ 

แบบจ่ายผันแปร คือ การนำผลกำไรที่ตัดส่วนออกมาจากการทำยอดได้ตลอดทั้งปี มาแบ่งจ่ายให้กับพนักงานแต่ละคนตามผลงานที่ได้สร้างไว้ โดยอิงจากผลประเมินรายบุคคลเป็นตัวชี้วัดจำนวนโบนัส ที่จะแจกจ่ายให้แต่ละคน โดยจะได้ไม่เท่ากัน ซึ่งจำนวนเงินโบนัสที่ได้ โดยส่วนมากนายจ้างจะพิจารณาแจกแบบจำนวนครึ่งเดือน หรือ 1 เดือน แต่ก็มาพนักงานที่สร้างผลงานจนโดดเด่นอาจจะได้มากกว่านั้น และอาจจะมีบางคนได้มากถึง 6 เดือนและ 1 ปี 

การแจกโบนัสตามกฎหมายประเทศไทยนั้น ไม่ได้มีการบังคับให้บริษัททุกบริษัทต้องจ่ายโบนัส เพราะโบนัสไม่ใช่ค่าจ้าง จึงไม่ผิดอะไร ถ้าหากบางบริษัทจะพิจารณาไม่ออกโบนัสประจำปีให้  

แต่จริงๆ แล้ว การแจกเงินโบนัสประจำปี อาจจะมีที่มาต่อยอดมาจากเทศกาลวัน Boxing Day หรือวันเปิดกล่องของขวัญของชาวอังกฤษ ในศตวรรษที่ 19 ที่ประเทศอังกฤษยังมีนายจ้างและคนรับใช้อยู่ ซึ่งในวันเปิดกล่องของขวัญนั้น นายจ้างจะเอาเงินใส่ในกล่องของขวัญที่คนรับใช้นำมามอบให้ หลังจากกลับมาจากการฉลองวันคริสต์มาส เพื่อแสดงความขอบคุณที่ทำงานหนักมาตลอดทั้งปีนั่นเอง   

จุดประสงค์ของเทศกาลวันเปิดกล่องของขวัญ นับว่าเป็นจุดประสงค์เดียวกับการแจกโบนัส นั่นคือการแสดงความขอบคุณที่ทำงานอย่างหนักมาตลอดทั้งปี แนวคิดนี้เปรียบได้เช่นเดียวกับการแจกโบนัสของบริษัท ที่ขอบคุณพนักงาน ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทจนมีผลกำไรที่เติบโต 

สำหรับประเทศไทย ถ้าหากได้อ่านข่าวหรือดูข่าวผ่านทางช่องโทรทัศน์ต่างๆ ก็จะสังเกตได้ว่า มักจะมีข่าวตามโรงงานใหญ่ๆ ที่แจกโบนัสแต่ละปีกันแบบชนิดที่ว่า คนได้รับไปสามารถตั้งตัวได้ บางคนเพียงแค่เงินโบนัสก็สามารถออกรถคันใหม่ได้เลย การแจกโบนัสแบบจัดหนักจัดเต็มแบบนี้ สะท้อนให้เห็นถึงผลกำไรของบริษัทด้วย 

แล้วปีที่ผ่านมา ผู้อ่านได้โบนัสกันหรือไม่ ได้เท่าไหร่กันบ้าง มาแชร์กันหน่อยสิ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์