ท่วมหนักสุดในรอบ 500 ปี น้ำท่วมเชียงใหม่ ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ครั้งนี้ไม่ธรรมดา เพราะโลกร้อน ป่าหาย!?

9 ต.ค. 2567 - 03:32

  • บันทึกระบุ 500 ปีก่อน น้ำท่วมเกือบถึงประตูท่าแพ

  • ครั้งนั้น “คนดิกน้ำตาย” เป็นเยอะมาก

  • น้ำท่วมภาคเหนือไม่ใช่เรื่องแปลก แต่คราวนี้หนักไม่ธรรมดา

spacebar สเปซบาร์, น้ำท่วม, เชียงใหม่, พญามังราย, ประตูท่าแพ, น้ำท่วมหนัก, คนดิกน้ำ

น้ำท่วมเชียงใหม่หนนี้ หลายเสียงบอกว่า “ท่วมหนักที่สุดในรอบ 50 ปี” หรือบ้างก็ว่า 100 ปี แต่พอฟังคนเชียงใหม่ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี บอกว่า ยังไม่เคยเห็นหนักเท่านี้

สรุปว่าน้ำท่วมครั้งนี้หนักแค่ไหน!?

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ทวีศักดิ์ ระมิงค์วงศ์ บอกว่า “หนักสุดในรอบ 500 ปี”

ดร.ทวีศักดิ์ เขียนไว้ใน บันทึกวิชาการ มหาอุทกภัยเชียงใหม่ 2567 (500-year Return Flood) ว่า ในทางวิชาการนิยามคำว่า 500-year Return Flood หรือน้ำท่วมคาบ 500 ปี หมายความว่า เป็นน้ำท่วมที่มีโอกาสเกิด 1% ทุกๆ 500 ปี ไม่ใช่เป็นน้ำท่วมธรรมดาๆ ยากที่จะเกิด แต่มีโอกาสเกิด ในระยะหลัง มีการศึกษามากขึ้น พบว่าจริงๆ มีโอกาสเกิดมากถึง 38 % ไม่ใช่แค่ 1 %

วัดศรีดอนไชย
Photo: วัดศรีดอนไชย ต.ช้างคลาน เชียงใหม่, ถ่ายเมื่อ 4 ตุลาคม พ.ศ.2567

กรณีเชียงใหม่หมายความว่า มหาอุทกภัยระดับนี้จะมีโอกาสเกิด 1-38 % ในทุกๆ 500 ปี ที่เสนอว่าน้ำท่วมครั้งนี้เป็น 500-year Return Flood ก็เพราะว่ามีหลักฐานว่าน้ำท่วมใหญ่ขนาดนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 500 ปีก่อน ได้มีการบันทึกไว้ว่า น้ำได้ท่วมเข้ามาเกือบถึงประตูท่าแพ (ชื่อเดิมประตูเชียงเรือก)

ประตูท่าแพ
Photo: ประตูท่าแพ พ.ศ.2458. Retro Siam

ครั้งนั้นมีเด็กถึงกับ “ดิกน้ำ” ตายไปหลายศพ (“ดิกน้ำ” เป็นคำเมือง หมายความรวมว่าเกิดอาการสำลักน้ำ ทุรนทุราย แล้วก็จมน้ำตาย) ตรงกับที่ผมได้ไปเห็นและรายงานระดับน้ำท่วมที่กินลึกเข้ามาเกือบถึงประตูท่าแพ ขัอมูลระดับน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ นักวิชาการจะทำการบันทึกลงไว้บนแผนที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประโยชน์ในการวางแผนการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนต่างๆ ว่าพื้นที่ใดมีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมถึงบริเวณไหนอย่างไร อันนี้หมายรวมถึงข้อมูลของน้ำท่วมในคาบ 50, 10, 200 ปีและอื่นๆ ด้วย

มาถึงตรงนี้ผมต้องขอบคุณพญามังรายที่ได้สร้างตัวเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ (หมายถึงพื้นที่ในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่) ที่ปลอดจากน้ำท่วมในคาบ 700 กว่าปีมานี้ ประสบการณ์จากน้ำท่วมเวียงกุมกามอย่างหนักทุกๆ ปี คงทำให้พระองค์ไม่พลาดในการกำหนดตำแหน่งเมืองเชียงใหม่

พญามังราย
Photo: พญามังราย พระบรมราชานุสาวรีย์ที่ห้าแยกพ่อขุน จังหวัดเชียงราย ฝีมือปั้นของปกรณ์ เล็กสน

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ โดย อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ระบุว่า “...ปีกาบสัน สก 886 ตัว น้ำคานน้ำถ้วมเชียงเรือก คนมาเข้ากาดยังข่วงสรีภูมิ คนดิกน้ำตายมากนัก...”

อุทกภัยใหญ่ ก่อนสิ้นรัชกาลพระเมืองแก้ว 1 ปี ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ระบุว่าน้ำปิงเอ่อท่วมขึ้นมาถึงเชียงเรือกคือย่านท่าแพปัจจุบัน จนต้องย้ายตลาดไปยังข่วงศรีภูมิบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเป็นการชั่วคราว

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, Silkworm Books
Photo: หนังสือตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ สำนักพิมพ์ Silkworm Books

ครั้งนั้นมี “คนดิกน้ำตาย” คือคนจมน้ำตายเป็นอันมาก เพราะกาดเชียงเรือกเป็นพื้นที่เศรษฐกิจต่อเนื่องจากกาดหลวงกลางเวียง (ลีเชียง) ที่ลากยาวจากหน้าวัดพระสิงห์ลงไปประตูเชียงเรือก (ประตูท่าแพชั้นในหรือประตูท่าแพปัจจุบัน) ถึงประตูท่าแพ (ชั้นนอก) จรดท่ามหาสถานหรือท่าเรือหลวง มีคนทั่วสารทิศทั้งในและนอกอาณาจักรมาเข้ากาดตรงนี้

ถือเป็นน้ำท่วมเชียงใหม่ครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งที่อาลักษณ์ถึงกับต้องบันทึกแทรกไว้ระหว่างเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองช่วงปลายยุคทองของล้านนาสมัยราชวงศ์มังราย

น่าสังเกตว่า ปีกาบสัน จ.ศ.886 (พ.ศ.2067) ถึงปัจจุบัน คือปีกาบสี จ.ศ. 1386 (พ.ศ. 2567) ครบรอบ 500 ปี พอดี...

น้ำท่วมภาคเหนืออาจไม่ใช่เรื่องแปลก แต่คราวนี้หนักไม่ธรรมดา มันคือยิ่งกว่า จึงน่าจะหาคำตอบ ถึงสาเหตุโลกร้อน สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ป่าหาย ระบายน้ำผิด ฯลฯ

น้ำท่วม, เชียงใหม่, ตุลาคม, 2565
Photo: น้ำท่วมตัวเมืองเชียงใหม่ที่อยู่ใกล้แม่น้ำปิง เมื่อ 2 ปีที่แล้ว, 3 ตุลาคม พ.ศ.2565
น้ำท่วม, เชียงใหม่, ตุลาคม, 2567
Photo: น้ำท่วมตัวเมืองเชียงใหม่ที่อยู่ใกล้แม่น้ำปิง เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา, ถ่ายเมื่อ 4 ตุลาคม พ.ศ.2567

เราคงย้ายเมืองเชียงใหม่หนีไม่ได้และต้องรับกับชะตากรรมนี้ จึงต้องเข้าใจให้จริง จะได้อยู่ต่อไปให้ได้กับเชียงใหม่ที่รัก ซึ่งเป็นบ้านเกิดของคนพื้นถิ่น และเมืองนอนของใครอีกหลายคน

อ้างอิง:

  • ข้อความบางส่วนมาจาก FB: Wichaya Makaew ของอาจารย์วิชญา มาแก้ว
  • อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว, เดวิด เค. วัยอาจ. (2547). ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์มบุคส์., หน้า 110.

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์