‘ปลาหมอคางดำ’ ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เพราะ 67 ปีก่อน ก็มีปลานำเข้าที่กลายเป็นตัวร้าย

30 ก.ค. 2567 - 01:00

  • #ปลาหมอคางดำ คือกรณีเอเลี่ยนวายร้ายซ้ำรอยเก่าเมื่อ 67 ปีก่อน

  • สังคมพูดถึงปลาพันธุ์นั้นว่า “เวลานี้ ไม่มีปลาอะไรจะเลวทรามเท่ากับปลา XXX เลย!”

  • ปลาก็คือปลา ไม่ได้ผิด คนที่ผิดคือคนที่เอาเข้ามา แล้วขาดสำนึกความรับผิดชอบ

spacebar สเปซบาร์, ปลาหมอคางดำ, ปลาหมอเทศ, สาสน์ไก่, หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ, ทองดี เรศานนท์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, บัญชา สุขแก้ว, กรมประมง

ก่อนที่ปลาหมอคางดำจะเป็นตัวร้าย จำเลย ตัวทำลาย ต้องกำจัดให้หมดไป ประเทศไทยเคยนำเข้าปลาหมอมาจากต่างประเทศแล้ว และครั้งนั้น ปลาหมอเทศ (ชื่อที่เรียกปลาชุดนั้น) ที่มี 10 กว่าตัว ก็เป็นปลาที่โดนครหาติฉินนินทา มีบทความเก่าชิ้นหนึ่ง ถึงกับใช้คำว่า

“เวลานี้ ไม่มีปลาอะไรจะเลวทรามเท่ากับปลาหมอเทศเลย”

ปลาหมอเทศ
Photo: ปลาหมอเทศ

ผลก็คือแทนที่ปลาหมอเทศจะทำประโยชน์ให้คนไทยและเมืองไทย เช่น ในประเทศไต้หวัน เพียงเวลาไม่นาน ปลาหมอเทศเพียง 10 กว่าตัวได้แพร่พันธุ์จนกลายเป็นปลาพื้นบ้านได้สัญชาติเป็นปลาหมอไทยไปเรียบร้อย เรื่องที่เล่ามานี้เกิดขึ้นประมาณปี พ.ศ.2500-2501

หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ (ทองดี เรศานนท์) ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าว่าปลาหมอเทศในเมืองไทยได้หายไปอย่างเงียบๆ คล้ายกับว่ามันหายสาบสูญไม่มีอยู่ในเมืองไทยแล้ว ความจริงนั้น ปลาหมอเทศมันยังอยู่ในเมืองไทย และกำลังแสดงความสามารถต่อสู้เอาชีวิตรอดแข่งขันกับปลาอื่นอยู่

ไก่กับปลาหมอเทศ, หลวงสุวรรมวาจกกสิกิจ, วารสารสาส์นไก่
Photo: บทความเรื่อง ไก่กับปลาหมอเทศ โดย หลวงสุวรรมวาจกกสิกิจ เผยแพร่ในวารสารสาส์นไก่ ปีที่ 5 (มิถุนายน พ.ศ.2499)

ข้าพเจ้าทำนายว่า มันจะมีแพร่หลายและกลายเป็น ‘ปลาเมืองไทย’ และคนไทยจะยอมรับนับถือมันไปเองโดยไม่รู้สึกตัว

ปลาหมอเทศชุดนั้นดียังไง ความดีเด่นอย่างหนึ่งของปลาหมอเทศ ก็คือการขยายพันธุ์ ครั้งแรกปลาหมอเทศถูกเลี้ยงที่สถานีประมงกลางบางเขน เลี้ยงไว้ให้ดูเป็นเวลา 3-6 ปีในบ่อหน้าสวนปลา (AQUARIUM)

ในปี พ.ศ.2501 ปลาหมอเทศที่ข้าพเจ้าเอามาปล่อยไว้ ออกลูกจนเต็มสระขนาดไร่เคยแน่นไปหมด

จะว่าไป...ปลาหมอเทศตอนนั้นก็เหมือน ‘ปลาหมอคางดำ’ ตอนนี้ จากเกษตรไปถึงบางปู และบริเวณใกล้เคียงในเวลาฝนตก ก็มีผู้จับปลาหมอเทศได้มาก

บัญชา สุขแก้ว, อธิบดีกรมประมง
Photo: บัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง แถลงข่าวการแก้ปัญหา #ปลาหมอคางดำ ของกรมประมง 17 กรกฎาคม 2567

ปลาหมอเทศเป็นปลาที่โตเร็ว ภายในปีเดียวมันอาจจะโตถึงขนาด 2 ตัวหนัก 1 กิโล, 3 ตัวหนัก 1 กิโล แปลว่าเลี้ยงปีเดียวก็กินได้และขายได้

สถิติของขนาดปลาหมอเทศในเมืองไทย ก็คือ 12 กิโลเศษ เป็นปลาที่เลี้ยงที่หนองหาญ จังหวัดสกลนคร

รสชาติของปลาหมอเทศ คล้ายกระดาษฟาง ปลาหมอเทศจะมีรสปานกลาง (จืด) รสไม่ดีเท่าปลาอื่น

เคยมีคนเอามาทำปลาเค็มจากปลาหมอเทศ ทานกับข้าวต้มพอไปได้ รสไม่ถึงปลาสลิด แต่น้องๆ ปลาช่อนเค็ม เหมาะเอาไปทำน้ำยาขนมจีน รสของปลาหมอเทศนั้น อร่อยขึ้นตามอายุและตามขนาด ยิ่งอายุมากมันยิ่งตัวโตมาก และมีเนื้อมีมันมาก

spacebar สเปซบาร์, ปลาหมอคางดำ, กรมประมง, เมนูปลาหมอคางดำ
Photo: ต้มยำ - เมนูตัวอย่างจาก #ปลาหมอคางดำ ที่นำเสนอโดยกรมประมงในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567
spacebar สเปซบาร์, ปลาหมอคางดำ, กรมประมง, เมนูปลาหมอคางดำ
Photo: ย่างเกลือ - เมนูตัวอย่างจาก #ปลาหมอคางดำ ที่นำเสนอโดยกรมประมงในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567

ปลาหมอเทศเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ใช้มูลไก่เป็นอาหารอย่างเดียวก็ได้ ในเวลานั้นเลยมีคนคิดให้ปลาหมอเทศจะเป็นปลาที่เลี้ยงลดค่าครองชีพได้ดีชนิดหนึ่ง เพราะมันเลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์เร็ว โตเร็ว กินไปเท่าไรก็ไม่หมด

นี่คือเรื่องของปลาหมอเทศ เมื่อ 67 ปีที่แล้ว ดีกว่าปลาหมอคางดำตรงที่ไม่กินทุกอย่างจนระบบนิเวศพัง การแก้ปัญหาก็แก้กันไป

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ แค่อยากเล่าว่า หกสิบกว่าปีที่แล้วเราเคยมีปัญหากับปลาสายพันธุ์เดียวกันแต่คนละถิ่นที่อยู่ เรารับมือได้เพราะครั้งนั้นมันไม่ใช่ตัวร้าย เหมือนตัวที่เราเผชิญอยู่

ปลาก็คือปลา มันไม่ได้ผิด คนที่ผิดคือคนที่เอาเข้ามา แล้วขาดสำนึกความรับผิดชอบ

spacebar สเปซบาร์, ปลาหมอคางดำ
Photo: ซากปลาหมอคางดำที่ถูกจับ
spacebar สเปซบาร์, ปลาหมอคางดำ
Photo: ซากปลาหมอคางดำที่ถูกจับ
spacebar สเปซบาร์, ปลาหมอคางดำ
Photo: ซากปลาหมอคางดำที่สิ้นใจในคลอง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์