หนังสือจะยังคงอยู่ เพราะเทคโนโลยีไร้ช่วงเวลาแห่ง ‘การไตร่ตรอง’

12 ตุลาคม 2566 - 05:56

หนังสือ, กระดาษ, ตาย, ebook, การไตร่ตรอง, อยู่รอด, ธุรกิจ, คนอ่าน, กองดอง, มูลค่าอุตสาหกรรม, slow life, สโลว์ไลฟ์, ไม่เร่งรีบ, การเรียนรู้, โซเชียลมีเดีย, ออนไลน์, อินเทอร์เน็ต
  • eBook บูมมากในปี พ.ศ.2553 แต่ผ่านมาสิบกว่าปี ก็ไม่อาจแทนที่หนังสือกระดาษได้

  • แนวโน้มอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ลดลงทั่วโลกจากในอดีตเมื่อ 10 ปีก่อนราว 50%

  • หนังสือยังคงเป็นสื่อที่ผู้คนโหยหา เพราะให้ช่วงเวลาแห่งการไตร่ตรอง ซึ่งแห้งแล้งและหาได้ยากในสื่อดิจิทัล

ความจริงถ้ามองด้วยกรอบของเหตุและผล หนังสือที่พิมพ์บนกระดาษควรจะต้อง ‘ตาย’ แล้ว

เพราะทุกวันนี้ ข้อมูลจำนวนมหาศาลถูกโอนย้ายเข้าสู่โลกออนไลน์ เราสามารถหาข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบที่หลากหลาย (multimedia) ได้มากมายบนอินเทอร์เน็ต

หรือถ้ามองในแง่ของ ‘เนื้อหา’ หนังสือในรูปแบบ eBook ก็มีทุกอย่างเหมือนกัน เช่นเดียวกับการแปรเนื้อหาเป็นตัวอักษรในรูปแบบ audioBook

“ผมคิดว่าถ้ามองย้อนกลับไป... ในช่วงที่ eBook กำลังเป็นที่นิยม มีคนคิดว่าเตรียมนับวันสิ้นสุดของหนังสือเล่มได้เลย แต่ข้อมูลที่เราพบไม่ได้เป็นเช่นนั้น”

Lee Rainie, Director of internet, science and technology research for Pew Research

คือคำกล่าวของ ลี เรนนี่ (Lee Rainie) สถาบันวิจัย Pew Research ที่ให้สัมภาษณ์กับ The New York Times เมื่อปี พ.ศ.2559 ในช่วงที่สื่อใหม่อย่างโซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเข้ามาเบียดแย่งเวลาของผู้คนมากขึ้น

หนังสือ, กระดาษ, ตาย, ebook, การไตร่ตรอง, อยู่รอด, ธุรกิจ, คนอ่าน, กองดอง, มูลค่าอุตสาหกรรม, slow life, สโลว์ไลฟ์, ไม่เร่งรีบ, การเรียนรู้, โซเชียลมีเดีย, ออนไลน์, อินเทอร์เน็ต, Google Trends
Photo: Google Trends แสดงให้เห็นว่า มกราคม ปี 2010 (พ.ศ.2553) คือช่วงที่ eBook อยู่ในความสนใจของคนทั่วโลกมากที่สุด

แต่ผ่านมานับสิบปี กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า หนังสือเล่มสื่อเก่าแก่อายุหลายร้อยปี ยังมีชีวิตอยู่ แม้สัดส่วนตลาดจะลดลงจากในอดีต แต่มันยังมีลมหายใจ และผู้คนยังคงโหยหา

เพราะมนุษย์ไม่ได้ดำเนินชีวิตตามหลักของเหตุและผลเพียงอย่างเดียว แต่อารมณ์และความรื่นรมย์ยังเป็นสิ่งจำเป็น และในหนังสือมีสิ่งนั้น

หนังสือ, กระดาษ, ตาย, ebook, การไตร่ตรอง, อยู่รอด, ธุรกิจ, คนอ่าน, กองดอง, มูลค่าอุตสาหกรรม, slow life, สโลว์ไลฟ์, ไม่เร่งรีบ, การเรียนรู้, โซเชียลมีเดีย, ออนไลน์, อินเทอร์เน็ต, งานวิจัย
Photo: ประเด็น ‘หนังสือกระดาษ’ จะสูญสิ้นหรือไม่ เป็นเรื่องที่ได้รับการพูดถึงมาตลอด หลังโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล ในภาพเป็นบทความใน The New York Times ที่เผยแพร่เมื่อปี 2016 (พ.ศ.2559)

ข้อมูลรายได้ของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา พ.ศ.2552 และ พ.ศ.2564 (อ้างอิง: Statista) แสดงให้เห็นว่า รายได้ในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์หดตัวลงเกือบ 50%

  • จาก พ.ศ.2552, รายได้ 144,310 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ใน พ.ศ.2564, หดตัวเหลือ 75,610 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่มูลค่าอุตสาหกรรมหนังสือในประเทศไทย พ.ศ.2557 และ พ.ศ.2565 (อ้างอิง: สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย) ก็มีแนวโน้มหดตัวลงเกือบ 50% เช่นกัน

  • จาก พ.ศ.2557 อยู่ที่ 29,300 ล้านบาท
  • ต่อมา พ.ศ.2565 ลดเหลือ 15,000 ล้านบาท

ความจริงการหดตัวของตลาดหนังสือไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพร์ส แต่การดำรงอยู่ของมันต่างหากที่น่าสนใจ

ปรากฏการณ์ ‘กองดอง’ ของคนที่มีพฤติกรรมซื้อหนังสือมากเกินกว่าจะมีเวลาได้อ่านมัน จนมีหนังสือที่ดองเก็บไว้เต็มตู้ น่าจะบอกได้ว่า การบริโภคข้อมูลบนหน้าจอไม่สามารถแทนที่การอ่านหนังสือได้

ข้อมูลจากรายงาน Thailand Social Stat Insight 2023 ระบุว่า คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น คิดเป็น 85.3% และใช้เวลาออนไลน์ถึง 1 ใน 3 ของวัน หรือ 8 ชั่วโมง 6 นาทีต่อวัน

หากหักลบเวลานอน 8 ชั่วโมงออก จะพบว่า คนไทยใช้เวลาออนไลน์มากถึงครึ่งหนึ่งของลมหายใจระหว่างลืมตา

เราต่างรู้ดีว่า ชั่วโมงที่อยู่กับหน้าจอ เป็นช่วงเวลาที่ชวนวุ่นมากกว่าจะเป็นช่วงเวลาแห่งความสงบสุข เรื่องราวจะทุกทิศทาง ไม่ว่าจะงาน ข่าวสาร คนรู้จัก โฆษณาสินค้า โปรโมชั่นพิเศษ ฯลฯ วิ่งเข้ามารบกวนใจอยู่ตลอดเวลา

หนังสือ, กระดาษ, ตาย, ebook, การไตร่ตรอง, อยู่รอด, ธุรกิจ, คนอ่าน, กองดอง, มูลค่าอุตสาหกรรม, slow life, สโลว์ไลฟ์, ไม่เร่งรีบ, การเรียนรู้, โซเชียลมีเดีย, ออนไลน์, อินเทอร์เน็ต
Photo: สมาร์ทโฟนไม่เคยว่างเว้นจากการแจ้งเตือน (pexels.com - Brett Jordan)

ขณะที่ช่วงเวลาแห่งการอ่านหนังสือดึงให้คนออกจากความวุ่นวายนั้น กลับมาสู่ช่วงเวลาอันเรียบง่าย มีเพียงเราและหนังสือที่กำลังจดจ่ออยู่ตรงหน้า

หนังสือที่ให้เราได้จดจ่อกับเรื่องราวที่อยากรู้อย่างลงลึก และขณะเดียวกัน มันก็พาเราไปพบเจอข้อมูลอื่นๆ นอกเหนือจากความสนใจ ซึ่งกูเกิ้ลและโซเชียลมีเดียที่มีระบบเสิร์ฟข้อมูลแบบเฉพาะบุคคล (personalize) ให้ไม่ได้

หนังสือที่ให้เราได้สัมผัสกับ ‘บริบท’ รอบๆ ตัวเนื้อหา ไม่ว่าตัวกระดาษ รูปเล่ม การออกแบบ กลิ่นหมึก กลิ่นกระดาษ ฯลฯ ผ่านประสาทสัมผัสทางร่างกาย ซึ่งมีส่วนช่วยให้เราจดจำเนื้อหาได้ดีกว่า ฟังดูอาจไม่น่าเชื่อ แต่มีงานวิจัยบอกว่า การอ่านผ่านกระดาษช่วยสร้างความจดจำดีกว่าอ่านผ่าน eBook หรือไฟล์ PDF

หนังสือ, กระดาษ, ตาย, ebook, การไตร่ตรอง, อยู่รอด, ธุรกิจ, คนอ่าน, กองดอง, มูลค่าอุตสาหกรรม, slow life, สโลว์ไลฟ์, ไม่เร่งรีบ, การเรียนรู้, โซเชียลมีเดีย, ออนไลน์, อินเทอร์เน็ต
Photo: ช่วงเวลาพิเศษที่คนอ่านหนังสือต่างสัมผัสได้ (pexels.com - Thought Catalog)

หนังสือที่เป็นประดิษฐกรรมจากสหัสวรรษที่แล้ว ที่ยังมีสถานะเป็น ‘สื่อหลัก’ ที่ยังรักษาฐานที่มั่นจากไฟล์ดิจิทัลไว้ได้ ต่างจากสื่ออื่นๆ ไม่ว่าเพลง ภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ ที่สถานะความเป็นอนาล็อกถูกกลืนหายไปสู่ความเป็นดิจิทัลแล้วเต็มตัว

ไม่มีใครรู้ว่า หนังสือจะถูกเทคโนโลยีดิจิทัลกลืนหายไปเมื่อไหร่ เพราะทุกๆ วันที่ผ่านไป บรรดาครีเอเตอร์มากมายพยายาม ‘ย่อย’ และ ‘ป้อน’ ความรู้ที่ดีขึ้น ลึกขึ้น (แถมสนุกด้วย) ขึ้นไปบนอินเทอร์เน็ต ด้านหนึ่งพวกเขาทำเพื่อการสร้างความแตกต่างในฐานะครีเอเตอร์ โดยหวังผลลัพธ์ด้านยอดวิว ยอดแฟน รวมถึงรายได้จากสปอนเซอร์ที่จะตามมา เพื่อจะได้สร้างเนื้อหาในแบบที่เชื่อและชอบต่อไป

ในขณะเดียวกัน ก็หมายถึงเนื้อหาจากหนังสือจำนวนมากที่ถูกแปรรูปผ่านคอนเทนต์ในรูปแบบต่างๆ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า เนื้อหาคุณภาพจำนวนมากในออนไลน์ มีที่มาจากหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง (หรือหลายเล่ม)

ทุกวันนี้ อยากรู้เรื่องอะไร เพียงแค่พิมพ์สิ่งที่อยากรู้ เรื่องราวมากมายจะป้อนมาให้เลือกสรรเต็มไปหมด

แต่เอาเข้าจริง ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเสิร์ฟมาในรูปแบบใด บทความ วิดีโอ พอดแคสต์ ฯลฯ การบริโภคข้อมูลผ่านไฟล์ดิจิทัล ไม่ว่าจะผ่านแท็บเล็ต โน็ตบุ๊ค หรือสมาร์ทโฟน สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ยากบนพื้นที่แห่งนั้น คือ ช่วงเวลาของการไตร่ตรอง

หนังสือ, กระดาษ, ตาย, ebook, การไตร่ตรอง, อยู่รอด, ธุรกิจ, คนอ่าน, กองดอง, มูลค่าอุตสาหกรรม, slow life, สโลว์ไลฟ์, ไม่เร่งรีบ, การเรียนรู้, โซเชียลมีเดีย, ออนไลน์, อินเทอร์เน็ต
Photo: (pexels.com - Vincent M.A. Janssen)

“การไตร่ตรองนั้นเป็นอุบายที่จะให้ปัญญากับผู้ยังมีชีวิตอยู่”

เขมานันทะ

บรรดาปราชญ์โบราณเชื่อว่า กระบวนการไตร่ตรองจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเกิดปัญญา เพียงแค่ฟังมาก รู้มาก แต่ไม่ได้นำไปคิดพิจารณาอย่างลึกซึ้ง อาจเป็นเพียงการรู้จำ เพียงผิวเผิน

หนังสือเป็นสื่อที่สร้างช่วงเวลาพิเศษนี้ได้ เพราะผู้อ่านเป็นคนควบคุมจังหวะการคิดและอ่านได้ด้วยตัวเอง

ไม่ต้องเร่งร้อน ไม่ต้องเร่งเร้า ไม่ต้องรีบเร่ง

ค่อยๆ คิด, ค่อยๆ พิจารณาไตร่ตรอง

มหาปราชญ์มากมายบนโลกนี้ที่เป็นต้นธารของความรู้ที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน ทั้งตะวันตกและตะวันออก ไม่ว่าโสเครตีส อริสโตเติล ดาวินชี พระพุทธเจ้า เหลาจื่อ ฯลฯ ต่างก่อร่างสร้างปัญญาในช่วงเวลาแห่งความสงบและการไตร่ตรอง

ตราบใดที่เทคโนโลยียังสร้างช่วงเวลาที่จะก่อให้เกิด ‘ปัญญา’ เช่นนี้ไม่ได้ คงยากที่ ‘หนังสือ’ จะหายไป...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์