เปลี่ยนสีเพราะขี้ขลาด ? จริงๆ กิ้งก่าเปลี่ยนสีตามอารมณ์ หาใช่เพราะการเอาตัวรอดอย่างเดียว

4 ส.ค. 2566 - 07:09

  • ภาพลักษณ์ของกิ้งก่าที่เปลี่ยนสีสันไปตามพื้นหลังที่มันอยู่ อาจจะทำให้ใครหลายคนพาลคิดไปว่า เจ้าสัตว์ชนิดนี้ขี้ขลาดเพราะชอบเปลี่ยนสีเพื่อเอาตัวรอดเวลาตกอยู่ในอันตราย แต่รู้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้ว การเปลี่ยนสีของมันเป็นไปตามอารมณ์เสียส่วนมาก

Chameleons-change-their-color-SPACEBAR-Thumbnail
แต่ก่อนที่เราจะรู้ว่ากิ้งก่าเปลี่ยนเพราะอะไร สิ่งแรกที่เราควรรู้คือมันเปลี่ยนสีได้อย่างไรก่อน คำตอบคือในตัวกิ้งก่า Chameleon จะมีเซลล์ในร่างกายของพวกมันที่เรียกว่า melanophores และ iridophores โดยเซลล์พวกนี้จะอยู่ในส่วนลึกของหนังแท้ เป็นเซลล์ที่จุไปด้วยสารเม็ดสีที่เรียกว่า เมลานิน ซึ่งเซลล์ melanophores จะทำหน้าที่เปลี่ยนสีให้เข้มขึ้นโดยการควบแน่น หรือ กระจายตัวออกให้สีจางลง ส่วน Iridophores จะเป็นเซลล์ผลึกนาโนโปร่งใสที่ก่อตัวกันเป็นตาข่าย สามารถเคลื่อนที่เพื่อกรองคลื่นแสงสีต่างๆ ก่อให้เกิดสีที่แตกต่างกัน



กิ้งก่าเปลี่ยนสีตามอารมณ์เป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่แบบที่คุณคิด ไม่ได้เปลี่ยนตามอารมณ์โกรธแล้วจะเป็นสีแดง เศร้าแล้วจะเป็นสีน้ำเงิน แต่มันเปลี่ยนสีเพื่อสะท้อนความต้องการที่จะจับคู่ หรือต่อสู้กับเพศผู้ฝ่ายตรงข้าม หรือเป็นการส่งสัญญาณยอมแพ้ต่อสิ่งใดก็ตามที่มองมันว่าเป็นภัยคุกคาม ในสภาวะที่ผ่อนคลาย ผลึกนาโนในผิวหนังชั้นหนังแท้ของกิ้งก่าจะเริ่มก่อตัวเป็นตาข่ายแน่น จึงปรากฏเป็นสีเขียวหรือสีน้ำตาล แต่เมื่อมันรู้สึกตื่นเต้น เช่น เมื่อพยายามต่อสู้กับคู่แข่งหรือดึงดูดคู่ครอง ผลึกนาโนก็จะเคลื่อนออกจากกันเพื่อสร้างตาข่ายหลวมๆ แสดงสีแดง และเหลืองที่สว่างกว่า สีที่สว่างเหล่านี้สามารถเป็นสัญญาณของความแข็งแกร่งได้ เนื่องจากกิ้งก่าเพศผู้ที่อ่อนแอกว่ามักจะมีสีที่หม่นกว่า  

แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าเจ้ากิ้งก่าเหล่านี้ไม่เคยเปลี่ยนสีเพื่อพรางตัว แต่ความเชื่อที่ว่ากิ้งก่าสามารถปรับสีตามสภาพพื้นหลังใดก็ได้แบบสมบูรณ์นั้นไม่เป็นความจริง เพราะกิ้งก่าสามารถปรับสีได้เพียง ‘เล็กน้อย’ เพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อม อาทิ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มเมื่อแสงไม่เพียงพอ เพราะความจริงแล้วตัวกิ้งก่ามักจะกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของมันได้ดีอยู่แล้วนั่นเอง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์