สำเร็จหรือล้มเหลว? หรือจะเป็นเพราะวิธีการโปรโมทกางเกงช้างทำให้คนไทยอยากสวมใส่น้อยลง

28 กุมภาพันธ์ 2567 - 07:04

chang-pants-softpower-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ร่วมกันถกเถียงและแสดงความคิดเห็นว่ากางเกงช้างที่ว่าแสดงความเป็นไทยนั้นแท้จริง ‘ไทยมากแค่ไหน’ กับปัจจัยที่เป็นไปได้ของคนไทยที่รู้สึกไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับแนวคิดจากหน่วยงานของรัฐมากขนาดนั้น

“วันนี้คุณสวมกางเกงช้างหรือยัง?” นี่อาจเป็นประโยคเชิญชวนที่คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติเห็นดีเห็นงาม หลังจากที่เล็งเห็นว่ากางเกงช้างน่าจะเป็นสิ่งที่นำเสนอความเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ดี จนเกิดการผลักดันเรื่องนี้ด้วยการสนับสนุนให้ผู้คนสวมใส่กางเกงช้างมากขึ้น รวมถึงสร้างโครงการ THAILAND SOFT POWER X GUINNESS WORLD RECORDS CHALLENGE  ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หนึ่งในกิจกรรมที่มีการถกเถียงกันมากที่สุดคือ “ใส่กางเกงช้างเยอะที่สุดใน 1 นาที” ทำให้เกิดความคิดเห็นแตกแยกเป็นสองฝ่ายคือมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

นอกจากกิจกรรมที่สุดในโลกที่กล่าวไป ตามจังหวัดต่างๆ ก็เริ่มมีการสนับสนุนกางเกงช้างด้วยการเปลี่ยนลายผ้าช้างเป็นลวดลายสื่อแทนจังหวัด หรือ ลายกางเกงประจำถิ่น เช่น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นลายหอย จังหวัดพิษณุโลกเป็นลายไก่ชน เป็นต้น แต่ทั้งนี้ไม่ได้เป็นนโยบายจากทางภาครัฐ แต่เป็นการฉกฉวยโอกาสทางการค้าที่กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าเห็นว่าเป็นช่องทางในการขายของจากวาระนี้ ทว่าทั้งๆ ที่มีการโปรโมทเสียขนาดนี้ มีกิจกรรมก็แล้ว ลายกางเกงที่หลากหลายก็แล้ว จริงอยู่ที่ชาวต่างชาติแห่กันใส่มากขึ้น แต่คนไทยด้วยกันเองกลับสรรหามาใส่น้อยลง บางคนถึงกับโพสต์บนโซเชียลขำๆ ว่า “ใส่แล้วโดนทักว่าเป็นคนจีน”

chang-pants-softpower-SPACEBAR-Photo01.jpg

จะว่าไปกางเกงช้างนี้แสดงความเป็นไทยแค่ไหนถึงเรียกว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้?

การสืบสาวหาที่มาของกางเกงช้างนั้นค่อนข้างยาก โดยเฉพาะทุกวันนี้ที่กางเกงช้างได้ผุดไปทั่วเกือบทุกซอกมุมของประเทศไทยรวมถึงในบางประเทศ ถ้าเป็นที่กรุงเทพมหานครสามารถหาซื้อได้ง่ายๆ ตามห้าง MBK ตลาดนัดจตุจักร ประตูน้ำ สีลม และตลาดอื่นๆ อีกหลายแห่ง ส่วนต่างประเทศก็ไม่วายพบเห็นได้ในประเทศอินโดนีเซีย โดยเฉพาะบาหลี และบางพื้นที่ในประเทศอินเดีย เกิดเป็นคำถามว่าสุดท้ายแล้วใครเป็นคนเริ่มผลิตกันแน่?

แต่ดูเหมือนว่าทุกอย่างกลับย้อนมาที่ประเทศไทย ทุกคนคิดไปในทางเดียวกันว่ากางเกงช้างมีที่มาจากภาคเหนือของไทย และจู่ๆ ก็กลายเป็นกางเกงอเนกประสงค์สำหรับผู้ที่ต้องการสวมใส่เข้าวัดที่มีกฎเคร่งครัดห้ามสวมกางเกงขาสั้น ทางวัดจึงตัดปัญหาด้วยการนำกางเกงช้างมาให้สวม กลายเป็นเอกลักษณ์ประเทศไทยไปในที่สุดสำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยว ต่อมากางเกงช้างเริ่มกลายเป็นของฝากยอดนิยมที่สามารถซื้อไปฝากคนที่บ้านได้ง่ายๆ ด้วยราคาที่แสนถูก (ราว 80-100 บาท) ผ้ายืดนุ่มนิ่มสวมใส่สบายเหมาะกับอากาศร้อน นักท่องเที่ยวต่างชาติหลายคนนิยมใส่เดินเที่ยวในไทยเพราะอากาศที่อบอ้าว และกางเกงช้างนั้นช่วยระบายความร้อนได้ดี

chang-pants-softpower-SPACEBAR-Photo V01.jpg
Photo: The Elephant Pants /X

วันดีคืนดี คาดว่าประมาณปี พ.ศ. 2556 เนทาน โคลแมน (Nathan Coleman) และเจมส์ บรุกส์ (James Brooks) เดินทางมายังประเทศไทยแล้วเกิดความรู้สึกชอบกางเกงช้างมาก ทั้งสองถือเป็นตัวตั้งตัวตีในการฉกฉวยโอกาสทางการค้าด้วยการเปิดธุรกิจแบรนด์กางเกงช้างในชื่อ The Elephant Pants ผ่าน Kickstarter แพลตฟอร์มระดมทุนธุรกิจรายย่อย พอได้เงินระดมทุนมาราว 280,000 บาท จึงลงทุนจ้างโรงงานในเชียงใหม่สั่งทำกางเกงเพื่อขายในไทยและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายว่า ยอดขายทุก 10% ของ The Elephant Pants จะถูกนำไปบริจาคให้องค์กรที่ดูแลและปกป้องสัตว์ป่า เมื่อมองดูตลาดการขายกางเกงช้างจะพบว่ายี่ห้อ The Elephant Pants ตีตลาดกางเกงช้างมากที่สุด พร้อมกับป้าย ‘Made in Thailand’ แต่ใครจะรู้ว่าผู้บริหารแบรนด์ที่แท้จริงคือ โคลแมนและบรูกส์ ชาวอเมริกันผู้หลงใหลสัตว์ป่าและประเทศไทย

นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลักของชาวจีน ยิ่งไม่กี่ปีมานี้ชาวจีนเริ่มเดินทางเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น ตามสารคดีขนาดสั้นของ กรุณา บัวคำศรี ชาวจีนบางรายถึงขั้นหาวิธีการในการอพยพมาอยู่ในไทยแบบถาวรโดยเริ่มแรกด้วยการใช้วีซ่านักศึกษา และยิ่งเดินทางมากันมากขึ้นหลังรัฐบาลไทยประกาศว่าคนจีนไม่จำเป็นต้องขอวีซ่าในการเดินทางมายังประเทศไทย นอกจากนี้ชาวไทยยังมีปัญหากับเรื่องที่ชาวจีนเดินทางมาทำมาหากินในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก หนึ่งในธุรกิจเหล่านั้นก็มีกางเกงช้างอยู่ด้วย ณ ขณะนี้ นอกจากแบรนด์ The Elephant Pants ยังมีแบรนด์จีนที่ไม่มีป้ายนอกจากคำว่า ‘Made in China’ ธุรกิจของชาวจีนที่สั่งให้โรงงานทางจีนผลิตเพื่อส่งมาขายในไทยในราคาที่ถูกกว่า และครองตลาดในไทยเป็นเปอร์เซ็นต์ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน

chang-pants-softpower-SPACEBAR-Photo02.jpg

ทำไมกางเกงช้างถึงครองใจคนเหลือเกิน?

ช่อง ‘Nat Journey | นัดเจอนี’ บน YouTube มีการสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติว่าทำไมถึงชอบกางเกงช้าง คำตอบที่ได้นั้นเรียบง่ายมาก “เพราะเห็นแล้วชอบ” แค่นั้นเลยจริงๆ อาจจะด้วยลวดลายช้างที่แสดงถึงความเป็นไทย และดูออกทันทีจึงเหมาะกับการเป็นของฝากที่แสดงความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน สำหรับชาวไทยเองก็นิยมสวมใส่กันเพราะมีราคาถูก ใส่สบาย พูดง่ายๆ คือ ‘ฟังก์ชัน’ ค่อนข้างเหมาะสมกับการสวมใส่ในสภาพภูมิอากาศอย่างประเทศไทย ตามพื้นที่มหาวิทยาลัยก็มีนักศึกษาใส่กันดาษดื่น ทุกอย่างน่าจะเป็นไปด้วยดีแบบนี้ตั้งแต่แรกหากหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบไม่ผลักดันให้กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์อย่างเป็นรูปธรรมจนเกินไป?

หลังจากสำรวจพื้นที่บนโซเชียลมีเดีย มีหลายคนให้ความเห็นในทำนองว่า สวมใส่กางเกงช้างน้อยลงเพราะรู้สึกว่าการสวมใส่กางเกงช้างเท่ากับเห็นดีเห็นงามกับแนวคิดรัฐบาลไทย อีกเรื่องหนึ่งคือไม่อยากถูกทักว่าเป็นนักท่องเที่ยวจีน หรือหมายความว่าสิ่งที่รัฐบาลไทยพยายามผลักดันนั้นไม่ดี หรือว่าชาวไทยไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่รัฐบาลไทยทำอยู่?

chang-pants-softpower-SPACEBAR-Photo03.jpg

เรื่องนี้ชวนให้ย้อนกลับมาที่คำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ว่าหมายถึงอะไร คำถามโลกแตกที่ไม่มีใครตอบได้ แต่บนการทำงานของคำนี้ไม่จำเป็นต้องหานิยามให้เห็นชัดกันขนาดนั้น ซอฟต์พาวเวอร์คือวัฒนธรรมของประเทศที่ถูกจดจำโดยคนกลุ่มใหญ่ในลักษณะเกือบเหมารวม (stereotype) เหมือนเวลาเราพูดถึงญี่ปุ่นเรามักนึกถึง ชาเขียว ซามูไร และกิโมโน อาจรวมถึง J-Pop หรือ J-Rock และแฟชันทรงผมรากไทร เป็นต้น หรือหากพูดถึงประเทศอินเดียเราจะนึกถึง เทพฮินดู อาหารข้างทาง และวัว เป็นต้น

ทั้งหมดเป็นวัฒนธรรมของแต่ละประเทศที่เด่นชัด ซึ่งเมื่อเราพินิจให้ดี ประเทศเหล่านี้ไม่ได้มีการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์อย่างเป็นรูปธรรม ประเทศญี่ปุ่นยังคงดำเนินตามวิถีธรรมเนียมปฏิบัติอย่างที่เคยเป็น อินเดียยังคงขายของต่อไป ถ้าเป็นประเทศไทยเราอาจเป็น ช้าง รำไทย ผ้าซิ่นหรือผ้าไหม รวมถึงวัดไทย ประเพณีสงกรานต์ และแน่นอนว่ากางเกงช้างอาจเป็นหนึ่งในนั้น แต่ยังไม่เป็นวัฒนธรรมที่แข็งแรงพอหากเทียบกับสิ่งที่กล่าวไปข้างต้น พูดอีกนัยหนึ่ง หรือเรากำลังยัดเยียดสิ่งสิ่งหนึ่งที่ไม่ใช่ซอฟต์พาวเวอร์ให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง สิ่งที่กำลังผลักดันอยู่จะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้อย่างไรกัน?

อีกปัจจัยหนึ่งที่คาดว่าชาวไทยสวมใส่กางเกงช้างน้อยลง คือการไหลรวมเข้ากับกระแสหลัก (mainstream) ที่ภาครัฐสร้างขึ้น เพราะกลัวจะถูกตีตราว่าเห็นดีเห็นงามกับความสุดโต่งที่รัฐและหน่วยงานราชการนิยมปฏิบัติ เหมือนที่ผ่านมาเราเห็นการพับตุ๊กตาช้าง บันทึกลงกินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด ของจังหวัดสุรินทร์ โดยคนที่ออกมาพับคือเด็กนักเรียนนั่งพับตุ๊กตากลางแดด ทำเอาชาวไทยหลายคนคิดว่า “หน่วยงานรัฐต้องการอะไรจากสิ่งนี้” หรือผลลัพธ์ในระยะยาวคืออะไร เพราะแม้แต่ชาวไทยมองกลับไปก็เกือบลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่ามีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น แล้วการ ‘สวมกางเกงช้างมากที่สุดใน 1 นาที' จะซ้ำรอยกับการพับตุ๊กตาช้างหรือไม่ และควรถูกนับว่าเป็นเรื่องล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จ?

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์