พูดถึง ‘ตรุษจีน’ ร้อยทั้งร้อย ไม่ได้รอปีใหม่ ไม่ได้รอไหว้เจ้า ไม่ได้รอของกิน ที่รอ คือ ‘อั่งเปา’
ถึงโลกจะ 5G จะ AI จะเปลี่ยนการไหว้ เปลี่ยนตรุษจีนไปจนจำไม่ได้ มีของอย่างเดียวที่เด็กๆ และวัยรุ่น รอ และ ขอ อย่าเปลี่ยน นั่นคือซองแดงจากญาติผู้ใหญ่
‘อั่งเปา’ แปลตรงตัวจากภาษาจีนว่า “ถุงสีแดง” หรือ “ซองสีแดง”
สีแดงในวัฒนธรรมจีนหมายถึงความโชคดี ความสุข และการขจัดสิ่งชั่วร้าย
ภายในอั่งเปาจะใส่เงินเพื่อมอบให้เป็น “ของขวัญมงคล” แสดงถึงความปรารถนาดีและความหวังให้ผู้รับมีชีวิตที่รุ่งเรือง

ตามตำนานเชื่อกันว่าการให้ ‘อั่งเปา’ เริ่มต้นในราชวงศ์ชิง เมื่อมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับ ปีศาจชื่อ “ซุย” ที่ออกมารบกวนเด็กเล็กในวันตรุษจีน เพื่อปกป้องเด็ก ผู้ใหญ่จะใช้เหรียญมัดเป็นก้อนและห่อไว้ในผ้าแดง เชื่อว่าสีแดงและเสียงเหรียญจะช่วยขับไล่ปีศาจ ต่อมาก็พัฒนากลายเป็นการใส่เงินในซองแดงอย่างที่เรารู้จักในปัจจุบัน
อั่งเปาจะมอบให้กับเด็กหรือคนที่ยังไม่ได้แต่งงาน เพราะถือว่ากลุ่มนี้เป็นผู้อยู่ในวัยที่ต้องการพรและกำลังเริ่มต้นชีวิต
ผู้ให้มักพูดคำอวยพร เช่น “ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้” แปลว่า “ขอให้โชคดีและร่ำรวยในปีใหม่”

เงินในอั่งเปา (อันสำคัญ) จำนวนเงินมักจะลงท้ายด้วยเลขคู่ เช่น 88, 200 หรือ 1,000 ซึ่งถือว่าเป็นเลขมงคลล และหลีกเลี่ยงเลขคี่หรือจำนวนที่เกี่ยวข้องกับเลข 4 เพราะในภาษาจีนคำว่า “สี่” พ้องเสียงกับคำว่า “ตาย”
เมื่อเวลาผ่านไป การให้และรับอั่งเปาก็เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ในอดีตการมอบเงินในเทศกาลตรุษจีนมักใช้เหรียญที่มีรูตรงกลาง ร้อยด้วยเชือกสีแดงและผูกไว้ที่เอว เรียกว่า “แต๊ะเอีย” (แปลว่า “ทับเอว”) เมื่อเวลาผ่านไป เงินตราเปลี่ยนเป็นธนบัตร การมอบเงินจึงเปลี่ยนมาใส่ในซองสีแดงที่เรียกว่า “อั่งเปา”
ในยุคดิจิทัล การมอบอั่งเปาได้พัฒนาไปสู่รูปแบบออนไลน์ แอปพลิเคชันเช่น WeChat ได้เปิดตัวฟีเจอร์ ‘อั่งเปาออนไลน์’ ที่ผู้ใช้สามารถส่งเงินในรูปแบบดิจิทัลพร้อมข้อความอวยพรและสติกเกอร์ ทำให้การมอบอั่งเปาสะดวกและเข้ากับวิถีชีวิตสมัยใหม่มากขึ้น
นอกจากเทศกาลตรุษจีนแล้ว การมอบอั่งเปายังเป็นธรรมเนียมในโอกาสมงคลอื่นๆ เช่น งานแต่งงาน หรือการเปิดกิจการใหม่ เพื่อเป็นการอวยพรและเสริมสิริมงคล
แม้ว่ารูปแบบการมอบอั่งเปาจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ความหมายและความสำคัญของการมอบอั่งเปายังคงอยู่และสืบทอดต่อไป
และเป็นสิ่งที่เด็กๆ และวัยรุ่นตั้งตารอเมื่อถึงวันตรุษจีน
