“17 ตุลา ดาวราหูย้ายครั้งใหญ่”
แม้คุณจะไม่ใช่คนเชื่อเรื่องดวง แต่ประโยคทำนองนี้น่าจะผ่านมาเข้าหู ให้ได้ยินกันบ้าง
ส่วนดาวราหูย้ายแล้วมีผลอย่างไร คนที่เชื่อเรื่องดวงคงหาอ่านหาฟังกันมาแล้ว หรือถ้าอยากรู้ แค่เสิร์จหาดูก็เจอได้ไม่ยาก เพราะช่วงนี้คอนเทนต์คำทำนาย รวมถึงวิธีแก้เคล็ด เพราะราหูย้ายกำลังท่วมทะลัก
ซึ่งเรื่องทำนอง ‘สายมู’ นี้ ใครเชื่อไม่เชื่ออย่างไร เป็นวิจารณญาณส่วนบุคคล
ส่วนคนที่อยากรู้จักพระราหู ถึงประวัติ ความเป็นมา รวมถึงความเชื่อในสังคมไทย แนะนำให้อ่าน พระราหู: ภาพสะท้อนของสังคมเมืองยุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งเป็นสารนิพนธ์ที่จัดทำโดย นภาธิต วัฒนถาวร นักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2538 ซึ่งเป็นช่วงปีที่เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่นำมาสู่พูดถึงในมุมโหราศาสตร์ที่ยึดโยงกับอำนาจลึกลับศักดิ์สิทธิ์ของพระราหู

ใครที่เกิดทันคงจำได้ว่า คนที่เชื่อโหราศาสตร์จะมองว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจาก ‘ราหูอมดวงอาทิตย์’ และจะนำมาซึ่งเคราะห์และอาถรรพ์ต่างๆ และเพื่อแก้เคล็ดและสะเดาะเคราะห์ต้องทำพิธีเซ่นไหว้ด้วยของดำ 8 อย่าง
นอกจากอมดวงอาทิตย์แล้ว ราหูยังอมดวงจันทร์ โดยตามตำนานเล่าว่า พระราหูจับมาอมด้วยความคับแค้นใจ เพราะเทพทั้งสองเป็นต้นเหตุทำให้ร่างของพระราหูต้องขาดเป็นสองท่อน (คนที่อยากรู้รายละเอียด แนะนำอ่านในสารนิพนธ์ที่อ้างถึง)
ถึงตรงนี้คนช่างสงสัยอาจมีคำถามว่า พระราหูต้องมีขนาดตัวใหญ่แค่ไหน ถึงอมทั้งดวงอาทิตย์และดวงจันทร์

และนี่คือเรื่องที่ SPACEBAR อยากหยิบยกมาเล่าเป็นเกร็ด หวังว่าจะช่วยพักเบรกจากคอนเทนต์แนวคำทำนายได้บ้าง เผื่อเป็นข้อมูลเหยาะใส่บทสนทนาเวลาพูดถึงพระราหูให้มีรสมีชาติมากขึ้น
ตามคติความเชื่อของพรหมณ์-ฮินดู กล่าวถึงรูปลักษณ์ของพระราหูว่า ครึ่งบนเป็นรูปมนุษย์ มีหน้าเป็นแทตย์ (อมนุษย์พวกหนึ่ง) หรือยักษ์ ดูดุร้ายเหี้ยมเกรียม ครึ่งล่างเป็นหางเหมือนหางนาค มีกายสีทองสำริด (ดำหลัว) อาศัยอยู่ในอากาศ นั่งเหนือเมฆหมอก
ส่วนขนาดร่างกายอันใหญ่โตของพระราหู มีกล่าวถึงในหนังสือไตรภูมิพระร่วงอย่างละเอียดไว้ว่า...
- มีความสูง 98,000 โยชน์*
- โดยรอบศีรษะ 800 โยชน์
- ลำตัวหนา 2,600 โยชน์
- หน้าผากกว้าง 300 โยชน์
- จมูกยาว 300 โยชน์
- ระหว่างคิ้ว-ระหว่างตา กว้าง 90 โยชน์
- หัวคิ้วถึงหางคิ้ว กว้าง 200 โยชน์
- หัวตาถึงหางตา กว้าง 200 โยชน์
- ปากกว้าง 200 โยชน์
- ปากลึก 300 โยชน์
- ฝ่ามือ-ฝ่าเท้า กว้าง 200 โยชน์
- ขนมือ-ขนเท้า กว้าง 30 โยชน์
- หัวเข่า กว้าง 1,200 โยชน์
- ระหว่างแขนทั้งสองข้างกว้าง 1,200 โยชน์
- ระหว่างนิ้ว กว้าง 50 โยชน์
- ข้อนิ้วมือแต่ละข้อ (1 องคุลี) ยาว 50 โยชน์
- รอบคอ 50 โยชน์
จากข้อมูลดังกล่าว (*1 โยชน์ = 16 กิโลเมตร) ได้เป็นหัวเชื้อแห่งความคิดและจินตนาการที่ช่างฝีมือนำไปสร้างงานศิลปะ ทั้งจิตรกรรมและประติมากรรมให้ปรากฏ
และเพื่อให้เห็นภาพขนาดร่างกายของพระราหูให้ชัดขึ้น SPACEBAR จึงหยิบความสูงของพระราหูมาเทียบกับวัตถุต่างๆ ก่อนจะพบเรื่องประหลาดใจ ว่าคนโบราณประมาณขนาดร่างกายของพระราหูได้มหึมา ใหญ่กว่าพระจันทร์ โลกของเรา และพระอาทิตย์ได้อย่างน่าทึ่ง

หนังสือไตรภูมิพระร่วง แต่งขึ้นใน พ.ศ.1864 ยุคสุโขทัย โดยพระมหาธรรมราชาลิไท หรือราว 700 ปีที่แล้ว เนื้อหารวบรวมจากคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่กว่านั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยังไม่มีการสำรวจอวกาศ วิทยาศาสตร์ยังไม่ลงหลักปักฐาน และคนในโลกตะวันตกยังเชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล
แต่เหตุใด คนในยุคที่ถอยหลังไปไกลกว่านั้น ถึงจินตนาการถึงขนาดร่างกายของพระราหูได้ใหญ่โตและใกล้เคียงกับคำที่บอกเล่าไว้ในตำนาน...
