เห็นตัวอย่างซีรีส์ สืบสันดาน ที่จะออกฉายทาง Netflix ช่วงกลางเดือนหน้า (18 กรกฎาคม) ก็ชวนให้คิดถึงคำสองคำที่อยู่ในชื่อซีรีส์
พร้อมกับนึกชื่นชมคนตั้งชื่อ เพราะซ่อนนัยยะคำว่า สันดาน และ สืบสันดาน ได้ดี
ก่อนจะพูดถึงความหมายของคำ ขอคิดต่ออีกนิด เท่าที่ดูจากตัวอย่างสั้นๆ ซีรีส์เรื่องนี้น่าจะเปิดเปลือยถึง สันดานมนุษย์ ที่เป็นด้านมืดและดิบเถื่อนของคน โดยเล่าผ่านชนชั้นสูงในครอบครัวหนึ่ง
ตามหน้าหนังในตัวอย่าง คล้ายจะสื่อว่า คนมีตระกูลสูง อาจไม่ได้มีสันดานที่สูงตามชาติกำเนิด ส่วนจะมีนิสัยเลวทรามต่ำช้าแค่ไหน ไม่รู้ ต้องรอดูในซีรีส์


เอาล่ะ ทีนี้เข้าเรื่องที่ความหมายของแต่ละคำ
เริ่มจาก... สืบสันดาน ในความหมายของคำคือ ผู้สืบสายโลหิตโดยตรงลงมา ได้แก่ ลูก หลาน เหลน ลื่อ
หรืออีกความหมายหนึ่งคือ ผู้สืบสกุล หรือเป็นทายาทของผู้นั้น การเป็นทายาทโดยสายเลือด โดยการเป็นลูก
ด้วยเหตุนี้ สืบสันดาน จึงถูกเอาไปใช้เป็นภาษากฎหมาย หมายถึง ทายาทโดยสายโลหิตโดยตรง เป็นผู้มีสิทธิหรือกรรมสิทธิในการรับมรดกจากผู้ตาย เช่น บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว และบุตรบุญธรรม
กรณีที่ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมกำหนดผู้รับมรดกไว้ ผู้สืบสันดานจะถือเป็นผู้มีสิทธิในการรับมรดกก่อน

และหากผู้ทำพินัยกรรมเขียนพินัยกรรมไม่ให้มรดกกับผู้สืบสันดาน ก็สามารถทำได้ เพราะกฎหมายให้ความสำคัญกับเจตนารมณ์ของผู้ทำพินัยกรรมเป็นสำคัญ
การที่ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์สินของผู้วายชนม์จะตกทอดสู่ทายาทโดยธรรมตามที่กฎหมายกำหนด
ตาม มาตรา 1629 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บทบัญญัติในการกำหนดลำดับทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย เพื่อจัดลำดับทายาทที่ควรจะได้รับทรัพย์มรดกก่อนหลัง เพราะในความเป็นจริง การเรียกร้องสิทธิในมรดกอาจไม่เกิดขึ้น เนื่องจากผู้มีสิทธิอาจเป็นผู้เยาว์ และอาจถูกญาติพี่น้องที่มีลำดับศักดิ์สูงกว่าเอาเปรียบ
ผู้สืบสันดานจึงเป็นคำสำคัญในกฎหมายมรดก แต่ยังมีอีกคำที่เกี่ยวข้อง คือ ทายาทโดยธรรม
มาตรา 1629 บัญญัติไว้ว่า...
“ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๖๓๐ วรรค ๒ แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้...”
- ผู้สืบสันดาน
- บิดามารดา
- พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
- พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน หรือมักเรียกว่า “พี่น้องต่างพ่อหรือต่างแม่”
- ปู่ ย่า ตา ยาย
- ลุง ป้า น้า อา

ส่วน คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็เป็นทายาทโดยธรรมเช่นเดียวกัน (โดยลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรส จะเป็นไปตามมาตรา 1635 ซึ่งขอไม่นำมากล่าวในที่นี้ เพราะจะยาวจนเกินไป)
ส่วนคำว่า สันดาน คำเดียว หมายถึงนิสัยใจคอที่มีมาแต่กำเนิด (มักใช้ในทางไม่ดี) แปลตรงตัวคือ นิสัยที่มีมาก่อน
สันดานหรืออุปนิสัยเลยไม่เกี่ยวกับการอบรมสั่งสอน และไม่เกี่ยวกับสืบสันดาน
สืบสันดาน จึงเป็นเรื่องของการสืบสายเลือด แต่ สันดาน คือนิสัยของคน บางทีลูกอาจมีนิสัยเหมือนหรือไม่เหมือนกับพ่อแม่บรรพบุรุษ
ดังนั้น สืบสันดานจึงไม่เกี่ยวอะไรกับสันดาน
“บุคคลเป็นคนเลว เพราะชาติกำเนิดก็หาไม่ เป็นผู้ประเสริฐ เพราะชาติกำเนิดก็หาไม่ แต่เป็นคนเลว เพราะการกระทำ เป็นผู้ประเสริฐ ก็เพราะการกระทำ”
พุทธพจน์