ธรรมจักรไม่ได้มีแค่ในพุทธศาสนา แต่มีใน (เกือบ) ทุกศาสนาในอินเดีย

27 ก.ค. 2566 - 10:22

  • วันอาสาฬหบูชาคือวันระลึกถึงเหตุการณ์ปฐมเทศนาธรรมครั้งแรกของพระพุทธเจ้าแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 หรือเรียกว่า ‘ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร’

  • ธรรมจักร หรือจักระ ไม่ได้มีที่มาจากพระพุทธศาสนา แต่ปรากฎอยู่ในศาสนาในอินเดีย และส่งอิทธิพลถึงกัน

  • ธรรมจักรถูกมองว่าคือการเคลื่อนไปข้างหน้า บางทีถูกใช้กับพระราชาหมายถึงอำนาจที่แผ่ออกไป และยังหมายถึงจิตวิญญาณในตัวมนุษย์

dharmachakra-origin-SPACEBAR-Thumbnail
วันอาสาฬบูชาคือหนึ่งในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ชาวไทยคุ้นเคย เป็นวันที่รำลึกถึงการเทศนาธรรมเป็นครั้งแรก (The First Sermon) ให้กับปัญจวัคคีย์ หรือกลุ่มนักบวชพราหมณ์ทั้ง 5 ซึ่งหลังจากการเทศนาธรรมเสร็จสิ้นนักบวชทั้ง 5 เกิดความเลื่อมใสจนเลือกบวชเป็นพระภิกษุ โดยพระธรรมคำสอนนั้นคือว่าด้วยอริยสัจสี่ ความจริงของชีวิตที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ 4 ประการ 

จุดสังเกตอย่างหนึ่งคือชื่อ ‘ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร’ (Dhammacakkappavattana Sutta) นั้นมีการเชื่อมโยงกับคำว่า ‘ธัมมจัก’ หรือ ‘ธรรมจักร’ กงล้อแห่งธรรมที่ถูกใช้แทนศาสนาพุทธ และคำสอนของพระพุทธเจ้า จากหลักฐานที่มีการค้นพบรูปปั้นพระพุทธรูปต่างๆ ในคันธาระ ยังพบรูปธรรมจักรที่อยู่เคียงคู่กับพระพุทธเจ้าเพื่อใช้สื่อถึงคำสอนเรื่องอริยสัจสี่, อริยมรรคแปด และปฏิจจสมุปบาท ความคุ้นเคยนี้ทำให้เกิดความเข้าใจว่าธรรมจักรเป็นของพุทธศาสนาเพียงศาสนาเดียว แต่ความจริงนั้นสัญลักษณ์ธรรมจักรถูกใช้มาเนิ่นนานในประวัติศาสตร์ศาสนาอินเดียแล้ว ซึ่งปรากฎทั้งในศาสนาฮินดู และศาสนาเชน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2NsKGz7embMCJ22ec7D5vg/abbc9e4fde7b19cd03111a30f2a2eb17/dharmachakra-origin-SPACEBAR-Photo_V01
Photo: ธรรมจักรบนวิหารโบราณ. (Wikipedia)
จักระ หรือกงล้อ เป็นสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญในศาสนาฮินดูตั้งแต่สมัยพระเวท อาสิต เค. ฮัลดาร์ (Asit K. Haldar) คาดว่าในสมัยนั้นนักบวชยุคพระเวทมองเห็นพระอาทิตย์เป็นเสมือนกงล้อ และเปรียบเทียบกงล้อนี้กับกงล้อรถม้าของพระสุริยะ นอกจากนี้สัญลักษณ์กงล้อหรือรูปลักษณะแบบวงกลมยังสามารถพบได้ในธรรมชาติ เช่น ดอกไม้ น้ำหมุนวน หรือกระแสลมที่พัดเป็นวงกลม เป็นต้น และยังมีการพูดถึงในเชิงเปรียบเทียบกับชีวิตในคัมภีร์ปรัสนะ อุปนิษัท โดยเทียบว่าชีวิตเป็นเหมือนดุมกงล้อที่ถูกเชื่อมด้วยสิ่งต่างๆ ที่เป็นซี่ล้อ ชีวิตเป็นเหมือนรถม้า มีกงล้อที่เคลื่อนไปข้างหน้า ส่วนตัวม้าและคนขับม้าเป็นจิตวิญญาณใช้ควบคุม 

ในคัมภีร์พระเวทยังมีการกล่าวถึงจักระที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องจิตวิญญาณ แต่ใช้แทนพระราชาในอินเดีย โดยเรียกว่า ‘จักระวารทิน’ (Chakravartin) แปลว่า ผู้หมุนล้อแก่อาณาจักรตน อันหมายถึงผู้ที่แผ่อำนาจไปทั่วทิศโดยใช้กงล้อแทนความหมายการเดินไปข้างหน้า ในขณะที่คัมภีร์ตันตระใช้จักระแทนความหมายถึงพลังแห่งชีวิต หรือปราณ ซึ่งต่อมากลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่ปรากฎอยู่ในลัทธิโยคะ นักบวชโยคะเชื่อว่าร่างกายของมนุษย์ในแต่ละส่วนประกอบด้วยจักระพลังที่แตกต่างกัน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7ok1QT0gbIYy3sOsYmaHJ3/cae23f1ed6383ee0e50a556359f7ccad/dharmachakra-origin-SPACEBAR-Photo_V02
Photo: Wikimedia
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดเกี่ยวกับการใช้สัญลักษณ์ธรรมจักรเข้ามาใช้แทนคำสอนพระพุทธเจ้า นักวิชาการพุทธมีสมมติฐานตั้งแต่การที่พระพุทธเจ้าหยิบยืมแนวคิดบางเรื่องจากฮินดูมาใช้ บางคนกล่าวว่าวงกลมนั้นเป็นการแทนถึงสังสารวัฏที่ไม่รู้จบโดยซี่ล้อแทนคำสอน 4 ซี่ หมายถึง อริยสัจ 4, 8 ซี่แทนถึงคำสอนเรื่องมรรค 8, กงล้อ 12 ซี่ แสดงถึงปฏิจจสมุปบาททั้ง 12 อย่าง และยังมีกงล้อ 24 ซี่ เรียกว่า ‘อโศกจักระ’ กับกงล้อ 31 ซี่ แทนภพ 31 ตามพุทธจักรวาลวิทยา  

ขณะเดียวกันมีความเป็นไปได้ว่าการเรียกเนื้อหาปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้าว่า ‘ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร’ น่าจะมาทีหลังในช่วงที่ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรก เพราะมีหลักฐานว่าธรรมจักรที่มีความเกี่ยวโยงกับศาสนาพุทธปรากฎขึ้นในช่วงศาสนาพุทธตอนต้น (Early Buddhism) หรือหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปเป็นเวลา 200 ปี ส่วนทางด้านตะวันตกเรียกเหตุการณ์ปฐมเทศนานี้ว่า ‘The Sermon in the Deer Park’ หรือ ‘การเทศนา ณ สวนกวาง’ เรียกตามชื่อสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเทศนา หรือสารนาถ ซึ่งเป็นรู้จักกันในชื่อป่าอิสิปตนมฤคทายวัน อันแปลว่า ‘ป่าอันยกให้แก่หมู่กวาง’ และยังเป็นที่ชุมนุมฤๅษีหลายท่าน 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1SlcgxaTUK3nTe221SUoYF/85b0e90b8660796d96aa89d1b49ab507/dharmachakra-origin-SPACEBAR-Photo02
Photo: ภาพสลักเหตุการณ์ปฐมเทศนา ณ สารนาถ โดยมีธรรมจักรประดับอยู่บนฐาน. (Wikimedia)
หลักฐานการปฐมเทศนานี้ปรากฎอยู่ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นเนื้อหาที่อยู่ในพระสูตร และกถาอยู่ 2 แห่ง แห่งแรกอยู่ใน ‘ปญฺจวคฺคิยกถา ตอนปฐมเทศนา มหาขนฺธก มหาวคฺค พระวินัยปิฎก’ แห่งที่สองคือใน ‘ตถาคตสูตร สมาธิวโคฺค สจฺจสํยุตฺตํ สํยุตฺตนิกาย พระสุตตันตปิฎก’ ในเชิงภาพสัญลักษณ์นิยมใช้ภาพกงล้อแห่งธรรมเป็นตัวแทนพระสูตร 

กงล้อแห่งธรรมยังมีชื่อเรียกว่า กงล้อแห่งกฎ (Wheel of Law หรือ Wheel of the Buddhist Law) โดยคำว่ากฎกับคำว่าธรรมมีความหมายเท่ากัน นั่นคือ ความเป็นไปของโลก หรือสัจจธรรมของโลกที่ดำเนินไป เช่นเดียวกัน คำว่า ‘ธรรม’ ไม่ใช่คำที่ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นโดยนักบวชพุทธ แต่เป็นคำที่เกิดขึ้นในช่วงพระเวทเพื่อใช้อธิบายถึงกฎตามครรลองของจักรวาล หรือสมดุลของวิถีจักรวาล ตามคำกล่าวของ ริชาร์ด กอมบริช (Richard Gombrich) นักวิชาการพุทธ มีความเป็นไปได้ที่พระพุทธเจ้าหยิบยืมคำศัพท์จากฮินดูมาสองสามคำ หนึ่งในนั้นคือคำว่า ‘ธรรม’ ซึ่งในความหมายพุทธนั้นแปลในเชิง ‘กฎหรือวิถีของจักรวาลที่ดำเนินไป’ แตกต่างจากความหมายฮินดูเพียงนิดเดียวตรงที่ฮินดูใช้อธิบายวิถีความสมดุลของจักรวาลที่มนุษย์ควรปฏิบัติตาม ขณะที่พุทธใช้เพื่ออธิบายความจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/22IhIp7D4R91sNB5V8HbZ6/7850b75a46704ffb2eaaccfd19735478/dharmachakra-origin-SPACEBAR-Photo_V03
Photo: Wikimedia
ไม่ว่าธรรมจักรจะมีที่มาจากไหน หรือพัฒนามาอย่างไร ปัจจุบันได้กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำศาสนาพุทธไปโดยปริยาย และสามารถสื่อสารคำสอนพุทธได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม เนื่องในโอกาสวันอาสาฬบูชา สิ่งที่เราควรพึงระลึกนั้นมิใช่ว่ากงล้อจะมีความสวยงามมากเพียงใด แต่เป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ยืนหยัดมาตลอดสองพันปี

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์