ประวัติศาสตร์จริงใน DUNE ความสำคัญของการหยิบประวัติศาสตร์มาเล่าใหม่ในงานวรรณกรรม

1 มีนาคม 2567 - 09:00

dune-frank-herbert-analysis-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ส่องเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่ แฟรงก์ เฮอร์เบิร์ต เจ้าของนิยาย Dune หยิบยกมาจากประวัติศาสตร์โลก กับจุดมุ่งหมายและหน้าที่ของนักเขียนที่ต้องการสื่อสารกับคนทั้งโลกผ่านงานวรรณกรรม

เป็นที่รู้กันว่า Dune ทั้งสองภาคของ เดนิส วิลล์เนิฟ (Denis Villneuve) ถูกสร้างโดยอิงจากนิยายไซไฟชื่อดังในชื่อเดียวกันของ แฟรงก์ เฮอร์เบิร์ต (Frank Herbert) ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นนิยายไซไฟขึ้นหิ้งในตำนาน เมื่อเทียบกับช่วงปีที่เขียนขึ้น (ค.ศ. 1965) ถือว่าเป็นนิยายที่ล้ำหน้าเทียบได้พอๆ กับภาพยนตร์เรื่อง 2001: A Space Odyssey ของ สแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) บางคนถึงขั้นกล่าวว่าแม้แต่จักรวาล Star Wars ก็ยังมีการอ้างอิงไอเดียจาก Dune อีกด้วย 

Dune เดิมทีถูกตีพิมพ์แยกเป็นสองเล่ม เล่มแรกในชื่อ 'Dune World' ส่วนเล่มที่สองในชื่อ 'Prophet of Dune’ (และมีเล่มภาคต่ออีกหลายเล่ม ถ้าใครอยากรู้ว่าเรื่องราวหลังภาคสองเกิดอะไรขึ้นบ้าง สามารถตามอ่านกันได้) โดยก่อนหน้านี้เคยพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร Analog Magazine ซึ่งเป็นนิตยสารรวบรวมเนื้อหาเกี่ยวกับนิยายไซไฟ ก่อนจะรวมกันเป็นเล่มเดียว และกลายเป็นนิยายไซไฟขายดีตลอดกาล หากแต่ทุกวันนี้ในหมู่นักอ่านยังไม่แน่ใจว่าจะจัดให้ Dune อยู่ในหมวดของนิยายหนักหรือเบา บางคนเรียกรวมๆ ว่านิยายหนัก-เบา เนื่องจากตัวเนื้อหาค่อนข้างลึกจำเป็นต้องใช้ความคิดความเข้าใจในบางส่วน ขณะเดียวกันก็มีส่วนที่สร้างความเพลิดเพลินอ่านในยามว่างได้สบายๆ

dune-frank-herbert-analysis-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: Dune ฉบับแรก /Wikimedia

มีการกล่าวถึงว่า Dune เป็นนิยายที่ไม่ใช่นิยายให้ความบันเทิงเหมือนนิยายทั่วไป นอกจากความนุ่มลึกบนความคิดและปรัชญาที่แฝงอยู่ในเรื่อง สิ่งที่เฮอร์เบิร์ตชูโรงเป็นเรื่องหลักของการต่อต้านต่อระบอบ อำนาจ หรือผู้กดขี่ ถ้ามองในธีมของเรื่อง ชัดเจนว่าเป็นการต่อต้านต่ออำนาจอาณานิคม เรื่องนี้น่าสนใจมากเพราะเกมการเมืองในช่วงปี 1960-1970 หรือช่วงสงครามเย็นกำลังคุกรุ่น และสิ่งที่เฮอร์เบิร์ตสื่อสารออกไปเรียกกลายๆ ได้ว่าเป็นการท้าทายอำนาจแบบเงียบๆ การที่เขายังผสานเรื่องเชื้อชาติ และภาษาเข้าไว้ด้วยกันเป็นเหมือนภาพในอุดมการณ์ลางๆ ที่เขาอยากให้โลกในอนาคตไปถึงจุดนั้น 

อิสลาม กรีก และชนกลุ่มน้อย 

Dune เป็นเรื่องราวของ พอล อะเทรดีส (Paul Atreides) เด็กหนุ่มจากดาวคาลาดาน (Caladan) ที่ชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำ วันหนึ่งจักรพรรดิมีโองการให้ตระกูลอะเทรดีสเข้าดูแลการเก็บเกี่ยวสไปซ์บนดาวอาร์ราคิส (Arrakis) แทนตระกูลฮาร์คอนเนน (Harkonnen) สไปซ์เป็นสิ่งล้ำค่าในการใช้เดินทางข้ามจักรวาล ดาวอาร์ราคิสเป็นดาวทะเลทรายที่คลาคล่ำไปด้วยชาวพื้นเมืองที่เรียกว่าชาวเฟรเมน (Fremen) และถูกกดขี่จากตระกูลฮาร์คอนเนนมาช้านาน การมาของ พอล อะเทรดีส ทำให้ชาวเฟรเมนเชื่อว่าเขาจะเป็นผู้ปลดแอกตามคำทำนายที่ถูกร่ำลือกันมารุ่นต่อรุ่น ขณะเดียวกัน พอล นั้นก็พยายามหลีกหนีจากสิ่งที่ตัวเองกำลังจะเป็น

dune-frank-herbert-analysis-SPACEBAR-Photo04.jpg
Photo: Warner Bro.

หลายคนน่าจะมีปัญหากับการจดจำชื่อที่ปราฎอยู่ในหนังสือหรือในหนัง ถ้าใครมีพื้นฐานภาษาอาหรับอาจจะนึกออกได้ทันทีว่าคำส่วนใหญ่ล้วนมาจากภาษาอาหรับ นั่นเป็นเพราะว่า เฮอร์เบิร์ต กำหนดธีมทั้งหมดโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรมและวิถีของชาวมุสลิมโดยภาพรวมรวมถึงตำนานและคำทำนายที่ปรากฎอยู่ในความเชื่อมุสลิม เช่น ลิซาน อัล-ไกอิบ (Lisan Al-Gaib) ในภาษาอาหรับแปลว่า ‘ภาษาหรือสารที่มองไม่เห็น’ หรือ เบเน เกสเซอริต (Bene Gesserit) คณะที่แม่ของพอลสังกัดอยู่นั้นแปลว่า ‘ลูกหลานแห่งสะพาน/ทางเชื่อม’ ใครที่อยากดูความหมายและที่มาของคำอื่นๆ ในเรื่องโดยละเอียดสามารถอ่านได้ที่เพจ ‘พินิจอิสลาม - Islam Examined’    

นอกจากเรื่องของคำและภาษาอาหรับต่างๆ ที่นำมาใช้ แฟรงก์ เฮอร์เบิร์ต ยังหยิบยกเรื่องราวมากมายในประวัติศาสตร์มาใช้ในการเล่าเรื่อง เช่น ลอว์เรนซ์แห่งอราเบีย (Lawrence of Arabia), กลุ่มมุสลิมคอเคเซียนที่ต่อต้านจักรวรรดินิยมของรัสเซีย, กลุ่ม OPEC และชาวพื้นเมืองที่มีปัญหากับสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศลาติน บวกกับมุมมองของ เฮอร์เบิร์ต ที่คิดว่าชาวมุสลิมจะพัฒนาอย่างไรในอีก 20,000 ปีข้างหน้า และยังมีเรื่องอื่นอีกมากมายในเชิงยิบย่อย

dune-frank-herbert-analysis-SPACEBAR-Photo05.jpg
Photo: Warner Bro.

บนชื่อของ พอล อะเทรดีส คำว่า ‘อะเทรดีส’ หรือ ‘อาไทรเดส’  มาจากชื่อของ อาเทรวส์ (Atreus) กษัตริย์แห่งไมซิเน (อารยธรรมโบราณที่เป็นต้นสายของกรีกโบราณ) บิดาของอะกาเมมนอน (Agamemnon) และเมเนเลาส์ (Menelaus) สองพี่น้องเจ้าเมืองที่ปรากฎอยู่ในมหากาพย์อิเลียด (The Illiad) ซึ่งลูกหลานของอาเทรวส์ถูกเรียกว่า อาไทรเดส หรือ อะเทรดีส โดยในจักรวาล Dune มีการกล่าวถึงว่าตระกูลอะเทรดีสสืบเชื้อสายมาจากตระกูลชนชั้นสูงในกรีซบนโลก ขณะเดียวกันบนดาวคาลาดานที่ตระกูลอะเทรดีสอาศัยอยู่มีสภาพภูมิศาสตร์เป็นน้ำและเกาะ เปรียบเสมือนพื้นที่บริเวณทะเลอีเจียนที่ที่อารยธรรมกรีกโบราณรุ่งเรือง 

พอล อะเทรดีส ยังมีบทบาทคล้ายกับชาวอังกฤษในผ้าคลุมแบบอาหรับที่ชาวไทยอาจมักคุ้นกับภาพปกภาพยนตร์เก่า โดยชายคนนี้มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์โดยมีชื่อว่า ที. อี. ลอว์เรนซ์ (T. E. Lawrence) นายทหารและนักโบราณคดีที่มีส่วนร่วมในการปฏิวัติอาหรับเมื่อปี ค.ศ. 1916-1918 เพื่อต่อกรกับอาณาจักรออตโตมัน โดยเขาทำหน้าที่เป็นผู้เจรจา ปลุกระดมให้ชาวอาหรับพื้นเมืองลุกฮือขึ้นต่อสู้กับจักรวรรดิออตโตมัน มุมมองในเรื่องนี้แบ่งเป็นสองกลุ่ม คือมุมมองของอาหรับที่มีต่อจักรวรรดิที่พวกเขามองว่าปฏิบัติต่อพวกเชาไม่ดีนัก ในขณะที่จักรวรรดิเชื่อว่าตนปฏิบัติกับชาวอาหรับด้วยความเคารพ เพราะเห็นว่าเป็นเสมือนพี่น้อง และลูกหลานของทูตสวรรค์มูฮัมหมัด เปรียบเทียบชาวอาหรับกลุ่มนี้เป็นเหมือนชาวเฟรเมนที่อยู่ภายใต้การปกครองของตระกูลฮาร์คอนเนนไม่ต่างกัน พอลทำหน้าที่เสมือนลอว์เรนซ์ในการเข้าไปปลุกระดมชาวเฟรเมนให้ต่อสู้กับตระกูลฮาร์คอนเนนที่กดขี่พวกเขามาเป็นเวลานาน

dune-frank-herbert-analysis-SPACEBAR-Photo06.jpg
Photo: ที. อี. ลอว์เรนซ์ /Wikimedia

บนเรื่องราวที่เกี่ยวโยงกับความเชื่อมุสลิม เฮอร์เบิร์ตเคยให้คำอธิบายว่าเขามีเพื่อนที่เป็นชาวมุสลิมในการช่วยเหลือเพื่อสร้างเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นในนิยายของเขา แต่ไม่ได้เอ่ยชื่อออกมาว่าเป็นใคร และเขายังอธิบายว่าไม่ได้มีแค่เรื่องราวของมุสลิมที่เขานำมาปรับใช้ และนอกจากคำอาหรับยังมีคำจากภาษาอื่น เช่น ภาษาแอซเทค ภาษากรีก ภาษาสันสกฤต ที่เขานำมาดัดแปลงเป็นคำเฉพาะในเรื่อง และยังสอดแทรกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากประวัติศาสตร์โลกเข้าไปในเรื่อง เช่น ตัวละคร เกอร์นีย์ ฮัลเล็ก (Gurney Halleck) นักรบผู้มีบุคลิกขึงขังแต่หัวใจรักเสียงดนตรี เป็นลักษณะเฉพาะตัวของนักรบชาวมัวร์บริเวณแถบแอฟริกาเหนือ หรือ ‘ซีท’ (Sietch) หรือคำว่า ‘ทาเบลอ’ (Tabr) สถานที่หลบภัยของชาวเฟรเมน เป็นการหยิบคำมาจากคำที่ทหารคอสแซค (Cossacks) ใช้ 

อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจคือเนื้อหาของ Dune ยังมีความสัมพันธ์โยงใยอยู่กับศรัทธาและศาสนา ในศาสนาอิสลามมีการบันทึกว่า นบีมูฮัมหมัด ศาสดาแห่งอิสลามเคยรับหน้าที่เป็นแม่ทัพในสงคราม หรือที่ชาวมุสลิมเรียกว่ายุทธการที่อุฮุด เราจะเห็นภาพที่คล้ายคลึงกันระหว่างพอลและนบีมูฮัมหมัดในฐานะผู้เผยแพร่พระวจนะ (prophet) ที่นำผู้คนสู่สงครามอันนำมาสู่สันติภาพ

dune-frank-herbert-analysis-SPACEBAR-Photo07.jpg
Photo: กลุ่มมุสลิมในคอเคซัสเหนือ /NIAS

เรื่องราวความขัดแย้งระหว่างชาวเฟรเมนและจักรวรรดินั้น เป็นภาพใหญ่ๆ ที่เฮอร์เบิร์ตหยิบยกมาจากความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมคอเคซัสบริเวณเอเชียกลางที่ต้องต่อสู้กับราชวงศ์ซาร์ จักรพรรดิพาดิชาห์ (Padishah) ใน Dune เป็นภาพแทนเปรียบได้กับพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียผู้ไม่ยอมโอนอ่อนให้กับสิ่งใด ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เฮอร์เบิร์ตกำลังเล่าหรือนำเสนอคือว่าด้วยเรื่องอาณานิคมกับชาวพื้นเมืองที่ถูกกดขี่ แม้ว่าตัวเขาเองจะเป็นประชากรของประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการแทรกแซงและการครอบครองในแบบอาณานิคม ในวันที่ Dune ถูกตีพิมพ์ขึ้นนั้นอยู่ในช่วงสงครามเย็นที่ประเทศกลุ่มมุสลิมกำลังเป็นที่น่าสนใจของสหรัฐอเมริกาอยู่พอดิบพอดี เราอาจพูดได้ว่า Dune ไม่ใช่นิยายเพื่อให้ความบันเทิงธรรมดา แต่มีนัยแฝงอยู่ภายในนั้นอย่างเห็นได้ชัด นั่นก็คือ การต่อต้านอาณานิคม (anticolonialism) และการต่อต้านอำนาจนิยม 

พลังของงานวรรณกรรมในฐานะกระบอกเสียงสังคม 

Dune ได้กลายเป็นนิยายไซไฟขึ้นหิ้ง ขณะเดียวกันถ้าเป็นนิยายแฟนตาซีคงต้องยกตำแน่งให้ซีรีส์นิยาย The Lord of the Rings ของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน (J. R. R. Tolkien) ที่เหล่าแฟนๆ ฮอบบิต และเอลฟ์ รู้กันดีว่าการที่เขาเล่าเรื่องราวการเดินทางของฮอบบิตสู่ดินแดนมอร์ดอร์นั้นเป็นการหยิบชีวิตส่วนตัวของโทลคีนมาถ่ายทอด โดยเฉพาะเรื่องการเมืองระหว่างประเทศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยโทลคีนเปรียบคนแคระหรือชาวฮอบบิตเป็นเหมือนกับชาวอังกฤษผู้รักสงบ แต่กลับต้องมีส่วนร่วมในสงครามครั้งใหญ่ที่ตนเองก็คาดไม่ถึง แม้แต่ฉากสงคราม และผลร้ายของสงครามที่ทำผู้คนตายเกลื่อนกลาดก็เป็นประสบการณ์ตรงที่โทลคีนเคยพบเจอระหว่างสงคราม 

แต่เรื่องนี้จะเล่าด้วยสงครามอย่างเดียวคงไม่ได้ เขายังผนวกสิ่งที่ตัวเองสนใจเข้าไปหลายเรื่อง เช่น ความชื่นชอบในภาษาถึงขั้นที่เขาต้องประดิษฐ์ภาษาเอลฟ์ขึ้นมาจริงๆ รวมถึงนิทานเรื่องเล่าตำนานปรัมปราต่างๆ ที่ผูกกับเทพปกรณัมไอร์แลนด์และเยอรมัน ไม่ต่างจากเฮอร์เบิร์ต ในรายละเอียดยิบย่อยมีหลายเรื่องที่โทลคีนหยิบตำนานมาเล่าใหม่ เช่น ดินแดนนูเมนอร์ (Numenor) เป็นภาพแทนตำนานแอตแลนติก เป็นต้น The Lord of the Rings ได้กลายเป็นนิยายที่มีความสมบูรณ์แบบเหนือกาลเวลา ขณะเดียวกันปฏิเสธไม่ได้ว่าโทลคีนกำลังบอกเล่าถึงภัยร้ายสงครามเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นซากศพบนพื้นที่ของสงคราม การสูญเสียเพื่อนรักของเขาไประหว่างสงคราม การเอาชีวิตเข้าแลกกับสิ่งชั่วร้ายที่เกิดขึ้นเพราะเหตุการณ์บ้านเมือง

dune-frank-herbert-analysis-SPACEBAR-Photo08.jpg
Photo: Warner Bro.

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการโดนกดขี่ภายใต้อำนาจนิยม/อาณานิคม หรือเรื่องภัยร้ายจากสงคราม ทั้งสองเรื่องต่างก็เป็นเรื่องรายล้อมอยู่รอบตัวเรา บางทีการที่นิยายทั้งสองเรื่องถูกยกย่องให้เป็นนิยายน้ำดีอาจเป็นเพราะมีส่วนของความจริงของโลกมนุษย์แฝงอยู่และเราทุกคนมีความเกี่ยวโยงกับสิ่งนั้น รวมถึงสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ทันที โดยทุกวันนี้เรายังพบเห็นได้อยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ เช่น อำนาจของจีนที่อยู่เหนือชาวอุยกูร์ การเร่ร่อนของชาวโรฮิงญา หรือปัญหาที่ไม่จบสิ้นของชาวปาเลสไตน์และชาวอิสราเอล โดยมีมหาอำนาจหนุนหลัง และด้วยพลังแห่งงานเขียนนี้เองที่ทำให้คนทั่วโลกหลงรัก และบนความชื่นขอบนั้นอาจหมายความถึงพวกเขาได้เข้าใจว่าโลกที่สงบสุขควรมีหน้าตาอย่างไร และสิ่งใดคือความถูกต้องเชิงมนุษยธรรม 

อย่างไรก็ตาม สำนักวิจารณ์ภาพยนตร์ยังคงเคลือบแคลงกับสิ่งที่ Dune กำลังนำเสนอ สังเกตว่าผู้นำที่ปลดแอกชนพื้นเมืองอย่าง พอล อะเทรดีส ไม่ต่างอะไรจากคนขาว (อันเป็นตัวแทนเชื้อชาติอาณานิคม) ที่กุมบังเหียนปกครองคนที่อยู่ใต้อาณัติ เหมือนที่ชาวอาหรับสุดท้ายก็ต้องถูกนำโดย ที. อี. ลอว์เรนซ์ สรุปแล้วมันจะวนกลับเข้าไปสู่ลูปเดิมของชนชั้นหรือไม่ ดังที่ในเรื่อง Dune กล่าวว่า “ใครจะเป็นผู้กดขี่คนต่อไป?” บางทีสิ่งที่เฮอร์เบิร์ตนำเสนออาจไม่เป็นภาพในอุดมคติที่ควรจะเป็น ถ้าเรามองกลับกันว่าหนึ่งในผู้นำที่จะปลดแอกทุกคนคือชาวเฟรเมนเอง จะเหมาะสมกว่าหรือไม่? ถ้าเราลองเปลี่ยนจากโฮจิมินห์เป็นชาวตะวันตกสักคน และสามารถนำชาวเวียดนามขับไล่ชาวฝรั่งเศสได้ และได้รับชัยชนะอีกครั้งในช่วงสงครามเวียดนาม ลึกๆ แล้วชาวเวียดนามได้รับชัยชนะด้วยตัวพวกเขาเอง หรือพวกเขาเพียงถูกชี้นำโดยคนนอก?

dune-frank-herbert-analysis-SPACEBAR-Photo09.jpg
Photo: Warner Bro.

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์