หลังแผ่นดินไหววันศุกร์ที่ผ่านมา (28 มีนาคม 2568) มีข้อมูลปรากฏในสื่อหลายที่ว่า ประเทศไทยเคยมีแผ่นดินไหวแบบนี้มาแล้วสมัยรัชกาลที่ 7
แล้วแผ่นดินไหวเมื่อครั้งรัชกาลที่ 7 เป็นอย่างไร?
พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวออกมาให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ปี 1930 (พ.ศ.2473) เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลที่ 7 เกิดแผ่นดินไหวขนาดราว 7.4 ริกเตอร์ มีศูนย์กลางที่บริเวณเมืองย่างกุ้งและเมืองพะโค (หงสาวดี) ประเทศพม่า ขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ

เหตุดังกล่าวเป็นผลมาจากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault - สกายฟอล) ซึ่งเป็นรอยเลื่อนเดียวกับที่เป็นสาเหตุของแผ่นดินไหววันที่ 28 มีนาคม 2568 เพียงแต่จุดศูนย์กลางอยู่ทางทิศใต้ลงมา และใกล้กับเมืองไทยของเรามากกว่า
ช่วงเวลาที่เกิดเหตุเป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังเสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีนของฝรั่งเศส (ปัจจุบันคือเวียดนาม ลาว และกัมพูชา) ระหว่างวันที่ 11 เมษายน - 8 พฤษภาคม พ.ศ.2473 โดยระหว่างที่ไม่ประทับในพระนคร โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร

ในวันที่เกิดแผ่นดินไหวนั้นเป็นวันที่มีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินประพาสนครวัด-นครธมพอดีจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว บันทึกถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวในกรุงเทพไว้ว่า
“วันนี้ที่ 5 พฤษภาคม เวลา 20.50 น. ที่กรุงเทพฯ บังเกิดแผ่นดินไหวขึ้นจนถึงนาฬิกา มีลูกตุ้มหยุด สั่นสะเทือนอยู่ราว 13 วินาที จึงสงบ ได้ทราบว่าในพระราชอาณาจักรได้กระเทือนไปตลอดถึงเชียงใหม่และลำปาง แต่ที่สิงคโปร์และปีนังไม่รู้สึกกระเทือนเลย ที่กรุงเทพฯ เสียหายเพียงเล็กน้อยและไม่มีผู้คนต้องอันตรายเลย แต่ที่ร่างกุ้งบังเกิดเสียหาย ตึกพังทะลายทับคนตายหลายหลัง เจดีย์ชเวตากงยอดหักสะบั้นลงมาถึงคอระฆัง”

ในเวลานั้นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ส่วนในพระนคร สิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดก็เห็นจะได้แก่ พระบรมบรรพต หรือ ภูเขาทองวัดสระเกศ ไม่ปรากฎรายงานว่าสิ่งก่อสร้างที่มีความสูงเหล่านี้ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด


ทางด้านสื่อมวลชนปรากฎหลักฐานเป็นรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์บางกอกไทมส์ หนังสือพิมพ์รายวันภาคภาษาอังกฤษในกรุงเทพฯ รายงานข่าวในฉบับวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2473 หรือหนึ่งวันหลังเกิดเหตุ โดยรวบรวมรายละเอียดมาจากทั้งทางราชการและรายงานจากท้องถิ่นต่างๆ
รายงานข่าวจากบางกอกไทมส์ทำให้เราได้เห็นภาพความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น รวมถึงผลกระทบ ความเสียหาย ปฏิกิริยาของผู้คนในสถานที่ต่างๆ ตลอดจนการตอบสนองต่อเหตุการณ์อย่างฉับพลันของทางราชการ

โดยเฉพาะพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ซึ่งรักษาราชการในพระนครขณะที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ประพาสต่างประเทศอยู่นั้น แม้เหตุจะเกิดในช่วงเวลาค่ำคืน ก็ได้ทรงบัญชาการให้ใช้วิทยุกระจายเสียงรายงานสถานการณ์ไปทั่วประเทศทันที และยังขอความร่วมมือให้ราษฎรที่ฟังวิทยุช่วยกันรายงานสถานการณ์ผ่านสถานีโทรเลขที่ใกล้ที่สุดเข้ามายังพระนคร โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการส่งข้อความอีกด้วย

แม้เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นวานนี้จะเกิดขึ้นหลังจากแผ่นดินไหวใหญ่ในรัชกาลที่ 7 ถึงกว่า 95 ปี แต่เหตุการณ์เมื่อวานนี้ก็ช่วยให้เราอ่านประวัติศาสตร์ได้อย่าง “เข้าใจ” มากยิ่งขึ้น ผ่านประสบการณ์ที่มีร่วมกันกับคนในอดีต รวมถึงเป็นบทเรียนช่วยให้เราให้เราวางแผนรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนักในประเทศไทยต่อไปในอนาคต
กว่าแผ่นดินไหวรุนแรงขนาดนี้ ต้องสะสมแรงนานหลายสิบปี รอยเลื่อนเดียวกันอาจไม่ได้ทำให้มีแผ่นดินไหวเร็วๆ นี้ แต่ยังมีรอยเลื่อนอื่นอีกที่ต้องเฝ้าจับตา