Fair Play เมื่องานกลายเป็น ‘ศาสนา’ และหัวหน้ากลายเป็น ‘พระเจ้า’

15 ต.ค. 2566 - 04:30

  • ‘Fair Play’ ภาพยนตร์ออริจินัลบนสตรีมมิงแพลตฟอร์ม Netflix แนวอิโรติก-ระทึกขวัญ ที่ปลดเปลื้องเรื่องราวการทำงานผ่านความสัมพันธ์ของ เอมิลี่และลุค คู่รักในบริษัทการเงินขนาดใหญ่ที่ต่อสู้กันเพื่อการเลื่อนตำแหน่ง

  • เมื่อ ‘งาน’ กลายเป็นเครื่องกำหนดคุณค่าและตัวตนของคนในสังคม เหตุใด ‘ผู้หญิง’ ที่มีความสามารถกลับถูกลดทอนคุณค่า และสาเหตุที่ไม่ควรคบกันในสถานที่ทำงาน

Fair-Play-When-Jobs-Become-Religion-And-Boss-Becomes-God-SPACEBAR-Hero.jpg

“ผมไม่เคยรู้เลยว่าอยากทำอะไรในชีวิตจนกระทั่งได้พบคุณ...ผมไม่เคยเชื่อมั่นในอะไรเลย แต่บริษัทนี้กลายเป็นศาสนาของผม และคุณกลายเป็นพระเจ้าของผม ผมสัญญาว่าถ้าคุณให้โอกาสนี้กับผม ผมจะให้ทุกอย่างที่ผมมี ถือว่านี่คือคำปฏิญาณ ความภักดี ถ้าผมมีมีด ผมจะกรีดเลือดสังเวยเลย” 

ลุคระบายความในใจตลอดการทำงานตแคมป์เบลล์ ประธานบริษัท วัน เครสต์ แคปปิตอล บริษัทวิเคราะห์การเงินและให้คำปรึกษาเรื่องการลงทุนที่เขาทำงานอยู่ ก่อนจะคุกเข่าลงต่อหน้าเพื่ออ้อนวอนขอให้เขาเลื่อนขั้นเขา

Fair-Play-When-Jobs-Become-Religion-And-Boss-Becomes-God-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Netflix

‘Fair Play’ ภาพยนตร์ออริจินัลบนสตรีมมิงแพลตฟอร์ม Netflix แนวอิโรติก-ระทึกขวัญ ผลงานการกำกับและการเขียนบทของ โคลอี โดมอนท์ (Chloe Domont) ที่ได้นักแสดง ฟีบี ไดเนเวอร์ (Phoebe Dynevor) เจ้าของบท เดฟนี ในออริจินัลซีรีส์ชุด Bridgerton และ อัลเดน เออเร็นริช (Alden Ehrenreich) เจ้าของบท ฮาน โซโล ในภาพยนตร์ Solo: A Star Wars Story มารับบทนำ กวาดเสียงวิจารย์เชิงบวกและติด 10 อันดับภาพยนตร์แนะนำในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว 

ภาพยนตร์ Fair Play แม้ดูผิวเผินจะเหมือนภาพยนตร์รักที่ห่ำหั่นกันบนหน้าที่การงานทั่วไป แต่แท้จริงแล้วกลับมีประเด็นหลายอย่างแฝงตัวอยู่อย่างเปิดเผย โดยภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องราวของคู่รัก เอมิลี่ (ฟีบี ไดเนเวอร์) และ ลุค (อัลเดน เอห์เรนไรช์) ที่ตัดสินใจหมั้นหมายกันในงานแต่งงานของน้องชายเขา แม้ทุกอย่างจะดูเป็นใจและหวานชื่นจนน่าอิจฉา แต่ไม่นานนักหลังจากการหมั้นหมาย ความสัมพันธ์ของลุคและเอมิลี่ก็ถูกทดสอบ เมื่อพวกเขาต้องแข่งขันกันเพื่อความก้าวหน้าทางการงาน แต่เอมิลี่กลับเป็นคนเดียวที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง และกลายเป็นเจ้านายของลุค ส่งผลให้ทั้งสองต้องตกอยู่ในวังวนแห่งความอึดอัด ความขุ่นเคือง และความอิจฉาที่จะทำลายทุกสิ่งที่ขวางหน้าในท้ายที่สุด

Fair-Play-When-Jobs-Become-Religion-And-Boss-Becomes-God-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: Netflix

‘หน้าที่การงาน’ ผู้กำหนดคุณค่าและตัวตนของคนในสังคม 

บนโลกที่ผู้คนต่างกำลังใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ เต็มไปด้วยความกดดันจากความคาดหวังและปัญหาจากสรรพสิ่งมากมายรอบตัว แต่ “วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง?” กลับไม่ใช่คำถามที่เราพบเจอได้บ่อยครั้งนักเมื่อพบปะกัน กลับกันคำถามอย่าง “ตอนนี้ทำงานอะไร?” หรือ “ตอนนี้ได้เงินเดือนเท่าไร?” กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนสงสัยและอยากถามเสียมากกว่า 

เอมิลี่และลุค พนักงานจากบริษัทการเงินขนาดใหญ่ต่างใช้ชีวิตในแต่ละวันอย่างเร่งรีบและวิ่งไล่ตามความสำเร็จทางหน้าที่การงาน แม้จะมองเห็นว่าตำแหน่งที่สูงขึ้นหมายถึงภาระหน้าที่และความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นจนเบียดเวลาส่วนตัวและบั่นทอนสุขภาพจิตใจก็ตาม แต่พวกเขาก็ยังต่อสู้และดิ้นรนเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายให้ได้ ด้วยความเชื่อว่าตำแหน่งที่สูงขึ้นหมายถึง ‘การถูกยกระดับตัวตนทางสังคม’ ที่พวกเขาเองก็ไม่อาจเข้าใจ หรือตอบได้ว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น 

ย้อนกลับไปในอดีต ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ได้สามารถเลือกงานของตนเองได้เช่นในปัจจุบัน เรามักจะต้องสานต่อหรือเดินตามรอยเท้าของหัวหน้าครอบครัว เช่น ถ้าพ่อเป็นช่างไม้ เราก็ต้องเป็นช่างไม้ เป็นต้น งานที่ทำจึงเป็นเหมือนหนังสือประวัติศาสตร์แนะนำครอบครัวและที่มาที่ไปของตนเอง 

บริบทของสิ่งเหล่านี้เริ่มเปลี่ยนไปในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา เมื่อผู้คนเริ่มเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้นก็ทำให้มีโอกาสและตัวเลือกในการทำงานที่หลากหลายมากขึ้น งานจึงกลายเป็นเหมือนเครื่องหมายสำคัญของการระบุตัวตนที่แสดงให้เห็นถึงภูมิหลังได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น เมื่อมีคนบอกว่าเป็น ศัลยแพทย์ โดยทั่วไปเราจะมองว่าครอบครัวของเขาน่าจะมีฐานะที่ดีจึงมีกำลังในการส่งเสียให้เขามีการศึกษาที่ดี ซึ่งสิ่งนี้จะส่งผลต่อจุดยืนในสังคมและวิธีการตัดสินบุคคลในภายหลัง

แม้ความคิดนี้จะหยั่งรากอยู่ในสังคมมาอย่างยาวนาน แต่นี่อาจไม่ใช่เรื่องที่ดี หรือควร เพราะคุณค่าของคนไม่ใช่สิ่งที่สามารถตัดสินได้ด้วยเงินทองหรือความสำเร็จ ยิ่งไปกว่านั้นหากเราเป็นหนึ่งในผู้คนที่หลงไปกับชุดความเชื่อนี้และผูกคุณค่าในตัวเองเข้ากับอาชีพการงาน ความสำเร็จและความล้มเหลวที่เราได้รับก็จะส่งผลโดยตรงต่อความคิดและจิตใจของเราเอง วันหนึ่งหากเราไม่ประสบความสำเร็จอย่างตั้งใจ เราอาจรู้สึกท้อแท้หรือไร้ค่า และอาจพบว่านั่นกลายเป็นวิกฤตของการมีตัวตนอยู่ก็เป็นได้

Fair-Play-When-Jobs-Become-Religion-And-Boss-Becomes-God-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: Netflix

การถูกลดทอนคุณค่าในการทำงานเพียงเพราะเป็น ‘ผู้หญิง’ 

“อยากรู้เลยว่าเธอเลื่อนตำแหน่งเร็วได้อย่างไร?” 

“คุณคิดว่าไง?” 

“ผมคงไม่ตัดเรื่องนั้นออกไป บ้าจริง! ผมไปแปลงเพศดีไหม?” 

พนักงานในบริษัทต่างพากันซุบซิบเรื่องที่เอมิลี่ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นหัวหน้าอย่างรวดเร็ว พวกเขาพากันพูดคุยอย่างสนุกปากว่าการเลื่อนขั้นของเธออาจไม่ได้มาด้วยความสามารถ... 

แม้ในปัจจุบันผู้หญิงจะเริ่มขึ้นมามีบทบาทสำคัญในสังคมมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังมีหลักฐานจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่ามีผู้หญิงอยู่อีกไม่น้อยที่ยังคงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายทางด้านการงาน และยังคงมีช่องว่างระหว่างรายได้ของผู้หญิงและผู้ชายอยู่ แม้จะน้อยกว่าเมื่อหลายปีก่อน แต่ก็ยังคงมีอยู่อย่างมีนัยยะสำคัญ ผู้หญิงยังคงมีบทบาทน้อยในบางอุตสาหกรรมและอาชีพ และผู้หญิงจำนวนมากยังคงต้องดิ้นรนเพื่อให้สามารถทำงานนอกบ้านและดูแลเรื่องภายในบ้านไปพร้อมๆ กันได้  

การก้าวหน้าทางหน้าที่การงานของผู้หญิงอาจถูกขัดขวางด้วยโอกาสที่ไม่เท่าเทียมและกฎเกณฑ์ บรรทัดฐานในสถานที่ทำงานที่ไม่สนับสนุนความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน

Fair-Play-When-Jobs-Become-Religion-And-Boss-Becomes-God-SPACEBAR-Photo04.jpg
Photo: Netflix

ย้อนกลับไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ได้ออกไปทำงานนอกบ้าน หรือผู้หญิงที่ทำงานนอกบ้านส่วนใหญ่ก็มักจะยังไม่ได้แต่งงาน ในยุคนั้น มีผู้หญิงเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่ทำงาน และร้อยละ 5 เป็นผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว เนื่องจากส่วนใหญ่ต้องออกจากงานเพื่อไปดูแลบ้าน สามี และลูก นายจ้างจึงไม่นิยมให้โอกาสผู้หญิงในการเลื่อนขั้นหรือจ้างงานเท่าไรนัก เพราะมีระยะการทำงานสั้นกว่าผู้ชาย 

ด้วยภาพจำและความเชื่อที่ว่าผู้หญิงเข้าถึงการศึกษาได้น้อย มีหน้าที่แค่ดูแลบ้าน คอยปรนิบัติสามี และมีระยะการทำงานสั้นกว่าผู้ชาย ทำให้ในปัจจุบัน แม้ผู้หญิงจะมีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนวิชาชีพด้วยจำนวนที่ใกล้เคียงกันแล้ว แต่พวกเธอก็ยังแทบไม่มีโอกาสที่จะก้าวขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดในสาขาอาชีพของตน ยิ่งไปกว่านั้น พบว่าผู้หญิงที่ทำงานเต็มเวลายังคงมีรายได้น้อยกว่าผู้ชายโดยเฉลี่ยประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์ต่อสัปดาห์ แม้ว่าชายและหญิงคนนั้นจะมีความสามารถและภูมิหลังใกล้เคียงกันก็ตาม 

ปัจจัยหลักอีกประการหนึ่งที่ส่งผลต่อความล้มเหลวของผู้หญิงที่มีทักษะสูงเหล่านี้ในการก้าวไปสู่จุดสูงสุดในสายอาชีพและได้รับค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกันคือ งานระดับสูงในสาขาต่างๆ เช่น กฎหมายและธุรกิจ ต้องใช้เวลาทำงานนานกว่าปกติ และมีบทลงโทษสำหรับการหยุดงานระยะยาว ซึ่งสิ่งนี้จะส่งผลต่อการลาคลอดหรือลาเลี้ยงบุตร ทำให้หลายคนอาจท้อใจจนอยากล้มเลิกการวิ่งไล่ตามเส้นทางอาชีพของตัวเองก็เป็นได้  

แม้ฟังดูเป็นเรื่องยาก แต่ก็ใช่ว่าผู้หญิงจะไม่มีโอกาส มาร์กาเร็ต แทตเชอร์, เทย์เลอร์ สวิฟต์, เอลเลน ดีเจนเนอริส บุคคลเหล่านี้ต่างเป็นผู้นำในสาขาอาชีพของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น แม้ในช่วงแรกผู้คนจะเคลือบแคลงความสามารถของพวกเธอ เช่นเดียวกับที่เอมิลี่พบเจอในภาพยนตร์ แต่พวกเธอก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าการได้มาซึ่งชื่อเสียง เกียรติยศ และเงินทองล้วนเกิดขึ้นจากความพยายามและการทำงานอย่างหนัก ‘เพศสภาพ’ อาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการได้รับโอกาสทางการงาน แต่ไม่อาจหยุดยั้งศักยภาพที่จะแสดงออกมาให้เห็นได้

Fair-Play-When-Jobs-Become-Religion-And-Boss-Becomes-God-SPACEBAR-Photo05.jpg
Photo: Netflix

ทำไมถึงไม่ควร ‘คบ’ กันในสถานที่ทำงาน 

เราอาจจะเคยเห็นเรื่องกฏกการห้ามคบกันในที่ทำงานจากภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น ATM เออรักเออเร่อ เป็นต้น ในภาพยนต์เรื่อง Fair Play เองก็เช่นกัน เอมิลี่และลุค ต่างแอบคบกันเงียบๆ โดยไม่ให้เพื่อนร่วมงานและบริษัทรับรู้ แม้ทั้งสองจะถึงขั้นวางแผนแต่งงานกันแล้วก็ตาม แต่เรื่องราวความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็ต้องถูกสั่นคลอนเมื่อเอมิลี่ได้เลื่อนขั้นขึ้นมาเป็นหัวหน้า และลุคต้องอยู่ภายใต้การดูแลของเธอ เรื่องราวโศกนาฏกรรมทางความสัมพันธ์และการงานของทั้งคู่จึงได้เริ่มขึ้น 

การคบกันในที่ทำงานอาจดูเป็นเรื่องดีสำหรับคู่รักที่จะได้พบหน้าและใช้เวลาอยู่ด้วยกันตลอดเวลา แต่ในด้านของการทำงาน อาจไม่ใช่เรื่องดีสักเท่าไร หากเอาความรู้สึกมายึดโยงกับความรับผิดชอบ ประสิทธิภาพของการทำงานก็จะลดลงและไม่คงที่ เช่น ลุคที่รู้สึกอึดอัด กดดัน และด้อยค่าตัวเองที่แฟนสาวของเขาได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าที่คอยสั่งงานเขาก็ทำให้เกิดการคำนวณผลลัพธ์ที่ผิดพลาด และทำให้บริษัทสูญเสียเงินไปถึง 25 ล้านดอลลาร์ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น หากคู่รักเกิดมีปัญหากัน สิ่งนี้อาจไม่ได้ส่งผลแค่กับคน 2 คน หรือชิ้นงาน แต่ยังส่งผลต่อบรรยากาศในการทำงานของออฟฟิศด้วย  

Fair Play อาจไม่ใช่ภาพยนตร์ที่พูดถึงการเล่นเกมห่ำหั่นกันทางความรักและการงานเพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นภาพยนตร์ที่กำลังตั้งคำถามว่า ‘จะเป็นอย่างไรหากผู้หญิงได้รับโอกาสการทำงานเท่ากับผู้ชาย?’ หรืออาจจะกำลังแสดงภาพความจริงที่อาจเกิดขึ้นได้ว่าผู้ชายจะรู้สึกอย่างไรหากการแข่งขันทางหน้าที่การงานไร้ซึ่งคำว่า ‘เพศ’ เข้ามาเกี่ยวข้อง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์