Black Humor มังงะตลกร้าย มุมมองจากคนชายขอบของ ฟูจิโกะ เอ. ฟูจิโอะ

31 สิงหาคม 2566 - 08:08

fujiko-fujio-black-humor-SPACEBAR-Thumbnail
  • Black Humor เป็นหนึ่งในซีรีส์มังงะสุดดาร์กของ ฟูจิโกะ เอ. ฟูจิโอะ หรือ โมโต อะบิโกะ ที่ชาวไทยน้อยคนจะรู้จัก

  • อะบิโกะได้รับฉายาว่า ‘Dark Fujiko’ เนื่องจากเนื้อหาที่อะบิโกะนำเสนอนั้นเป็นเรื่องราวสะท้อนความดำมืดของจิตใจมนุษย์

ถ้าใครติดตามผู้สร้างโดราเอมอน ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ (Fujiko Fujio) ไม่ใช่คนหนึ่งคน แต่เป็นนามปากกาของนักวาดสองคน นั่นคือ ฮิโรชิ ฟูจิโมโตะ (Hiroshi Fujimoto) และ โมโต อะบิโกะ (Motoo Abiko) โดยคนแรกจะใช้นามปากกาเป็น ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ (Fujiko F. Fujio) ส่วนคนที่สองใช้เป็นชื่อ ฟูจิโกะ เอ. ฟูจิโอะ (Fujiko A. Fujio) และถ้าพูดตามความจริง คนที่เขียนโดราเอมอนคือฟูจิโมโตะคนเดียวเท่านั้น  

อย่างไรก็ตาม ชาวไทยเองไม่ค่อยรู้จักมักคุ้นผลงานของอะบิโกะกันมากเท่าไร ผลงานที่ดังที่สุดของเขาคือ นินจาฮัตโตริ (Ninja Hattori) นินจาเพื่อนรักที่เข้ามาช่วยเหลือและดูแล เคนนิจิ (Kenichi) เด็กวัย 10 ขวบ ที่มีปัญหาครอบครัวและโรงเรียนเพราะความขี้เกียจ ซึ่งฟังแล้วเรื่องราวไม่ต่างจากโดราเอมอนกับโนบิตะมากนัก 

จริงอยู่ที่ทั้งฟูจิโมโตะ และอะบิโกะเองเป็นนักสรรค์สร้างการ์ตูนในตำนานที่สร้างภาพความทรงจำที่ดีในวัยเด็กหลายคน แต่เบื้องหลังแรงบันดาลใจ และสารที่จะสื่อของพวกเขานั้นล้วนเป็นเรื่องที่สะท้อนสังคมญี่ปุ่นทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่นเรื่องโดราเอมอน แม่ของโนบิตะ หรือ ทามาโกะ โนบิ (Tamako Nobi) เป็นการสะท้อนภาพการเลี้ยงดูของแม่บ้านชาวญี่ปุ่นที่จำเป็นต้องเคร่งครัด ดูแล และสั่งสอน ขณะที่พ่อของโนบิตะจะไม่ค่อยถูกพูดถึงนัก เพราะเป็นคนที่ในครอบครัวที่ต้องออกไปทำงานหาเงินเพื่อเลี้ยงดู การเข้ามาของโดราเอมอน หุ่นยนต์แมวที่มีของวิเศษอันหลากหลาย นำเสนอช่วงขาขึ้นของเทคโนโลยี และพยายามมอบภาพเทคโนโลยีในเชิงบวก 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3kjnrgkqmR0FfkaDRSG37t/470ad2598d9ca00e8a7ed24c0c2bf79e/fujiko-fujio-black-humor-SPACEBAR-Photo02__1_
Photo: Nippon
ผลงานของฟูจิโมโตะยังไม่เท่าไร แต่คนที่ติดตามอ่านผลงานของอะบิโกะ จะทราบดีว่าเนื้อหาของเขามีความตลกร้ายมากกว่างานของฟูจิโมโตะ โดนผลงานที่มีชื่อเสียงประมาณหนึ่งคือ วาราอุ เซรุสึมัน (Warau sērusuman)  หรือ The Laughing Salesman เป็นมังงะวันช็อต (จบในตอนเดียว) หลายเรื่องในเล่มเดียว บนหน้าปกเป็นภาพชายสวมหมวก ถือกระเป๋า ยิ้มทะเล้นอย่างมีเลศนัย และยังมีผลงานอีกหลายเรื่องที่พยายามเจาะลึกสำรวจความดำมืดของจิตใจมนุษย์ด้วยการสะท้อนมันออกมาด้วยมุกตลกร้ายในมังงะ หลายๆ คนชอบนิยามเขาว่า ‘ฟูจิโกะดำมืด’ (dark Fujiko) เพราะเขามักมีการสอดแทรกเรื่องราวดำมืดอะไรบางอย่าง แม้แต่ในเรื่องนินจาฮัตโตริ ก็มีตัวละครที่หลุดมาจากโลกที่ดำมืดเช่นกัน 

อะบิโกะเคยบอกเล่าเกี่ยวกับความชื่นชอบในเรื่องดาร์กๆ ในหนังสืออัตชีวประวัติ ‘Still Walking the Road to Manga at Age 81’ ว่า “ผมชอบเรื่องราวที่มันท้าทายชีวิตเสมอ เหมือนหนังสือของ โรอัลด์ ดาห์ล หรือ สแตนลีย์ เอลลิน หนังสือของพวกเขาเต็มไปด้วยตัวละครที่ลึกลับและแปลกประหลาด  ผมคิดว่านักอ่านมังงะญี่ปุ่นตามนิตยสารอย่าง Big Comic จะสนุกไปกับมุกตลกร้ายอะไรแบบนี้ และนี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของผลงาน คุโรอิ เซรุสึมัน (Black Salesman)” 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7ANeEYJbOukQYg15cDViWZ/8a8b3372a61de65aedf9234e12eb2389/fujiko-fujio-black-humor-SPACEBAR-Photo03__1_
Photo: AFP
Black Salesman เป็นหนึ่งในเรื่องที่ปรากฎอยู่ในซีรีส์ Laughing Salesman ปรากฎครั้งแรกในนิตยสาร Big Comic ประจำเดือนพฤศจิกายน ปี 1968 โดยมีผลตอบรับที่ดีมาก อะบิโกะตั้งใจว่าอยากให้ผู้อ่านเป็นผู้ใหญ่มากกว่าวัยรุ่น เรื่องเด่นๆ ที่นิยมมากคือเรื่องของนักเรียนชั้นมัธยมที่ชื่อ อุรามิ มะตะโร (Urami Mataro) ที่ถูกรังแกในโรงเรียน จนวันหนึ่งเขาได้กลายเป็นผู้บูชาซาตาน ทำให้เขามีพลังเหนือธรรมชาติ และเขาใช้มันโจมตีคนที่รังแกเขาในโรงเรียน  

“ทำไมเรื่องมะตะโรฮิตมากงั้นเหรอ ส่วนตัวผมคิดว่าผมมีประสบการณ์เรื่องถูกรังแกมาโดยตลอด ตอนที่ผมยังเด็ก ผมไม่ค่อยเก่งเรื่องกีฬา และก็ไม่ได้ฉลาดขนาดนั้นด้วย ซึ่งทำให้ผมรู้สึกแย่กับตัวเองเหมือนกัน ในโรงเนรียน พวกเด็กที่ตัวโตกว่าจะชอบแย่งหนังสือผมไป และมันทำให้ผมรู้สึกแย่ลงมากกว่าเดิมอีก ถ้าพูดโดยทั่วๆ ไป ในโลกของเด็กๆ น่ะ คนที่ถูกรังแกมีมากกว่าคนที่ชอบรังแกเสียอีก ผมเลยตัดสินใจเขียนมังงะจากมุมมองเหล่านั้น จึงเป็นที่มาของเรื่องมะตะโร” อะบิโกะกล่าว 

นอกจากเรื่องมะตะโรยังมีเรื่องที่สะท้อนสังคมในปัจจุบัน อย่างชายที่ตกหลุมรักหญิงสาวที่สวมหน้ากากอนามัย และสารภาพรักว่าไม่ว่าเธอจะเป็นอย่างไร เขาก็จะรักด้วยใจจริงไม่ใช่หน้าตา ซึ่งหลังจากนั้นหญิงสาวก็ถอดหน้ากากออก เผยให้เห็นใบหน้าอัปลักษณ์จนชายคนนั้นต้องตกใจ และยังมีเรื่องที่สะท้อนให้เห็นปัญหาของครอบครัวที่เลี้ยงประคบประหงมเกินไปจนทำให้ลูกไม่มีภูมิต้านทานต่อสังคม พอถึงวัยทำงานเขาไม่สามารถไปทำงานในสังคมการทำงานญี่ปุ่นได้ รวมถึงแลดูเป็นตัวประหลาดในสังคม เขาแอบอ้างว่าตัวเองไปทำงาน แต่จริงๆ ตัวเองแอบไปนั่งอยู่ในสวนจนกระทั่งพ่อแม่จับได้ อย่างไรก็ตาม เขากลายเป็นโรคฮิคิโคโมริ เก็บตัวอยู่ในห้องจนวันตาย  

นักอ่านมังงะมักยกให้อะบิโกะเป็นผู้บุกเบิกมังงะสะท้อนสังคมญี่ปุ่นก่อนใคร แต่อันที่จริงนักเขียนมังงะหลายคนมีวิธีการสะท้อนสังคมญี่ปุ่นที่แตกต่างกัน แม้แต่ จุนจิ อิโตะ (Junji Ito) ไม่ได้เขียนแต่เรื่องสยองขวัญให้น่ากลัวอย่างเดียว แต่เรื่องบางเรื่องยังนำเสนอปัญหาในสังคมญี่ปุ่นอีกด้วย เช่น เรื่องผีหัวลูกโป่ง ที่สะท้อนเรื่องการฆ่าตัวตายภายใต้ความเคร่งเครียดของคนญี่ปุ่น โดยให้ตัวแทนเป็นไอดอลสาวที่รับแรงกดดันจากสังคมรอบข้าง เป็นต้น 

แน่นอนว่าแม้แต่ตัวอะบิโกะเองก็ยังยอมรับว่าตัวเองมีฝีมือในการวาดน้อยกว่าฟูจิโมโตะ แต่กลายเป็นว่าการที่เขายอมรับในจุดอ่อนของตัวเองนั้นนำไปสู่การเป็นนักเล่าเรื่องที่น่าจดจำ และเป็นนักวาดการ์ตูนในวงการมังงะยุคแรกเริ่มที่ส่งอิทธิพลให้กับนักวาดคนอื่นๆ ทั่วโลก สิ่งสำคัญที่เขาพยายามเน้นย้ำ คือการมองสังคมในมุมมองของผู้ถูกรังแก หรือผู้ที่มีฐานะชั้นล่างสุดของสังคม 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์