ในยุคที่เกิดวิกฤตสิ่งแวดล้อม อนาคตของวันลอยกระทงจะเป็นอย่างไรต่อไป?

27 พ.ย. 2566 - 02:00

  • วันลอยกระทง เดิมเป็นประเพณีที่ชาวไทยจะออกมาแสดงบุญคุณที่มีต่อแหล่งน้ำ ปัจจุบันกลับกลายเป็นว่าเป็นประเพณีที่ก่อให้เกิดน้ำเน่าเสียมากที่สุด สุดท้ายแล้วเราควรทำอย่างไรต่อไป?

future-of-loy krathong-tradition-SPACEBAR-Hero.jpg

ลอยกระทง เป็นประเพณีที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองเรามาข้านาน มีความเชื่อว่าการลอยกระทงคือการแสดงบุญคุณที่มีต่อแม่น้ำที่เป็นแหล่งทรัพยากรอันสำคัญในการดำรงชีพในสมัยโบราณ แน่นอนว่าเมื่อยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้ชาวไทยมีมุมมองต่อประเพณีนี้แตกต่างไป จากเดิมที่มองเห็นความสำคัญของแม่น้ำ กลับกลายเป็นว่าวันลอยกระทงเป็นประเพณีที่ทำต่อๆ กันมา และหลายคนกลับเชื่อว่าการลอยกระทงคือการไหว้พระแม่คงคา และสามารถขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ 

ด้วยความเชื่อที่บิดเบือนไปทำให้จุดประสงค์ของประเพณีเปลี่ยนไป ผู้คนเริ่มลอยกระทงมากขึ้นตามยุคสมัย ด้วยจำนวนกระทงที่มากขึ้น ทำให้แหล่งน้ำเกิดเสียหายมากขึ้น เป็นว่าจากที่เราแสดงความขอบคุณกับแม่น้ำ กลายเป็นการสาปแช่งแม่น้ำเองเสียนี่

future-of-loy krathong-tradition-SPACEBAR-Photo01.jpg

เมื่อพูดถึงตัวประเพณีวันลอยกระทง ปัจจุบันไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าเกิดขึ้นเมื่อใดกันแน่ มีความเชื่อกันว่าวันลอยกระทงน่าจะเกิดในช่วงสุโขทัย ตามตำนานที่เล่ากันว่า นางนพมาศเป็นผู้คิดค้นการลอยกระทงแทนการลอยโคม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงเรื่องเล่าที่ปรากฎอยู่บนพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 3 

ถึงแม้จะไม่มีวันลอยกระทงอย่างที่เรารู้จักกัน แต่ในศิลาจารึกและเอกสารต่างๆ ก็มีการกล่าวถึงประเพณีที่มีลักษณะคล้ายกับการลอยกระทง  โดยในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเรียกว่า ‘เผาเทียน เล่นไฟ’ ซึ่งมีความหมายกว้างๆ ว่า ทำบุญไหว้พระ แม้แต่ในสมัยอยุธยายังมีการเรียกว่า ชักโคม ลอยโคม หรือแขวนโคม เป็นต้น 

คำว่า ‘ลอยกระทง’ ได้เป็นที่แพร่หลายในช่วงยุครัตนโกสินทร์ และกลายเป็นประเพณีไทยที่จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่พระจันทร์เต็มดวงบนท้องฟ้าพอดิบพอดี ปัจจุบันประเพณีก็ยังคงจัดอย่างต่อเนื่อง และเป็นเรื่องยากเช่นกันที่จะมองเห็นทิศทางของการจัดประเพณีในอนาคต

future-of-loy krathong-tradition-SPACEBAR-Photo02.jpg

เนื่องจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ประชากรที่มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ประเพณีวันลอยกระทงกลายเป็นประเพณี ‘วันน้ำเสีย’ ปัจจัยหลักมาจากกระทงนับหมื่นที่ลอยละล่องอยู่บนผิวน้ำ ยิ่งสมัยนี้กระทงเริ่มทำจากวัสดุย่อยสลายยาก อย่างเทียน ธูป เข็มหมุด รวมถึงพลาสติก (ที่บางคนใช้ตกแต่ง) อันที่จริง กระทงสามารถย่อยสลายไปตามธรรมชาติได้หากใช้เพียงก้านธูป ใบตอง ต้นกล้วย ดอกไม้ และก้านไม้แทนเข็มหมุด ถ้าเป็นยุคก่อนที่คนลอยกระทงกันน้อยอาจพอได้ แต่ถ้าเป็นยุคนี้ ต่อให้ใช้วัสดุย่อยสลายได้ก็ยังมีปริมาณที่เยอะมากเกินไปที่จะย่อยสลายโดยไม่ทำให้แหล่งน้ำเน่าเสียไปเสียก่อน 

ด้วยการที่ยังอยากให้ประเพณียังสืบต่อไป จึงเกิดไอเดียการทำกระทงขนมปังเพื่อจะได้เป็นอาหารให้กับปลา แต่ท้ายที่สุดก็ยังมีขยะอย่างอื่นเช่นธูปเทียน หรือปริมาณขนมปังที่มากเกินไปทำให้ปลาไม่ยอมกิน แถมลอยค้างนานๆ ขนมปังก็สามารถเน่าเสียได้เช่นกัน บางคนมีไอเดียที่ดีกว่าคือทำกระทงน้ำแข็งที่สามารถละลายไปกับแม่น้ำได้เลย

future-of-loy krathong-tradition-SPACEBAR-Photo03.jpg

ข้อมูลจากสำนักข่าวบีบีซีระบุว่า ปริมาณกระทงที่กรุงเทพมหานครเก็บได้หลังเทศกาลในรอบ 5 ปี ยังคงเฉียด 1 ล้านใบทุกปี อย่างปี 2561 กทม. จัดเก็บกระทงได้ 841,327 ใบ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.7 ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายได้ โดยกระทงที่ทำจากโฟมคิดเป็นร้อยละ 5.3 

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านหรือแม่ค้าก็ยังผลิตทำกระทงออกมาทุกปี โดยหวังว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่งในช่วงเทศกาล ประชาชนที่ยังไม่ได้ตระหนักที่ผลเสียยังคงซื้อกระทงเพื่อนำไปลอยอยู่ คนบางกลุ่มอ้างว่าประเพณีไทยต้องสืบต่อไป อาศัยความเคยชินที่ครอบครัวปฏิบัติกันมานาน ทางด้าน กทม. ที่ผ่านมาก็มีการย้ำเตือนทุกครั้งเกี่ยวกับปัญหาน้ำเสียที่เกิดจากการลอยกระทง แต่ก็ยังไม่มีมาตรการควบคุมที่เด็ดขาดมากพอ

future-of-loy krathong-tradition-SPACEBAR-Photo04.jpg

 นอกจากกระทงที่ผลิตด้วยวัสดุย่อยสลายที่หลากหลายแล้ว บางคนอาจเคยเห็นการลอยกระทงออนไลน์ที่ถูกทำขึ้นโดยเว็บไซต์ Sanook เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสืบสานประเพณีไทยด้วยเทคโนโลยี บางคนเลือกลอยกระทงด้วยการลอยกระทงบนกะละมังที่บ้าน หรือสระน้ำที่บ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงการลอยกระทงในแหล่งน้ำส่วนรวม  

คิดอีกมุมหนึ่ง หากเราต้องการสืบสานประเพณีวันลอยกระทงให้คงอยู่ต่อไป เราควรคิดเกี่ยวกับอนาคตของประเพณีกันให้มากขึ้น บางทีอาจไม่ใช่พวกเราในฐานะประชาชนที่เป็นฝ่านตระหนักอยู่ฝ่ายเดียว แต่เป็นฝ่ายรัฐบาล และเทศบาล ที่ควรออกนโยบายเกี่ยวกับประเพณีนี้ จะพอเป็นไปได้หรือไม่ หากจะหยุดทุกคนห้ามลอยกระทง และให้ตัวแทนของเมือง หรือหมู่บ้าน ออกมาลอยกระทงแทน โดยให้คนในพื้นที่ออกมาร่วมกิจกรรม อย่างนี้เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อหยุดปัญหาน้ำเน่าเสียที่เกิดขึ้นทุกปี และประหยัดงบในการกำจัด หรือเก็บกวาดเศษขยะเน่าเสียบนแม่น้ำ 

ทั้งนี้ทั้งนั้นใครก็ตามที่ยังลังเลว่าจะลอยกระทงหรือไม่ลอยดี อยากให้นึกถึงความเป็นมาของประเพณีนี้ว่าเดิมทีการลอยกระทงเป็นการขอบคุณแหล่งน้ำ หรือขอบคุณพระแม่คงคาสำหรับทรัพยากรอันล้ำค่า จะไม่ผิดแปลกไม่หน่อยหรือ หากเราจะขอบคุณแม่น้ำด้วยการทำให้แม่น้ำเน่าเสีย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์