พระพิฆเนศ เป็นเทพที่ถูกกล่าวขานว่าเป็นเทพแห่งศิลปะมาเนิ่นนานหลายสิบปี คตินี้ไม่ใช้คติที่คนอุปโลกน์ขึ้นมาเอง ถ้าเราสังเกตให้ดี ตามพื้นที่ต่างๆ ที่เกี่ยวกับศิลปะ และความบันเทิง จะมีเทวรูปพระพิฆเนศประดิษฐานอยู่ ไม่ว่าจะเป็นตราศิลปากร เทวรูปพระพิฆเนศที่บริษัทเวิร์กพอยท์ ตามแกลเลอรีศิลปะ หรือตามโรงเรียนศิลปะต่างๆ แต่หลายคนอาจต้องประหลาดใจไปตามๆ กันเมื่อรู้ว่าความจริงแล้ว พระพิฆเนศไม่ใช่เทพศิลปะ อีกทั้งไม่เคยเกี่ยวกับศิลปะใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่ชาวไทยเท่านั้นที่นับถือพระพิฆเนศเป็นเทพแห่งศิลปะ ซึ่งคติความเชื่อนี้เริ่มมาไม่นานกว่า 100 ปีเสียด้วยซ้ำ
ถ้าไม่ใช่พระพิฆเนศ ใครที่เป็นเทพแห่งศิลปะ
ในอินเดียโบราณมีเทพหลายองค์ที่ถูกบูชายกย่องให้เป็นเทพแห่งศิลปะ แต่สำหรับยุคอินเดียโบราณคงไม่สามารถพูดได้ว่าเป็นเทพแห่งศิลปะไปเสียทีเดียว หากจะพูดให้ถูกต้องควรเป็นเทพแห่งดนตรีและนาฏศิลป์
ชาวฮินดูยกย่องเรื่องการรำและดนตรีเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะสร้างความบันเทิงให้กับคนในชุมชน ยังเป็นวิธีการเพื่อแสดงความเคารพแก่เทพเจ้าอีกด้วย ดังนั้นแล้วในพระคัมภีร์ในแต่ละยุคจะมีการกล่าวถึงความสำคัญของการร่ายรำด้วยเรื่องราวตำนานต่างๆ อีกทั้งมีการกำหนดด้วยว่าเทพเจ้าองค์ใดอุปถัมภ์เรื่องศิลปะการร่ายรำ และดนตรีมากที่สุด
ในคัมภีร์พระเวท ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดในอินเดียมีการจารึกเกี่ยวกับ พระสรัสวดี ว่าเป็นเทพแห่งศิลปวิทยาการทั้งปวง รวมถึงศิลปะการแสดง และการศึกษาเล่าเรียน แม้แต่ในปัจจุบันเอง พระสรัสวดีก็ยังถูกบูชาในฐานะเทพแห่งศิลปวิทยาการ และในวันวสันต์ปัญจมี (วันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี) ซึ่งเป็นวันไหว้พระสรัสวดีโดยเฉพาะ ผู้ประกอบอาชีพทางศิลปะทุกสาขาจะนำอุปกรณ์และเครื่องมือทำมาหากินของตนไปรับการเจิมหน้าเทวรูปเพื่อความสิริมงคล

ในคัมภีร์ยุคหลังของอินเดีย หรือที่เรียกกันว่ายุคปุราณะ เริ่มมีนิกายการบูชาเทพแตกย่อยออกไปอีก เช่นเดียวกันกับการยกย่องเทพแห่งศิลปะการแสดงก็ถูกเปลี่ยนไปด้วย อย่างในไวษณพนิกาย หรือนิกายบูชาพระวิษณุ พระนารทถูกยกย่องให้เป็นครูแห่งศิลปะการแสดง ซึ่งปัจจุบันยังคงมีให้เห็นในประเทศไทย และเป็นรู้จักในชื่อ ‘พ่อแก่’ หรือ ‘ฤๅษีนารอด’ ที่มักถูกบูชาในรูปแบบหัวโขนไว้สำหรับสวมใส่ให้ความสิริมงคลทุกครั้งก่อนมีการแสดง หรือเปิดกองถ่ายละครในไทย คติความเชื่อนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้รับอิทธิพลไวษณพนิกายมามาก สังเกตได้จากชื่อ พระนารายณ์มหาราช คนไทยมีความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์ไทยเป็นเหมือนดั่งพระวิษณุอวตารมาเกิด
อีกหนึ่งนิกายคือไศวนิกาย หรือนิกายบูชาพระศิวะ มีการยกย่องว่าพระศิวะคือเทพแห่งการร่ายรำ เป็นนาฏราชผู้ประดิษฐ์คิดค้นท่ารำคนแรกในจักรวาล ว่ากันว่าเสียงเพลงจากกลองพระศิวะนั้นยังเป็นที่มาของเสียงในภาษาสันสกฤตอีกด้วย ชาวฮินดูเชื่อว่าพลังงาน วัตถุและสสาร ภาพมายา และการทำลายล้าง ในจักรวาลเกิดขึ้นจากท่าร่ายรำของพระศิวะ
พระพิฆเนศเป็นเทพแห่งการเริ่มต้น ไม่ใช่เทพแห่งศิลปะ
ตามคติความเชื่อฮินดูดั้งเดิม พระพิฆเนศเป็นเทพแห่งการเริ่มต้น กระบวนการ อุปสรรค และความสำเร็จ ดังนั้นชาวฮินดูมักกราบไหว้บูชาพระพิฆเนศก่อนเริ่มทำอะไรสักอย่าง เช่น พิธีกรรม การศึกษา การประกอบสัมมาอาชีพ หรือการเริ่มลงมืองานต่างๆ เพื่อให้การกระทำ หรือสิ่งนั้นๆ ผ่านไปได้อย่างราบรื่น แม้แต่การประกอบพิธีกรรมซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญที่สุดก็ยังต้องไหว้พระองค์เป็นอันดับแรก

บางคนอาจจะเคยเห็นปางพระพิฆเนศในท่าทางร่ายรำ อาจคิดไปว่าพระพิฆเนศอาจมีความเกี่ยวข้องกับศิลปะการแสดง แต่จริงๆ แล้วปางร่ายรำปรากฎอยู่เป็นปกติสำหรับเทพเจ้าฮินดู เพราะการร่ายรำมีความสำคัญสำหรับเทพเจ้า ผู้คน และจักรวาล เพราะไม่มีเพียงเทวรูปพระพิฆเนศในปางร่ายรำ แต่ยังมีพระศิวะ พระนารายณ์ พระพรหม และเทพองค์อื่นๆ อีกมาก
ทำไมมีเพียงชาวไทยที่นับถือพระพิฆเนศในฐานะเทพแห่งศิลปะ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เป็นคนแรกที่นำพระพิฆเนศเข้ามากราบไหว้แทนพระสรัสวดี ว่ากันว่าพระองค์ชื่นชอบพระพิฆเนศมากเป็นพิเศษ บวกกับความนิยมกราบไหว้พระสรัสวดีเริ่มเสื่อมถอย
วงดนตรีราชสำนักเป็นการยึดถือวัฒนธรรมเดิมจากอินเดีย ดังนั้นจึงมีกราบไหว้พระสรัสวดีตามธรรมเนียม แต่หลังจากมีวงปี่พาทย์ ซึ่งเป็นดนตรีชาวบ้านเข้ามา จารีตในแบบอินเดียก็เริ่มเสื่อมถอยลง ยิ่งไปกว่านั้นหลังจากที่ปี่พาทย์เริ่มเข้ามามีบทบาทในราชสำนักเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 และมีการวางรากฐานให้ไหว้เทพบรมครูทั้งในทางดนตรีและนาฏศิลป์ ได้แก่ พระภรตมุนี และพระนารท ทำให้ธรรมเนียมการกราบไหว้พระสรัสวดีจางหายไปในที่สุด

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ด้วยความชื่นชอบพระพิฆเนศเป็นส่วนพระองค์ พระองค์ได้สั่งให้สร้างเทวาลัยคเณศร์ขึ้นมาในพระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งเป็นพระราชฐานที่เสด็จประทับทรงงานด้านหนังสือและการละคร และเมื่อทรงตั้งวรรณคดีสโมสร ก็ทรงอัญเชิญพระพิฆเนศเป็นตราสัญลักษณ์ประจำ พอมีการก่อตั้งกรมศิลปากร ก็ได้รับดวงตราพระพิฆเนศของวรรณคดีสโมสรมาเป็นตราประจำกรม พระพิฆเนศจึงถูกสร้างภาพให้กลายเป็นเทพแห่งศิลปะไปในที่สุด

อย่างไรก็ตาม หากว่ากันตามความเชื่อ การบูชาเทพเจ้ามักเป็นเรื่องที่ดีเสมอ โดยเฉพาะกับสภาพจิตใจของผู้เลื่อมใสศรัทธา แม้แต่พราหมณ์ขจร นาคะเวทิน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิพระพิฆเนศให้คำจำกัดความสั้นๆ ว่า “พระคเณศ (พิฆเนศ) ไม่ใช่เทพแห่งศิลปะ ท่านเป็นเทพสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง”
แต่ถ้าหากจะยึดตามคติเดิมของชาวฮินดู ใครที่อยากขอพรและกราบไหว้เพื่อความสิริมงคลในเรื่องศิลปะ ดนตรี และนาฏศิลป์ ทางที่ดีควรกราบบูชาพระสรัสวดี แต่ถ้าหากจะไหว้พระพิฆเนศก็คงไม่เสียหายอะไร เพราะท่านสามารถให้พรเราทำสิ่งต่างๆ ให้ผ่านไปอย่างราบรื่นด้วยเช่นกัน