ไลน์ และเอ็กซ์ สองแอปพลิเคชันของคนสองรุ่นที่ไม่ต่างกันสักเท่าไร

5 ต.ค. 2566 - 04:42

  • ไลน์และเอ็กซ์ สองแอปพลิเคชันของคนสองรุ่นที่มีการศึกษาพบว่ามีเฟกนิวส์พอๆ กัน และมีวิธีการส่งต่อข่าวสารไม่ต่างกันอีกด้วย

gen-x-and-z-info-sharing-SPACEBAR-Hero.jpg

ในยุคที่เทคโนโลยีกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต การเปลี่ยนผ่านของยุคอนาล็อกสู่ยุคดิจิทัล และอินเตอร์เน็ตที่เข้าถึงผู้คนได้ง่ายขึ้น โทรศัพท์จึงแทบจะไม่ได้มีไว้ใช้เพื่อโทรเท่านั้น แต่ยังมีไว้ใช้สื่อสารและติดตามข้อมูลได้มากขึ้นอีกด้วย

หนึ่งในแอปพลิเคชันที่หลายคนคุ้นเคยกันดีและน่าจะมีติดเครื่องไว้ใช้งานก็คือ แอปพลิเคชันไลน์ (LINE) ที่ทำได้ทั้งสื่อสารแบบข้อความ โทร และวิดิโอคอลรวมถึงมีฟังก์ชันอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้ใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น สำหรับไลน์แล้ว กลุ่มผู้ใช้นั้นมีที่หลากหลายตั้งแต่อายุไม่ถึง 10 ปี ไปจนถึงผู้สูงอายุวัย 65 ปีขึ้นไป

สำหรับคนที่ใช้ไลน์นั้นจะเข้าใจดีว่า ไลน์สามารถตั้งกลุ่มบทสนทนาได้ บางคนใช้เพื่อตั้งกลุ่มคุยกับเฉพาะเพื่อนสนิท เพื่อนสมัยเรียน เพื่อนที่ทำงาน และกลุ่มที่สำคัญสำหรับหลายคนคือกลุ่มครอบครัว ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มที่มีการแจ้งเตือนมากที่สุดกลุ่มหนึ่งเลยก็ว่าได้

gen-x-and-z-info-sharing-SPACEBAR-Photo01.jpg

สาเหตุที่กลุ่มไลน์ครอบครัวเป็นกลุ่มที่มีการแจ้งเตือนมากที่สุด อาจเป็นเพราะว่าผู้ใช้งานนั้นเป็นผู้สูงอายุในครอบครัวที่มีอายุเฉลี่ยตั้งแต่ 50-65 ปีขึ้นไป มักสนทนากันเองในกลุ่ม หรือส่งต่อข้อมูลในกลุ่มไลน์อยู่บ่อยๆ บางทีก็ส่งผ่านไลน์ส่วนตัวบ้าง คอนเทนต์ที่ส่งให้กันมักจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับสุขภาพ ความรู้ทั่วไป ศาสนา และการเมืองเป็นหลัก หรือคลิปตลก เป็นต้น

การส่งข้อมูลเหล่านี้ของผู้สูงอายุนั้น มีความเป็นไปได้ว่าอาจเพราะกลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีภาวะอารมณ์เชิงบวกมากกว่า งานวิจัยในปี 1995 โดยกลุ่มนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Fordham ได้ทำการสำรวจผู้สูงอายุจำนวน 32,000 โดยมี 38% เป็นผู้มีอายุระหว่าง 68 ถึง 77 ปี เมื่อตอบคำถามเชิงสุขภาพจิต คนสูงอายุมักตอบว่าตนเอง ‘มีความสุขดี’ นั่นคือสาเหตุว่าทำไมผู้สูงอายุถึงชอบมีการพูดคุย ส่งต่อข้อมูลถึงกันตลอดเวลา เพราะการส่งต่อข้อมูลเหล่านี้เต็มไปด้วยอารมณ์เชิงบวก มีความบริสุทธิ์ใจ และความหวังดี

แน่นอนว่าการส่งต่อข้อมูลให้เป็นที่รับรู้ถึงกันนั้นเป็นเรื่องดี แต่ปัญหาคือการขาดแหล่งที่มาของข้อมูล จากงานวิจัยของเว็บไซต์ Science Advances พบว่าในปี 2559 ผู้สูงอายุส่งต่อข่าวปลอมมากกว่าวัยรุ่นถึง 7 เท่า 11 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ใช้อายุ 65 ปีขึ้นไป แชร์ข่าวลวงที่บิดเบือนความจริง ในขณะที่ผู้ใช้อายุ 18-29 ปี มีเพียง 3% เท่านั้นที่แชร์ข่าวลวง ส่วนผู้ใช้เฟซบุ๊กที่อายุ 65 ปีขึ้นไป แชร์บทความข่าวปลอมมากกว่ากลุ่มคนวัย 45-65 ปี ไม่ต่ำกว่า 2 เท่า และมากกว่ากลุ่มวัย 18-29 ปี ถึง 7 เท่า

gen-x-and-z-info-sharing-SPACEBAR-Photo02.jpg

เราอาจเห็นได้จากประเด็นสุดฮิตเช่น การดื่มน้ำมะนาวโซดาช่วยฆ่ามะเร็ง, คุณภาพวัคซีนหรือข่าวสารเกี่ยวกับโรคโควิด-19, ข้อมูลเกี่ยวกับการเมืองที่มีการฝักใฝ่ข้างใดข้างหนึ่งเป็นพิเศษ เป็นต้น

ไม่ใช่ว่ากลุ่มผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มที่ละเลยถึงแหล่งที่มาของข้อมูล แต่อาจเป็นเพราะว่าด้วยวัยกับเทคโนโลยีที่รวดเร็วและซับซ้อน ทำให้ผู้สูงอายุมีความรู้สึกยุ่งยากในการใช้งาน แอปพลิเคชันไลน์ถือเป็นความแปลกใหม่ เป็นโลกยุคใหม่ที่ผู้สูงอายุต้องเรียนรู้ เมื่อพวกเขาได้รู้จักไลน์จึงทำให้รับข้อมูลจากจุดเดียว/ด้านเดียว เพราะไลน์มีครบทั้งหน้าข่าว เพื่อน ญาติ ซึ่งไม่ต่างอะไรจากเฟซบุ๊กเลย ดังนั้นจึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เกิดความเป็นไปได้ยากที่จะมีการเช็กข้อมูลเหล่านี้บนโลกอินเทอร์เน็ตอีกครั้งว่า สิ่งที่ได้รับและส่งต่อนั้นถูกต้องจริงหรือไม่

ส่วนวัยรุ่นก็อย่าเพิ่งได้ใจกันไป เพราะจากการสำรวจพบว่ากลุ่มวัยรุ่นก็มีการแชร์ข่าวปลอมเช่นกันในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในเอ็กซ์ (X) จากการรีทวิตข่าวสาร นักวิจัยจาก MIT ทำงานวิจัยในหัวข้อ ‘The Spread of True and False News Online’ พบว่าบนเอ็กซ์นั้นกาารรีทวิตข่าวปลอมเผยแพร่เร็วมากกว่าข่าวจริงเสียอีก

โดยนักวิจัยทำการสำรวจตั้งแต่ปี 2006-2017 พบว่าข่าวทั้งหมด 126,000 เรื่อง ถูกทวิตกว่า 4.5 ล้านครั้ง จากผู้ใช้จำนวน 3 ล้านคน สำหรับการตรวจสอบว่าเป็นข่าวจริงข่าวปลอมนั้น ทีมวิจัยได้ใช้องค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริง (factcheck.org, hoaxslayer.com, politifact.com เป็นต้น) พบว่าข้อมูลทั้งหมดมีความคลาดเคลื่อนถึง 95 เปอร์เซ็นต์

gen-x-and-z-info-sharing-SPACEBAR-Photo03.jpg

และวัยรุ่นไทย (รวมถึงผู้ใช้เอ็กซ์ช่วงวัยอื่นๆ ) เองก็ประสบกับเรื่องเหล่านี้เหมือนกัน เช่น ข่าวการเสียชีวิตของนักแสดง, การรีวิวสถานที่ที่มีข้อมูลคลาดเคลื่อนหรือไม่ครบถ้วน , ข่าวการเมือง,  ข่าวบันเทิงต่างๆ เป็นต้น อีกทั้งยังมีเรื่องที่เป็นการชี้แนะ ชักจูง และปลุกระดมทางความคิด โดยปราศจากข้อเท็จจริงอยู่ด้วยเช่นกัน

เรื่องนี้ทำให้เห็นว่าไม่ว่าคนกลุ่มไหน ช่วงอายุอะไร หากไม่มีการไตร่ตรอง วิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีสติ ก็สามารถหลงเชื่อ และส่งต่อความเชื่อหรือความคิดผิดๆ ได้เหมือนกัน ความแตกต่างระหว่างผู้สูงอายุที่ใช้ไลน์ก็ไม่ต่างอะไรกับกลุ่มวัยรุ่นที่ใช้เอ็กซ์

ทั้งสองอย่างเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เต็มไปด้วยข่าวสารเหมือนกัน ส่วนการเลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อขึ้นอยู่กับตัวเราเอง และคงจะดีหากคลื่นข้อมูลมากมายเหล่านั้น มีพื้นที่ที่กระจายและช่วยนำเสนอข้อมูลที่หลากหลาย ให้คนทุกช่วงวัย ทุกความสนใจได้เข้าถึงสื่อที่รอบด้าน เพื่อช่วยให้การส่งต่อหรือเสพสื่อนั้นเป็นไปด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างกัน ทั้งในแง่ของผู้คนและข่าวสาร

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์