รู้จักสรรพนามไร้เพศในภาษาต่างๆ ว่าด้วยการสื่อสารแบบโอบกอดทุกคน

20 มิ.ย. 2566 - 02:31

  • ปัจจุบันเริ่มมีการตระหนักถึงอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เกิดสรรพนามที่เป็นกลางทางเพศเพื่อครอบคลุมคนที่ไม่ประสงค์ระบุเพศ

  • ชวนดูความเปลี่ยนแปลงของภาษาว่าด้วยความหลากหลายทางเพศ ตั้งแต่ภาษาไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น เยอรมัน และฝรั่งเศส

VIBE-gender-neutral-pronouns-SPACEBAR-Thumbnail
ฉัน เธอ เขา เรา คุณ มัน ฯลฯ  
 
เหล่านี้คือ ‘สรรพนาม’ ที่เกิดมาเพื่อให้เราเข้าใจว่ากำลังพูดถึงอะไรโดยที่ไม่ต้องพูดชื่อคนหรือสิ่งนั้นซ้ำๆ ทว่าในโลกที่มนุษย์แตกต่างหลากหลาย และตระหนักถึงเรื่องนี้มากขึ้นทุกวัน การใช้ภาษาที่ผูกติดกับเพศมาเนิ่นนานจึงกลายเป็นปัญหา 
 
จะเห็นได้ว่าหลายภาษาเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง และใช้สรรพนามเป็นกลางทางเพศที่มีอยู่เดิม หรืออาจสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อใช้กับคนที่ไม่ประสงค์ระบุเพศ เช่น คนที่เป็นเควียร์ (Queer) นอนไปนารี (Non-binary) หรือคนที่มีความลื่นไหลทางเพศ (Gender Fluid) 
 
เราขอชวนดูความเปลี่ยนแปลงของภาษาว่าด้วยความหลากหลายทางเพศ ตั้งแต่ภาษาไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น เยอรมัน และฝรั่งเศส
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6cvydY8NwIAJNP20FwxQ3k/5afe88202214cac56b6b803e747feeda/VIBE-gender-neutral-pronouns-SPACEBAR-Photo01

ภาษาไทย 

ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีสรรพนามเยอะ (แบบนับไม่ถ้วน) โดยแต่ละคำสะท้อนลำดับอาวุโส ความสนิทสนม ไปจนถึงเพศ ทั้งนี้สรรพนามไทยก็ยังถือว่าค่อนข้างลื่นไหลกว่าภาษาอื่นๆ จะเห็นว่าหลายครั้งเราใช้คำว่า ‘เขา’ ซึ่งเป็นสรรพนามเพศชายบุรุษที่ 3 แทน ‘เธอ’ ซึ่งเป็นเพศหญิงได้เหมือนกัน 
 
หรือคำว่า ‘ชี’ (She) ที่เป็นสรรพนามแทนเพศหญิงในภาษาอังกฤษ ก็มีหลายคนนำมาใช้เรียกผู้ที่ถูกพูดถึงแบบขำๆ ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร 
 
กระนั้นในภาษาเขียนเราก็ยังใช้สรรพนามที่ระบุเพศชัดเจนเพื่อไม่ให้กำกวม โดยไม่มีสรรพนามที่ตั้งขึ้นมาอย่างเป็นทางการว่าเป็นกลางทางเพศ เหมือนคำว่า ‘They’ ในภาษาอังกฤษแต่อย่างใด 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/14DsGZaNZ9y44coNareaPE/b86871ea423dab97a01b4aad1a4c8ce3/VIBE-gender-neutral-pronouns-SPACEBAR-Photo02

ภาษาอังกฤษ 

นอกจากสรรพนามชาย-หญิง อย่าง ‘He’ และ ‘She’ หลายคนน่าจะเคยเห็นสรรพนาม ‘They/Them’ ที่ใช้กับ 
เควียร์หรือนอนไบนารีกันมาแล้ว ซึ่งคำว่า ‘They’ โดยปกติจะใช้แทน ‘พวกเขา’ โดยไม่ระบุเพศ แต่ปัจจุบันสามารถใช้แทนเอกพจน์บุรุษที่ 3 โดยไม่ระบุเพศได้ด้วย 
 
นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะความจริงในยุคภาษาอังกฤษสมัยกลางก็มีการใช้ ‘They’ แทนเอกพจน์บุรุษที่ 3 ที่ผู้พูดไม่รู้ว่าเป็นเพศอะไร การที่นำคำว่า ‘They’ มาใช้จึงเป็นเหมือนการเอาความเป็นกลางทางเพศที่เคยมีอยู่แล้วมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น 
 
นอกจากนี้ยังมีสรรพนามอื่น เช่น ‘Ze’ หรือ ‘Hir’ ที่เป็นตัวเลือกของกลุ่ม LGBTQ+ แต่คำว่า ‘They’ ก็ยังเป็นที่นิยมมากกว่าอยู่ดี 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2Cbmt4EEgxJejNrL0Sfien/5c58842dd3a013a8337043efa97ea75a/VIBE-gender-neutral-pronouns-SPACEBAR-Photo03

ภาษาญี่ปุ่น 

สำหรับภาษาญี่ปุ่น เราขอนอกเรื่องสรรพนามแล้วไปแตะเรื่องคำลงท้ายชื่อกันสักนิด เพราะน่าสนใจไม่แพ้กัน ปกติแล้วเวลาเรียกชื่อ คนญี่ปุ่นจะมีคำลงท้าย เช่น -คุง (くん) สำหรับผู้ชายที่สนิท / -จัง (ちゃん) สำหรับผู้หญิงที่สนิท / -ซัง (さん) สำหรับเรียกแบบสุภาพโดยไม่จำกัดเพศ  
 
วัฒนธรรมที่มีมาเนิ่นนานกำลังค่อยๆ เปลี่ยนไป โดย คุณฮายาชิ (Hayashi Kisara) ผู้สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ออกมาเล่าว่า โรงเรียนประถมในญี่ปุ่นเริ่มเปลี่ยนจากการเรียกเด็กนักเรียนด้วยคำลงท้าย -คุง และ -จัง เป็น -ซัง เพื่อหลีกเลี่ยงการล้อเลียนหรือถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน และยังเป็นเปิดกว้างทางเพศด้วย  
 
บางคนรู้สึกว่าการใช้ -ซัง ทำให้ครูและเด็กห่างเหินกันเกินไป เพราะ -ซัง แปลว่า ‘คุณ’ ซึ่งเป็นคำสุภาพที่เมื่อก่อนจะไม่ค่อยใช้กับคนที่สนิทกันมากๆ ตอนนี้เด็กส่วนใหญ่ก็ยังเรียกเพื่อนด้วยกันว่า -จัง / -คุง แต่การปลูกฝังความเป็นกลางทางเพศก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเชื่อว่าคำลงท้าย -ซัง จะมีอิทธิพลอย่างมากในอนาคต 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2kWNHFvNlcGl3BOMbUE2BR/6bb24ba1a0e94831d5c464a982049138/VIBE-gender-neutral-pronouns-SPACEBAR-Photo04

ภาษาเยอรมัน 

คำในภาษาเยอรมันมี 3 เพศ (เพศหญิง / เพศชาย / เพศกลาง) รวมถึงสรรพนามบุรุษที่ 3 โดยเพศหญิงจะใช้คำว่า ‘Sie’ ส่วนเพศชายจะใช้คำว่า ‘Ihr’ ซึ่งจะผันไปเป็นรูปอื่นเมื่ออยู่ในตำแหน่งต่างๆ ในประโยค 
 
หากพูดถึงความเป็นกลางทางเพศในสรรพนามบุรุษที่ 3 ภาษาเยอรมันยังขาดตัวเลือกที่สามารถหยิบมาใช้ได้ จึงมีการสร้างสรรพนามใหม่ขึ้นคือคำว่า ‘Xier’ ซึ่งพัฒนามาจากคำว่า ‘Sif’ และ ‘Sier’ โดยเปลี่ยนเพื่อให้ต่างไปจากคำเดิมที่ผูกติดกับเพศอย่างชัดเจน 
 
คำว่า ‘Xier’ เป็นสรรพนามที่เป็นกลางทางเพศ ที่สามารถใช้ได้ทั้งกับคนที่เรายังไม่รู้ว่าเป็นเพศอะไร รวมถึงคนที่ไม่ประสงค์ระบุเพศตัวเอง 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2QTKNzbkmEDnHKNd3pTTEj/ec95a839303553df27ddb788bfc22b65/VIBE-gender-neutral-pronouns-SPACEBAR-Photo05

ภาษาฝรั่งเศส 

ภาษาฝรั่งเศสเป็นอีกภาษาที่ผันทุกอย่างตามเพศ นั่นทำให้สรรพนามต่างๆ มีเพศหญิง-ชายผูกติดอยู่ และเมื่อเริ่มมีการตื่นตัวเรื่องความหลากหลายทางเพศ ก็เริ่มเกิดสรรพนาม ‘Iel’ ซึ่งเป็นการผสมสรรพนามเพศชาย ‘Il’ และสรรพนามเพศหญิง ‘Elle’ เข้าด้วยกัน 
 
เช่นเดียวกับภาษาเยอรมัน ภาษาฝรั่งเศสก็ผันตามเพศและพจน์ ทำให้ ‘Iel’ เปลี่ยนไปได้อีกหลายแบบตามแต่บริบท 
 
ประเด็นที่น่าหยิบยกมาคือจวบจนปัจจุบันก็ยังมีการถกเถียงกันว่าการใช้สรรพนาม ‘Iel’ กระทั่งการบัญญัติคำนี้ลงในพจนานุกรมนั้นเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งนี่แสดงให้เห็นความไม่ลงรอยของความคิดแบบอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยมที่ยังคุกรุ่นในฝรั่งเศส  
 
ไม่ใช่แค่ด้านภาษาเท่านั้น ในฝรั่งเศสยังมีรายงานว่า LGBTQ+ ถูกทำร้ายอยู่เนืองๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลยไม่ว่าจะกับใคร 
 
 
ภาษาเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเราใส่ใจคนอื่นๆ บนโลกมากแค่ไหน ซึ่งความจริงภาษาควรสะท้อนโลกความเป็นจริงได้อย่างถูกต้องและครอบคลุม เพราะความหลากหลายของมนุษย์เป็นเรื่องธรรมชาติที่ควรได้รับการยอมรับและเข้าใจ 
 
ใครที่รู้สึกว่า ‘สรรพนาม’ เป็นแค่เรื่องเล็กๆ ที่ไม่ควรเอามาเป็นประเด็น เราอยากชวนให้นึกว่าถ้ามีคนเรียกเราในสิ่งที่เราไม่ได้เป็น...จะรู้สึกอย่างไร?

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์